Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๔๗)


นานาเรื่องราวการจัดการความรู้ (๓)

โรงเรียนชาวนา
โครงการส่งเสริมKMเรื่องการทำนาข้าวในระบบเกษตรยั่งยืน

         “การจัดการความรู้ ของชาวนา โดยมี มูลนิธิข้าวขวัญนำกระบวนการ โดยลดบทบาทลงเป็น “คุณอำนวย” และให้ชาวนา เป็นพระเอก-นางเอก ที่ลงมือปฏิบัติจริง และเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้จริงๆ โดยมูลนิธิข้าวขวัญเอาความรู้ไปเสริมชาวบ้านบนพื้นฐานความรู้ภูมิปัญญา ทำงานร่วมกัน ทบทวนร่วมกัน แล้วเกิดความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมาจากการปฏิบัติจริง”

ทำไมชาวนาต้องเข้าโรงเรียน
         นับตั้งแต่ประเทศไทยใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 1 เป็นต้นมา วิถีชีวิตของเกษตรกรไทย ได้เริ่มเปลี่ยนเข้าสู่ระบบเกษตรกรรม “ปฏิวัติเขียว” มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างกว้างขวาง และเป็นเกษตรแบบเคมี แทนการเกษตรแบบยังชีพ  โดยอาศัยปัจจัยการผลิตที่นำเข้าจากภายนอก ทั้งพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ปุ๋ย และสารเคมี ต่างๆ ที่ใช้เพื่อการเกษตร ไม่เว้นแม้เครื่องจักรทางการเกษตร ทำให้ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีวิถีเกษตรกรและชาวนาไทยต้องเผชิญหน้ากับความ “ไม่รู้” อันเป็นผลกระทบจากการไม่เคารพธรรมชาติ กระทั่งบั้นปลายชีวิตต้องทุกทรมานด้วยโรคร้ายอันเกิดจากพิษสารเคมีรุมเร้า
         ซึ่งปัญหาดังกล่าวทำให้หลายกลุ่มในสังคม พึงตระหนักต่อปัญหาดังกล่าว เมื่อเข้าสู่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2539-2544) จึงได้กำหนดให้ 20 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เกษตรหรือประมาณ 25  ล้านไร่ ต้องทำระบบเกษตรกรรมยั่งยืน 4 รูปแบบคือ เกษตรผสมผสาน วนเกษตร เกษตรอินทรีย์ และเกษตรกรรมธรรมชาติ แต่ก็ยังไม่อาจต้านแนวทางปฏิบัติเขียวได้ เกษตรไทยยังบริโภคสารเคมีนำเข้าในอัตราที่เพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่ตัวเลขจำนวนผู้ป่วยจากสารเคมีก็เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง
         จากปัญหาดังกล่าว มูลนิธิข้าวขวัญ (มขข.)ซึ่งทำงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับเกษตรกรยั่งยืน และพัฒนาปรับปรุง อนุรักษ์ พันธุ์ข้าวไทย มากว่า 10 ปี จึงได้ร่วมมือกับ สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) หน่วยงานที่มุ่งส่งเสริมให้สังคมไทย มีการใช้ ความรู้ สร้างความรู้ และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จากการปฏิบัติจริงเพื่อพัฒนางานในทุกภาคส่วนของสังคม ดำเนินโครงการ “การส่งเสริมการจัดการความรู้ เรื่องการทำนาข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน”  เพื่อชักชวนชาวนามาร่วมกันแสวงหาทางออก ในเพื่อการลดต้นทุนการผลิต และการพึ่งตนเอง รวมทั้งเพื่อสุขภาวะที่ดีของชาวนา


คัดเลือกพระเอก –นางเอก จาก 5 พื้นที่ 4 อำเภอใน จ.สุพรรณบุรี

ชาวนาใน จ.สุพรรณบุรี 

จำนวน 

รูปแบบการผลิต  

ชาติพันธุ์

บ้านหนองแจง อ.ดอนเจดีย์ 

 43

นาปี

 ลาวเวียง

บ้านโพธิ์ อ.เมือง

35 

นาปรัง 

ลาวเวียง

บ้านลุ่มบัว อ.เมือง 

25 

นาปรัง 

 เขมร

บ้านสังโฆ,วัดดาว อ.บางปลาม้า 

43 

นาปรัง 

ลาวเวียง/สุพรรณบุรี 

บ้านดอน,ยางลาว อ.อู่ทอง  

62 

นาปรัง 

ไทยทรงดำ 

 
หลักสูตรที่นักเรียนต้องเรียนรู้
 ให้ชาวนาเรียนรู้ สร้างความรู้ และเทคโนโลยี อย่างอิสระ ภายใต้หลักสูตร 3 ระดับ
 หลักสูตรที่ 1 การจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี
 หลักสูตรที่ 2  การปรับปรุงบำรุงดิน โดยไม่ใช้สารเคมี
 หลักสูตรที่ 3  การพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับเกษตรยั่งยืน
          และเพื่อให้เกิดการผสมผสานความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ และจากแหล่งเรียนรู้ภายนอกอื่นๆ ,เพื่อสนับสนุนให้เกิดชุมชนชาวนา ที่สามารถเชื่อมโยงกัน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างต่อเนื่องถึงแม้โครงการจะสิ้นสุดโดยสมาชิกมีทั้งกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ และจากพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ,เพื่อนำผลสัมฤทธิ์ของโครงการเป็นเครื่องมือผลักดันนโยบายด้านเกษตรกรรมยั่งยืนในการทำงานระยะต่อไป

ฝันที่ต้องการให้นักเรียนชาวนาไปให้ถึง
         คนในชุมชนมีความกินดีอยู่ดี, แก้ปัญหาการใช้สารเคมีและหาวิทยาการทดแทนสารเคมี, การทำการเกษตรรที่มีการฟื้นฟูระบบนิเวศ และประเพณีท้องถิ่น, ลดต้นทุนการผลิตและลดภาวะหนี้สินภายในครัวเรื่อน ,สามารถเป็นแบบอย่างในเรื่องเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี , แก้ปัญหาต่างๆ โดยใช้วิธีการรวมกลุ่มและทำงานร่วมกันเป็นทีม,สุขภาพของเกษตรกรและชุมชนปลอดภัยจากสารเคมี, ข้าวพันธุ์ดี ราคาดี ต้นทุนต่ำ , ชาวนาสามารถคัดพันธุ์ข้าวได้เอง ,ข้าวปลูกไร้สารพิษ ผู้บริโภคปลอดภัย,ชาวนาอื่นๆ มาร่วมเรียนรู้และขยายกลุ่มกว้างออกไป

นักเรียนชาวนา เรียนอย่างไร
         ให้ชาวนาเป็นตัวหลัก และมีอิสระในการตัดสินใจเลือกใช้ความรู้เพื่อทดลองปฏิบัติ โดยมีมูลนิธิข้าวขวัญเป็นผู้อำนวยให้เกิดกระบวนการกลุ่มและกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยมีการรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น และแหล่งอื่นเพื่อนำมาใช้ในกระบวนการเรียนรู้ และพัฒนาความรู้เพิ่มตลอดเวลาเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โดยมูลนิธิข้าวขวัญมีบทบาทเป็น “คุณอำนวย” ลดอัตรา และตัวตนลง ให้ต่ำกว่าชาวนาแล้วให้ชาวนาเป็นศูนย์กลาง และเอาความรู้ไปเสริมชาวบ้านบนพื้นฐานความรู้ภูมิปัญญาเดิม พร้อมกับเอาความรู้จากภายนอกมาทำงานทบทวนกันแล้วเกิดความรู้ใหม่ ขึ้นมาปฏิบัติงาน

ขั้นตอนการเรียนรู้ของนักเรียนชาวนา

         กระบวนการชักชวนชาวนามาร่วมกันเป็น “ก๊วน” เริ่มจากการไปชักชวนชาวนาในพื้นที่ มานั่งปรับทุกข์ ใน “เวทีตั้งโจทย์เพื่อหาเพื่อนร่วมทาง” เพื่อชี้ให้เห็นทุกข์  ในปัจจุบัน และนำไปสู่การสืบค้นอดีต และทบทวนสถานการณ์การทำนา จากนั้นก็ให้ชาวนามานำเสนอปัญหาของตนเองซึ่งพบว่าในอดีตแม้ว่าชาวนาจะมีเงินน้อยแต่ก็ไม่มีปัญหาหนี้สิน เพราะทำนาต้นทุนต่ำ , ในอดีตชาวนาสุขภาพแข็งแรงผู้เฒ่าผู้แก่อายุยืนเพราะอากาศบริสุทธิ์ แต่ปัจจุบันป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ,ในอดีตค่าใช้จ่ายในครัวเรือนต่ำเพราะไม่ต้องซื้อหาอาหารมากเท่าปัจจุบัน ในท้องนามีกุ้ง หอย ปู ปลา มีผักสวนครัวเก็บทานได้, ในอดีตไม่ต้องเสียเงินจ้างแรงงาน เพราะมีการลงแขกเกี่ยวข้าวดำนา ปัจจุบันต้องจ้างแรงงาน วัฒนธรรมเลือนหายอีกทั้งชาวบ้านขาดความสามัคคี,ในอดีตครอบครัวอบอุ่น พ่อ แม่ลูกช่วยกันทำการเกษตรปัจจุบันต้องทำงานรับจ้างเพิ่มเพื่อหาเงินใช้หนี้สิน  เป็นต้น
         นอกจากการชี้ให้เห็นทุกข์ เพื่อทบทวนอดีตแล้ว มูลนิธิข้าวขวัญ ยังพาชาวนาลองคิดต้นทุนการทำนาในแต่ละฤดูการทำนา ซึ่งพบว่าชาวนาสูญเสียต้นทุนไปกับ ยาฆ่าแมลง, ค่ายาคุมหญ้า , ค่าปุ๋ยเคมี และค่าข้าวปลูก,ไปจำนวนมาก และพบว่าการทำนาแต่ละฤดูกาลมีต้นทุนสูงถึง 3,000-5,000 บาทต่อไร่ อีกทั้งชาวนายังได้คิดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนที่ไม่น่าสูญเสีย เช่น ผักสวนครัวที่สามารถปลูกไว้กินเอง หรือ กุ้ง หอยปู ปลา ที่เคยเก็บหาได้ในนา ปัจจุบันก็ต้องซื้อหาแทบทุกอย่าง ประกอบกับค่ารักษาโรคที่เกิดจากผลกระทบจากสารเคมีซึ่งพบแทบทุกครัวเรือน สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชาวนาได้มีโอกาสทบทวนและเห็นภาพความเป็นจริงขึ้นในที่สุด

         เมื่อกระบวนการทบทวนได้ทำให้ชาวนาเห็นว่า กระบวนการทำนาในแบบใช้สารเคมี ได้ก่อให้เกิดปัญหาและต้นทุนที่สูงแล้ว ก็ยังได้เรียนรู้ตัวอย่างความสำเร็จจาก นายชัยพร พรหมพันธุ์  เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี 2538 ชาวนาต้นแบบการทำนาแบบเกษตรกรรมยั่งยืน ไม่ใช้สารเคมีที่มาเล่าให้ฟังถึงกระบวนการทำนาแบบไม่ใช้สารเคมี ทั้งยังสามารถลดต้นทุนจากกว่าไร่ละ  2,000 บาทเหลือเพียงไร่ละ 800 บาท มีเวลาว่างไปทำงานอื่นๆ เพราะไม่ต้องพ่นยาฆ่าแมลง ไม่ต้องใส่ปุ๋ย ไม่ต้องไถ และไม่ต้องสูบน้ำบ่อย มีเงินเหลือ เวลาเหลือ ครอบครัวอบอุ่น เหล่านี้ยิ่งตอกย้ำให้ชาวนาสุพรรณบุรี ขบคิดถึงปัญหาและทางออกให้กับตนเองชัดขึ้น และล้อมวงชิดเข้ามาร่วมกัน “กำหนดเป้าหมายและทิศทางร่วมกัน” แม้ว่าจะมีชาวนาส่วนหนึ่งที่ยังไม่เชื่อก็ตาม
          กระทั่งชาวนาได้ข้อตกลงกันว่า ต้องการลดต้นทุนการผลิต โดยใช้สารชีวภาพแทนการใช้ปุ๋ยและสารเคมี แต่ด้วยวิธีใดนั้น มูลนิธิข้าวขวัญเสนอว่าชาวนาจะต้องเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งเรื่องการกำจัดศัตรูพืช การปรับปรุงบำรุงดิน และการพัฒนาพันธุ์ข้าวด้วยตนเองเพื่อการพึ่งตนให้มากที่สุด


เนื้อหาโรงเรียนชาวนา
 1.หลักสูตร 1 การจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี
ชาวนาร่วมกันเรียนรู้ระบบนิเวศในแปลงนา , เรียนรู้วงจรชีวิตของแมลง,เรียนรู้แมลงดี แมลงร้าย และเรียนรู้สมุนไพรพื้นบ้าน ป้องกันแมลง

กระบวนการเรียนรู้จริง
         นักเรียนชาวนาที่ถูกแบ่งกลุ่มตามพื้นที่การทำนาเรียนรู้ข้อมูลเรื่องแมลงในนาข้าวจากเอกสารอ้างอิง จากนั้น ก็ลงไปในแปลงนาเพื่อโฉบแมลงในแปลงนาของตนขึ้นมาเปรีบยเทียบกับข้อมูลจริงว่า เป็นแมลงดี (กินแมลงศัตรูพืช) หรือ แมลงร้าย (กัดกินต้นข้าว) บันทึกลักษณะโดยการวาดรูป และบรรยายคุณสมบัติของแมลงลงไปในสมุดบันทึก โดยจะเรียนรู้เรื่องแมลงนี้เป็นเวลาประมาณ 18 สัปดาห์ ซึ่งจะคาบเกี่ยวช่วงของการทำนาจริงๆ ที่แตกต่างกันไป  และแมลงศัตรูพืชก็มีวงจรที่แตกต่างเช่นกัน  
ความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้เรื่องการกำจัดศัตรูพืชโดยชีววิธี
 1.ในแปลงนามีแมลงที่เป็นมิตรกับชาวนามากกว่าแมลงร้าย
 2.การฉีดพ่นสารเคมี ทำให้แมลงที่เป็นมิตรกับชาวนาหายไป
 3.การปล่อยให้แมลงความคุมกันเอง เป็นการลดต้นทุน
 4.หากแมลงมีปริมาณที่ไม่สามารถควบคุมกันเองได้ ให้ใช้สมุนไพรไล่แมลง 
 5.สูตรสมุนไพรต่างๆ ที่ใช้ไล่แมลง อาทิ สูตรรวมมิตรเพื่อล้มต้นทุนของ นายบุญมา ศรีแก้ว วัตถุดิบ หางไหลแดงและขาว, หัวกลอย,หนอนตายยาก, เมล็ดหรือใบสะเดา,ตะไคร้หอม,บอระเพ็ด,หัวข่าแก่,มะกรูดแก่,ใบยาสูบ,หัวว่านน้ำแก่,ใบยูคาลิปตัสแก่,ฝักคูนแก่,ต้นสบู่เลือด,โมลาส,หัวไพล,เหล้าขาว,หัวน้ำส้มสายชูและใบขี้เหล็กแก่ นำมาอย่างละ 2 กก.ผสมลงถัง 200 ลิตร ใส่น้ำลงไปพอท่วม ปิดด้วยพลาสติ หมักไว้ 1 เดือน ทุกๆ 5 วันต้องคน 1 ครั้ง เพื่อให้สมุนไพรเข้ากันกระทั่งเกิดจุลินทรีรย์มีฝ้าขาว และมีกลิ่นหอมอมเปรี้ยว จากนั้นให้นำหัวเชื้อนี้ผสมน้ำ 100 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือตามสัดส่วนมากน้อยตามต้องการ

หรือสูตร ของ “นายสมพร โพธิ์แก้ว” เสนอสูตรสมุนไพร โดยนำเอาตะไคร้ 2 ส่วน สะเอา 3 ส่วน ยาสูบ 1 ส่วน และข่า 2 ส่วน ใช้ฉีดพ่นกำจัดศัตรูพืช 30 วัน ต่อ 1 ครั้ง
สูตรของคุณสุรัตว์ เขียวฉอ้อน เสนอสูตร สะเอา 2 ส่วน หางไหล 1 ส่วน ยาสูบ 2 ส่วน  ข่า 2 ส่วน คะไคร้หอม 2 ส่วน หนอนตายยาก 3 ส่วน นำมาตำให้ละเอียด ผสมกับน้ำ 10 ลิตร หมักไว้ 7 วันแล้สนำไปฉีดพ่อนประมาณ 20 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร ทุกวัน เป็นต้น  

หลักสูตร 2 การปรับปรุงบำรุงดิน โดยไม่ใช้สารเคมี
         หลักสูตรนี้ ชาวนา จะได้เรียนรู้การไถหมักฟาง, การใช้จุลินทรีย์ช่วยย่อยสลายฟางข้าวในนา, เรียนรู้จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์, เรียนรู้ ทดลอง และคิดค้นสูตรน้ำหมักต่างๆ เรียนรู้และทดลองวิธีต่างๆ เพื่อคืนชีวิตให้แก่ดิน  และที่สำคัญกระบวนการนี้ได้สอดแทรกความเชื่อเข้าไปเพื่อสร้างจิตสำนึกที่ดีในการพัฒนาดินโดยชีววิธี เช่นฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีและความเชื่อที่เคยมีให้กลับมา โดยนำสัญญลักษณ์ของพระแม่ธรณีเป็นสิ่งแทนความมีชีวิตของดิน ว่า หากดินแข็ง ดินไม่มีธาตุอาหาร ก็เท่ากับว่าเลี้ยงแม่ธรณีไม่ดี ปล่อยให้แม่ธรณีอดอยาก แม่ธรณีตาย ทำให้ไม่มีใครคุ้มครองช่วยเหลือแม่โพสพให้งอกงาม

กระบวนการเรียนรู้จริง 
         มูลนิธิข้าวขวัญนำนักเรียนชาวนา ตั้งสมมติฐานต่อสภาพดินที่ชาวบ้านใช้ภูมิปัญญาในการใช้สายตาวิเคราะห์สภาพดิน จากนั้น ก็เรียนรู้เชิงประจักษ์ โดยนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ให้ชาวบ้านทดสอบความเป็นกรด เป็นด่างของดิน แต่ละแปลงของสมาชิก ซึ่งปรากฎว่า แม้ว่าดินในพื้นที่เดียวกัน ก็มีลักษณะที่แตกต่างกัน เมื่อทราบว่าดินของใครเป็นอย่างไร แล้ว ก็นำเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงดินด้วยชีววิธีที่ต่างกันออกไปตามสภาพของดิน  โดยมูลนิธิข้าวขวัญได้พานักเรียนชาวนาไปเก็บเชื้อจุลินทรีย์จากป่าห้วยขาแข้ง มาเพาะขยายเชื้อกับใบไผ่ และกากน้ำตาล 
         โดยในขั้นตอนนี้ นักเรียนชาวนาจะได้เรียนรู้จากแหล่งความรู้ภายนอก จากกรณีที่มีนักวิชาการมาศึกษาดูงานการเพาะเชื้อจุลินทรีย์ของนักเรียนชาวนาหลังไปเก็บหัวเชื้อมาจากป่าห้วยขาแข้งและนำมาเพาะขยายพันธุ์ใช้กันในกลุ่มนักเรียน ซึ่งทำให้นักวิชาการนำหัวเชื้อไปพิสูจน์ในห้องปฏิบัติการว่าเชื้อจุลินทรีย์ชนิดใดกันแน่ที่ทำให้เกิดการย่อยสลายได้รวดเร็วและไม่เป็นประโยชน์ต่อดินและพืช ซึ่งปรากฎว่ามีสิ่งมีชีวิตซึ่งประกอบด้วย เชื้อรา Trichoderma spp. Aspergillus sp. นอกจากนี้ยังพบแบคทีเรียซึ่งคาดว่าจะอยู่ในกลุ่มของ Bacillus spp. และยีสต์ ซึ่งคาดว่าน่าจะจัดอยู่ในกลุ่มของ Saccharom ysis spp.เรื่องราวเหล่านี้เองทำให้ชาวนาเกิดความมั่นใจและเกิดความภาคภูมิใจในฐานะนักวิทยาศาสตร์ในแปลงนา
         ที่สำคัญชาวนาได้ร่วมกันฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีในการทำนา ตามขั้นตอนกระบวนการทำนา ขึ้นมา อาทิ พิธีรับขวัญข้าว, การลงแขกเกี่ยวข้าว, การบวงสรวงพระแม่โพสพ, พิธีนำข้าวขึ้นยุ้งและพิธีไหว้แม่ธรณี เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมนี้ทำให้เกิดความรักความสามัคคีกันขึ้นในกลุ่มนักเรียนชาวนา และชาวบ้านใกล้เคียงอีกด้วย

องค์ความรู้ที่เกิดขึ้น 
1.เชื้อจุลินทรีย์ที่ดีจะมีกลิ่นหอม 
2.บริเวณที่มีเชื้อจุลินทรีย์ที่ดีจะพบดินสีดำและซากพืชที่เปื่อยยุ่ย รวดเร็ว,
3.กรรมวิธีการขยายหัวเชื้อจุลินทรีย์
4.การรู้จักเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดการย่อยสลายจากนักวิชาการ
5.ความเชื่อเรื่องวัฒนธรรมประเพณีโบราณ ได้รับการถ่ายทอดจากคนเฒ่า คนแก่

หลักสูตรที่ 3  การพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับเกษตรยั่งยืน
         ขั้นตอนนี้ ชาวนาจะร่วมกันระดมความคิดเห็นเรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้น โดยจะเป็นการระดมความรู้เรื่องพันธุ์ข้าวของไทยที่ต้องการอนุรักษ์ ระดมความคิดเห็นเรื่องลักษณะพันธุ์ข้าวที่ดี และคุณลักษณะข้าวที่ชาวนาต้องการบริโภค ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนจากการซื้อเมล็ดพันธุ์จากพ่อค้า และสามารถขยายพันธุ์และพัฒนาพันธุ์ข้าวได้ตามความเหมาะสมกับพื้นที่และตรงกับความต้องการของผู้บริโภค

กระบวนการที่เกิดขึ้นจริง 
         นักเรียนชาวนา ทั้ง 4 พื้นที่จะต้องเรียนรู้จากการปฎิบัติจริงในเรื่องการคัด และผสมพันธุ์ข้าว โดยต้องถอนต้นข้าวจริงๆ มาเพื่อเรียนรู้ ลักษณะทางกายภาพของต้นข้าว ตั้งแต่ราก ถึงรวงข้าว นั่งแกะเมล็ดข้าวกล้องเพื่อเรียนรู้ส่วนประกอบของเมล็ดข้าว เช่น เกษรตัวผู้ เกษรตัวเมีย เรียนรู้ลักษณะเมล็ดพันธุ์ที่ดี สมบูรณ์ , ใช้แว่นขยายส่องข้าวกล้องเพื่อเรียนรู้กระบวนการคัดเลือกพันธุ์, ลงไปยังแปลงทดลองเพื่อปฏิบัติการผสมพันธุ์ และเพาะพันธุ์ข้าวกล้องเพื่อขยายพันธุ์ต่อไป 
         อีกภาพหนึ่งที่น่าชื่นชมคือ ชาวนาสูงวัย มักจะพกพันธุ์ข้าวติดตระกล้าหมาก หรือกระเป๋ากางเกง ไปทุกๆ ที่ มีเวลาว่างเมื่อไหร่ก็นั่งคัดพันธุ์กันไป กินหมากกันไป ไม่เว้นแม้กระทั่งเวลาไปวัดนั่งวิปัสสนากรรมฐาน เสร็จ ก๊วนนักเรียนชาวนา ยังชวนสหายวัยเดียวกันที่มาถือศีล ช่วยกันคัดพันธุ์อย่างขมักเขม้น ไม่หวั่นแม้เสียงรอบข้างจะเซ็งแซ่ว่า “เสียเวลาเปล่า” และไม่เพียงชาวนาสูงวัยเท่านั้นที่นั่งคัดพันธุ์ข้าว พวกเขายังเอาความรู้อันมีค่าควรสืบสานนี้ไปสอนลูกหลาน ทำให้เห็นอีกภาพหนึ่งที่น่าประทับใจคือ เด็กน้อยวัยเรียนกับ ผู้เฒ่าที่เคยไร้คุณค่า มะรุมมะตุ้มกับกองข้าวกล้อง ช่วยกันคัดเท่าที่ทำได้ ถูกบ้างผิดบ้าง ก็สอนกันไปจนช่ำชอง
         นอกจากนี้นักเรียนชาวนา ยังออกไปศึกษาดูงานกับชาวนาจังหวัดต่างๆ อาทิ เครือข่ายชาวนา จ.พิจิตร ในเรื่อง การคัดพันธุ์ข้าวและการขยายพันธุ์ข้าวโดยอาศัยภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยการไปเรียนรู้ครั้งนี้มีการแบ่งกลุ่มกันไปรับผิดชอบงานในแต่ละประเด็น

         แบ่งกันศึกษาหาความรู้ แล้วนำความรู้ที่ได้มาเล่าสู่กันฟัง  เช่นในเรื่องชนิดของพันธุ์ข้าว , การคัดเลือกพันธุ์ข้าว, การศึกษาการรวมกลุ่มของสมาชิกชาวนา, ศึกษากิจกรรมเด่นๆ ของกลุ่มชาวนา ,ศึกษาการแปรรูปผลผลิตข้าว,ศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันในการใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยหมักชีวภาพ ,ศึกษาความภาคภูมิใจของชาวนาจ.พิจิตร  ซึ่งกิจกรรมนี้นอกจากจะเป็นการศึกษาดูงานเรื่องการคัด และผสมพันธุ์ข้าวแล้ว ชาวนายังได้ฝึกทักษะกระบวนการกลุ่ม และเกิดความสัมพันธ์เชิงเครือข่ายกับชาวนาต่างพื้นที่อีกด้วย

องค์ความรู้ที่เกิดขึ้น
 1.รู้ว่าข้าวที่ดี และสมบูรณ์ และควรนำมาทำพันธุ์ข้าว มีลักษณะเป็นอย่างไร
 2.การทำนาให้ได้ผลผลิตดี ไม่จำเป็นต้องหว่านข้าว
 3.รู้ว่าการเพาะพันธุ์ข้าวจากข้าวกล้องก็สามารถทำได้ และดีกว่าข้าวเปลือก
 4.เรียนรู้กระบวนการคัดพันธุ์ข้าว เพาะพันธุ์ข้าว และผสมพันธุ์เพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าว
 5.ข้าว 1 เมล็ดสามารถเพาะเป็นต้นข้าวได้มากถึง 30-40 ต้น

กิจกรรมเพื่อนเยี่ยมเพื่อน 
         นอกจากนี้ระหว่างการเรียนแต่ละหลักสูตรการเรียนรู้ ชาวนาจะได้ร่วมกันทำกิจกรรม “เพื่อนเยี่ยมเพื่อน : ชุมชนชาวนา” ซึ่งเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักเรียนชาวยาจากโรงเรียนชาวนาทั้ง 5 พื้นที่ 4 อำเภอ ได้มารวมกลุ่มทำกิจกรรมพร้อมทั้งใช้เวทีนี้ถ่ายทอด เผยแพร่ผลงาน และเวทีดังกล่าวยังเป็นการสะท้อนเหตุการณ์จริง และยังสามารถวัดความเข้าใจเรื่องการทำเกษตรกรรมยั่งยืนของนักเรียนชาวนาได้อีกทางหนึ่งด้วย
         ผลแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนักเรียนชาวนา ส่งผลทำให้ศักดิ์ศรีของชาวนากลับคืนมาพร้อมกับรอยยิ้มอาบแก้มที่แทบหาไม่ได้เลยในหมู่ชาวนา จ.สุพรรณบุรีกลับคืนมา ดังเช่นน้าสำรวย หนึ่งในนักเรียนชาวนาที่กล้าทิ้งสารเคมีและปุ๋ยเคมีในการทำนา หันมาทำนาในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ตามแนวทางของมูลนิธิข้าวขวัญ ล่าสุดน้าสำรวยสร้างความตื่นตะลึงให้กับนักเรียนชาวนาด้วยกันและชาวนาบ้านใกล้เรือนเคียงเมื่อการทำนาบนเนื้อที่ 17 ไร่ที่เดิมทีได้ข้าวเพียง 15 เกวียน แต่ฤดูการทำนาที่ผ่านมาน้าสำรวยได้ทำลายสถิติชาวนาทั้งผองด้วยการทำนาบนเนื้อที่เท่าเดิมแต่ได้ข้าวมากถึง 22 เกวียน ใบหน้าเปื้อนยิ้มด้วยความปิติอย่างแท้จริงได้เกิดขึ้นแล้วในหมู่นักเรียนชาวนา จ.สุพรรณบุรี
         ทั้งหมดนี้เป็นแผนการจัดการความรู้เพื่อชาวนา ซี่งอยู่ในหลักสูตรของนักเรียนชาวนา และนำมาปรับใช้ในชีวิตจริงได้ ตลอดระยะเวลา 2 ปี พบว่าการเปลี่ยนแปลงของชาวบ้านที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการทำการจัดการความรู้นั้น มิใช่เปลี่ยนเฉพาะเลิกใช้สารเคมีเท่านั้น แต่เขาเปลี่ยนถึงวิธีคิด จากการแข่งขันชิงดีชิงเด่นเป็นการเอื้อเฝื้อเผื่อแผ่ จากการที่เอาเงินเป็นที่ตั้ง ก็เอาความสุข และครอบครัวเป็นที่ตั้ง 
         นี่คือตัวอย่างเล็กๆ ที่อาศัยการจัดการความรู้ในรูปแบบโรงเรียนเกษตรกรทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่วิธีการคิด กระบวนทัศน์ และจิตสำนึก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งวิถีชีวิต และจิตวิญญาณปัจจุบันนักเรียนชาวนา จ.สุพรรณบุรี กำลังมีความสุขอยู่กับการได้ย้อนกลับไปดำเนินวิถีชีวิตแบบเดิม ร่วมกันดำนา ร่วมกันร้องเพลงเกี่ยวข้าว ร่วมกันเรียนรู้ และในอนาคตพวกเขากำลังก้าวสู่การเป็น “ครู”ชาวนาให้กับนักเรียนชาวนารุ่นต่อไป

เดชา ศิริภัทร ผอ.มูลนิธิข้าวขวัญ
มูลนิธิข้าวขวัญ 13/1 ถ.เทศบาลท่าเสด็จ ต.สระแก้ว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี
โทร.035-597193


 

หมายเลขบันทึก: 19462เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2006 13:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท