คุณครูผู้ “สะอาด…”


 

ตามสัจธรรมแห่งธรรมชาติอันประเสริฐได้กล่าวไว้อย่างจริงแท้แน่ว่า “เป็นไปไม่ได้ที่สิ่งสกปรกจะทำให้สิ่งอื่นสะอาดได้” ดังนั้นครูจึงต้องเป็นคุณครูผู้ “สะอาด” เพราะสิ่งที่สะอาดเท่านั้นจึงจะชำระความสกปรกได้

คุณครูผู้ที่รับหน้าที่ดูแลดวงใจดวงน้อยที่พ่อแม่ไว้วางใจ ส่งต่อ เจียระนัยให้แวววาว ดุจดวงดาวอันสว่าง ส่องอำไพ...

 

คุณครูนั้น เป็นบุคคลที่สำคัญยิ่ง เป็นผู้ที่รับหน้าที่ทั้ง ควบคุม ป้องกัน มิให้ความสกปรกมาแประเปื้อนลูกศิษย์ที่เปรียบเสมือนดั่งผ้าผืนน้อยสีขาวที่ยังสะอาดอยู่ รวมทั้งเพิ่มพูน ฟื้นฟู พลังสมอง สติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ปัญญา” ให้ลูกศิษย์ได้ก้าวหน้าอย่างมั่นคง

 

คุณครูผู้สะอาดนั้นจะต้อง สะอาดปราศจากความโลภ ความโกรธ และความหลง

คุณครูผู้สะอาดคือ “ผู้ให้” การให้อย่างจริงใจนั้นจะเป็นเกิดปิดประตูไซร้ซึ่งความโลภ
คุณครูผู้ให้นั้นย่อมทำหน้าที่ “ครูเพื่อให้” มิได้หวัง ทรัพย์สิน เงินทอง หรือกำไร แม้กระทั่งตำแหน่ง ลาภยศ และสรรเสริญ
ครูผู้ให้นี้เป็นผู้เดินท้าชนต่อทรัพย์สิน ความสบายในเมืองใหญ่ ตำแหน่ง ซี ขั้น อันท้าทาย หันหน้าหนีจากสิ่งที่กล่าวทั้งหลายอย่างมั่นคง

ครูที่ทำเหตุปัจจัยไว้ดี ย่อมได้ดี เป็นของธรรมดา
การทำดีในหน้าที่ครูคือ “สอนดี” การสอนดีนั้นมิใช่เพียงแต่แค่ศิษย์มีความรู้ แต่ศิษย์ยังต้องเป็นที่เชิดชูคุณความดีแห่งพ่อแม่

 

ความสุขทั้งหลายของชีวิตของพ่อแม่นั้นมารวมอยู่ที่ลูก ความฝัน ความหวังของพ่อแม่นอกเสียจากความเจริญก้าวหน้าในชีวิตทั้งการเรียน การงานแล้วนั้น สิ่งสำคัญคือต้องการเห็นลูกเป็น “คนดี”

คนที่มีความดี คือคนที่รู้จักการเสียสละ ลูกศิษย์ที่รู้จักการเสียสละ ก็เนื่องด้วยเพราะมีครูที่เสียสละ
“การเสียสละนั้นคือการให้”
แม่พิมพ์สรรสร้าง กำหนด ตกแต่ง พิมพ์ของตนเองไว้อย่างไร ศิษย์ทั้งหลายที่ถูกหล่อหลอมออกมาย่อมเป็นอย่างนั้น

ถ้าศิษย์มองเห็นครูโลภ ทำงานเพื่อหวังแต่ตำแหน่ง สอนไปก็รังแต่หวังที่จะทำตำแหน่งทางวิชาการ อันนี้ก็เป็นพิมพ์อย่างหนึ่งอันเป็นวิชามารที่ลูกศิษย์จะได้รับติดตัวไป

ความเมตตาเป็นคุณค่าที่สำคัญแห่งความสะอาด
เมตตาพร้อมที่จะให้อภัยลูกที่ได้ชื่อว่า “ศิษย์”
คุณครูทั้งหลายล้วนแล้วแต่เป็น “บัณฑิต”
ครูผู้ที่อ้างตนว่าเป็นบัณฑิตแต่มักโกรธ ครูผู้นี้จะสะอาดไม่ได้เลย

และความโกรธที่ฉกาจและฉกรรจ์มากสำหรับครูนั้นก็คือ “โกรธที่เด็กโง่” สอนไม่รู้เรื่อง อันนี้เป็นความโกรธที่ร้ายลึก ที่เหล่าเราครูทั้งหลายจักต้องฝึก ล้างความโกรธนี้ให้หมดไปจากจิตใจ

สิ่งสำคัญประการสุดท้าย “ความหลง” อันนี้สำคัญนัก
ความหลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตทั้งศิษย์และครูนั้นวิบัติมามากหลาย

ศีลและสมาธินั้นสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ครูสะอาดปราศจากความหลง
ทั้งหลงในรูป หลงในอำนาจ วาสนา ยศศักดิ์ และเงินทอง ความหลงทั้งหลายนี้เอง ดึงจิตวิญญาณครูออกจากความเป็นครู

วิชาชีพครูจึงต้องเป็นวิชาชีพที่สะอาด ความสะอาดของคนนั้นอยู่ที่ “ศีล”
ศีลนั้นทำให้ใจของครูดี ทำให้จิตของครูสะอาด
ศีลนั้นจะทำให้จิตและใจของครูนั้นปราศจากความโลภ ความโกรธ และความหลง

เมื่อใดที่จิตใจของเรายังไม่สะอาด ก็เปรียบดั่งมีครูสี่คนยืนสอนนักเรียนอยู่
ครูคนที่หนึ่งคือ ตัวเรา
ครูคนที่สองคือ ครูโลภ
ครูคนที่สามคือ ครูโกรธ
และครูคนที่สี่คือ ครูหลง

ตัวเรานั้นถูกชักใย และมีครูอีกสามนายยืนเป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง
เมื่อนักเรียนมองเห็นเรา ก็ย่อมมองเห็นครูทั้งสามนั้นยืนพร้อมเพรียงกันอยู่หน้าห้อง
ครูอีกสามคนนี้ยังเดิมติดตามเราไปอีกทุกหนทุกแห่ง และพร้อมที่จะแย่งหน้าที่เรา แย่งความรู้ ความดีที่เราส่งไปยังศิษย์ แย่งสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเพื่อแนบชิด จิตและใจแห่งศิษย์นี้ให้เปื้อนไป

คุณครูผู้สะอาดต้องเชิญญาติทั้งสามนี้ไปฝังเสีย
ฝังให้ลึก ฝังให้ไกล ฝังให้จมในแผ่นหิน แผ่นไป ฝังเสียได้ครูทั้งสามจึงงามดี

เมื่อผ้าคือตัวเรานั้นสะอาด ย่อมทำความสะอาด ความผ่องใสให้กับศิษย์ได้อย่างเต็มที่
ทุกเวลา ทุกลมหายใจที่เรามี จะสมกับคำว่าศิษย์นี้เรียกว่า “ครู…”

หมายเลขบันทึก: 194146เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2008 19:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับ

  • ได้รับความรู้มาก ๆ เลยครับ
  • การเป็นครูผู้ให้ นับว่าประเสริฐสุดครับ ซึ่งน้อยนักจะได้เจอครูแบบนี้
  • ขอบคุณมากครับ ครูสุจะนำหลักธรรมนี้ไปปฏิบัติครับ

จะนำแนวคิดไปปรับใช้ในการทำหน้าที่ครูค่ะ...

มาอ่านเรื่องดีๆ มาเยี่ยมมาชม และเป้นกำลังใจให้ค่ะ ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท