กลุ่มออมทรัพย์ในที่ทำงาน


เบื้องหลัง... ผมแหย่เรื่องกลุ่มออมทรัพย์ในที่ทำงานไว้ ว่าน่าสนใจนะ มีประโยชน์นะ ไว้ในอนุทิน น้องหมอเจ๊บอกว่าสนใจ จึงเอาเรื่องนี้มาขยายความให้ชัดเจนครับ

 

ที่ทำงานของผมนั้นเป็นโครงการพิเศษ จึงมีช่วงเวลาที่จำกัด เมื่อหมดโครงการต่างก็แยกย้ายกันไป แม้ว่าพนักงานจะมีค่าตอบแทนที่สูงกว่าปกติบ้างแต่ก็ไม่ได้สูงมากจนสบายไปแปดชาติ ไม่ใช่ครับ เรามีเจ้าหน้าที่และพนักงานเพียง 7 คนเท่านั้นเอง

 

เกริ่น.... ผมมีประสบการณ์มาจากการสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ให้กับชาวบ้านทั้งในภาคเหนือและอีสานมานานพอสมควร จนปัจจุบันกลุ่มเหล่านั้นมีเงินหมุนเวียนนับสิบล้าน.. ผมแอบอมยิ้มเล็กๆ และนี่คือความสุขภายในของคนทำงานพัฒนา ที่เห็นการเติบโตในชนบท มิใช่เพียงแค่ตัวเลขเท่านั้น สาระภายในกลุ่มระหว่างคนยังน่าสนใจยิ่งนัก เราผ่านการฝึกอบรมในหลักการออมทรัพย์ในยุคแรกที่เรียกว่ากลุ่มเครดิตยูเนี่ยน ซึ่งมีประวัติความเป็นมา และพัฒนาการที่ ผมศรัทธายิ่ง จึงคิดว่า กลุ่มคนทำงานเล็กๆแบบสำนักงานของเรานี้ก็น่าที่จะจัดทำกลุ่มออมทรัพย์ได้ แบบเล็กๆ เพราะ การสะสมเงินคือการสะสมใจ

 

เริ่ม.... จากการที่สังเกต เห็นว่าพนักงานขับรถของผมไปขอยืมเงินเพื่อนร่วมงานไปแก้ปัญหาในครอบครัวเขา?? เมื่อผมทราบจึงคิดหาทางออกเรื่องนี้  ผมเชื่อว่าวันข้างหน้า ก็จะเกิดเรื่องนี้ขึ้นมาอีก และพนักงานคนอื่นๆก็อาจจะเกิดเรื่องเดือดร้อนเช่นแบบนี้อีกเช่นกัน ผมเชิญเจ้าหน้าที่และพนักงานทั้ง 7 คนมานั่งคุยกัน อาจจะเรียกว่า Semi-Training and Dialogue 

 

สาระหลักๆคือ คุยกันถึงประวัติพัฒนาการแนวคิดการออมทรัพย์ที่เรียก เครดิคยูเนี่ยน ที่นายเฟรดริช วิลเลี่ยม ไรฟ์ไฟเซ่น (เยอรมัน) คิดแก้ปัญหาหมู่บ้านของเขาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยการชุมนุมเพื่อนบ้านที่ประสบปัญหาสงครามเหมือนกันมาหาทางแก้ปัญหาด้วยกัน โดยการให้แต่ละคนสำรวจว่าครอบครัวของใครมีอะไรที่มากพอกว่าจะกิน จะใช้ ให้เอามารวมกัน แล้วแบ่งไปให้เพื่อนบ้านที่ขาดแคลนสิ่งนั้นๆ เดือนละครั้ง

 

 

 

จากวันเป็นเดือน เป็นปี หลายๆปี แนวความคิดนี้พัฒนาไปจากสิ่งของกลายเป็นเงินเอามารวมกันแล้วก็จัดระบบขึ้นเป็นคณะกรรมการ แล้วทำระเบียบขึ้น แล้วให้ผู้เดือดร้อนมากู้เอาเงินทุนนั้นไปแก้ปัญหาต่างๆ.... เรื่องประสบการณ์การจัดทำกลุ่มออมทรัพย์ที่ภาคเหนือและอีสาน แล้วขอความเห็นว่าเราจะจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ของเราหรือไม่  ในที่สุดก็เห็นพ้องกันว่าให้จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์กัน

 

 

จัดตั้ง…. ก็ง่ายๆ เรามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีก็ให้เป็นเหรัญญิก ทำสมุดบัญชีการออมทรัพย์ขึ้นมา ทำระเบียบการออม ระเบียบการกู้ขึ้นมา ตั้งคณะกรรมการพิจารณาเงินกู้ กำหนดวันออมขึ้นมา ฯลฯ แล้วก็ปฏิบัติกันไป

 

เมื่อถึงต้นเดือนก็ออมทรัพย์กันตามอัธยาศัย พนักงานก็ออมน้อย หัวหน้าก็ออมมากหน่อย ออมเสร็จ เหรัญญิกกลุ่มก็ทำรายงานบัญชีขึ้นมาแล้วเอาไปปิดที่บอร์ดประกาศภายในของสำนักงานเรา เพื่อให้ทราบ ทำเช่นนี้ทุกเดือน เมื่อใครเดือดร้อนก็กู้เงินโดยการยื่นเอกสารการกู้เงิน มาคณะกรรมการก็พิจารณาอนุมัติ

เผลอแพลบเดียวสิ้นปี...เหรัญญิกก็สรุปสถานการเงิน การออม การกู้เงินมาให้สมาชิกทุกคนทราบ  แล้วก็ปฏิบัติกันไปตามปกติ

 

 

ปันผล... เมื่อจัดทำหลายปีเข้า เงินก็มากขึ้น ดอกผลก็มากขึ้น เราก็พิจารณาจัดเอาดอกผลนั้นมาปันให้สมาชิกกัน โดยใครสะสมมาก กู้เงินมาก ก็จะได้เงินปันผลมาก ส่วนหัวหน้าจะเอาเงินปันผลนั้นหรือไม่ก็แล้วแต่ หัวหน้าบางคนก็อาจจะเอาส่วนปันผลของตนเองไปแบ่งให้พนักงาน  แค่เอาเงินต้นที่สะสมคืนเท่านั้น เพื่อช่วยเหลือพนักงานชั้นผู้น้อยของเรา

 

การทำงานของกลุ่มออมทรัพย์เป็นที่สนใจของเพื่อนร่วมงาน ในสำนักงานอื่นๆใกล้เคียงกัน ต่างสนใจขอมาเป็นสมาชิก  อันนี้ต้องระวัง เพราะหลายคนคิดว่านี่คือแหล่งเงินกู้  บางคนคิดว่านี่คือแชร์เงินรูปแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ เราต้องศึกษาประวัติแต่ละคนที่จะเข้ามาว่าเป็นแบบไหน หากเอาเงินไปซื้อหวย  เราก็ไม่เอามาเป็นสมาชิก หากเขาเป็นคนดี เราก็อบรมหลักการซะก่อน ……

 

สรุป.....

  • เป็นหลักการเพื่อนช่วยเพื่อน โดยใช้ใจและเงิน
  • เป็นการสร้างนิสัยการออมเงิน
  • เป็นสวัสดิการที่เราสร้างขึ้นมาเองในสำนักงานเล็กๆ
  • ได้แก้ปัญหาให้แก่พนักงานของเราได้จริงๆ
  • เป็นการสะสมเงินปันผลให้พนักงานผู้น้อยของเราเมื่อสิ้นปี หรือสิ้นโครงการ
  • เป็นการสะสมฐานทุนทางสังคม อันเป็นแรงเกาะเกี่ยวในสังคมที่ดี

 

 

(ค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.cultthai.coop/main.php?language=thai)

หมายเลขบันทึก: 191049เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2008 21:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)
  • สวัสดีค่ะพี่บางทราย แวะมาอ่านบันทึกที่เป็นประโยชน์ค่ะ "การสะสมเงิน เป็นการสะสมใจ" ยินดีที่โครงการประสบผลสำเร็จค่ะ
  •  เคยได้ยินแต่กองทุนหมู่บ้านบ้าง เครดิตยูเนียนบ้าง
  •  แต่ไม่มีโอกาสได้ศึกษารายละเอียดค่ะ
  • วันนี้เข้าใจยิ่งขึ้นค่ะ ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ อ.บางทราย

  • ที่ทำงานป้าแดง กำลังจะขยายตึกใหม่ มีน้องๆจบใหม่มาทำงานหลายคน
  • เรื่องการออมทรัพย์ของน้องๆอยู่ในความคิดป้าแดงเหมือนกัน เพราะอยากให้น้องๆได้ออมเงิน เพราะป้าแดงมีประสบการณ์ว่าตัวเองทำงานหลายปีไม่มีเงินเก็บเพราะไม่ได้เก็บตั้งแต่เริ่มต้นการทำงาน ไม่เน้นกู้เพราะที่ทำงานป้าแดงก็ทำกัน กู้แล้วไม่มีเงินคืน
  • วันนี้ได้อ่านบันทึกนี้ ทำให้ความคิดบรรเจิดต่อไปอีกขั้นเพราะมีแบบอย่างที่ดี แต่ไม่รู้ว่าจะผ่านความเห็นสมาชิกหรือเปล่านะคะ
  • ขอบคุณมากเลยค่ะ

สวัสดีครับน้องเอื้องแซะ P  1. เอื้องแซะ

เอื้องแซะ:

  • สวัสดีค่ะพี่บางทราย แวะมาอ่านบันทึกที่เป็นประโยชน์ค่ะ "การสะสมเงิน เป็นการสะสมใจ" ยินดีที่โครงการประสบผลสำเร็จค่ะ
  •  เคยได้ยินแต่กองทุนหมู่บ้านบ้าง เครดิตยูเนียนบ้าง
  •  แต่ไม่มีโอกาสได้ศึกษารายละเอียดค่ะ
  • วันนี้เข้าใจยิ่งขึ้นค่ะ ขอบคุณค่ะ

บางทราย:

  • ประวัติพัฒนาการเครดิตยูเนี่ยนในเยอรมันน่าสนใจมากครับ และปัจจุบันกลายเป็นธนาคารที่มีประชาชนเป็นสมาชิกที่ใหญ่ที่สุด เขาเรียกธนาคาร ไรท์ ไฟเซล
  • เช่นเดียวกัน แนวคิดนี้ขยายไปสู่ยุโรปประเทศอื่นๆ และเติบโตในอังกฤษ เดนมาร์ค ฯลฯ บางประเทศเรียก Saving Bank และเป็นธนาคารที่ใหญ่โตมาก
  • ธนาคารเหล่านี้มีประชาชนเป็นสมาชิกครับ เหมือนธนาคารออมสินบ้านเรา  แต่บ้านเขามิใช่เด็กๆมาเป็นสมาชิก ประชาชนมาเป็นสมาชิกในการออม ในยุโรปกล่าวกันว่า 8 ใน 10 คนเป็นสมาชิกธนาคาร นี้ครับ

หากอยู่ใกล้ๆ และอยากจะรู้เรื่องนี้ พี่จะไปเล่าให้ฟังสักครึ่งวัน ใครจะตั้งกลุ่มนี้ เอาผมไปเป็นวิทยากรได้เลย ไม่คิดค่าวิทยากร อิอิ

สวัสดีครับป้าแดง P 2. pa_daeng [มณีแดง คนสวย แซ่เฮ] 

ป้าแดง:

  • ที่ทำงานป้าแดง กำลังจะขยายตึกใหม่ มีน้องๆจบใหม่มาทำงานหลายคน
  • เรื่องการออมทรัพย์ของน้องๆอยู่ในความคิดป้าแดงเหมือนกัน เพราะอยากให้น้องๆได้ออมเงิน เพราะป้าแดงมีประสบการณ์ว่าตัวเองทำงานหลายปีไม่มีเงินเก็บเพราะไม่ได้เก็บตั้งแต่เริ่มต้นการทำงาน ไม่เน้นกู้เพราะที่ทำงานป้าแดงก็ทำกัน กู้แล้วไม่มีเงินคืน
  • วันนี้ได้อ่านบันทึกนี้ ทำให้ความคิดบรรเจิดต่อไปอีกขั้นเพราะมีแบบอย่างที่ดี แต่ไม่รู้ว่าจะผ่านความเห็นสมาชิกหรือเปล่านะคะ 

บางทราย:

  •  ป้าแดงผมปวารณาตัวเป็นวิทยากรให้ฟรีครับ
  • ป้าแดงครับ ที่ญี่ปุ่น เขาพบว่าการที่ประเทศเขาฟื้นตัวจากสงครามเร็วนั้น ส่วนหนึ่งเพราะประชาชนมีนิสัยการออมครับ เช่นเดียวกันที่เยอรมันหลังจากแพ้สงคราม เขาก็ฟื้นตัวเร็วเพราะนิสัยการออมของเขา
  • ตรงข้ามบ้านเรามีนิสัยการจ่าย อิอิ ระบบธนาคารก็ส่งเสริมการจ่ายด้วยโดยการออกบัตรเครดิตให้ง่ายๆ  แล้วเป็นไง..ใช้หนี้กันหัวโตเลย
  • ป้าแดง  ชาวบ้านที่เขาไม่มีเงินเดือน เขายังออมกันได้ จนมีเงินมากมายเป็นสิบล้าน(ทั้งกลุ่ม) เงินมากขนาดนั้นจนสามารถเอาผลกำไรมาตั้งเป็นสวัสดิการผู้สูงอายุได้เลยครับ  และสวัสดิการอื่นๆอีก
  • ป้าแดงลองแหย่เล่นๆ ดูนะหากสนใจ จะมาเป็นวิทยากรให้ฟรี อิอิ..

ป้าแดง แหย่แน่ๆเลยค่ะ แต่ว่าๆๆกว่าจะได้ประชุมกันต้องกลางเดือนหน้าแน่ะค่ะ เพราะป้าแดงต้องไป กทม.อ่ะค่ะ

ขอบคุณอาจารย์มากค่ะ

  • กราบขอบพระคุณหลายเด้อพี่เด้อ
  • ขอปุ๊บก็ให้ปั๊บยังงี้ จะไม่ให้รักได้ไง
  • ได้ไอเดียค่ะพี่
  • คล้ายๆกับเล่นแชร์เลยนะพี่นะ ต่างกันที่กติกานี่เองแหละค่ะ
  • น้องว่าดีกว่าเล่นแชร์ค่ะ 
  • ว่าแต่ว่า คนที่รับทำบัญชีให้นั้น มีการจ่ายเงินช่วยที่ลงแรงเสียสละทำให้มั๊ยค่ะ 

น้องหมอเจ๊ครับ P 6. หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ

  • กราบขอบพระคุณหลายเด้อพี่เด้อ
  • ขอปุ๊บก็ให้ปั๊บยังงี้ จะไม่ให้รักได้ไง
  • ได้ไอเดียค่ะพี่
  • คล้ายๆกับเล่นแชร์เลยนะพี่นะ ต่างกันที่กติกานี่เองแหละค่ะ
  • น้องว่าดีกว่าเล่นแชร์ค่ะ 
  • ว่าแต่ว่า คนที่รับทำบัญชีให้นั้น มีการจ่ายเงินช่วยที่ลงแรงเสียสละทำให้มั๊ยค่ะ 

บางทราย:

  • ไม่เลยครับ ไม่มีอะไรให้เลยเรื่องค่าตอบแทน แต่หากจะพิจารณาให้บ่างก็เป็นสินน้ำใจที่ทำได้ครับ
  • แต่ที่ได้คือ เงินส่วนปันผลสิ้นปี เราแบ่งให้เธอไปครับ
  • บังเอิญน้องที่ทำเป็นเลขาพี่ จึงไม่ได้ค่าตอบแทนพิเศษ เราขอร้องเธอทำให้เดือนละครั้งก็ไม่มีงานมากมายอะไร  นอกจากสมาชิกมาก งานเพิ่มขึ้นมาก ก็สมควรพิจารณาให้เธอครับ

 

ป้าแดง ใจเย็นๆ ค่อยๆไป เมื่อไหร่ก็ได้ สำหรับป้าแดง เพราะอยู่ใกล้ๆแค่นี่เอง

  • แวะมาขอความรู้เพิ่ม
  • หลักการนี้แตกต่างกับหลักการของสหกรณ์มั๊ยค่ะ พี่ค่ะ

น้องหมอเจ๊ครับ

  • หลักการนี้ต่างจากสหกรณ์ไหม..?
  • หลักการสหกรณ์พัฒนาไปจากหลักการเครดิตยูเนี่ยน โดยขยายกิจกรรมของกลุ่มออกไปดำเนินการทางธุรกิจต่างๆเพื่อสมาชิกมากขึ้น หลากหลายขึ้น กว้างขวางมากขึ้นครับ
  • กลุ่มเครดิตยูเนี่ยนเข้ามาในประเทสไทยโดยสภาคาทอลิคแห่งประเทศไทย โดยพณฯท่านบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ ท่านเป็นบาดหลวง ที่ต้องเดินทางเข้าเฝ้าโปป บ่อยเมื่อเดินทางไปยุโรปก็เห็นการแก้ปัญหาคนยากจนในประเทศเขาด้วยวิธีการตั้งกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนขึ้นมาก่อน เมื่อพัฒนาไปได้เข้มเข็งแล้ว มีสมาชิกมากขึ้นแล้ว มีเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น ก็ขยายกิจกรรมไปเรื่องอื่นที่สมาชิกเสนอได้
  • ท่านบุญเลื่อนหมั้น นำหลัการเครดิตยูเนี่ยน มาเริ่มตั้นครั้งแรกในสลัมศูนย์กลางเทวาฯ ชุมชนที่ยากจนที่สุดในกรุงเทพฯ โดนเอาความปรารถนาดี และความมีเมตตา กรุณาของศาสนาเข้าไปเป็นสะพานสู่การดึงใจคนเข้ามารวมตัวกัน
  • ประสบผลสำเร็จมาก แล้วแนวคิดเรื่องเครดิตยูเนี่ยนก็ขยายตัวไปตามชุมชนยากจนในประเทศไทย รวมทั้งชนบท เติบโตมากขึ้น จึงแยกตัวออกจากสภาคริสจักรไปตั้งเป็นสถาบันอิสระชื่อ สันนิบาตเครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากสหพันธ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งเอเซียและของโลก และอยู่ภายใต้กฏหมายของกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพราะถูกบรรจุให้เป็นรูปแบบหนึ่งของสหกรณ์ครับ ที่เรียกว่า สหกรณ์ออมทรัพย์
  • ท่านอดีตกรมการพัฒนาชุมชน (ดร.จำชื่อท่านไม่ได้)เดินทางไปฟิลิปปินส์พบว่าในสลัมกรุงมนิลา และชาวนาในประเทศต่างตั้งกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนขึ้นทั่วไป ท่านจึงกลับมาเมืองไทยตั้ง "กลุ่มออมทรัพยเพื่อการผลิต" ขึ้นทั่วประเทศ ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมการพัฒนาชุมชน
  • สหกรณ์นั้น  ในช่วงหลังเน้นการทำกิจกรรมทางธุรกิจมากกว่าการเน้นการออมทรัพย์ครับ
  • แต่ดูเหมือนว่าที่เจริญก้าวหน้าเข้มแข็งนั้นยังมีปัญหาอยู่นะครับ  ส่วนกลุ่มเครดิตนั้น พัฒนาเป็นแบบไทยๆมากขึ้นก็เรียกกลุ่มออมทรัพย์ ที่โด่งดังมากๆก็ที่คลองเปี๊ยะ คีรีวง และที่จันทบุรี  ขนาดเงินกองทุนหมู่บ้านที่รัฐบาลจัดสรรให้เขาไม่เอาครับ เพราะเงินเขามีล้นธนาคารแล้ว..

น้องหมอเจ๊ครับ

  • สันนิบาตเครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทยก็ทำหน้าที่จัดพนักงานออกไปบริการกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนทั่วประเทศ อบรมสมาชิกใหม่ ตรวจสอบบัญชี แนะนำการทำบัญชี ฯลฯ
  • และสนับสนุนให้ทุกกลุ่มเป็นสมาชิกสันนิบาต เพราะสันนิบาตจะครอบคลุมหลักความเสี่ยงต่างๆ เช่น หากเป็นสมาชิกแล้วก็ต้องส่งเงินจำนวนหนึ่งไปให้สันนิบาต หากสมาชิกเสียชีวิต ก็สะมีเงินสะสมสมทบให้ หากผู้เสียชีวิตมีหนี้สินต่อกลุ่มก็จะใช้หนี้แทนให้ เป้นต้น  ทำหน้าที่เหมือนประกันชีวิตครับ  สร้างความมั่นคงให้แก่กลุ่ม และสมาชิกครับ
  • พี่ค่ะ ขอปรึกษาค่ะ ส่งเมล์มาแล้วค่ะ

พรุ่งนี้จะส่งเมล์มาให้นะครับ

เรียนพี่ท่านบางทรายค่ะ

* ชอบภาพ อธิบาย กลุ่มออมทรัพย์ใจ จังค่ะ

* ตั้งแต่ไปดูงานเกี่ยวกับ กลุ่มออมทรัพย์ และเค้ามีทำ

กลุ่ม ธนาคารขยะ แล้ว รู้สึกว่า เป็นได้ดีมากค่ะ

* แต่ก็ยังมีบางกลุ่ม บางพื้นที่ ที่มีปัญหาค่ะ

* ส่วนใหญ่ กลุ่มสัจจะ ที่ตั้งขึ้น จะไม่ยั่งยืน ไม่แน่ใจว่า อะไรคือเหตุผลหลักค่ะ .. แต่จากที่สอบถามชาวบ้าน มีหลายประเด็นค่ะ

- เช่น สมาชิกมุ่งกู้ อย่างเดียว  ...  พอมีเงินมากๆ มีหนีบ้างคะ

- ผู้ปสง. ไม่เข้มแข็งพอ  ... หรือ ไม่สามารถสร้างกิจกรรมเสริมรายได้ ทำให้ กลุ่มอยู่ไม่รอด เป็นต้น  ...

* หากทุกกลุ่ม มีสัจจะ และทำตามแผน ที่พี่ท่านเขียนไว้ข้างต้น

ปัญหาต่างๆ คงลดลง และกลุ่ม จะเข็มแข็งได้ที่สุดนะคะ

* อย่างไร ปูก็ยังเชื่อมั่น ใน กลุ่มออมทรัพย์เล็กๆ จะเป็นส่วนช่วย สร้างความยั่งยืน ภายในชุมชนได้คะ หรือแม้กระทั่ง ในครอบครัว ก็ตามที

* -  การสะสมเงิน คือ สะสมใจ  เพิ่งทราบว่า พี่ท่าน มีแอบหวานเล็กๆ :)

* ปูมาย้อนดูตัวเอง เพิ่งสะสมใจ .. ล้วนๆ เลย ฮือๆ :)

* ... ชื่นชม องค์กรกลุ่มๆ ในทีทำงานพี่ท่านจังค่ะ น้องๆ เค้าโชคดีนะคะ ที่มีผู้นำ อย่างพี่ท่าน .. .

* รักษาสุขภาพนะคะ  ... ด้วยเคารพ ศรัทธา พี่ท่านเสมอค่ะ

การสะสมเงิน คือ การสะสมใจ .. น้องเอาใจ มาให้อีกดวงค่ะ

  • พี่บางทรายค่ะ อ่านเมล์แล้วนะค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ 
  • จะลองไปทำดูก่อน มีอะไรที่สืบค้นได้แล้วมีข้ออยากรู้ จะถามมาอีกนะค่ะ

น้องหมอเจ๊ ครับ

มีอะไรจะให้รับใช้ พี่พี่น้องน้อง ก็ยินดีนะครับ

สวัสดีครับน้องปู  P 14. poo

ปู:

* ชอบภาพ อธิบาย กลุ่มออมทรัพย์ใจ จังค่ะ

* ตั้งแต่ไปดูงานเกี่ยวกับ กลุ่มออมทรัพย์ และเค้ามีทำ

กลุ่ม ธนาคารขยะ แล้ว รู้สึกว่า เป็นได้ดีมากค่ะ

* แต่ก็ยังมีบางกลุ่ม บางพื้นที่ ที่มีปัญหาค่ะ

* ส่วนใหญ่ กลุ่มสัจจะ ที่ตั้งขึ้น จะไม่ยั่งยืน ไม่แน่ใจว่า อะไรคือเหตุผลหลักค่ะ .. แต่จากที่สอบถามชาวบ้าน มีหลายประเด็นค่ะ

- เช่น สมาชิกมุ่งกู้ อย่างเดียว  ...  พอมีเงินมากๆ มีหนีบ้างคะ

- ผู้ปสง. ไม่เข้มแข็งพอ  ... หรือ ไม่สามารถสร้างกิจกรรมเสริมรายได้ ทำให้ กลุ่มอยู่ไม่รอด เป็นต้น  ...

บางทราย:

          เป็นไดอะแกรมง่ายๆครับที่ตรงไปตรงมา และพี่ชอบเขียนบันทึกด้วยไดอะแกรมครับ มันเข้าใจความสัมพันธ์มากกว่าการบรรยายอย่างเดียว อิอิ(เสียนิสัย)

          กลุ่มชาวบ้านคือ ยาขมหม้อใหญ่ของงานพัฒนาชุมชน มีปัจจัยมากมายที่จะส่งเสริมให้กลุ่มเติบโต หรือล้มละลาย หรือแคระแกรนอยู่แค่ไหนในวันก่อตั้ง ผ่านไป 5 ปีก็สูงกว่าเดิมนิดหน่อย ก็พบเยอะ   งานพัฒนากลุ่ม สาระลึกๆคืองานพัฒนาคน คืองานพัฒนาสำนึกคน

          ไอ้เจ้าสำนึกนี่น่ะ มันมีบ่อน้ำวิเศษที่ไหนบ้างล่ะ จะเอาสิบล้อไปบรรทุกมาให้ดื่มกันจะได้มีสำนึกร่วมกันอย่างบริสุทธิ์ใจ ยากจริงๆ  งานนี้จึงต้องอาศัยวิเคราะห์เจาะลึก ถึงลูกถึงคน ทุ่มเททั้งกายใจ ฯลฯ

          เป็นงานที่ทำทวนกระแสทุนนิยม แล้วสังคมในปัจจุบันนั้นน่ะ กระแสนี้เราไปหยุดก็ไม่ได้ กระแสได้เข้าไปเคลือบใจของทุกคนมากมายแล้ว หลับตาลงก็คิดหาเงิน ตื่นขึ้นมาก็คิดจะรวย ไอ้เราไปปาวๆเพียงวันสองวันนั้นน่ะไม่ละคายผิวใจเขาหรอก  ต้องอยู่กินกันนานๆแล้วค่อยๆเปลี่ยนแปลงกันทั้งกายทั้งใจ เป็นงานที่ต้องอาศัยทัศนคติเชิงวัฒนธรรมชุมชนมากทีเดียว

          อ้าว   พี่ร่ายยาวซะแหล่ว...น้องปู...

ปู:

* หากทุกกลุ่ม มีสัจจะ และทำตามแผน ที่พี่ท่านเขียนไว้ข้างต้น

ปัญหาต่างๆ คงลดลง และกลุ่ม จะเข็มแข็งได้ที่สุดนะคะ

* อย่างไร ปูก็ยังเชื่อมั่น ใน กลุ่มออมทรัพย์เล็กๆ จะเป็นส่วนช่วย สร้างความยั่งยืน ภายในชุมชนได้คะ หรือแม้กระทั่ง ในครอบครัว ก็ตามที

* -  การสะสมเงิน คือ สะสมใจ  เพิ่งทราบว่า พี่ท่าน มีแอบหวานเล็กๆ :)

บางทราย:

          สมัยจัดตั้งกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนนั้น พี่ตระเวนไปประชุม อบรม พูดคุย พาไปดูงาน นั่งนอนถกกันกับชาวบ้านเป็นปี ครับกว่าจะตั้งกลุ่มขึ้นมาได้  เรียกว่าเขี้ยวกันจนเข้าใจแจ่มแจ้ง

          หน่วยงานอื่นๆโดยเฉพาะราชการ ประชุมเช้าบ่ายตั้งกลุ่มแล้ว  มันจะไปเหลือหรือ  มันก็มีแต่ชื่อที่เหลือ  กิจกรรมหายเกลี้ยง ทั้งปีไม่เคยประชุมเลย  มันจะเป็นกลุ่มได้อย่างใด กลุ่มอยู่ได้เพราะกิจกรรมเป็นตัวเกาะเกี่ยว มีวัฒนธรรมเป็นเชือกร้อยสายใจ มีผู้นำดีดีเป็นผู้นำพา มีระเบียบข้อตกลงเป็นการขจัดอุปสรรคของความสับสน ฯลฯ.....

         ถูกแล้วสร้างคนคือการสร้างใจ งานพัฒนาชนบทก็มาจบลงที่ตรงนี้แหละ  ภาระกิจแบบนี้พี่จึงวิจารย์ว่าระบบราชการ ออกแบบมาให้ทำงานแบบนี้ยาก เพราะไม่ยืดหยุ่นมากพอที่จะไหลรื่นไปกับการเคลื่อนตัวของคน องค์กร ความคิด ปัญหา อุปสรรค ฯ

* ปูมาย้อนดูตัวเอง เพิ่งสะสมใจ .. ล้วนๆ เลย ฮือๆ :)

* ... ชื่นชม องค์กรกลุ่มๆ ในทีทำงานพี่ท่านจังค่ะ น้องๆ เค้าโชคดีนะคะ ที่มีผู้นำ อย่างพี่ท่าน .. .

บางทราย:

          โอย  น้องปู  30 กว่าปีที่พี่คลุกคลีมากับเรื่องเหล่านี้ หากสรุปบทเรียนไม่ได้ก็ลาออกไปขายเต้าฮวยดีกว่า  สำคัญว่าเราหยิบเอางานลึกๆมาคุยกับคนแล้วเขาไม่เข้าใจเพราะอยู่กันคนละบริบท น่ะซี  เมื่อเขาไม่รู้เรื่องก็ต่างคนต่างเดิน อิอิ เราก็บ้าไปกับชาวบ้านกลิ่นโคลนสาบควายนั่นแหละ...

          อย่างน้อยเวทีนี้ก็เปิดให้ชาวบ้านได้ชูคอบ้าง ผ่านการที่เราหยิบมาเล่าเรื่องน่ะครับ

* รักษาสุขภาพนะคะ  ... ด้วยเคารพ ศรัทธา พี่ท่านเสมอค่ะ

ขอบคุณครับที่ห่วงใยสุขภาพพี่

ขอบคุณค่ะพี่ท่าน ..

* น้องเข้าไปอ่านในอนุทิน

* สนใจเรื่อง ทำชาใบผักหวานป่าค่ะ พี่ท่าน

... ขอบคุณค่ะ ...

น้องปู 

พี่น่ะลองแบบลูกทุ่งจริงๆ ไม่มีความรู้เลย และไม่ได้หาความรู้ก่อนด้วย  อิอิ.. ช่วงนั้นไม่มีเวลาเลยเอาแบบลูกทุ่งจริงๆ

แล้วก็ได้ประสบการณ์..อิอิ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท