nui
นาง เสาวลักษณ์ พัวพัฒนกุล

JUNO : หนังที่น่าจะเป็นสื่อการสอนเพศศึกษาในโรงเรียน


แทนที่เราจะปล่อยให้เด็กเลือกดูหนังกันเอง และดูกันตามลำพัง เราเอาหนังที่วัยรุ่นชอบไปฉายให้ดูเสียเลย แต่เป็นการดูหนังที่เราสามารถหยิบฉวยประโยชน์อีกด้านของมัน

 

          JUNO ถูกโฆษณาว่าเป็นหนังเล็กๆ ที่ประสบความสำเร็จคือ ทำเงินเป็นอันดับหนึ่งในการเปิดฉายสัปดาห์แรกที่อเมริกาและอังกฤษ ทำรายได้สูงจากการฉายทั่วโลก  ได้รับรางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์ปี ๒๐๐๗  และอีก ๒๕ รางวัลจากนักวิจารณ์ทั่วโลก 

นักวิจารณ์ไทยคนหนึ่งให้นิยามหนังเรื่องนี้ว่า  ปรบมือให้ความกล้า  อ่านเพียงแค่นี้ใครๆ ก็อยากเข้าไปดู

          ไปดูหนังเรื่องนี้เพราะอยากเห็นบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และเพราะเป็นหนังเกี่ยวกับ วัยรุ่นที่ตั้งท้องโดยไม่ตั้งใจ  เพื่อเป็นต้นทุนความคิดสำหรับการทำงานเพศศึกษาในโรงเรียน

 

หนังเล่าเรื่องอย่างเรียบง่าย  บทรัดกุม  เรื่องของเด็กหญิงมัธยมชื่อจูโน่  ตั้งท้องกับเพื่อนชายโรงเรียนเดียวกัน แทนที่จะเลือกทางออกโดยการทำแท้ง (ซึ่งนักวิจารณ์ไทยเรียกว่า ความกล้า)  จูโน่เลือกที่จะหาครอบครัวอุปถัมภ์ให้ลูกของเธอ  เมื่อเลือกได้แล้ว จูโน่กับพ่อและแม่เลี้ยงไปทำความรู้จักสามีภรรยาฐานะดีที่จะรับเป็นพ่อแม่ของลูกในท้อง   ความสัมพันธ์ดูราบรื่นกระทั่งวันหนึ่งคู่สามีภรรยาคู่นี้มีอันต้องเลิกร้างกัน  ผู้เป็นภรรยายังยืนยันที่จะรับเด็กในท้องจูโน่ไปเลี้ยงดูเพียงลำพัง   จูโน่ผิดหวังและเสียใจมากเพราะต้องการให้ลูกของเธอเติบโตในครอบครัวที่มีทั้งพ่อและแม่   แต่สุดท้ายจริงๆ จูโน่ก็ไม่มีทางเลือกมากนัก  หลังคลอดเธอยินยอมยกลูกให้แก่ครอบครัวนี้ซึ่งจะมีแม่เลี้ยงดูเพียงลำพัง  หนังจบลงที่จูโน่กลับไปสานความสัมพันธ์กับเด็กหนุ่มผู้ที่ทำให้เธอท้อง  ซึ่งเธอคิดว่าเขารักเธอ และเธอรักเขา  (หลังจากที่เธอจัดการกับลูกที่เกิดมาโดยไม่ตั้งใจเพียงลำพังได้แล้ว  ขณะที่เด็กชายผู้เป็นพ่อไม่ต้องมีส่วนร่วมใดๆ ในการแก้ปัญหานี้)

 

คำถามที่เกิดขึ้นเมื่อดูหนังจบคือ  หนังได้รับคำชมจากนักวิจารณ์ทั่วโลก และคู่ควรกับรางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมจากเวทีประกวดระดับออสการ์เชียวหรือ

 

เมื่อได้อ่านคำโปรยของหนัง “A comedy about growing up…and the bumps along the way.”  ก็พยายามเข้าใจว่า  นี่เป็นหนังที่ผู้กำกับต้องการให้เป็นหนังตลก   ผู้ชมมิควรใส่ใจต่อเนื้อหาสาระมากนัก?

 

พอการนำเสนอไม่ได้เป็นหนังตลกเต็มตัว มันกึ่งๆ ตลก กึ่งจริงจังแบบหนังดราม่า   มันจึงเหมือนกับคุณอ่านการ์ตูนล้อการเมืองที่ด่านักการเมืองได้เต็มปากเต็มคำโดยคนเขียนไม่ถูกฟ้อง  กับ คุณอ่านบทความการเมืองที่สาระเดียวกันแต่อาจถูกฟ้องได้  ทำนองเดียวกัน

 

ไปดูหนังเมื่อปลายพฤษภา  ทั้งโรงมีแต่วัยรุ่นเข้าไปเป็นคู่   หลังจากนั้นอีก ๑ เดือนเราไปดูอีกเรื่องหนึ่ง  JUNO ยังคงฉายอยู่  และมีวัยรุ่นเข้าไปดูเป็นคู่เช่นเดิม

 

หนังมีอิทธิพลต่อความคิดอ่านของคนดู มากบ้างน้อยบ้าง ตามแต่ต้นทุนความคิดของผู้ชม ความสามารถของผู้กำกับ และคนเขียนบท  หนังจะทำหน้าที่ ๔ ประการ คือ  เล่าเรื่อง จูงใจ  เร้าใจ และบันเทิง     ส่วนการจะจูงใจ (Motivation) คนดูไปทางไหน  เป็นความรับผิดชอบของผู้กำกับล้วนๆ

หนังที่ดีในทรรศนะของฉันคือหนังที่ไม่ยัดเยียดความคิดความเชื่ออย่างหนึ่งอย่างใด  ไม่สอนอย่างโจ่งแจ้ง  แต่ต้องใช้ศิลปะทั้งมวลของการทำหนังเพื่อให้หนังทำหน้าที่ ๔ ประการอย่างแนบเนียน 

หนังเรื่องJUNO ไม่สอน ไม่ยัดเยียด  แต่สิ่งที่เสนอคือ  การตั้งครรภ์ของวัยรุ่นที่ไม่พร้อมเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในสังคมโรงเรียน  จูโน่จึงสามารถเดินอุ้มท้องโย้ไปเรียนหนังสือได้ตามปกติ โดยไม่รู้สึกแปลกแยก  เด็กชายผู้เป็น พ่อ ไม่ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบใดๆ ต่อเหตุการณ์นี้  การแก้ปัญหานั้นง่ายดายเพียงแค่ไปหาครอบครัวอุปถัมภ์มารับผิดชอบเด็กที่เกิดมาแทน  แล้วจูโน่ก็กลับมาเรียนต่อ มาคบหากับเพื่อนชายคนเดิมได้เหมือนไม่เคยเกิดอะไรขึ้น  ทุกอย่างง่ายดายและมีทางออกราวกับเทพนิยาย   ถามว่าชีวิตจริงๆ เป็นแบบนี้หรือ  ต่อให้ในสังคมอเมริกันก็เถอะ 

หากดูโดยไม่ไตร่ตรองย่อมเป็นอันตรายแน่  โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นที่มองโลกสวยงาม และอ่อนประสบการณ์

สังคมอเมริกันที่เคยมีค่านิยมเพศเสรีจนสุดขั้วมาแล้ว และเริ่มหันหลังกลับมารณรงค์ให้เด็กๆ ชายหญิงเห็นคุณค่าของการรักนวลสงวนตัว  ตระหนักในเรื่องเพศสัมพันธ์ที่รับผิดชอบ แต่บ้านเรากำลังเดินสวนทาง  เด็กหญิงชายเริ่มเปิดเผยเนื้อตัวกันมากขึ้น  มีความเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่คาดคิดกันมากขึ้น ก่อปัญหาตามมามากมาย  ด้วยอิทธิพลของสื่อและวัฒนธรรมตะวันตก เราจะรับมือกับปัญหานี้กันอย่างไร

 

โจทย์นี้อยู่กับฉันหลายวัน  ในที่สุดเกิดความคิดว่า  ในเมื่อ วัยรุ่นชอบดูหนัง หนังมีอิทธิพล และสามารถจูงใจคนดูได้  หากเราเอาหนังบางเรื่องไปฉายให้เด็กดูในโรงเรียน  แล้วใช้กระบวนการเรียนการสอนทักษะชีวิตกำกับ  เราน่าจะได้ประโยชน์มากกว่าปล่อยให้เด็กๆ ดูหนังตามลำพังโดยไม่มีกระบวนการกล่อมเกลาไปในทางที่เป็นคุณกับพวกเขา  ไม่เพียงแต่สอนเพศศึกษา  แต่ถ้าเรารู้จักเลือก หนังจะเป็นสื่อการสอนชั้นเยี่ยม

 

          คำถามต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากการดูหนัง  เช่น

          ถ้าเป็นนักเรียนมัธยมในบ้านเรา เจอเหตุการณ์แบบจูโน่  จะมีทางออกแบบไหนให้เธอบ้าง

          ในบริบทของสังคมไทย  เราจะรับมือกับเรื่องแบบนี้อย่างไร

          เราจะมีคำแนะนำอย่างไรให้แก่เด็กผู้หญิงที่เจอเหตุการณ์อย่างจูโน่

 

          คำถามทุกคำถาม เด็กๆ  จะคิดหาคำตอบกันเอง  เพื่อให้ได้ข้อสรุปและทางออกที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย  โดยที่ผู้ใหญ่ไม่ต้องสอน ไม่ต้องยัดเยียด  เด็กๆ จะได้คำตอบว่าชีวิตจริงไม่เหมือนในหนังที่ทุกอย่างจบอย่างสวยหรู 

          หลายๆ ประเทศในยุโรป  ใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อการสอน  ในบ้านเรา  มีการฉายหนังในโรงเรียน แต่เป็นการดูเพื่อความบันเทิง  เรายังไม่ได้ใช้หนังเป็นสื่อการสอนอย่างจริงจัง

หนังเรื่อง American Pie เคยฉายในโรงเรียนมัธยมที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ  เข้าใจว่าครูเองคงไม่รู้จักหนังเรื่องนี้ เพราะถ้ารู้จะไม่มีวันยอมให้ฉาย

ต่างประเทศมีการแบ่งเรทหนัง  แต่บ้านเรายังไม่มี  และคงอีกนานกว่าจะมี  เด็กๆ จึงมีเสรีภาพที่จะเข้าไปดูหนังอะไรก็ได้  ไปหาหนังอะไรก็ได้มาดูกันในบ้านเพื่อนคนไหนสักคนที่พ่อแม่ไม่อยู่บ้าน

แทนที่เราจะปล่อยให้เด็กเลือกดูหนังกันเอง และดูกันตามลำพัง   เราเอาหนังที่วัยรุ่นชอบไปฉายให้ดูเสียเลย  แต่เป็นการดูหนังที่เราสามารถหยิบฉวยประโยชน์อีกด้านของมัน น่าจะดีกว่า.

 

๒๕ มิ.ย.๒๕๕๑

หมายเลขบันทึก: 191889เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2008 06:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2014 15:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะคุณ nui

หนังเรื่อง American Pie เคยดูค่ะ  แบบนี้ต้องรีบไปดู JUNO แล้วนะคะ

ขอบคุณค่ะ

อ่านแล้ว รู้สึกดีจังครับ

เขียนแบบมืออาชีพ

เขียนแบบผู้ใหญ่เข้าใจเด็ก

ได้อีกแง่มุมหนึ่ง

ดีใจค่ะที่คุณekkyรู้สึกเช่นนั้น ดิฉันฝันที่จะเห็นโรงเรียนสอนเพศศึกษาแก่เด็กๆ แบบนั้นจริงๆ ถ้าคุณเป็นครู ลองเอาไปสอนด้วยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท