Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

ความสำคัญของพฤติกรรมทางจริยธรรมกับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของนักศึกษา


            ในสภาวะปัจจุบัน โลกอยู่ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันกันอย่างสูง ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ และในฐานะที่ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันอย่างรุนแรงนี้ โดยได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อันจะเห็นได้ชัดจากปัญหาและสภาพของวิกฤติการณ์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในปัจจุบัน จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าในสภาวะแบบนี้ องค์การควรมีการปรับตัว เปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเองอย่างไร เพื่อให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงยั่งยืน มีสันติสุข และสามารถเอาชนะวิกฤตการณ์ทางด้านต่าง ๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่ได้

             นอกจากในระดับโลกหรือในระดับประเทศแล้ว ในระดับองค์การซึ่งเป็นหน่วยย่อย ๆ  ในสังคม ก็เป็นที่ยอมรับเช่นกันว่า ผู้นำเป็นบุคคลที่มีความสำคัญหรือที่เรียกกันว่าเป็น กุญแจสำคัญของความมีประสิทธิภาพและความมีประสิทธิผลขององค์การ ไม่ว่าจะเป็นองค์การในภาครัฐ ภาคเอกชน เป็นองค์การระดับชาติหรือเป็นองค์การระดับท้องถิ่น ซึ่งความสำคัญของผู้นำ และความเป็นผู้นำหรือภาวะผู้นำ (Leadership) มีการศึกษาวิจัยจำนวนมากทั้งในต่างประเทศ และในประเทศไทย ที่ยืนยันว่าผู้นำหรือภาวะผู้นำมีอิทธิพลต่อประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลขององค์การ รวมถึงผลการปฏิบัติงานของบุคคลในองค์การ ความพึงพอใจในการทำงาน ความผูกพันต่อองค์การ ความเป็นพลเมืองดีในองค์การ (Organizational Citizenship Behavior : OCB ) รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในองค์การ และตัวแปรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย (รัตติกรณ์ ,2544: 31)

             การพยายามพัฒนาผู้นำที่ดีนั้นเป็นพื้นฐานของการสร้างผลผลิตหรือบริการ  องค์การจะสำเร็จหรือล้มเหลวนั้นขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของผู้นำในองค์การนั้นเป็นอย่างมาก  ทั้งนี้เป็นเพราะว่าผู้นำที่ดีจะพัฒนาผู้ใต้บังคับบัญชาหรือผู้ปฏิบัติงานของหน่วยงานนั้นได้ดี  และทั้งสองฝ่ายก็จะช่วยกันสร้างผลผลิต  สินค้าและบริการที่ต้องการได้  ดังนั้นในทุกวันนี้จะเห็นได้ว่าการฝึกอบรมในองค์การต่างๆ  ได้ให้ความสำคัญแก่เรื่องภาวะผู้นำ (Leadership) นี้  โดยการพยายามแสวงหาวิธีการใหม่ๆ  ในการพัฒนานักบริหารให้เป็นผู้นำที่ดี  โดยทั่วไปบุคคลเป็นจำนวนมาก  มักเข้าใจไปว่าภาวะผู้นำนั้นเป็นเรื่องของนักบริหารในระดับสูงเท่านั้น  อันที่จริงแล้ว  ผู้ปฎิบัติหน้าที่ในตำแหน่งบริหารต่างๆ ในทุกระดับต่างก็ต้องมีบทบาทของความเป็นผู้นำหรือภาวะผู้นำทั้งสิ้น (สร้อยตระกูล, 2541: 253)

             ผู้บริหารถือเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะทำให้บริษัทดำเนินการอย่างมีจริยธรรมหรือไม่มีจริยธรรม  เนื่องจากผู้บริหารมีหน้าที่ในการตัดสินใจเป็นส่วนใหญ่  เพราะฉะนั้นผู้บริหารจึงมีโอกาสมากกว่าคนอื่นในการที่จะก่อให้เกิดแนวคิดทางด้านจริยธรรมขึ้นในองค์การ  คุณค่าและเหตุผลทางด้านจริยธรรมของผู้บริหาร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารระดับสูง  จะเป็นแบบอย่างให้บุคคลอื่นๆในองค์การยึดถือปฏิบัติตาม  โดยคุณลักษณะของการเป็นผู้นำทางด้านจริยธรรม  จะแสดงให้เห็นถึงลักษณะที่มีศีลธรรมในเรื่องของการมีอิทธิพลในแง่บวกขององค์การ  เพราะคุณสมบัติของผู้นำที่เน้นด้านจริยธรรม  ทำให้มีผู้ดำเนินตามในองค์การด้วย  ซึ่งการมีมาตรฐานทางด้านศีลธรรมของผู้บริหารจะทำให้สามารถตัดสินใจทางด้านจริยธรรมในที่ทำงานได้ง่ายขึ้น (อภิรัฐ ,2546: 113)  ถ้าหากผู้นำและองค์การธุรกิจใดปราศจากจริยธรรม  ผู้นำระดับสูงจะพบว่าองค์กรของตนเต็มไปด้วยปัญหาและมีแนวโน้มที่จะต้องประสบความหายนะในที่สุด ในทางกลับกันหากองค์กรธุรกิจใดอุดมด้วยจริยธรรม ย่อมเป็นที่ยอมรับนับถือ ได้รับความเชื่อถือ  ได้รับโอกาส มีความได้เปรียบในเชิงแข่งขัน มีอนาคตไกล สรุปได้ว่า จริยธรรม คือ วิถีทางสู่ความสำเร็จในระยะยาวอย่างยั่งยืน  จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นที่องค์กรธุรกิจที่ดี ที่มีความเป็นเลิศจะต้องมีจริยธรรม คุณความดี จากมุมมองของสังคมประเทศชาติและสังคมโลก (นิตย์ ,2546: 63 -  64)

             ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545 - 2549)  ได้กำหนดวิสัยทัศน์ของสังคมไทยที่พึงประสงค์ในอนาคตโดยมุ่งพัฒนาสังคมไทยสู่สังคมที่เข้มแข็งและมีดุลยภาพใน 3 ด้าน คือ สังคมคุณภาพที่ยึดหลักความสมดุล ความพอดี และพึ่งตนเองได้ ด้วยการสร้างคนทุกคนให้เป็นคนดี คนเก่ง มีวินัย เคารพกฎหมายและมีความรับผิดชอบ ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ โดยพัฒนาคนให้คิดเป็น  ทำเป็น  เรียนรู้ตลอดชีวิต มีเหตุผลและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และ สังคมสมานฉันท์และเอื้ออาทรกัน ที่มีการดำรงไว้ซึ่งคุณธรรมและคุณค่าของสังคมไทยที่พึ่งพาเกื้อกูลกัน รู้รักสามัคคี มีจารีตประเพณีดีงาม มีความเอื้ออาทร รักภูมิใจในชาติและท้องถิ่น มีสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็ง

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  กำหนดจุดมุ่งหมายและหลักการในการจัดการศึกษาในมาตรา 6 ไว้ว่า การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต  สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข  ซึ่งแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา  ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545 - 2549)  ได้กำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาไว้ว่า  สถาบันอุดมศึกษาผลิตบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรม  มีความเป็นผู้นำ มีจิตสำนึกแบบผู้ประกอบการ  มีความคิดและวิจารณญาณ มีความริเริ่มสร้างสรรค์  มีวินัย มีความรับผิดชอบ นำไปสู่การพัฒนาประเทศไทยได้

              จุดมุ่งหมายของการศึกษาและวิสัยทัศน์ของการพัฒนาประเทศที่สำคัญใน พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545 - 2549)  เน้นการพัฒนาคนให้เป็นทั้งคนดี  คนเก่ง และพร้อมด้วยคุณธรรมจริยธรรม  แต่จากสภาพการณ์ในปัจจุบันที่ความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว  ทำให้ค่านิยมต่อการศึกษาของบุคคลเปลี่ยนแปลงไป  บุคคลในสังคมใส่ใจต่อการศึกษาหาความรู้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาชีพที่จะนำไปสู่การประกอบอาชีพที่มีรายได้เป็นปึกแผ่น  ความเป็นคนเก่ง  คือ แนวทางที่จะนำไปสู่การมีโอกาสดีกว่าบุคคลอื่นกลายเป็นเป้าหมายของการศึกษาของคนส่วนใหญ่  การสร้างบัณฑิตให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการเป็นเป้าหมายหลักของสถาบันการศึกษาทั่วไป แต่ความเป็นคนเก่งอย่างเดียวนั้นไม่พอ  จะต้องเป็นคนดีด้วย  ดังนั้น  ค่านิยมของบุคคลที่มีต่อการศึกษา  นอกจากจะศึกษาเพื่อเป็นเครื่องมือไปสู่การประกอบอาชีพที่มีรายได้  สร้างตน  สร้างฐานะแล้ว การศึกษาจะต้องพัฒนาคนในทางจิตใจ  ความคิด  และการดำเนินชีวิตให้เป็นคนที่สมบูรณ์  เป็นทั้งคนเก่งและคนดี  ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรม

            คุณธรรม คือ รากฐานของพฤติกรรมที่ดี และถูกต้อง บุคคลไม่อาจมีความยุติธรรม ซื่อสัตย์สุจริต หรือสัจจะอย่างยั่งยืน หากผู้บริหารขาดคุณสมบัติข้อนี้ การสร้างระบบคุณธรรมให้เกิดขึ้นในองค์การก็ยากจะทำได้ ไม่ว่าองค์การแห่งนั้นจะเขียนกฎระเบียบที่เป็นลายลักษณ์อักษรละเอียดเพียงใดก็ตาม ระบบคุณธรรมไม่อาจเกิดขึ้นได้เพราะตัวหนังสือ แม้ว่าการเขียนขึ้นมาเป็นตัวหนังสือนั้นมีความจำเป็นและสำคัญ เพราะกฎระเบียบที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้นสามารถจะตีความได้ และการตีความก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ตีความ ด้วยเหตุนี้ หากผู้ตีความขาดคุณสมบัติเรื่องคุณธรรม หรือมีน้อย โอกาสที่จะตีความเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดด้วยความอคติ หรืออิงผลประโยชน์ก็เกิดขึ้นได้ไม่ยากนัก การที่ผู้บริหารจะสร้างจิตสำนึกในเรื่องนี้ขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยการฝึกฝนด้วยจิตใจที่มั่นคง ไม่วอกแวกต่อผลประโยชน์ (ลาภ ยศ ชื่อเสียง ตำแหน่ง อำนาจ หรือ เงินทอง) ที่ล่อ หรือรออยู่ข้างหน้า สำหรับการฝึกฝนจิตใจให้มีคุณธรรมนั้นต้องอาศัยหลักแห่งธรรมไม่ว่าจะเป็นของศาสนาใดก็ได้ หรือวิธีปฏิบัติธรรมด้วยการยกระดับจิตให้สูงขึ้นวันละนิดวันละน้อยซึ่งการบริหารด้วยระบบคุณธรรมมีแต่จะสร้างความเจริญรุ่งเรือง ก้าวหน้า และมั่นคงให้กับองค์การ เพราะเป็นที่เชื่อถือ ไว้วางใจจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์การธุรกิจ ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า หรือผู้ลงทุน ฯลฯ

                ปัจจุบันอุดมศึกษาไทยยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณธรรม  จริยธรรมของบัณฑิตไม่ดีเท่าที่ควร  โดยเฉพาะด้านความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ความซื่อสัตย์  ความเชื่อมั่นในตนเอง  เนื่องจากคุณภาพในการทำงานของบัณฑิตขึ้นอยู่กับคุณลักษณะดังกล่าว (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2537) ผลการวิจัยของอาดัมส์และฟิทส์ (Adams and Fitch, 1983)  พบว่า  สาขาวิชาที่นักศึกษาได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้มีความตระหนักต่อสังคมสูงจะช่วยพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้มีบุคลิกภาพเหมาะสม  มีการปรับตัวได้ดี  ยอมรับบทบาททางบวกในสังคม  ส่วนสาขาวิชาที่ไม่เน้นในด้านนี้  จะทำให้ผู้เรียนเกิดบุคลิกภาพถดถอย และปรับตัวได้น้อยลง  สถาบันอุดมศึกษาจึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลิกภาพนักศึกษา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความมีจริยธรรม

              จากที่กล่าวมาอาจารย์และนักวิจัยจะเห็นถึงความสำคัญ และความน่าสนใจในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมทางจริยธรรมกับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของนักศึกษา  เพื่อจะได้ทราบถึงระดับพฤติกรรมทางจริยธรรมกับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของนักศึกษา ว่าเป็นอย่างไร มีลักษณะใด  และพฤติกรรมทางจริยธรรมนั้นก่อให้เกิดภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงในระดับใด  เพื่อนำผลการวิจัยไปใช้ในการพัฒนาจริยธรรมและภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงนักศึกษา  นอกจากนั้นยังช่วยปรับปรุงการเรียนการสอนของนักศึกษามหาวิทยาลัย  ให้สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด  เพื่อให้นักศึกษาเป็นบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรมต่อไป

  

หมายเลขบันทึก: 187818เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2008 10:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 13:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท