สรุปสาระสำคัญของการเรียนกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ครั้งที่ ๔ ตอนที่ ๑


วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๑

                 วันนี้ขอสรุปการบันทึกวิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ย้อนหลังไปเมื่อวันที่  ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๑  น่ะครับ 

พยายามมาเรียบเรียงที่จดบันทึกให้ประติดประต่อเป็นเรื่องเป็นราวให้ชัดเจนขึ้น  ในขณะที่วิชาอื่นก็ผ่านไปเรื่อย ๆ งานต่าง ๆ ก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ  ทำให้เวลาเหมือนจะมีนิดเดียวจริง ๆ ครับ  ...เพื่อน ๆ รุ่น ๕๑ ทุกคนก็คงมีภาวะคล้าย ๆ กันใช่ไหม  ...สู้ต่อไปน่ะครับ....

                วันนี้ขอสรุปตามหัวข้อสำคัญที่ท่านอาจารย์บรรยาย  เป็นเรื่อง ๆ ไปน่ะครับ

ขอบเขตบังคับของกฎหมาย

๑.ขอบเขตในแง่ของเวลา

                -กำหนดบังคับใช้เมื่อใดย่อมมีผลเมื่อนั้น

                -หลักกฎหมายไม่มีผลย้อนหลังเป็นโทษ

                -มีผลยกเลิกกฎหมายเก่าที่ขัดกับกฎหมายใหม่

๒.ขอบเขตในแง่บุคคล

                หลักกฎหมายขัดกัน (กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล)

                -กฎหมายระหว่างประเทศ เช่น ประเทศประมุขรัฐต่างประเทศหรือผู้แทนการทูต

๓.ขอบเขตในแง่ดินแดน

                -กฎหมายของรัฐใดย่อมบังคับใช้แต่ในดินแดนของรัฐนั้น

คำอธิบายประกอบ

                ๑. เรื่องขอบเขตในแง่ของเวลา

                กรณีตัวอย่างเรื่องกฎหมายไม่มีผลย้อนหลังนั้น  เป็นที่ทราบกันว่าเป็นเรื่องของกฎหมายอาญา  แต่เคยมีบางกรณีที่เป็นข้อถกเถียงกันในสังคมว่าเป็นโทษทางอาญาหรือไม่   เช่น  การที่ศาลรัฐธรรมนูญ  พิจารณาว่าการตัดสิทธิ์กรรมการพรรคการเมือง ๑๑๑ คน  ซึ่งศาลลงความเห็นว่าไม่ใช่โทษทางอาญา   จึงพิพากษาให้มีผลย้อนหลังได้    

          หลักกฎหมายที่ว่าไม่มีผลย้อนหลังนั้น จำกัดเฉพาะโทษทางอาญาหรือโทษอย่างอื่นด้วย ?  จึงเป็นเรื่องนี้เป็นข้อถกเถียงกันมานาน     ในอดีต  ประธานศาลฎีกา(สมัยเหตุการณ์ ๑๙ ตุลา  ถ้าผู้บันทึกฟังไม่ผิดน่ะครับ) เคยพิจารณาว่า โทษทางอาญาไม่สามารถมีผลย้อนหลังได้   แต่ถ้าเป็นการบัญญัติแก้ไขวิธีพิจารณาความให้บัญญัติย้อนหลังได้ 

                เรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน  แต่ตามความเห็นของอาจารย์ เห็นว่า  การบัญญัติกฎหมายให้มีผลย้อนหลังไม่สามารถกระทำได้ ยกเว้นกฎหมายอาญา  เพราะมีเหตุผลสำคัญ คือ เพื่อรักษาความเชื่อถือของสาธารณชนในการเคารพนับถือกฎหมาย  แต่ถ้ามีเหตุผลหนักแน่น พอเพียง ไม่ว่าจะเป็นโทษทางอาญาหรืออื่น ๆ มันสามารถทำได้  ถ้าอธิบายได้  แต่เป็นเรื่องที่มีได้น้อยมาก

                ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า  การบัญญัติกฎหมายให้มีผลย้อนหลังในแง่ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงสิทธิอื่น ๆ  ที่ไม่ใช่เป็นการจำกัดเสรีภาพในทางชีวิต ร่างกาย  สามารถทำได้ (แต่นักวิชาการส่วนมากยังไม่เห็นด้วยว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง )

                กรณีที่กฎหมายใหม่ย่อมยกเลิกกฎหมายเก่านั้น มีเหตุผลคือ กฎหมายนั้นต้องมีหลักเอกภาพ  จะยอมให้บทกฎหมายสองบทที่ขัดกันมีผลบังคับในขณะเดียวกันไม่ได้  นักกฎหมายจะต้องชี้ชัดว่าเมื่อขัดกันจะใช้อย่างไหนกันแน่ (ยังมีปัญหาให้พิจารณากันต่ออีก)

                ๒.เรื่องขอบเขตในแง่ของตัวบุคคลและดินแดน

                กฎหมายของประเทศใด  ก็ใช้กับคนในบังคับของประเทศนั้น หลักนี้ก็จะใช้ควบคู่ไปกับหลักดินแดน   กล่าวคือ กฎหมายของรัฐใดก็ย่อมใช้บังคับครอบคลุมถึงดินแดนของรัฐนั้น  และใช้บังคับถึงบุคคลที่ถือสัญชาตินั้นและคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในรัฐนั้นด้วย  แต่บางกรณีกฎหมายอาจบังคับไปถึงบุคคลของรัฐนั้นที่อยู่ในรัฐอื่นด้วย  เช่น กฎหมายอาญา ถ้าคนไทยทำผิดนอกราชอาณาจักร ให้ถือว่าเป็นการทำผิดในราชอาณาจักรและต้องรับโทษในราชอาณาจักรด้วย เช่น ทำความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  เป็นต้น

                กรณีที่รถทูตทั้งหลายมาจอดในที่ห้ามจอด  ตำรวจไทยไม่สามารถจับได้หรือเอกอัครราชทูตฆ่าคนตายในประเทศไทยก็ไม่สามารถเอาผิดได้  ทำได้อย่างเดียวคือเรียกร้องให้ประเทศของเขาถอดถอนทูตนั้นได้  ถ้าการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายในประเทศของเขา  เอกชนในไทยผู้เสียหายสามารถร้องขอให้ศาลในประเทศนั้นเอาผิดได้  หรือกรณีที่ยังไม่ขาดอายุความตามกฎหมายไทย  เมื่อบุคคลนั้นเข้ามาสู่ประเทศไทย  โดยที่ไม่มีสถานะทูตดังเดิมแล้ว  อย่างนี้สามารถที่จะเอาผิดทางกฎหมายไทยได้

                กรณีเรื่องประมุขแห่งรัฐ   ถ้าประมุขแห่งรัฐซึ่งพ้นจากฐานะเดิมแล้ว  เช่น กรณีของปิโนเช่  (เผด็จการในชิลี)  ตอนที่เดินทางไปประเทศอังกฤษ  ญาติของผู้ตายในซิลีมาฟ้องร้องเอาผิดเขาขณะที่มาในอังกฤษ  ศาลอังกฤษตัดสินว่าไม่มีภูมิคุ้มกันแล้ว  แต่มีผู้ไปร้องว่าภรรยาของศาลเป็นพวกเอ็นจีโอและมีส่วนคัดค้านปิโนเช่มาตลอด จึงทำให้มองว่ามีส่วนได้เสียในการตัดสินเรื่องนี้  จึงทำให้ปิโนเช่หลุดพ้นจากการดำเนินคดีและกลับไปสู่ประเทศของตน กรณีอย่างนี้เป็นเรื่องของกฎหมายระหว่างประเทศ (ในที่สุดชิลีก็มีการดำเนินคดีกับปิโนเช่ แต่ในระหว่างที่ดำเนินคดีเขาก็ตายไปพอดี)

          นอกจากกรณีทีประมุขแห่งรัฐและนักการทูตที่มีภูมิคุ้มกันแล้ว  ก็ยังมีในกฎหมายแพ่ง  ในประเด็นว่า   กฎหมายประเทศใดจะใช้บังคับกับคนในประเทศนั้น   เช่น  คนไทยมีภรรยาเป็นคนอังกฤษและมีลูกที่นั้น  จากนั้นเขาไปปากีสถานก็ไปสร้างบ้านไว้ที่นั้น  ปรากฎว่ามาเที่ยวเมืองไทย  ตาย  กรณีนี้  มรดกจะตกทอดตามกฎหมายไทย  อังกฤษหรือปากีสถาน  เรื่องนี้ก็เป็นปัญหาถูกเถียงได้ว่าจะใช้กฎหมายของประเทศใด

                กรณีมรดกของบุคคลใดบุคคลหนึ่งจะตกทอดไปถึงทายาท ให้เป็นไปตามของกฎหมายภูมิลำเนาของบุคคลที่ถึงแก่ความตาย   จึงต้องดูว่าคนไทยคนนั้นมีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด  ซึ่งตามข้อเท็จจริงเขามีลูกเมียในอังกฤษเพราะฉะนั้นต้องใช้กฎหมายของอังกฤษ  แต่กรณีที่มีอสังหาริมทรัพย์อยู่ที่อื่น  มรดกนั้นก็ต้องใช้กฎหมายในประเทศที่อสังหาริมทรัพย์ของเขาอยู่    แต่ถ้าเป็นเรื่องละเมิดให้ใช้กฎหมายของถิ่นที่ละเมิด  คือ ละเมิดในประเทศใด  ให้ใช้กฎหมายของประเทศนั้น (เหล่านี้จะได้เรียนในปีที่ ๔  เรื่องกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลน่ะครับ)

         ขอบเขตบังคับในแง่ของเวลานั้น

                - กฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่า (มีมาตั้งแต่สมัยโรมัน)

                                ก)  ที่มีบัญญัติไว้แล้วในประมวลกฎหมาย

                                ข)...................(ตอนนี้จะกลับมาสรุปอีกทีน่ะครับ เนื้อหาที่บันทึกขาดตอนไป  ไม่รู้ตอนนั้นหลับไปหรือเปล่า   เดี๋ยวจะตามไฟล์เสียงและสรุปเพิ่มน่ะครับ)

                ที่ว่ากฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่านี้  หมายถึง  ยกเลิกกฎหมายประเภทเดียวกัน 

                -ถ้ากฎหมายใหม่เป็นกฎหมายเฉพาะ  กฎหมายใหม่มีผลเพียงเป็นข้อยกเว้นกฎหมายเก่าที่เป็นบททั่วไป  แต่ไม่มีผลเป็นการยกเลิกกฎหมายเก่า  เพราะโดยปกติย่อมไม่ขัดกัน  เว้นแต่จะได้ความว่าขัดกันโดยตรงจึงจะมีผลเป็นการยกเลิกกฎหมายเก่า  ตัวอย่างเช่น  กรณีมีการตราพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเงินกู้เกินอัตรา มาตรา ๖๕๔ ย่อมไม่เป็นการเลิกประมวลกฎหมายส่วนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยเงินกู้  

                -ถ้ากฎหมายใหม่เป็นกฎหมายทั่วไป  ก็ไม่ยกเลิกกฎหมายเก่าที่เป็นกฎหมายเฉพาะด้วย  เช่น  กฎหมายมรดก  ไม่ยกเลิกพระบรมราชโองการเกี่ยวกับการตกทอดแห่งมรดกเฉพาะราย

                (พระบรมราชโองการเป็นกฎหมายเฉพาะเรื่อง  กฎหมายมรดกจึงไม่มีผลยกเลิกพระบรมราชโองการ )

                (ที่ดินที่พระราชทาน ไม่สามารถเอาไปจำหน่ายได้ เพราะเป็นไปตามพระราชโองการ   แต่ถ้าจะยกเลิกก็ต้องออกกฎหมายยกเลิกพระบรมราชโองการเป็นเรื่อง    ไป   จะเห็นได้ว่า  กฎหมายต่างประเภทจะยกเลิกกันไม่ได้)

                ตัวอย่างปัญหาเรื่องหลักฐานเป็นหนังสือ ฎี.๓๓๖/๗๔

                ค้ำประกันตามกฎหมายเก่าระบุให้ทำเป็นหนังสือ  แต่ตามประมวลกฎหมายฉบับ พ.ศ.๒๔๖๗  ไม่ได้กำหนดอย่างนั้น

                แต่ต่อมาเมื่อประกาศใช้บรรพ ๓  (พ.ศ.๒๔๗๒)  มาตรา  ๖๘๐  วรรค    กำหนดให้มีหลักฐานเป็นหนังสือ  มิฉะนั้นฟ้องร้องบังคับเป็นคดีมิได้

                ปัญหามีว่า  สัญญาค้ำประกันตามกฎหมายเก่า (๒๔๖๗-๒๔๗๒) ซึ่งมิได้ทำเป็นหนังสือ จะบังคับตามกฎหมายใหม่ได้หรือไม่เพียงใด?

                ดังนี้ ศาลฎีกาตัดสินว่า กฎหมายเก่าเรื่องค้ำประกันเป็นอันยกเลิกทั้งลักษณะ  ดังนั้นระหว่าง ๒๔๖๗-๒๔๗๒  หากมิได้ทำเป็นหนังสือก็บังคับได้ (ต่อมา  ม.๖๘๐  ว.๒  ปพพ.๒๔๗๒  กำหนดให้มีหลักฐานเป็นหนังสือ)

                ฎีกา ๑๐๕๐/๒๕๑๒

                การที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยชำระดอกเบี้ยเป็นข้าวเปลือกในอัตราที่เป็นทำนองว่า เป็นอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนดไว้ในประกาศห้ามมิให้ตกข้าวแก่ชาวนา จ.ศ.๑๒๓๙  ซึ่งผู้พอพากษาศาลอุทธรณ์มีความเห็นแย้งว่าเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย  และเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น  ประกาศห้ามมิให้ตกข้าวแก่ชาวนา  จ.ศ.๑๒๓๙ได้ถูกยกเลิกไปแล้วโดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งได้รวบรวมข้อบัญญัติต่าง ๆ ในทางแพ่งทั้งหมดขึ้นใช้บังคับตาม.....(ฟังไม่ทันครับ  อีกตอนที่ขอกลับไปฟังอีกทีแล้วจะมาสรุปเพิ่มครับ)

หมายเลขบันทึก: 191448เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2008 19:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท