Bullwhip Effect คือ


Bullwhip Effect โลจิสติกส์ ซัพพลายเชน

          อ่านบทความเรื่อง หัวใจของการค้าขาย Supply Chain Management               

โดย ปรมินทร์ จาวลา 

จาก http://www.thaitextile.org/supply_chain/publication/poramin.html

       http://www.thaitextile.org/supply_chain/publication/poramin2.html

     พบว่ามีคำศัพท์  Bullwhip Effect  ซึ่งมีความน่าสนใจ เพราะว่า Bullwhip Effect เกี่ยวข้องกับการพยากรณ์ความต้องการสินค้าของลูกค้า เริ่มจากผู้ค้าปลีก ผู้ค้าส่ง โรงงาน         ผู้จัดหาวัตถุดิบหรือผู้จัดส่งวัตถุดิบ เพราะถ้าเราสามารถความต้องการของลูกค้าได้ใกล้เคียงหรือแม่นยำ ทำให้ธุรกิจมีต้นทุนที่ลดลงและมีประสิทธิภาพในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า ความยากอยู่ที่เราจะทำอย่างไรให้เกิด Bullwhip Effect  น้อยที่สุด ติดตามบทความด้านล่างที่มาจากการอ้างอิงเบื้องต้น ดังนี้

 

        การจัดการ Supply Chain คือความพยายามในการย่นระยะเวลา รวมถึงเพิ่มความเร็วในการเคลื่อนย้าย และขนส่งสินค้า ที่ต้องมีประสิทธิภาพ และประหยัดต้นทุนให้มากที่สุด จะเห็นได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกันทั้งสิ้นในการจัดการระบบที่ซับซ้อน

 

การย่นเวลาไม่ได้อยู่ที่การทำให้เร็ว หรือเร็วที่สุด แต่จะเน้นไปที่ว่าบริษัทสามารถใช้เวลาในการส่งมอบสินค้าผ่านกระบวนการของตนได้ทันท่วงที และเชื่อถือได้มากเพียงใด และต้องสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้อีกด้วย

       

การพัฒนากลยุทธ์จัดการ Supply Chain ก็คือ การศึกษาถึงปัญหาและอุปสรรคใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทั้งหมด ฝรั่งเขาเรียกว่า Bullwhip Effect ซึ่งเป็นข้อบกพร่องและปัญหาที่เกิดจากการจัดการ Supply Chain นั่นเอง

 

จริงๆ แล้ว ก่อนที่จะเข้าถึงวิธีแก้ไขอุปสรรคที่ว่า นักบริหารก็ต้องทำความเข้าใจสาเหตุที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Bullwhip Effect

 

ในสื่อต่างประเทศมีวารสารเฉพาะด้านเกี่ยวกับ Supply Chain Management ซึ่งได้กล่าวถึงปัญหาที่เรียกว่า Bullwhip Effect เอาไว้เขียนโดย อาร์.ไมเคิล โดโนแวน ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหาร Supply Chain ระบุสาระเอาไว้ดังนี้

 

วัตถุประสงค์ของการบริหารระบบการจัดส่งสินค้า (Supply Chain) ก็คือ เพื่อทำให้เกิดการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพสูงด้วยความเร็วสูง ซึ่งจะทำให้ซัพพลายเออร์สามารถจัดส่งสินค้าไปถึงมือลูกค้าได้ทันตามกำหนดเวลาโดยไม่มีการติดขัด

 

อย่างไรก็ตาม ความลังเลต่อการสั่งสินค้าโดยไม่มีการวางแผนล่วงหน้า รวมไปถึงสาเหตุอันเนื่องมาจากสินค้าหมดสต็อก จะทำให้เกิดการบิดเบือนผิดรูปไปในกระบวนการจัดส่งสินค้า ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายและทำลาย supply chain นั้นๆ ได้ โดยสาเหตุนั้นมีอยู่หลายประการ และบ่อยครั้งก็มักจะเป็นสาเหตุที่ประกอบร่วมกัน ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Bullwhip Effect

 

สิ่งที่ทำให้เกิดการบิดเบือนความต้องการโดยทั่วไป ได้แก่ ตัวลูกค้า, นโยบาย, การทำโปรโมชั่น, กระบวนการ, การขาย, ระบบการผลิต และซัพพลายเออร์

 

ความต้องการสินค้าโดยปราศจากการวางแผน ส่งผลให้เกิด ภาวะความต้องการจำนวนมาก ซึ่งอาจจะเป็นเพียงสัญญาณที่ขาดหายไปเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ ของลูกค้าแต่ละราย แต่ความยุ่งยากนั้นได้สะท้อนกลับมายังระบบการจัดส่งสินค้า และบ่อยครั้งส่งผลให้เกิดปัญหาใหญ่และต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือซัพพลายเออร์ที่อยู่ท้ายสุดในห่วงโซ่ของระบบ

 

หลายต่อหลายครั้งความต้องการที่โลเลไม่แน่นอนเหล่านี้ ทำให้เกิด การแข่งกันผลิตอย่างบ้าคลั่ง ด้วยความต้องการเข้าครอบครองและเร่งให้มีการจัดส่งวัตถุดิบมากขึ้น รวมทั้งการจัดตารางเวลาสำหรับการผลิตเสียใหม่

 

ผลกระทบที่มีต่อผลการดำเนินงานของธุรกิจก็คือ รายการสินค้าในสต็อกมีมากเกินไป ทำให้เกิดปัญหาเรื่องคุณภาพ ต้นทุนค่าวัตถุดิบที่สูงขึ้น ค่าล่วงเวลา และต้นทุนการขนส่งสินค้า

 

ในกรณีที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือ มาตรฐานการบริการลูกค้าตกต่ำลง ระยะเวลาการจัดส่งนานขึ้น ยอดขายลดลง ต้นทุนเพิ่มขึ้น และกำลังการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไปในที่สุด นี่คือ Effect อย่างร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นได้ ลองนึกถึงการหวดแส้ เมื่อเราขยับแกว่งข้อมือเล็กน้อยแต่ปลายแส้จะแกว่งมากกว่าข้อมือเราเป็นอันมาก ในการอธิบายกราฟจะหมายถึงกราฟที่แกว่งแบบน้อยๆ เมื่อจุดเริ่มต้น แล้วก็เริ่มแกว่งมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงปลาย

 

 

ที่มา http://www.infotech.com/images/MR/Articles/012505-6.gif

 

สำหรับธุรกิจและอุตสาหกรรมค้าปลีก Bullwhip Effect อาจหมายถึง การขยายตัวของการเคลื่อนไหวน้อยๆ ที่จุดเริ่มต้น ไปเป็นการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงและแรงขึ้น ที่จุดถัดไป

 

ในการผลิต อาจหมายถึง ปรากฏการณ์ที่ผู้จัดส่ง A เก็บสินค้าคงคลังมากกว่าผู้จัดส่ง B (หรือศูนย์กระจายสินค้า DC) และผู้จัดส่ง B เก็บสินค้าคงคลังมากกว่าผู้ค้าปลีก เป็นอย่างนี้เป็นทอดๆ

 

ทั้งหมดนี้อาจเกิดขึ้นเพราะในการสั่งสินค้าแต่ละจุด แต่ละจุดจะสั่งสินค้าเผื่อขาดเอาไว้จากปริมาณที่แท้จริง (Safety Stock) ของตัวเองไว้ เมื่อดูทั้งระบบการผลิตและการจัดส่ง จะมีการเก็บสินค้ามากเกินความต้องการของผู้บริโภคที่แท้จริง

 

หรือปัญหาอีกกรณีหนึ่งอาจเกิดจากการสื่อสารและติดต่อกันที่ไม่มีประสิทธิภาพจากจุดหนึ่งไปถึงจุดหนึ่ง ทำให้การคาดคะเนสินค้าที่จำต้องผลิตและจัดเก็บมีสูงเกินความจริงมาก ซึ่งอาจส่งผลถึงปัญหาในการขนส่งที่ล่าช้าลง และทำให้สินค้าขาดช่วงได้

 

ในการแก้ปัญหาแบบนี้ในหลายๆ ประเทศ ผู้ผลิตกับผู้จัดส่งและผู้ค้าปลีกจะมีการแบ่งปันข้อมูลกันเป็นเครือข่ายข้อมูล (Electronics Point of Sale Data) เพื่อนำมาใช้ในการพยากรณ์การขายร่วมกัน

 

หรือกรณีของบริษัทวอลโว่ ที่ครั้งหนึ่งฝ่ายการผลิต ทำการผลิตรถยนต์สีเขียวออกมาเป็นจำนวนมากกว่าปกติ เนื่องจากข้อมูลบ่งบอกว่าสีเขียว เป็นสีที่ลูกค้าสั่งซื้อแล้วเป็นจำนวนมาก แต่ความจริงแล้ว ยอดสั่งซื้อที่ว่านี้ เกิดจากการทำ Promotion ต่างๆ (ทั้งลดราคา แจก แถม) ของฝ่ายขาย ที่พยายามจะระบายรถสีเขียวที่มีอยู่ในสต็อกเป็นจำนวนมาก (เพราะลูกค้าและตลาดไม่นิยมรถสีนี้ออกไป) แต่ฝ่ายผลิตไม่รับทราบข้อมูลนี้ เพราะเพียงแต่เห็นข้อมูลการขายเท่านั้น จึงสั่งผลิตสีเขียวออกมาอีกครั้ง ซึ่งยิ่งทำให้วอลโว่ประสบปัญหามากขึ้น

 

แผนการส่งเสริมการขาย อาจเป็นการทำให้ความต้องการสินค้าบิดเบือนไปก็เป็นได้ ซึ่งส่งผลต่อการคาดคะเนการผลิต เช่นกรณีของวอลโว่ที่ได้กล่าวมา ทำให้เกิดความเข้าใจผิดพลาดถึงความต้องการของลูกค้าต่อสินค้า

 

การจัดทำโปรโมชั่นคือสิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและส่งผลต่อการพยากรณ์ คือการที่ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก อาจเนื่องมาจากการทำโปรโมชั่นของบริษัท เช่น การลดราคา ทำให้เกิดการนำ Future Demand หรือความต้องการในอนาคตมา กรณีเช่นนี้จะไม่สามารถทราบได้เลยว่าความต้องการที่แท้จริงนั้นมีเท่าใด ทำให้การวางแผนการผลิตมีปัญหาได้

 

Wal-Mart ห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ในอเมริกา ออกแผนในการที่จะลดราคาสินค้าทุกวัน เป็นราคาเดียวตลอดทั้งปี โดยไม่มีการแบ่งเป็นช่วงเทศกาล หรือฤดูกาล ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหา Over Demand หรือการกักตุนสินค้าจากผู้บริโภคที่เห็นการลดราคาสินค้า Wal-Mart สามารถทราบ Demand ที่แท้จริงได้เพราะไม่มีการขึ้นลงของราคา (Price Fluctuation) ที่เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความผิดพลาด และนำไปสู่ Bullwhip Effect ได้

 

ปัญหาในเรื่องการขนส่งก็ก่อให้เกิดข้อผิดพลาดได้เช่นกัน กล่าวคือ ลูกค้าไม่มีความมั่นใจในประสิทธิภาพของคุณ ว่าจะสามารถจัดส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็วและน่าเชื่อถือ หรืออีกนัยหนึ่ง บรรดาลูกค้าของคุณไม่เชื่อว่าคุณจะจัดส่งสินค้าได้ทันตามเวลาที่กำหนด ผลก็คือ ลูกค้าจะป้องกันความเสี่ยงด้วยการทำคำสั่งซื้อมากกว่าที่ต้องการไปยังผู้ผลิต ด้วยความหวังที่ว่าพวกเขาจะได้รับสินค้าที่ต้องการเมื่อถึงคราวจำเป็น และจากนั้นเมื่อสินค้ามีมากตามความพอใจแล้ว ก็สั่งยกเลิกคำสั่งซื้อในอนาคต

 

หรือบ่อยครั้ง ส่วนลดในเรื่องค่าขนส่งจะกระตุ้นปริมาณการสั่งซื้อสินค้า หลายต่อหลายครั้ง ทำให้ลูกค้าเพิ่มคำสั่งซื้อทีละมากๆ (เพื่อประหยัดค่าขนส่ง) แล้วก็ทำการลดความต้องการลงในภายหลัง ซึ่งก็จะทำให้ผู้ผลิตไม่ทราบความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าได้

 

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นและยกมาเป็นตัวอย่าง ในตอนหน้าเราจะมาดูถึงการแก้ปัญหา หรือการทำให้ปัญหาและข้อบกพร่องต่างๆ ที่เกิดจาก Bullwhip Effect เกิดขึ้นน้อยที่สุด

 

 

 

 

ที่มา http://www.dallasfed.org/research/indepth/2005/images/id0501c4.gif

 

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.dallasfed.org/research/indepth/2005/id0501.html

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 190771เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2008 13:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท