สรุปสาระวิชากฎหมายนิติกรรมและสัญญาครั้งที่ 4(ตอนที่ 2)


วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๑

                ตอนต่อไปนี้  สาระสำคัญอยู่ในเอกสารประกอบการบรรยายชุดที่ ๒  ของท่านอาจารย์น่ะครับ(มีกันแล้วหรือยัง????)  ในที่นี้  ผมขอสรุปสิ่งที่อาจารย์อธิบาย  โดยเพื่อน ๆ อาจจะดูควบคู่กันไปกับเอกสารชุดที่สอง ซึ่งมีเนื้อหาที่อาจารย์นำเสนอเป็นพาวเวอร์พอยต์เป็นลำดับไปตั้งแต่หน้าที่  ๑ น่ะครับ

                                                                  เจตนาในการทำนิติกรรม (ในเอกสารหน้าที่ ๑)

                ท่านอาจารย์เกริ่นนำว่า    การแสดงเจตนาอาจจะมีหลายกรณีที่คนที่แสดงเจตนาออกมา อาจได้แสดงเจตนาตรงกับที่ตัวเองคิดในใจทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว  (เช่น  ในใจอยากจะยืมแต่แสดงออกมาว่า ต้องการซื้อหรืออาจจะซื้อโดยไม่รู้ตัว  เป็นต้น)  นี่คือ ปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการแสดงเจตนา

                อธิบายเอกสารประกอบการบรรยายหน้าที่ ๒

                กระบวนการแสดงเจตนานั้น  เริ่มต้นจาก   เมื่อมีมูลเหตุจูงใจ  ทำให้คิดและตัดสินใจ (ตรงนี้เป็นการก่อเจตนาภายใน)  จากนั้นจึงแสดงเจตนา ออกมา

                เรื่องบางเรื่องถ้าไม่ผ่านกระบวนการอย่างนี้  ก็ไม่ถือว่าเป็นการแสดงเจตนา  เช่น  ละเมอหรือการถูกบังคับทางร่างกาย  เป็นต้น 

                ตัวอย่าง  ก.ต้องการยืมนาฬิกา ข.  แต่บอกว่าจะซื้อนาฬิกา  (เจตนาที่อยู่ในใจต้องการยืม  แต่แสดงออกมาเป็นต้องการซื้อ)  ถ้าเราคิดแง่เหตุผล กฎหมายน่าจะคุ้มครองหรือน่าจะเป็นไปตามเจตนาที่อยู่ในใจหรือเจตนาที่แสดงออกมา ????  (คิดเอาว่า  น่าจะคุ้มครองของผู้ที่มีเจตนาที่แท้จริงเป็นหลัก  เหตุผลนี้สนับสนุนผู้แสดงเจตนาเป็นหลัก  แต่ถ้าให้เหตุผลอีกด้านว่า  คนที่รับการแสดงเจตนาควรได้รับการคุ้มครองเพราะเขาไม่รู้อะไรนี่  อันนี้ก็จะถือการแสดงเจตนาที่แสดงออกเป็นหลัก...สองอย่างนี้อาจจะใช้เป็นเหตุผลไม่พอ...ผู้แสดงเจตนาไม่สุจริต  เขาจึงไม่ควรได้รับการคุ้มครอง  ใขณะเดียวกัน  ผู้รับการแสดงเจตนาก็ไม่ใช่ว่าควรได้รับการคุ้มครองเสมอไป  เช่น  รู้ ๆ อยู่ว่าสิ่งที่เขาพูดมาคือ ต้องการยืม  อย่างนี้ก็ไม่ควรคุ้มครองเขา  เพราะเขารู้ว่าเจตนาในใจอีกฝ่ายหนึ่งเป็นอย่างไร ....สิ่งเหล่านี้เป็นความคิดในเชิงวิชาการน่ะครับ)  

                ถ้าเป็นกรณีอย่างนี้  ในกฎหมายบัญญัติไว้อย่างไร? (เราต้องมาทำความเข้าใจกันต่อ)

                อธิบายเอกสารประกอบการบรรยายหน้าที่ ๓

                การแสดงเจตนาที่ไม่ตรงกับเจตนาภายในนั้น  ท่านอาจารย์  แบ่งเป็น ๒  กรณี ได้แก

                ๑.ผู้แสดงเจตนารู้ตัว  

                     ๑)  รู้ตัวแต่ผู้เดียว   จัดเป็นเจตนาซ่อนเร้นตามมาตรา ๑๕๔   (เช่น ก.ต้องการยืม แต่บอก ข.ว่าจะซื้อ  การที่ทำอย่างนี้เขารู้อยู่คนเดียว  อย่างนี้เรียกว่า เจตนาซ่อนเร้น   ซึ่งเป็นคำที่นักกฎหมายกำหนดขึ้นมา ไม่มีในตัวบท

                     ๒)  รู้ตัวร่วมกับผู้อื่น  เช่น   ตกลงแสร้งทำเป็นจะขายแต่จริงๆ แล้วไม่ได้ต้องการขาย โดยที่คู่กรณีก็รู้อยู่โดยมีจุดประสงค์อย่างใดก็อีกเรื่องหนึ่ง  จัดเป็น  เจตนาลวงและนิติกรรมอำพราง  (มาตรา ๑๕๕)

                ๒.ผู้แสดงเจตนาไม่รู้ตัว

                  เป็นเรื่องสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของนิติกรรม (มาตรา ๑๕๖  เช่น  เรื่องบุคคล  คือ  ทำสัญญาผิดคนตามที่ต้องการ  เช่น  ซื้อกับเอแต่จริง ๆ ต้องการจะซื้อกับบี    หรือทรัพย์ คือ สำคัญทรัพย์ผิดจากที่ตั้งใจ เช่น ซื้อทรัพย์ผิดชิ้น   หรือลักษณะของนิติกรรม  เช่น  จะค้ำประกันคนอื่นแต่ลงลายมือชื่อในฐานะคนยืม เป็นต้น)

                อธิบายเอกสารประกอบการบรรยายหน้าที่ ๔

            มาตรา ๑๕๔   การแสดงเจตนาใด แม้ในใจจริง ผู้แสดง จะมิได้เจตนา ให้ตน ต้องผูกพัน ตามที่ได้แสดงออกมา ก็ตาม หาเป็นมูลเหตุให้ การแสดงเจตนานั้น เป็นโมฆะ ไม่ เว้นแต่ คู่กรณี อีกฝ่ายหนึ่ง จะได้รู้ถึง เจตนา อันซ่อนอยู่ในใจ ของผู้แสดงนั้น

                ประโยคก่อนที่จะมาถึงคำว่า เว้น...  หาเป็นมูลเหตุให้เจตนาที่แสดงมาเป็นโมฆะไม่  แต่หลังจากคำว่า เว้น...  ไป  จัดเป็นโมฆะ  เพราะคู่กรณีรู้ถึงเจตนาในใจของผู้แสดง   รู้  ในที่นี้ไม่ใช่รู้ลักษณะสมคบหรือรู้ร่วมกับเขา   แต่อาจจะรู้โดยพฤติกรรมที่สามารถรู้ได้   อาจจะเป็นเพราะเขาทำอย่างนี้เสมอจนเป็นที่เข้าใจได้ว่า  เวลาเขาพูดอย่างนี้นั้น  แท้จริงเขาต้องการอีกอย่างหนึ่ง  ซึ่งไม่ตรงกับที่พูด (รู้ปกตินิสัยของเขา)

                อธิบายเอกสารประกอบการบรรยายหน้าที่ ๕

                ถ้าเจตนาที่แสดงออกมาแตกต่างจากที่เป็นภายใน  โดยที่ไม่ตกลงกับผู้รับเจตนาเลย  นั่นคือ เจตนาที่แท้จริงถูกเก็บไว้ในใจของผู้แสดงเจตนาเพียงผู้เดียว    ผลก็คือ การแสดงเจตนานั้น ไม่เป็นโมฆะ  กฎหมายถือเจตนาที่แสดงออกมาเป็นสำคัญ

                แต่ถ้าผู้รับเจตนารู้การแสดงเจตนาว่ามีเจตนาอื่นที่ซ่อนอยู่ในใจของผู้แสดงเจตนา   อย่างนี้ย่อมมีผลเป็นโมฆะ

                ตัวอย่าง  ก.ไม่พอใจสามี อยากประชดเอาเสื้อที่ซื้อมาไปให้เพื่อนบ้าน  ถ้าการให้นั้น เพื่อนบ้านไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วเขาไม่ได้ทำเพื่อจะให้  การให้นั้นเป็นไปตามการให้  เป็นสัญญาที่ชอบโดยกฎหมาย    แต่ถ้าเพื่อนบ้านรู้เจตนาที่แท้จริง  อาจจะเพราะ ก.มีท่าทีทีทำให้เขารู้ว่าทำเพื่อประชด    การให้นั้นเป็นโมฆะ    ก.ในฐานะที่เป็นคนที่ให้สามารถเรียกคืนจากเพื่อนบ้านได้

                อธิบายเอกสารประกอบการบรรยายหน้าที่ ๖

                ตัวอย่างเรื่องการแสดงเจตนาที่ไม่เป็นโมฆะและเป็นโมฆะ

                ก.ต้องการยืมนาฬิกาของ ข.เพื่อเอาไปใส่ในงานเลี้ยง  แต่กลัวว่า ข.จะไม่ให้ยืม  จึงบอก ข.ว่า  จะซื้อนาฬิกาจาก ข.   ข.จึงตกลงขายให้ในราคา ๕,๐๐๐  บาท  โดยมอบให้ ก.ใช้ก่อน และให้ ก.ชำระเงินในอีก ๓ วัน

                วิเคราะห์ประเด็น (ตาม มาตรา  ๑๕๔)

                ถ้า  ข.ไม่รู้ว่า ก.ต้องการเพียงยืม   การซื้อขายนั้นมีผลสมบูรณ์  ไม่เป็นโมฆะ

                ถ้า ข.รู้ว่า  ก.ต้องการเพียงยืม  การซื้อขายนั้นเป็นโมฆะ   

                อธิบายเอกสารประกอบการบรรยายหน้าที่ ๗               

          มาตรา ๑๕๕  (วรรค ๑)  การแสดงเจตนาลวง โดยสมรู้กับ คู่กรณี อีกฝ่ายหนึ่ง เป็นโมฆะ /  แต่จะยกขึ้น เป็นข้อต่อสู้ บุคคลภายนอก ผู้กระทำการ โดยสุจริต และ ต้องเสียหาย จากการแสดงเจตนาลวงนั้น มิได้

                กรณีนี้ยังเป็นเรื่องของการแสดงเจตนาที่ไม่ตรงกับเจตนาภายใน  ถ้าสมรูกันว่าที่แสดงเจตนากันมานั้นไม่ได้ต้องการการผูกพันหรือต้องการจะหรอกลวงผู้อื่น  อย่างนี้นิติกรรมเป็นโมฆะ เพราะเป็นเจตนาลวง   (ดูเอกสารหน้า ๙)    นี่เป็นผลของเจตนาลวงต่อคู่กรณี

                แต่เรื่องเจตนาลวงนี้กฎหมายคุ้มครองบุคคลภายนอกผู้สุจริตและได้รับความเสียหายไว้ดังตัวอย่าง(ดูหน้า ๑๐) 

                นาย ก.สมรู้กับ ข.ทำเป็นขายรถยนต์ให้ ข. เพื่อลวงเจ้าหนี้ของนาย ก.(เพราะไม่ต้องการให้ทรัพย์ของตนไปขายทอดตลาด เป็นต้น  กล่าวคือ  เพื่อให้เจ้าหนี้ไม่สามารถไปบังคับเอารถยนต์ของลูกหนี้ได้)   นิติกรรมเช่นนี้ถ้าพิสูจน์ได้ว่า ก.กับ ข.มีเจตนาลวงจริง  นิติกรรมย่อมเป็นโมฆะ  เจ้าหนี้ของ ก.สามารถบังคับเอารถยนต์จาก ก.ได้  

                ข้อสังเกต  ถ้าต่อมา  ข.เล่นไม่ซื่อ คือ บอกว่า  ก.ขายรถยนต์ให้ฉัน ข.ก็อ้างไม่ได้อย่างนั้น ก.สามารถอ้างได้ว่านิติกรรมนี้เป็นโมฆะ

          กรณีที่ในท่อนที่สองของตัวบทที่มีบุคคลภายนอกมาเกี่ยวด้วยนั้น   บุคคลภายนอก คือ  ใคร?

                ท่านอาจารย์อธิบายว่า  บุคคลภายนอกนั้นไม่ใช่เจ้าหนี้ตามมาตรา ๑๕๕  วรรค ๑ น่ะ   แล้วใครเป็นบุคคลภายนอกในที่นี้  ก็คือ คนที่มาเกี่ยวข้องกับทรัพย์   เช่น ข.ขายรถยนต์ให้กับคนอื่นไป  (ค.)หลังจากที่สมรู้กับ ก.ซื้อขายรถยนต์กันเพื่อให้เป็นการสมจริง  แต่คนที่มาซื้อต่อคือ ค.นั้นไม่รู้ (บุคคลภายนอกผู้สุจริต  มาเกี่ยวข้องกับทรัพย์ที่มีที่มาจากเจตนาลวง)   ก.จะเรียกคืนจาก  ค.  โดยอ้างว่านิติกรรมที่ทำกับ  ข. เป็นโมฆะได้หรือไม่????  ตอบ  ไม่ได้  ตามท่อนท้ายของมาตรา ๑๕๕ วรรค ๑  (ดูเอกสารหน้า ๑๒)  เพราะ ค.เป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตและได้รับความเสียหาย

                ถ้ากฎหมายไม่ได้เขียนท่อนท้ายไว้ ก.ก็จะอ้างถึงความเป็นโมฆะได้    แต่กฎหมายเขียนไว้เพื่อคุ้มครอง ค.ซึ่งเป็นผู้สุจริต (ลองนึกดูถ้าเราไปซื้อมาโดยสุจริตและต้องเสียหายด้วย  เราจะไม่ได้รับความยุติธรรมถ้านิติกรรมหรือการซื้อเป็นโมฆะ  กฎหมายถึงต้องคุ้มครองผู้สุจริตและเสียหาย)

                โดยปกติมีหลักทั่วไปอยู่ว่า   ผู้รับโอนไม่มีสิทธิมากกว่าผู้โอน  ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้  ข.ก็ไม่มีกรรมสิทธิ์ในรถ  ก็ไม่น่าจะโอนกรรมสิทธิ์ให้ ค.ได้    แต่กรณีนี้เป็นกรณีพิเศษ  กฎหมายบัญญัติชัดเจนถึงกรณีที่เป็นเจตนาลวงและบุคคลภายนอกเป็นผู้สุจริต

                ข้อสังเกต  กรณีนี้  ก.มีสิทธิเรียกคืนทรัพย์(ทดแทนรถที่ขาดไป)จาก  ข.ได้ โดยอ้างหลักเรื่องลาภไม่ควรได้

                อธิบายเอกสารประกอบการบรรยายหน้าที่ ๑๓

                ถ้าเกิด ข.ขายรถให้  ค.ไป  ต่อมาถ้า  ค.ขายให้ ง.ต่อไป  โดยที่ ง.รู้เจตนาลวง   ถามว่า   ก.จะเรียกคืนจาก ง.ได้หรือไม่ ?

                ตอบว่า  การที่ ค.จะโอนกรรมสิทธิ์ให้ใครเป็นเรื่องที่สามารถทำได้  เพราะเขาเป็นผู้สุจริต  นิติกรรมการขายให้  ง.ไม่มีผลกระทบ  ไม่เป็นโมฆะ   แต่  ก.สามารถที่จะเรียกคืนทรัพย์ได้หรือไม่?  ตอบ  ไม่ได้  เพราะทรัพย์นั้นมันขาดตอนไปแล้ว  ง.มีสิทธิเป็นเจ้าของโดย ก.ไม่อาจเรียกคืนได้ 

                อธิบายเอกสารประกอบการบรรยายหน้าที่ ๑๔

                กรณีที่ ค.ได้มาฟรี ไม่ต้องเสียอะไร   ก.สามารถเรียกคืนจาก ค.ได้  เพราะ  ค.ไม่สามารถอ้างมาตรา ๑๕๕  วรรค ๑  ได้  เนื่องจากตนเองแม้เป็นผู้สุจริต  แต่ก็ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย

                คำว่า ต้องเสียหาย เป็นเรื่องของการเสียหายในการได้มาซึ่งทรัพย์โดยตรง

               

หมายเลขบันทึก: 190461เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2008 20:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท