เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2549 ดร.วันวิสาข์ บุญเลิศ ได้เข้าร่วมโครงการสัมมนาทางวิชาการ คปก. ดุษฎีบัณฑิต คปก. 500 คน กับการสร้างความเข้มแข็งให้ระบบวิจัยของประเทศ
เนื่องจาก งานบุคคลได้รับมอบหมายให้นำผลสรุปการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว มาลงใน Blog ของงานบุคคล คณะสหเวชศาสตร์ ดังนั้น จึงได้ทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย รายละเอียด ก็มีดังนี้ค่ะ (จาก การสุรปของ ดร.วันวิสาข์ )
โดยภาพรวมในการสัมมนาครั้งนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)ต้องการให้ดุษฏิบัณฑิตที่ได้รับทุนจากโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก(คปก.) ซึ่งในขณะนี้มีประมาณ 500 คน ได้ตระหนักถึงการทำงานวิจัยอย่างไรให้ต่อเนื่องเพื่อช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ระบบวิจัยของประเทศ โดย คปก.นั้นถูกจัดตั้งขึ้นมีวัตถุประสงค์ในการผลิตดุษฎีบัณฑิตโดยสถาบันในประเทศไทย สอนและให้คำปรึกษาโดยอาจารย์ชาวไทย และมีสร้างความร่วมมือในการทำวิจัยกับนักวิชาการต่างประเทศ ในการสัมมนาครั้งนี้ คปก. ได้แจ้งผลการดำเนินงานของโครงการ ผลงานนักศึกษา คปก. และนอกจากนั้นยังสรุปแนวทางการให้ทุน คปก. แก่อาจารย์ที่ปรึกษาและนักศึกษา ซึ่งข้อมูลนี้มีประโยชน์ต่อหลักสูตรบัณฑิตศึกษาในอนาคตของคณะสหเวชศาสตร์ อาจารย์สามารถสมัครขอทุนนี้ได้ในกรณีที่เปิดการเรียนการสอนถึงระดับปริญญาเอกแล้ว ทุนนี้จะช่วยให้มีผู้สนใจมาเรียนมากขึ้นและช่วยให้คณาจารย์ได้พัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยมากยิ่งขึ้น
ในส่วนของการสนับสนุนให้มีการทำวิจัยอย่างต่อเนื่องแก่ผู้ที่สำเร็จปริญญาเอกด้วยทุนโครงการนี้ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยในปรเทศ ทาง สกว. ได้มีการจัดสรรทุนหลายประเภทเพื่อช่วยสนับสนุนให้เกิดการทำวิจัย เช่น ทุนอาจารย์รุ่นใหม่ ทุนนักวิจัยรุ่นใหม่ ทุนอาจารย์รุ่นกลาง เป็นต้น เนื่องจากพบว่าจำนวนการทำงานวิจัยซึ่งวัดโดยการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติและการจดสิทธิบัตรพบว่าน้อยลง เนื่องจากขาดแคลนเงินทุนสนับสนุนการทำวิจัย ดังนั้น สกว. จึงได้มีการจัดสรรทุนวิจัยต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นให้สำหรับผู้ที่จบปริญญาเอกใหม่ สาเหตอื่น เช่นการขาดความร่วมมืออันดีระหว่างดุษฎีบัณฑิตและอาจารย์ที่ปรึกษาเดิม จึงทำให้ไม่เกิดความต่อเนื่องของการทำงานวิจัย นอกจากนั้นสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศในที่ทำงานไม่เอื้อต่อการทำงานวิจัย ซึ่งพบทั้งสายวิทยาศาสตร์และเกษตรศาสตร์
และสิ่งที่ อาจารย์ ดร.วันวิสาข์ จะกลับมาทำหรือปรับปรุงพัฒนาจากการไปสัมมนาครั้งนี้ คือ ปรับแนวทางการวิจัยของตนเองและของคณะวิจัยในอนาคตให้สอดคล้องกับเกณฑ์การให้ทุนต่าง ๆ ของ สกว. เช่น สกว. เน้นให้ทุนโครงการที่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาของประเทศทั้งทางด้านการแพทย์ สาธารณสุข อุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ซึ่งมักเน้นการวิจัยเชิงประยุกต์มากกว่าพื้นฐาน เป็นต้น น่าจะช่วยให้คณะมีโอกาส ได้รับเงินทุนสนับสนุนการทำวิจัยจาก สกว. มากขึ้น และถ้าเป็นไปได้มหาวิทยาลัยนเรศวรควรมีผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้ประสานงานเครือข่าย สกว. ประจำมหาวิทยาลัยเพื่อช่วยในการประสานงานระหว่างผู้ขอทุนในมหาวิทยาลัยกับ สกว. และให้คำปรึกษาต่าง ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่ออาจารย์ผู้ทำวิจัย ซึ่งในปัจจุบันมหาวิทยาลัยนเรศวรของเรายังไม่มี