ถึงเวลาเลี้ยงปลาทูน่าในฟาร์ม


ประชากรปลาทูน่าในธรรมชาติลดลง เวลาสำหรับฟาร์มปลาทูน่าก็มาถึง

ขึ้นชื่อว่าปลาทูน่า หลายคนคงรู้จักดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งแฟนอาหารญี่ปุ่นซึ่งหนีไม่พ้นซูชิและซาซิมิ ปลาทูน่าอาศัยอยู่บริเวณแถบน้ำอุ่นในมหาสมุทรอินเดีย ปลาทูน่าจะว่ายจากทางตอนใต้ของออสเตรเลีย (บริเวณ Australian Bight) ต่อไปทางตะวันตกและตอนเหนือ (บริเวณ Western Australia) และจะว่ายไปวางไข่ที่บริเวณทะเลติมอร์

 

ปลาทูน่าจะเริ่มวางไข่เมื่ออายุ 9 ปี เมื่อปี 1960 ชาวประมงจับปลาทูน่าได้กว่า 80,000 ตัน แต่เพราะความต้องการปลาทูน่าที่เพิ่มขึ้น บวกกับชาวประมงจับปลาทูน่าที่อายุยังน้อย ทำให้จำนวนประชากรของปลาทูน่าลดลงเหลือน้อยกว่า 10% จากปี 1960 ปัจจุบันโควต้าจับปลาทูน่าจึงอยู่ที่ราว ๆ 12,000 ตันต่อปี

 

หนึ่งในผู้ค้าปลาทูน่ารายใหญ่คือบริษัท Clean Seas Tuna ได้ศึกษาวิจัยวิธีเพาะเลี้ยงปลาทูน่าในฟาร์ม แต่เพราะปลาทูน่าเป็นปลาที่อยู่ในมหาสมุทร วิธีเลี้ยงจึงไม่ง่ายอย่างที่คิด นักวิจัยได้คิดวีธีเลี้ยงปลาทูน่า โดยพยายามทำให้สภาพแทงค์เหมือนกับมหาสมุทรมากที่สุด เช่น การปรับอุณหภูมิ แสงสว่าง กระแสน้ำ ให้เหมือนราวกับว่าปลาทูน่าว่ายน้ำไปในเส้นทางเดียวกับที่มันอยู่ในมหาสมุทร

 

จนถึงตอนนี้ ปลาทูน่าในฟาร์มสามารถวางไข่และฟักออกมาเป็นตัวอ่อนได้แล้ว ความพยายามขั้นต่อไปคือทำอย่างไรให้ตัวอ่อนเหล่านี้โตเป็นปลาทูน่าได้อย่างในธรรมชาติ ทางบริษัทคาดว่าต้องใช้เงินลงทุนในการศึกษาครั้งนี้อีกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

ทางด้านการตลาด บริษัท Clean Seas Tuna คาดการณ์ว่าความต้องการอาหารทะเลในปี 2030 น่าจะอยู่ที่ 40 ล้านตันต่อปี ซึ่งหนึ่งในอาหารทะเลนั้นคือปลาทูน่า ขณะนี้ราคาปลาทูน่าที่จำหน่ายให้แก่ญี่ปุ่น อยู่ที่กิโลกรัมละ 23 เหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม มีหลายคนเป็นห่วงว่าถ้าการเลี้ยงปลาทูน่าในฟาร์มประสบความสำเร็จ อาจจะทำให้ราคาของปลาทูน่าถูกลง แต่ทางบริษัทยืนยันว่าจะไม่ทำให้ปริมาณปลาทูน่าในตลาดเพิ่มขึ้นมากไปจนกระทบราคาและความต้องการในตลาด ส่วนกลุ่มประเทศลูกค้าที่ทางบริษัทตั้งเป้าไว้คือสหรัฐอเมริกา จีน และประเทศในยุโรป มากกว่าที่จะเป็นญี่ปุ่น

 

ที่มา: TIME ฉบับ June 16,2008 by Roy Eccleston and Port Lincoln

อ่านก่อนนอนเมื่อสัก 2-3 วันก่อน อ่านไปหิวไปเพราะคนเขียนพูดถึงซูชิและซาซิมิหลายรอบ :-)

 

หมายเลขบันทึก: 189531เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2008 06:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 17:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

หลวงเขียวว่า ปลาทูน่า ก็ประเภท ปลาโอ นี้เอง แต่ท้องถิ่นที่อยู่ทำให้รูปร่างและขนาดแตกต่างกันไป...

อีกอย่างหนึ่งหลวงเขียวว่า ปลาซาบะ ก็จัดอยู่ในประเภทเดียวกับปลาทูน่าและปลาโอเหมือนกัน แต่ญี่ปุ่นเลี้ยงได้ก่อนจึงส่งออกจำหน่ายทั่วไป...

หลวงเขียวจัดเป็นผู้เชี่ยวชาญที่พอรับฟังได้ เพราะเมื่อสามสิบปีก่อนโน้น เคยเป็นนายท้ายเรือประมงอวนลาก ฝั่งตะวันตกเคยไปลากถึงบังคลาเทศ อินเดีย...ฝั่งตะวันออกเคยไปลากแถวเวียตนามและทะเลจีนใต้... ระหว่างเกาะของอินโดนีเซียและพิลิปปิน หลวงเขียวก็เคยไปลาก ลอยลำเรือนอนเล่นอยู่หลายครั้ง...

อนึ่ง เรืออวนลากที่หลวงเขียวอยู่สมัยนั้น จัดเป็นเรือกลุ่มแรกที่ติดเรดาห์... หลวงเขียวเล่าเส้นทางในทะเลรอบขวานทองของไทยออกไปเป็นพันๆ กิโล ประดุจตาเห็น...

เจริญพร

นมัสการพี่หลวง

พอบอกว่าปลาทูน่า ปลาโอ ปลาซาบะ เป็นปลาประเภทเดียวกัน ก็เลยนึกดูจากรูปร่างลักษณะภายนอก เช่นลักษณะผิวและสีผิว ลักษณะครีบ หัวและหาง จะคล้ายกัน แต่ขนาดต่างกัน แต่ไม่รู้ว่าจะรวมปลาทูบ้านเราไปด้วยรึเปล่า :-)

ปลาโอก็เอามาทำเป็นซูชิ ซาซิมิได้ แต่ถ้าเป็นปลาซาบะ มักจะเอาไปย่างซีอิ๊ว .. หิวอีกแล้ว ฮ่าๆๆ

สวัสดีครับ

  • ได้ความรู้เกี่ยวกับปลาทูน่าเยอะครับ
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะครูสุ

ขอบคุณที่แวะมาทักทายเหมือนเดิมนะคะ :-) เรื่องนี้อ่านสนุกเพราะคนเขียนอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ไม่รู้เรื่องทูน่ามาก่อนก็มองเห็นภาพค่ะ

ขอบคุณค่ะ

กำลังทำงานแปลเรื่องนี้พอดีเลย -0-

พี่ค่ะ ถ้าน้องอยากทราบราคาของปลาในแต่ละช่วง, และเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับปลาทูน่า จะหาข้อมูลได้จากที่ไหนค่ะ

ปลาทูเลี้ยงยังไง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท