ไปลาวครั้งทำอิด (ครั้งแรก)


สปป.ลาว เวียงจันทน์ สนามบินวัดไต สนามบินสุวรรณภูมิ

 

สนามบินวัดไตประตูสู่ลาว  (คงอาจจะเป็นเพราะว่าอยู่ใกล้กับวัดที่ชื่อว่าวัดไตน้อย)

 ลาว คำเดียวสั้นๆ  แต่มีชื่อประเทศยาวมาก  มีชื่อเต็มๆว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  ใช้ชื่อย่อว่า  สปป.ลาว    เรื่องราวเกี่ยวกับลาวนั้น  คนไทยส่วนใหญ่มักจะคิดว่ารู้แล้ว   แต่แท้จริงนั้นจะรู้แบบผิวเผิน   หรือแทบจะไม่รู้จริงๆเลยก็ว่าได้  ทั้งๆที่ลาวเป็นประเทศใกล้ ชิดติดกับไทย    และมีอะไรอีกหลายอย่างที่คล้ายกับไทยมาก  ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่ไม่ต้องมีล่ามแปล  ทั้งภาษาพูด ภาษาเขียน  ที่พอจะคาดเดาความหมายกันได้   รูปร่างหน้าตา อาหารการกิน  ก็คล้ายคลึงกันมาก    ที่กล้าพูดว่าคนไทยไม่รู้จักลาวนั้น  เพราะคิดว่าคงจะคล้ายกับตัวเอง  ก่อนไปลาวก็ไม่ได้ศึกษาหาข้อมูลอะไรเลย  เพราะคิดว่ารู้แล้ว  ต่างจากครั้งที่เคยไปประเทศอื่น  ก่อนที่จะเดินทางไป ก็ค้นหาข้อมูล  ทั้งภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมซึ่งก็ช่วยได้มาก  แต่ที่ลาวพอไปถึงก็ไม่รู้อะไรเลย  ตามแผนกำหนดว่าจะไปดูโรงเรียน วัดสีสะเกด(เขียนแบบนี้จริงๆ) แต่มีเวลาไม่พอจึงไม่ได้ไป   มารู้ภายหลังว่า  วัดแห่งนี้เป็นวัดแห่งแรกที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงสร้างขึ้น เมื่อครั้งที่ย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางมายังเวียงจันทน์  และมีประวัติเกี่ยวข้องกับไทยมาก   เพราะที่วัดแห่งนี้เป็นเพียงหนึ่งในสองวัดที่ไม่ถูกเผา ในสงครามกับสยาม(สมัยสมเด็จพระนั่งเกล้ารัชกาล ที่ ๓ แห่งราชวงศ์จักรี กับเจ้าอนุวงษ์แห่งวียงจันทน์)เป็นวัดที่มีศิลปะสยาม เพราะ  รัชกาลที่ ๑ ครั้งดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เป็นแม่ทัพใหญ่ยกทัพ  ไปตีเวียงจันทน์   และมีชัยชนะจึงได้บูรณะวัดนี้ไว้  ต่อมาเจ้าอนุวงษ์ในสมัยที่ยังมีความสัมพันธ์อันดีกับสยาม  ทรงบูรณะและสร้างเพิ่มเติมไว้  (ไม่ได้ไปจึงไม่ได้ถ่ายรูปมาให้ดู ดูภาพอื่นแทนไปก่อน)

ประตูชัย  (ถ่ายจากหน้ารถ ฝนกำลังตก) สร้างเสร็จในปี พ.ศ.2512 เป็นอนุสรณ์สถานเพื่อระลึก ถึงประชาชนชาวลาว ผู้เสียสละชีวิตในสงครามก่อนหน้าการปฎิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์  คนลาวมักเรียกตลกๆว่า รันเวย์แนวตั้ง เพราะการก่อสร้างประตูชัยแห่งนี้  ใช้ปูนซิเมนต์ที่อเมริกาซื้อมา  เพื่อจะสร้างสนามบินแห่งใหม่ที่ลาว  ในระหว่างสงครามอินโดจีน  แต่ยังไม่ทันสร้างอเมริกาก็พ่ายเวียดนามเสียก่อน  จึงนำปูนเหล่านั้นมากสร้างประตูชัยแทน  ตามลักษณะประคูชัยที่กรุงปารีส ประเทศ ฝรั่งเศส แต่ลักษณะสถาปัตยกรรม ก็ยังคงเป็นลักษณะของลาว (อ้างอิงจากwww.tourismchiangrai.com/cr/tour_lao.php)      เจ้าอนุวงษ์เป็นมหาราชองค์หนึ่งของลาว   แต่สยามถือว่าท่านเป็นกบฏเพราะ    สมัยที่สยามมีสงครามกับยวน(เวียดนาม)  สยามขอให้ลาวยกมาช่วย  แต่ลาวเห็นว่าสยามกำลังอ่อนแอ  เมื่อเดินทางมาถึงสระบุรี  จึงถือโอกาสกวาดต้อนครัวลาวที่สยามเคยกวาดต้อนมา  (หลัง จากกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าเผา แล้วกวาดต้อนผู้คนไปด้วย  สยามจึงต้องไปกวาดต้อนคนมาจากที่อื่นแทน)  แต่ผลสุดท้ายท่านก็พ่ายแพ้ต่อคุณหญิงโม(ท้าวสุรนารี) ที่โคราช   ทางกรุงเทพฯจึงโกรธมาก   เมื่อเสร็จศึกจึงบุกขึ้นไปตีเวียงจันทน์  และเผาเมืองทิ้ง   กวาดต้อนผู้คนมาไว้ที่สยาม   ปัจจุบันจึงมีพี่น้องไทยเชื้อสายลาวอาศัยอยู่ในหลายจังหวัดของไทย  นั่นเป็นเรื่องในอดีตที่ไม่น่าประทับใจเลย   หากย้อนกลับไปได้ก็ไม่อยากจะให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นอีก

http:// 

หอวัฒน   หอวัฒนธรรมแห่งชาติ  คล้ายๆกับโรงละคอนแห่งชาติของไทยเรา

 
     ประเทศที่อยู่ใกล้กัน  มักจะมีประวัติศาสตร์ที่ไม่ค่อยจะดีต่อกัน  เด็กไทยเราเรียนวิชาประ วัติศาสตร์  รบกับพม่าเราถูกพม่าเผา  แต่คนพม่าไม่รู้เพราะเขาไม่ได้เรียนว่าเขารบกับไทย  แต่เขาเรียนรู้ว่าทำสงครามกับจีน  เช่นเดียวกับลาว เขมร มาเลเซีย  หรือแม้แต่สามจังหวัดชาย แดนใต้  เขาก็เรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการถูกสยามรุกราน  เพื่อนบ้านของเราจึงมักไม่ชอบไทยเรานัก  คล้ายกับเรื่องราวที่คนไทยส่วนใหญ่  ไม่รู้ว่าฝรั่งเศสเคยกระทำย่ำยี  ทิ้งปัญหาผูกเงื่อนปมไว้กับไทย  เช่นคดีเขาพระวิหาร  และเราเสียดินแดนไปเพราะฝรั่งเศสเป็นต้นเหตุหลายครั้ง ( รัฐบาลฝรั่งเศสได้ยึดครองเมืองจันทบุรีตั้งแต่ ๓ ตุลาคม ๒๔๓๖ - ๘ มกราคม ๒๔๔๗ เป็นเวลา ๑๐ ปี จึงยอมคืนดินแดนนี้ให้ไทย แต่ฝรั่งเศสได้ยึดเมืองตราดแทน  หลังจากที่ไทยได้ทำสัญญายกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและเสียเงินเป็นจำนวนมากให้แก่ฝรั่งเศสใน พ.ศ. ๒๔๓๖ และฝรั่งเศสได้ยึดจันทบุรีไว้โดยอ้างว่าเมื่อไทยได้ปฏิบัติตามสัญญาแล้วจะคืนให้ ไทยได้รีบปฏิบัติตามสัญญาอย่างครบถ้วนแล้ว แต่ฝรั่งเศสก็ยังไม่ยอมคืนจันทบุรีให้จนเวลาล่วงมาถึง ๑๐ ปี ฝรั่งเศสจึงได้ถอนทหารออกจากจันทบุรีหมด เมื่อวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๗ โดยฝรั่งเศสย้ายไปยึดเมืองตราดแทน
       เพื่อให้ได้เมืองตราดกลับคืนมาเป็นของไทย ไทยต้องทำสัญญากับฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ยกพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณให้แก่ฝรั่งเศส   เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง จึงได้นำธงชาติไทย (ธงช้าง) กลับมายังเมืองไทย พร้อมกับอพยพครอบครัวมาด้วย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่เมืองปราจีนบุรีจนกระทั่งอสัญกรรม
         ประเทศไทยได้เสียดินแดนให้ต่างประเทศหลายครั้ง โดยเฉพาะในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งสุดท้ายใน พ.ศ. ๒๔๕๒ ซึ่งเสียดินแดนให้อังกฤษและฝรั่งเศสเป็นจำนวนมาก )    ยังมีเรื่องราวเกี่ยวการเสียดินแดนอีก
หลายครั้ง(รวม ๑๔ ครั้ง)แต่วันนี้ขอคุยเรื่องลาวก่อน
   
ร้านนี้รับประกันความแซบ(อร่อย)            ถนนสามแสนไทย ในเวียงจันท์
 
        ลาวยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมากมาย  ทั้งวิถีชีวิตที่เรียบง่าย  การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม
ทั้งเสื้อผ้า  ภาษา อาหาร  ในสายตาของชาวต่างชาติ  ลาวจึงยังดูมีเสน่ห์  หากมีเวลาก็ควรไปเที่ยวลาวกับภาพยนตร์  เรื่องสบายดีหลวงพระบาง  เป็นหนังที่ลาวสร้างเองในรอบ 35 ปี  โดย
พระเอกลูกครึ่งลาว ออสเตรเลีย(อนันดา)  และนางเอกเป็นลูกครึ่ง ลาว จีน  ผมกลับจากลาวจึง
ถือโอกาสไปสนับสนุนมาแล้ว  หนังสวยครับ เป็นหนังคล้ายสารคดีท่องเที่ยว  โดยผูกเรื่องให้ตัวละครเดินเรื่องพาไปเที่ยว
        คงจะค่อยๆเล่าเรื่องเกี่ยวกับลาวในโอกาสต่อไป
       
หมายเลขบันทึก: 190489เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2008 22:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

น่าสนใจดีมีโอกาสคงต้องไปเที่ยวชมเองบ้าง

สวัสดีครับคุณ จินนี่

    ขอบคุณที่เข้ามาแสดงความเห็น  ก่อนที่จะไปจริงๆ ควรจะไปชมภาพยนตร์เรื่อง สบายดีหลวงพระบาง  เพื่อสรุปภาพรวมของสปป.ลาว  จากภาคใต้  คือแขวงจำปาสัก ที่อยู่ติดชายแดนไทยที่ อุบลฯ  ภาคกลางที่นครเวียงจันทน์  ฝั่งตรงข้ามกับหนองคาย  และภาคเหนือคือหลวงพระบาง  อยู่เหนือเชียงรายของไทย  แต่ไม่ได้อยู่ชิดติดแดนกัน  เพราะยังมีแขวงบ่อแก้วของลาวคั่นอยู่  หลวงพระบางเป็นเมืองเก่า (เมืองมรดกโลก) อยู่ติดกับชายแดนของจีน

สวัสดีปีใหม่ค่ะ

 

มาเยี่ยมชม และคิดถึงลาวค่ะ

...

อ. ผู้กำกับ สบายดีนะคะ

ยังระลึกถึง แม้หายห่าง ค่ะ

เอาภาพบรรยากาศ ที่จำปาสัก มาฝากค่ะ ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท