สรุปสาระสำคัญวิชากฎหมายอาญาภาคทั่วไปครั้งที่ 3 (ตอนที่ 1)


บันทึกสาระความรู้จากการเรียนวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๑

ความหมายของกฎหมายอาญา

          กฎหมายอาญา คือ กฎหมายว่าด้วยความผิดและโทษ

                คำว่า โทษอาญา ไม่ใช่เฉพาะในมาตราในมาตรา  ๑๘  เท่านั้น   ความเห็นทางวิชาการมองว่า   โทษเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง   โทษเพิกถอนสัญชาติ  ก็เป็นโทษทางอาญา  แต่ศาลมองว่าโทษหลังนี้ไม่ใช่โทษทางอาญาจึงให้ผลย้อนหลังได้(ยังขัดกันอยู่)

บทบัญญัติเกี่ยวกับกฎหมายอาญาปรากฎใน

                ๑.รัฐธรรมนูญ

                ๒.ประมวลกฎหมายอาญา (Penal Code)    

ลักษณะสำคัญของกฎหมายอาญา

                ๑.การบัญญัติต้องชัดเจนแน่นอน

                หลักนี้เกิดขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกกระทบจากการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ  เพราะฉะนั้นกฎหมายอาญาจึงต้องมีความชัดเจนแน่นอน  เช่น ผู้ใดฆ่าผู้อื่น  ... จะเขียนคลุมเครือไม่ได้เพราะมันเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน  นี่คือ หลักของนักกฎหมาย  

                ในทางประวัติศาสตร์ บางครั้งอำนาจรัฐครองเมืองและไม่ยึดกฎหมายเลยก็จะมีกฎหมายบางฉบับที่ออกมาแปลก ๆ เช่น ผู้ใดกระทำการอันขัดต่อความสงบเรียบร้อยและขัดต่อนโยบายแห่งรัฐ  ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกหกเดือน.... อย่างนี้มันไม่ชัดเจน  ของไทยช่วงที่เกิดรัฐประหารก็มีแบบนี้อยู่ เช่น ปี  ๑๙  ก็มีกฎหมายที่คลุมเครือเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน

                บ้านเมืองจะดีหรือแย่นั้นนักกฎหมายก็มีส่วน เพราะเป็นผู้เขียนบทบัญญัติในการควบคุมสังคม

                อย่างไรก็ตาม  คำว่า ชัดเจน นั้น ไม่สามารถเขียนได้ทั้งหมด  เช่น มาตรา ๒๘๘  ผู้ใดฆ่าผู้อื่น...อย่างนี้ชัด   ๒๘๙  ก็ชัดเจน    แต่  ๒๙๑  ผู้ใดกระทำโดยประมาท  อันนี้ต้องตีความละ  ถามว่าแบบนี้ชัดไม่  มันก้ได้แค่นี้แหล่ะ  จะเขียนพรรณนาไม่ได้  เพราะถ้าเขียนชัดเจนต้องเขียนเป็นเรื่อง ๆ ไป  เช่น  ผู้ใดขับรถแล้วชนคนตาย...ผู้ใดขับรถใช้มือถือชนคนตาย...อย่างนี้มันเขียนได้ไม่หมดหรอก  จึงต้องใช้หลักการตีความ

                ๒๗๘   ผู้ใดกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุเกินกว่า ๑๕  ปี  ...คำว่า อนาจาร  ก็ต้องตีความ  จะไปเขียนชัดกว่านี้ไม่ได้แล้ว  จะพรรณนาว่าทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้  เพราะพฤติกรรมของมนุษย์นั้นมันมีมาก  เวลาไปพิจารณาก็ต้องตีความ วิเคราะห์โดยใช้หลักการ

                ๒.ห้ามใช้กฎหมายจารีตประเพณีมาลงโทษทางอาญา

                ข้อนี้ต่างกับ ปพพ.ที่สามารถเอาจารีตประเพณีมาใช้ได้  รวมทั้งเอากฎหมายเทียบเคียงมาใช้ได้ หรือแม้แต่จะเอาหลักมาใช้ก็ได้  แต่กฎหมายอาญาไม่ได้  การจะเอาผิดต้องมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยตรง  จะบอกว่าผิดประเพณีแล้วมาลงโทษไม่ได้   กฎหมายอาญาเป็นเรื่องที่จะลงโทษคน  ไม่ใช่เรื่องความเป็นธรรมอย่างแพ่ง  จะเอาจารีตประเพณีมาลงโทษไม่ได้  

                ๓.ห้ามใช้กฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาลงโทษบุคคลในทางอาญา

                อันนี้กฎหมายแพ่งใช้ได้  ในภาษาอังกฤษ  Analogy คือ การเทียบเคียงมาใช้  แต่กฎหมายอาญาไม่ได้

                ๔.กฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลัง

                คนทำผิดตอนไหนก็ต้องใช้กฎหมายตอนนั้น 

                กฎหมายเวลาร่างเสร็จจะมีผลเมื่อไร  ????  เวลาร่างเสร็จและผ่านสภา เมื่อในหลวงลงปรามาภิไธยแล้วจะมีผลเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ตามความในราชกิจจานุเบกษาแล้วก็จะมีผลวันนั้น 

ข้อยกเว้น

                -กฎหมายอาญาใช้จารีตประเพณีในทางที่เป็นคุณได้  (แต่ใช้ลงโทษไม่ได้)  เช่น  นักมวยชกกัน  จริง ๆ ก็ทำร้ายร่างกาย   เพราะครบองค์ประกอบของการทำร้ายร่างกาย  แต่ที่ไม่ผิดเพราะใช้จารีตประเพณีมาอ้างเพื่อเป็นคุณได้ 

                -ใช้กฎหมายใกล้เคียงมาลงโทษไม่ได้  แต่ใช้เทียบเคียงเพื่อเป็นคุณได้

          -กฎหมายอาญาย้อนหลังไปลงโทษไม่ได้  แต่ย้อนหลังไปเป็นคุณกับผู้กระทำความผิดได้  เช่น  มาตรา ๓  .....ไม่ว่าในทางใด  คือ  ไม่ต้องเอามาทั้งฉบับ  เลือกเฉพาะที่เป็นคุณ  กล่าวคือ 

                                -ประเภทโทษเบากว่า 

                                -อัตราโทษเบากว่า 

                                -กำหนดให้บุคคลรับผิดทางอาญาน้อยกว่า 

                                -อายุความสั้นกว่า 

                                -กำหนดเงื่อนไขในการฟ้องร้องเข้มงวดกว่า               

          เหล่านี้ล้วนเป็นลักษณะที่เป็นคุณ  

                ในทางอาญาบุคคลจะต้องรับผิด ด่านแรก คือ มีการกระทำ   ให้ดูมาตรา ๕๙  ซึ่งสำคัญที่สุดในอาญา ๑  อาญาภาคทั่วไป  

                วรรคแรกของมาตรานี้มีทั้งหลักและข้อยกเว้น

                หลักสำคัญ คือ มีการกระทำไม่    การกระทำไม่ใช่การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเดียวแต่ต้องเคลื่อนไหวโดยมีจิตใจบังคับด้วย

                สะกดจิต ละเมอ  เป็นการกระทำโดยไม่อยู่ในการบังคับของจิตใจ   ถ้าโจทย์บอกว่า นาย ก.ละเมอ  แล้วไปทำความผิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะทำความผิดอะไรบ้าง  เมื่อขึ้นต้นด้วยละเมอก็ไม่ผิด     รีเฟร็ก หรือ ปฏิกิริยาที่ไขสันหลังสั่งการ  ไม่ใช่สมองสั่ง  เช่น ตอนที่เดินเหยียบไฟร้อน  แล้วเหวี่ยงเท้าออกไปกระทบคนอื่น อย่างนี้ทางวิทยาศาสตร์ถือว่าไม่มีการกระทำ  เช่นเดียวกับทางกฎหมายที่ถือเช่นนั้น

                กระทำ  หมายถึงอย่างไรนั้น ในตัวบทไม่ได้เขียนอธิบายไว้  แต่เป็นเรื่องในทางวิชาการที่จะต้องตีความกัน

                ในประวัติศาสตร์  กฎหมายอาญาฉบับแรกเป็นกฎหมายลักษณะอาญา  ร่างขึ้นเมื่อ รศ. ๒๑๗ (๒๔๕๑)  นับถึงปีนี้ครบ ๑๐๐ ปีพอดี ใช้มาจน ๒๔๙๙  ในตอนที่เป็นกฎหมายลักษณะอาญามีนิยามศัพท์ไว้ว่า การกระทำ  หมายถึง อะไร แต่ตอนที่มาปรับเป็นประมวลนี่เองที่กรรมการตกลงกันว่าไม่ต้องเขียน  เพราะคนที่เรียนอาญาจะต้องเข้าใจความหมายคำนี้

                ถ้ากรณีที่ออกข้อสอบมาเป็นความจำ  เช่น  จงอธิบายความหมายของการกระทำในทางอาญา  ?  ถ้าแบบนี้  ก็ต้องวางเค้าโครงตอบให้ดี   อย่าตอบแบบวิเคราะห์ศัพท์  เช่น  คำว่า กระทำ มาจากรากศัพท์ ว่า...หรือ ตอบตามพจนานุกรม ...   อย่างนี้ไม่ได้   เช่น  ห้ามเดินลัดสนาม   ถ้าเปิดพจนานุกรม เดินกับวิ่งไม่เหมือนกันน่ะ   ... แต่ในทางกฎหมายรวมหมด  เพราะฉะนั้นเวลาตอบในทางกฎหมาย  ต้องวางหลักตอบอย่างนี้

๑.      ความหมายของคำว่า "การกระทำ"

                การกระทำ ในความหมายของกฎหมายอาญา  คือ  การเคลื่อนไหวของร่างกายภายใต้จิตใจบังคับ  คือ ทำโดยสำนึกตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาษามาตรา ๕๙ 

๒.    ขั้นตอนของการกระทำ (ต้องครบทั้ง ๓)

๑) มีความคิดที่จะกระทำ

๒) ตกลงใจที่จะกระทำตามที่คิด

                                ๓) ได้กระทำการนั้นลงไป อาจเป็นขั้นตอนตระเตรียมการหรือลงมือ (เป็นพยายาม)         

          ข้อสังเกต  อันที่จริง ๆ ตระเตรียมการนั้นยังไม่ผิด เว้นแต่วางเพลิงหรือกรณีลอบปลงพระชนม์   เป็นต้น

              

หมายเลขบันทึก: 189286เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2008 21:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 17:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท