บทบาทของครูกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน


ครูจึงมีบทบาทอย่างมากในการช่วยให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ในการเรียน

บทบาทของครูกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน

         นักเรียนจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวในการเรียน ครูมีส่วนสำคัญอย่างมาก ครูไม่ใช่เพียงจะสร้างให้เด็กมีความสำเร็จในด้านวิชาการเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงการพัฒนาบุคลิกภาพของเด็กด้วย ด้วยการสร้างให้เขามีความเข้มแข็งในด้านจิตใจ มีความภาคภูมิใจ มองเห็นคุณค่าในตนเอง เพราะสิ่งเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับ การประสบความสำเร็จ ความล้มเหลวในชีวิตของเด็ก ครูสามารถช่วยสร้างเสริมความสุขในชีวิตให้กับเด็กได้ และการสร้างเสริมความสุขให้เด็กสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือการสร้างความรู้สึกนึกคิดที่ดีต่อตนเองในด้านบวกให้เกิดขึ้น
ความรู้สึกนึกคิดต่อตนเองในด้านบวก เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของพฤติกรรมที่มีประสิทธิภาพ เป็นกระบวนการสร้างสรรค์ความเข้าใจ และทัศนคติที่มีต่อตนเอง ให้มองตนเองอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง
Gowan ( 1960 ) ได้สำรวจปัจจัยของความสำเร็จในโรงเรียนมัธยมศึกษา พบว่านักเรียนที่ประสบ เพื่อสร้างความสำเร็จมักจะมีลักษณะเชื่อมั่นในตนเอง ยอมรับตนเอง และมีความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตนเองในด้านบวก ส่วน Farguhar (1968) พบว่านักเรียนที่ประสบความสำเร็จสูงและต่ำ จะตอบสนองต่อการวัดเกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อตนเองแตกต่างกัน และนักเรียนที่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษาสูงมีแนวโน้มจะมีความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตนเองด้านบวกด้วย ( สุปราณี สนธิรัตน์ , ม.ป.ป )
ดังนั้นในการเรียนการสอน ครูสามารถสร้างความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อตนเองในด้านบวกของเด็กได้โดย
1. ให้นักเรียนค้นพบตนเองด้วยการวิเคราะห์ตนเองอย่างตรงไปตรงมา เมื่อนักเรียนสามารถรู้จักเข้าใจตนเองได้ เด็กจะรู้ว่าตนเองต้องการอะไรจากชีวิตบ้าง จะมีความจริงใจต่อตนเอง และทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตนเองและผู้อื่นได้
2. ช่วยนักเรียนค้นหาความสามารถของตนเอง พูดถึงตนเองในด้านที่ดี มองให้เห็นภาพว่าตนเป็นคนน่ารัก น่าพอใจโดยมองแต่ส่วนที่ดีของตนเอง ในเรื่องคุณสมบัติ ความสนใจ สติปัญญา ผลสำเร็จหรืออะไรก็ตาม ที่เป็นจริงสำหรับตัวเขา
3. จัดประสบการณ์ที่จะให้นักเรียนได้ประสบความสำเร็จจากการกระทำเล็กๆ น้อยๆ แล้วค่อยๆขยายปริมาณ และคุณภาพให้สูงขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเด็ก
4. ฝึกให้เด็กกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม เช่น รู้จักทักทายผู้อื่น รู้จักการใช้ประโยคยกย่องชมเชยผู้อื่นอย่างมีเหตุผล กล้าที่จะโต้แย้ง หรือทักท้วงเมื่อรู้สึกว่าเขาผิด ถ้าบุคคลที่เราโต้แย้งเป็นคนมั่นคง เราจะรู้สึกเกิดกำลังใจ และได้ความคิดใหม่ๆขึ้น
( Gerdano and Everly , 1979 )
ความคาดหวังของครู เป็นปัจจัยที่สำคัญในการกำหนดประสิทธิภาพในการเรียนของนักเรียน และเป็นตัวแปรที่ทำให้นักเรียน มีความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตนเองได้ทั้งทางบวก และทางลบ ส่วนทัศนคติ และความคิดเห็นของครู เกี่ยวกับนักเรียน มีผลต่อความสำเร็จด้านการศึกษาของนักเรียนได้เช่นเดียวกัน กล่าวคือ ถ้าครูมีความเชื่อว่านักเรียนจะไม่สามารถประสบความสำเร็จ ก็จะมีอิทธิพลต่อการศึกษาของนักเรียนในด้านลบ ดังนั้นทัศนคติและความคาดหวังของครูที่มีต่อนักเรียน จึงมีอิทธิพลต่อนักเรียน และผลการเรียนของนักเรียน
        ดังนั้นครูจึงมีบทบาทอย่างมากในการช่วยให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนได้ ด้วยการลดความคาดหวังในด้านลบของนักเรียน และต้องคาดหวังนักเรียนในทางบวก ซึ่งจะมีผลต่อความรู้สึกนึกคิดของนักเรียนที่มีต่อตนเองในทางที่ดี อันเป็นสิ่งสำคัญต่อการเรียนรู้ และพัฒนานักเรียนในด้านการศึกษาต่อไป

เอกสารอ้างอิง

สุปราณี สนธิรัตน์. วิธีเพิ่มสมรรถภาพในการเรียน . ภาคจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ม.ป.ป.

 

หมายเลขบันทึก: 195456เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2008 14:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 10:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณคุณประจักษ์ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท