นักศึกษาฆ่าตัวตายกับการศึกษาแบบหมาหางด้วน (๒)


คำถามว่าจะไปให้พ้นการศึกษาแบบหางด้วนอย่างไร เป็นคำถามใหญ่ที่ตอบยาก แม้จะตอบได้ หรือคิดออกแล้ว ก็ใช่ว่าจะทำง่าย

การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาในช่วงหลายปีมานี้ ก็เป็นการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการ

ยังไม่ได้ปฏิรูปเนื้อหาสาระที่แท้จริงของการศึกษา เยาวชนคนเรียนก็ยังเครียดเหมือนเดิม (หรือหนักขึ้น) ฆ่าตัวตายมากขึ้น พ่อแม่ผู้ปกครองก็ยังเครียด โดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนช่วงชั้นเครียดกันทั้งครอบครัว ความจริงเครียดกันตั้งแต่ก่อนเข้าอนุบาลแล้ว พอจะเลื่อนจากอนุบาลมาประถมก็เครียดอีก

จากประถมจะเข้ามัธยมก็เครียด และที่เครียดกันสุดๆ ก็คือเมื่อจบมัธยมจะเข้ามหาวิทยาลัย

 

คำถามว่าจะไปให้พ้นการศึกษาแบบหางด้วนอย่างไร เป็นคำถามใหญ่ที่ตอบยาก

แม้จะตอบได้ หรือคิดออกแล้ว ก็ใช่ว่าจะทำง่าย คงมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องทำ

 

ประการแรกสุด จะทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายยอมรับก่อนว่าการศึกษาที่เราทำๆ กันอยู่นั้นหางด้วน

การมีหางด้วนนั้นไม่ใช่ความเท่อย่างที่เราเข้าใจ เรื่องนี้เพียงแค่คิดก็หนักหนาสาหัสแล้ว

เกือบทุกคนในบ้านเมืองเกี่ยวข้องกับการศึกษาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ตั้งแต่รัฐบาล

หน่วยงานที่ดูแลด้านการศึกษา สถาบันการศึกษา พ่อแม่ผู้ปกครอง อนุชน เยาวชน

ผู้ใหญ่ที่ต้องการเรียนรู้ สถานประกอบการ ถ้าทำได้ก็จบ เรียกว่า ปฏิวัติวัฒนธรรมได้เลยทีเดียว 

 

ประการต่อมา เมื่อทุกฝ่ายเห็นตรงกันแล้วว่า เป้าหมายของการศึกษาต้องมุ่งเพื่อการเป็น

มนุษย์ที่สมบูรณ์แล้ว ก็ต้องมาวางแผนกันต่อว่าจะทำอย่างไร การเรียนเพื่อการอ่านออกเขียนได้

คิดเลขเป็นจะทำอย่างไร ยังจะให้เป็นบทบาทโรงเรียนต่อไป หรือเป็นบทบาทพ่อแม่

ถ้าเป็นบทบาทพ่อแม่ พ่อแม่จะเรียนรู้วิธีการสอนอ่านสอนเขียนสอนลูกให้คิดเลขเป็นอย่างไร

จะจัดการเรื่องเวลางานเวลาครอบครัวอย่างไร (เรื่องนี้ไปโยงกับโครงสร้างอื่นๆ)

 

ทางเลือกแรก ยกเลิกระบบโรงเรียนแบบที่ทำๆ กันอยู่ทั้งหมดไปเลย

แล้วคิดระบบการศึกษาแบบ "ใหม่" ขึ้นมา มีผู้เสนอโมเดลการจัดการศึกษาแบบทวนกระแสหลัก

อยู่ในเวลานี้อยู่ไม่กี่คน ที่โดดเด่นก็มีอีวาน อิลิช เจ้าของคำคม "โรงเรียนตายแล้ว"

อิลิชเสนอว่าการจัดการศึกษาไม่ต้องมีโรงเรียนก็ได้หรือจะมีก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่โรงเรียนที่มีหลักสูตร

ที่ออกแบบเพื่อรับใช้อุตสาหกรรม หากจะมี "สถานที่" เพื่อการศึกษาในชุมชนหรือที่ไหนก็เป็นสถานที่

ที่ใครอยากมาหาความรู้เรื่องอะไรก็มา ใครอยากมาแบ่งปันความรู้เรื่องอะไรก็มา เป็นสถานที่เปิด

สำหรับทุกคน วัสดุอุปกรณ์การศึกษาทุกอย่างก็ให้ทุกคนเข้าถึงได้ (อย่างปัจจุบันนี้ ประชาชนอย่างผม

ไม่มีสิทธิไปใช้กล้องจุลทัศน์ในห้องวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนใกล้ๆ บ้านเพราะมันเป็นของโรงเรียน

ไมใช่ของประชาชน)

 

อีวาน อิลิช เขียนหนังสือชื่อ ที่นี่ไม่มีโรงเรียน (de-schooling) แปลโดยสันติสุข โสภณศิริ

กับคุณหมอสันต์ หันถีรัตน์ ตั้งแต่สามสิบมาแล้วกระมัง แนวคิดก็คือโรงเรียนแบบที่เป็นอยู่นี้

มีเป้าหมายหลักอยู่ที่การผลิตคนป้อนโรงงานอุตสาหกรรม (เพื่อสร้างกองทหารให้

กองทัพอุตสาหกรรม แบบเดียวกับที่โรงเรียนทหารผลิตทหารเข้าสู่กองทัพสู้รบ) โรงเรียนแบบนี้

จึงเป็น "โรงเรียนที่ตายแล้ว" คือไม่ได้มีความหมายอะไรต่อชีวิตผู้เรียน ต่อชุมชนอีก ความสำเร็จ

ของโรงเรียนคือ สามารถทำให้เยาวชน "ทิ้งถิ่น" ไปเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมให้ได้ ยิ่งทำได้มาก

เท่าไรแสดงว่ายิ่งสำเร็จเท่านั้น โรงเรียนบ้านเราเป็นตัวอย่างของความสำเร็จอันนี้มาก

 

หากคิดมาตามแนวนี้ มีหลายเรื่องที่ต้องทำ เช่น ต้องมีการปลดปล่อยเยาวชนให้เป็นอิสระ

ด้วยการยกเลิกกฏหมายการศึกษาภาคบังคับ พร้อมกับกฏหมายคุ้มครองแรงงานเด็กที่ห้ามไม่ให้

เด็กที่อายุต่ำกว่า ๑๕ ปีทำงานด้วย ต้องให้เด็กได้ทำงานโดยเฉพาะการช่วยงานพ่อแม่ถือว่าเป็น

สุดยอดของการศึกษา ไม่ว่าในไร่นา ในร้านค้า หรือในการผลิตใดๆ เพราะแนวคิดนี้ถือว่า

"การทำงานคือการเรียน" เด็กเรียนรู้ก็ต่อเมื่อได้ทำงาน เรียนผ่านการทำงาน ผ่านการลงมือปฏิบัติ

(การเรียนโดยไม่ได้ปฏิบัติไม่ใช่การเรียนรู้ การรู้แต่ไม่ทำก็ไม่ถือว่ารู้จริง - นักการศึกษาบ้านเราถูกครอบงำด้วยแนวคิดของนักจิตวิทยาสายพฤติกรรมนิยม ก็เลยวัดผลการเรียนรู้แบบแค่ระบุได้ บอกได้

อธิบายได้ หรือทำในห้องเรียนในห้องทดลองได้ ไม่ต้องทำในสถานการณ์จริง ก็ถือว่าสำเร็จการ

ศึกษาได้) นั่นคือ ให้เด็กได้เป็นส่วนหนึ่งของโลกแห่งความเป็นจริง 

 

ที่เขียนมาเป็นเพียงคร่าวๆ รายละเอียดของแนวคิดที่ทวนกระแสหลักของการศึกษาแบบ

หมาหางด้วนนี้ยังมีอีกมาก

 

แนวคิดนี้หากจะนำมาใช้ทันทีแบบ "หักด้ามพร้าด้วยเข่า" รับรองว่าบ้านเมืองลุกเป็นไฟแน่

ถ้าเชื่อก็ต้องค่อยๆ ทำไปทีละส่วน โดยเริ่มจากครอบครัวที่เห็นด้วย เอาลูกออกจากโรงเรียน

(ที่ตายแล้ว) มาสอนเองที่บ้าน ถ้าให้ดีไม่ต้องไปสอบเทียบวัดระดับกับหลักสูตรอะไรด้วย

อย่างเช่นที่วิศิษฐ์ วังวิญญู ทำ "โรงเรียนทำเอง" (Homemade school) หากรวมตัวกันได้

หลายครอบครัวก็ช่วยกันทำ หากชุมชนรวมตัวกันได้ก็ทำในระดับชุมชน แล้วค่อยๆ ขยายตัวออก

ครอบครัวผมนำแนวคิดบางส่วนมาใช้ เช่นเรื่องการทำงานคือการเรียนมาใช้ 

ลูกผมทุกคนทำงานไปด้วย เรียนไปด้วยทำงานไปด้วยตั้งแต่ชั้นมัธยม ทุกคนอยากทำงาน

รักการทำงาน และมีความสุขกับการทำงาน และเราก็สนับสนุนให้เขาทำงานกันอย่างเต็มที่

การทำงานทำให้เขาเกิดความรับผิดชอบ รู้จักตัดสินใจ มีความเป็นผู้ใหญ่ และก็รักการเรียนรู้

แล้วเราก็พยายามสอนเรื่องการเป็นมนุษย์อยู่ตลอดเวลา เราบอกเขาอยู่เสมอว่า

การเป็นคนดีสำคัญกว่าการเป็นคนเก่ง คะแนนสอบจะได้กันเท่าไรไม่ใช่สาระสำหรับพ่อแม่

อย่างเรา แต่ก็แปลกที่การเน้นเรื่องความเป็นมนุษย์กลับทำให้การเรียน(ในระบบ)ของทุกคน

ดีไปด้วย

 

ทางเลือกที่สอง (อาจผสมผสานกับทางเลือกแรกที่ฝรั่งคิดบ้างก็ได้) คือหันกลับมาดูว่าบรรพบุรุษ

ของเราทำการศึกษามาอย่างไร ซึ่งก็แน่นอนว่าการศึกษาเริ่มขึ้นที่บ้าน การมีส่วนร่วมในกิจการงาน

ทุกอย่างของบ้านคือการเรียนรู้ และก็เป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการทุกด้านด้วย ทั้งด้านวัฒนธรรม

และวิชาชีพ เป็นระบบการศึกษาที่ไม่ได้แยกเด็กออกมาจาก "การผลิต" ของครอบครัว ทุกคนใน

ครอบครัว เป็นทั้ง "ผู้ผลิต" และ "ผู้บริโภค" ซึ่งต่างกับระบบโรงเรียนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่แยกเด็ก

ออกมาจากครอบครัวเลย การเป็น "นักเรียน" หมายถึงมนุษย์ที่ไม่ต้องทำงาน มีอภิสิทธิ์ที่จะ

ไม่ทำงาน และครองฐานะเป็น "ผู้บริโภค" อย่างเดียว (จนนักเรียน-นักศึกษาของเราจำนวนมาก

กลายเป็นง่อย เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ) มีเรื่องกระทบกระเทือนใจนิดหน่อยก็หนี เริ่มตั้งแต่หนีหน้า

หนีออกจากบ้าน และที่หนีสุดๆ คือ ฆ่าตัวตายพ้นๆ ไปเลย

 

นอกจากบ้านแล้ว วัดก็เคยมีบทบาทในเรื่องการศึกษาอย่างมาก หากโรงเรียนไม่มาแย่งบทบาทของวัดไป ปัญหาคือจะฟื้นฟูบทบาทของวัดในด้านการศึกษาขึ้นมาอย่างไร หรือว่าแทนที่จะโอนโรงเรียนไปให้ อปท.ก็โอนมาให้วัดแทน แต่ไม่ว่าจะโอนให้ใคร หากยังจัดการศึกษาในกระบวนทัศน์เก่า(แบบหมาหางด้วน) ผลก็จะออกมาเหมือนเดิมอีก ก็จะมีเยาวชนฆ่าตัวตายอีก

 

จึงเป็นเรื่องที่ดูเหมือนต้องคิดกันอีกยาว

 

ระหว่างที่คิดนี้ เราก็ทำสิ่งที่สมควรทำไป

 

นั่นคือ เริ่มต้นจากตัวเราเอง

 

อาจารย์จากศูนย์เรียนรู้คนหนึ่ง อาชีพหลักคือตำรวจระดบสารวัตร หลังจากมาสอนในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตได้ ๒ ปี สรุปเสนอในที่ประชุมผู้ประสานงานจังหวัดว่า การเปลี่ยนแปลงโลกเริ่มต้นที่ตัวเราเอง หากคนหนึ่งเปลี่ยนจะส่งผลกระทบให้โลกเปลี่ยนได้เยอะ

 

ผมเองก็เชื่อเช่นนั้น!

 

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์

๑๒ มิ.ย.๕๑

 

คลิกที่นี่เพื่อกลับไปตอนที่ ๑ -> http://gotoknow.org/blog/surachetv/187750

หมายเลขบันทึก: 187756เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2008 21:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 00:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท