สรุปสาระสำคัญของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ครั้งที่ ๑


วันแรกของการเรียนกฎหมาย : ความรู้เบื้องต้น

ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าศึกษาเพิ่มเติมความรู้ทางกฎหมายในโครงการนิติศาสตร์ภาค บัณฑิต  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ประจำปีการศึกษา 2551 นี้  โดยเรียนทุกวันจันทร์ถึงศุกร์  ช่วงเวลา  17.30 ถึง 20.30  น. (เป็นโครงการที่เปิดให้คนทำงานที่จบปริญญาตรีแล้วเข้าเรียนครับ/แต่ละปีรับจำนวนประมาณ 500 คน แต่ข่าวว่าจบประมาณ 30 % ต่อปีเท่านั้น...หวังว่าเราจะอยู่ในจำนวนที่จบด้วยน๊า...ลงสนามแล้วก็ต้องสู้กันต่อไป)

.................วันนี้  เป็นวันแรกของการเข้าเรียนในวิชากฎหมายแพ่ง : หลักทั่วไป   โดยมีท่านอาจารย์ ผศ.ดร.กิตติศักดิ์  ปรกติ  เป็นผู้สอน  ท่านสอนได้น่าสนใจมาก  มีการยกตัวอย่างประกอบการอธิบายเรื่องกฎหมายที่ชัดเจน  ชวนสนใจและติดตามตลอด   (3 ชั่วโมงเลยเป็นเหมือนฟ้าแลบ...เร็วมาก  เพลินด้วย)

.................กลับถึงบ้าน...หยิบสมุดบันทึกมาอ่านทบทวนดู   เลยเกิดไอเดียว่า....น่าจะคัดเอาสาระสำคัญของการเรียนแต่ละวันมาเล่าขานบนกระดาน G2K  เผื่อว่า...1) จะได้แลกเปลี่ยนความรู้กับท่านผู้สนใจทั้งหลาย 2) เปิดประเด็นที่ชวนกังขาให้ผู้รู้ช่วยชี้แนะ  และ 3)เก็บเป็นบันทึกไว้ได้ทบทวนความรู้ของตนเอง....จึงตัดสินใจตั้งบล๊อคนี้ขึ้นมาเพื่อการนี้....น่ะครับ...

.................เริ่มเลยน่ะครับ...สาระสำคัญที่ได้เรียนรู้ในวันนี้  เป็นเรื่องวิธีการศึกษาและความรู้พื้นฐานด้านกฎหมาย   โดยมีบางประเด็นที่น่าสนใจซึ่งท่านอาจารย์ได้ตั้งเป็นคำถามให้ช่วยกันแสวงหาคำตอบ  อาทิ  ว่า....

.................กฎหมายสัมผัสจับต้องได้หรือไม่ ?   คำตอบคือ  ที่แท้แล้วกฎหมายสัมผัสจับต้องไม่ได้  เป็นนามธรรม  แต่ที่เราได้เห็น ได้พบ  ได้อ่านกันนั้นเป็นเพียงภาพสะท้อนของกฎหมายเท่านั้น  ซึ่งบางทีเราอาจจะเรียกว่าตัวบทกฎหมายหรือกฎหมายต่าง ๆ  ดุจดังใบหน้าของเรา  ที่แท้จริงเราไม่สามารถมองเห็นใบหน้าของเราได้เลย  สิ่งที่เรามองเห็นเป็นใบหน้าไม่ว่าในรูปถ่ายหรือกระจก  ล้วนเป็นภาพสะท้อนซึ่งในความเป็นจริงมันต้องตีความ  ต้องมองกลับ  เพราะมันไม่ใช่ของจริง  และภาพสะท้อนเหล่านั้นก็ขึ้นอยู่กับกระจกที่นูน  ที่เว้าต่างกัน  ย่อมสะท้อนภาพออกมาต่างกันด้วย  ดังนั้น ใบหน้าที่แท้จริงของเราจึงเป็นสิ่งที่มองด้วยตาไม่เห็น  เกินขอบเขตการมองเห็น   กฎหมายก็เหมือนกัน  ไม่สามารถมองเห็นหน้าตาที่แท้จริงของมันได้   จึงทำให้เป็นเรื่องยากที่จะทำให้เห็นตรงกันหรือเข้าใจเป็นอย่างเดียวกันทุกคน  

.................นิติศาสตร์กับกฎหมายต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร? คำตอบคือ  นิติศาสตร์  กว้างกว่าและลึกกว่ากฎหมาย   เพราะนิติศาสตร์มิใช่เป็นเพียงตัวบทกฎหมายที่อยู่ในฐานะเป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการควบคุมความประพฤติเท่านั้น  แต่เป็นวิชาที่ว่าด้วยหลักการและกฎเกณฑ์ของกฎหมาย  รวมถึงวิธีการใช้กฎหมาย  การตีความกฎหมายเพื่อแก้ไขข้อโต้แย้งต่าง ๆ  และหยั่งลึกไปถึงเบื้องหลังของหลักการทางกฎหมายว่ามีความเป็นมาอย่างไร  มีความสัมพันธ์กับปรากฏการทางสังคมอย่างไร   เกี่ยวโยงไปถึงเรื่องความสัมพันธ์เชิงเหตุเชิงผลและการตัดสินคุณค่าของปรากฎการณ์ทั้งหลาย  เพื่อเป็นการประเมินหรือวินิจฉัยปัญหาที่เกี่ยวกับความเป็นธรรม  ...นี่เป็นลักษณะของนิติศาสตร์   กฎหมายจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของนิติศาสตร์เท่านั้น

.................การศึกษานิติศาสตร์จึงมี 3  ระดับคือ  1) นิติศาสตร์โดยแท้ (Legal Science Proper)  2) นิติศาสตร์ทางข้อเท็จจริง (Science of Fact)   3) นิติศาสตร์ทางคุณค่า (Science of Value) 

.................นิติศาสตร์โดยแท้  คือ การศึกษาความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาของกฎหมายและหลักกฎหมายต่าง ๆ รวมทั้งความรู้ในเรื่องนิติวิธี   หรืออาจสรุปได้ว่า  เป็นการศึกษาตัวกฎหมายและวิธีการใช้นั่นเอง

.................นิติศาสตร์ทางข้อเท็จจริง  คือ  การศึกษากฎหมายในฐานะที่เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์เชิงเหตุเชิงผลที่ปรากฎในปัจจุบัน

.................นิติศาสตร์ทางคุณค่า  คือ  การศึกษากฎหมายในแง่คุณค่าซึ่งมีการตัดสินหรือวิจารณ์ว่าดีหรือไม่ดี  ควรหรือไม่ควร  ผิดหรือถูก เพื่อใช้ประเมินคุณค่าของกรณีต่าง ๆ

.................สรุปว่า  การศึกษานิติศาสตร์   เป็นการศึกษาหลักวิชากฎหมาย  นิติวิธี  ความสัมพันธ์เชิงเหตุเชิงผลของกฎหมายกับปรากฏการณ์ทางสังคม และคุณค่าของปรากฏการณ์ทั้งหลายซึ่งอาจจะต้องนำมาประเมินหรือตัดสินปัญหาต่าง ๆ นั่นเอง

 

ขอแถม...เรื่องเล่าในห้องเรียน

.................มีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่อาจารย์ได้ยกตัวอย่างที่น่าสนใจว่า...(อาจจะตกหล่นบ้างน่ะครับ)...วันหนึ่งอาจารย์กลับรถในบริเวณที่แคบ ๆ แห่งหนึ่งอยู่ในเขตธนบุรี    ตรงนั้นฝาท่อระบายน้ำมันหงายขึ้น (คือผู้รับเหมาวางฝาท่อผิด ปกติต้องคว่ำ) ทำให้คมของฝาท่อเฉือนล้อรถของอาจารย์จนยางแตกแฟบลงทันที  อาจารย์ไม่รู้จะทำไงดี  เพราะรู้เป็นนักฎหมายแต่ไม่รู้วิธีเปลี่ยนยางรถเพราะไม่ใช่ช่างยนต์   แต่โชคดีที่ชาวบ้านแถวนั้นเข้ามาช่วยกันเปลี่ยนยางให้จนเสร็จ  ชาวบ้านก็บอกว่า  ที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้รับเหมาเขาวางฝาท่อไว้ไม่ได้  จริง ๆ มันต้องคว่ำ  แต่ก็ดีน่ะที่รถของอาจารย์มาเหยียบเข้า  ถ้าเด็ก ๆ วิ่งมาเหยียบเข้า  คงได้เจ็บได้มีบาดแผลกันแน่ อาจารย์ก็เลยคุยกับชาวบ้านว่า  ถ้าอย่างนั้นผมจะไปเอาผิดกับเขตธนบุรีในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบดูแลความเรียบร้อยของถนนหนทางในเขตนี้   ชาวบ้านก็ถามว่า  ทำไมไม่ไปเอาผิดกับผู้รับเหมาล่ะ  อาจารย์ตอบว่า  เพราะเขตเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลโดยตรง  ไม่ว่าไปว่าจ้างใครให้มารับเหมางาน เมื่อเกิดความผิดพลาดเขตก็ต้องรับผิดชอบ  ประชาชนเสียหายมีสิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหาย   (ชาวบ้านงง...อย่างนี้มีด้วยหรือ) 

.................ฝ่ายอาจารย์รีบไปสนง.เขตธนบุรีทันที   ไปถึงเจ้าหน้าที่เขาบอกว่ามีเรื่องอะไร  อาจารย์บอกว่าจะมาเรียกค่าเสียหาย  700  บาท ค่ายางเสียหายเพราะฝาท่อบนถนนเฉือนแตก  เจ้าหน้าที่เลยบอกให้ไปคุยกับ รอง ผอ.เขต   เขาก็บอกว่าอย่างนี้มีด้วยหรือ  ไม่เคยมีใครมาเรียกร้องแบบนี้เลย  รอง ผอ.เขตจึงให้อาจารย์เขียนคำร้อง.....ซึ่งอาจารย์ก็ได้ทำตามนั้น

.................ต่อมาอาจารย์ไปต่างประเทศระยะเวลาหนึ่ง  พอกลับมาถึงเมืองไทย  ภรรยาบอกว่ามีคนมาหาบ่อยมากตอนที่อาจารย์ไม่อยู่  อาจารย์ถามว่าเป็นใครล่ะ   ภรรยาบอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่เขต   แต่ก็ไม่กล้าถามว่ามีเรื่องอะไร   จนเช้าวันหนึ่งอาจารย์ก็ได้พบกับเจ้าหน้าที่เอง  ปรากฎว่า  ทางเขตนำเรื่องที่ร้องเรียนไปประชุม  ผลประกฎว่าตามหลักกฎหมายแล้ว  กรณีข้อเท็จจริงเช่นนี้ เขตต้องรับผิดชอบ   ทางเขตจึงจ่ายค่าเสียหายให้  700  บาท

.................ทุกท่านครับ  บ่อยครั้งที่กรณีเช่นนี้หรือคล้ายกันเกิดกับเรา เมื่อเราไม่รู้กฎหมายก็มักปลงใจว่าเป็นเคราะห์ เป็นกรรม  เป็นโชคร้าย  ถึงคราวต้องเสีย  แต่หากเรารู้กฎหมายบางครั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นมันอาจเป็นเพราะความบกพร่องของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็ได้  และโดยหลักกฎหมายแล้วเขาต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย.....เรื่องนี้จึงเป็นอุทาหรณ์ว่า  สิทธิต่าง ๆ เรามีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย   เราควรใช้สิทธินั้น ๆ    ไม่ควรนิ่งเฉยจนต้องเสียประโยชน์โดยเหตุ  อันไม่ควร....น่ะครับ

หมายเลขบันทึก: 190905เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2008 20:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 18:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท