ภูฏาน : กำเนิดประชาธิปไตย มังกรน้อยแห่งหิมาลายา ตอนที่ 2 จบ


กำเนิดประชาธิปไตย มังกรน้อยแห่งหิมาลายา

นอกจากนี้  ด้วยความหวั่นเกรงว่าเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติจะถูกลบเลือนหายจากการแทรกซึมทางวัฒนธรรมของอินเดียและชนกลุ่มน้อยเชื้อสายเนปาล ในปี พ.ศ. 2530 ทางรัฐบาลจึงได้ประกาศนโยบาย “One Nation – One People หรือ Driglam Namzhag” อันเป็นแนวนโยบายแบบชาตินิยม เพื่อรักษาเอกลักษณ์และขนบธรรมเนียมประเพณีของภูฏานดั้งเดิมให้คงอยู่สืบไป  สืบเนื่องจากนโยบายกล่าว รัฐบาลในขณะจึงนั้นได้กำหนดให้ประชาชนชาวภูฏานต้องสวมใส่ชุดประจำชาติในโอกาสสำคัญต่างๆ  และใช้ภาษา Dzongkha ซึ่งเป็นภาษาดั้งเดิมของชาวภูฏานเป็นภาษาราชการ และในปี พ.ศ. 2533  ทางการได้ประกาศให้งดสอนภาษาเนปาลเป็นภาษาที่สองในโรงเรียนอีกด้วย            

นโยบายชาตินิยมดังกล่าวนี้ส่งผลให้ชนกลุ่มน้อยเชื้อสายเนปาลในภูฏานเกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมาก จึงอพยพลี้ภัยออกจากภูฏานไปอยู่ในค่ายลี้ภัยในประเทศเนปาลและจัดตั้งกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเพื่อปกป้องสิทธิของตนขึ้นโดยการสนับสนุนจากกลุ่มการเมืองของเนปาลทั้งในประเทศเนปาลและอินเดีย

 

ธรรมราชาแดนสวรรค์ รังสรรค์ประชาธิปไตย

           

ราชอาณาจักรภูฏานจะก่อกำเนิดเป็นราชอาณาจักรที่มีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มากว่า 100 ปี นับแต่การสถาปนาราชวงศ์วังชุกในปี พ.ศ.2450 โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดี (Druk Kyalpo – The Dragon King) เป็นองค์ประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาล  กษัตริย์ทุกพระองค์ของภูฏานทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรมและทรงมุ่งพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี  เลี้ยงตัวเองได้และมีความสุขอย่างพอเพียงตามสมควร  ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ของราชอาณาจักรมังกรสายฟ้านี้เป็นที่เคารพเทิดทูนและเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของประชาชนเป็นอย่างสูงมาตลอดระยะเวลานับตั้งแต่การสถาปนาราชวงศ์

 

 อย่างไรก็ดี  ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าแม้สถาบันพระมหากษัตริย์ของภูฏานจะมีความเข้มแข็งและเป็นที่เคารพเทิดทูนเพียงใดก็ตาม  การปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งอำนาจสูงสุดในการปกครองเป็นของประชาชนก็ยังได้อุบัติขึ้นในภูฏานโดยพระมหากษัตริย์เป็นผู้ยอมสละพระราชอำนาจในฐานะองค์อธิปัตย์พระราชทานให้ด้วยพระองค์เอง  โดยปราศจากแรงกดดันหรือการปฏิวัติจากกลุ่มการเมืองฝ่ายต่างๆดังที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ  ซึ่งประวัติศาสตร์โลกชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนผ่านจากการปกครองระบอบ  สมบูรณาสิทธิราชย์มาสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยการยึดอำนาจการปกครองประเทศจากสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น  มักนำมาซึ่งความบอบช้ำจากการต่อสู้  ช่วงชิงตลอดจนความจลาจลวุ่นวายต่างๆ  ดังที่เกิดขึ้นในประเทศเนปาล  ประเทศฝรั่งเศส และแม้แต่ประเทศไทยของเราเอง นอกจากนี้มีประเด็นปัญหาที่น่าพิจารณาว่า  พัฒนาการทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยของประเทศเล็กๆที่ถูกจัดอันดับว่าเป็นประเทศด้อยพัฒนาอย่างภูฏานนั้นจะเป็นไปในทิศทางใด  ซึ่งสังคมโลกจะได้เรียนรู้ต่อไปว่า  ระบอบประชาธิปไตยที่อุบัติขึ้นจากการสละอำนาจโดยสมัครใจขององค์อธิปัตย์แห่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น  จะมีพัฒนาการเหมือนหรือต่างกับระบอบประชาธิปไตยที่ได้มาโดยการ ขอความกรุณาเชิงบังคับ หรือ บังคับเด็ดขาด ให้องค์อธิปัตย์ยอมสละอำนาจอธิปไตยหรือไม่   

 

หากเราได้ศึกษาพัฒนาการทางการเมืองสู่ระบอบประชาธิปไตยของราชอาณาจักรภูฏานแล้ว  จะพบว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดระบอบประชาธิปไตยขึ้นในประเทศ  โดยเริ่มตั้งแต่การประกาศธรรมนูญว่าด้วย สมัชชาแห่งชาติ (Tsogdu – National Assembly) ขึ้นในปี พ.ศ.2496 อันถือเป็นการก่อกำเนิดของรัฐสภาแบบสภาเดียว (Unicameral House of Parliament) ท่ามกลางระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในรัชสมัยของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ดอจี วังชุก ซึ่งธรรมนูญฉบับดังกล่าวถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของราชอาณาจักรภูฏานก็ว่าได้  และต่อมา วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2541   สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ทรงลดทอนพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ โดยการมอบอำนาจทางการบริหารประเทศทั้งหมดให้แก่  สภาคณะมนตรี (Lhengye Zhungtsho -The Council of Minister)  ซึ่งสมาชิกคณะมนตรีแต่ละคนจะเข้าสู่ตำแหน่งโดยมติแต่งตั้งของที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติ  ตลอดจนอนุญาตให้ที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติสามารถถอดถอนกษัตริย์ด้วยมติ 2 ใน 3 ในญัตติไม่ไว้วางใจได้อีกด้วย

 

เหตุการณ์ครั้งสำคัญแห่งประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของราชอาณาจักรนี้ก็มาถึง โดยเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2548 อันเป็นวันชาติของภูฏาน สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี ซิงเย วังชุก ทรงประกาศเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ  และทรงมีพระราชดำรัสว่าจะทรงสละราชสมบัติให้แก่มกุฎราชกุมารจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ในปี พ.ศ.2551 อย่างไรก็ดี  ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2549  สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุกได้ทรงสละราชสมบัติให้แก่มกุฎราชกุมารจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุกขึ้นเป็นรัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์วังชุก และทรงเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญพระองค์แรกของราชอาณาจักรภูฏาน ซึ่งเร็วกว่าที่ทรงเคยมีพระราชดำรัสไว้ถึง 2 ปี  ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ให้องค์มกุฎราชกุมารทรงได้เรียนรู้และสร้างเสริมประสบการณ์ที่แท้จริงในการปกครองประเทศและดำเนินนโยบายผ่อนปรนแก้ไขปัญหาต่างๆ ในฐานะองค์พระประมุขภายใต้สภาวะการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองการปกครองของประเทศสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบมีรัฐสภา  ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับแรกของราชอาณาจักรภูฏาน (Draft of Thrim Chenmo) ร่างแล้วเสร็จเมื่อ 26 มีนาคม พ.ศ. 2548  โดยคณะกรรมาธิการยกร่างได้ศึกษารัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆกว่า 150 ประเทศ รวมทั้งของประเทศไทยด้วย เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับ  ได้ส่งผลให้ราชอาณาจักรภูฏานมีสถานะเป็นรัฐเอกราชคงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยอันเป็นของประชาชน  มีรัฐบาลผู้ใช้อำนาจทางบริหารตามระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ 

ในอดีตราชอาณาจักรภูฏานมีรัฐสภาแบบสภาเดียว (Unicameral House of Parliament) คือ สมัชชาแห่งชาติ (Tsogdu – National Aeesembly ) ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ.2496  แต่โดยผลของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้ราชอาณาจักรภูฏานมีรัฐสภาแบบสองสภา (Bicameral House of Parliament) โดยในหมวด 10 ของรัฐธรรมนูญ  ได้บัญญัติถึงหลักการว่าด้วยรัฐสภาไว้ว่า รัฐสภาเป็นองค์กรนิติบัญญัติประกอบด้วย พระมหากษัตริย์ (Druk Kyalpo) สภาแห่งชาติ (National Council) และ สมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) 

 

โดยองค์กรใหม่ที่ทำให้ภูฏานมีรัฐสภาแบบสองสภา (Bicameral Parliament) ได้แก่ สภาแห่งชาติ (National Council) มีภารกิจตามรัฐธรรมนูญซี่งเทียบเท่าวุฒิสภา (Upper House)ในการตรวจสอบและพิจารณาในประเด็นที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ ตลอดจนอธิปไตยของประเทศ และประโยชน์สาธารณะ  ประกอบด้วย สมาชิกทั้งหมด 25 คน โดยการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ 5 คน และโดยมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 20 คนจาก 20 เขตการปกครอง (Dzongkhags) ซึ่งได้จัดการเลือกตั้งแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2550  ที่ผ่านมา

           

ก้าวแรกสู่ประชาธิปไตย  การเลือกตั้งครั้งใหญ่ในภูฏาน

           

การเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติในปี 2551 นับเป็นสิ่งสำคัญที่จะประกาศให้โลกรู้ว่าราชอาณาจักรภูฏานที่ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มากว่า 100 ปี  ได้กลายเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบมีรัฐสภาโดยสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญที่ร่างแล้วเสร็จในปี 2548   โดยเพื่อการนี้  สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุกได้ทรงแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งขึ้นในเดือนมกราคม 2549  เพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของภูฏานที่กำลังจะจัดขึ้นในปี 2551 

 

            โดยหลังจากที่สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ทรงครองราชสมบัติในเดือนธันวาคม  2549 พระองค์ก็ได้ทรงสานต่อเส้นทางสู่ประชาธิปไตยของราชอาณาจักรต่อจากพระราชบิดา  โดยการจัดการเลือกตั้งจำลอง (Mock Election) ขึ้นในวันที่ 21 เมษายน 2550 เพื่อซักซ้อมและเตรียมความพร้อมให้เจ้าหน้าที่ผู้จัดการเลือกตั้งและประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงได้คุ้นเคยกับการเลือกตั้งอันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศ  โดยมีตัวแทนจากองค์การสหประชาชาติ (United Nation) และประเทศอินเดียร่วมสังเกตการณ์การจัดการเลือกตั้งจำลองในครั้งนี้ด้วย

           

และในที่สุด การเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติก็ได้จัดขึ้น  ตามกำหนดการว่าด้วยการจัดการเลือกตั้งนั้น  คณะกรรมการการเลือกตั้งได้กำหนดให้แต่ละพรรค  ซึ่งมีเพียง 2 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคพรรคประชาธิปไตยประชาชน (PDP) และ พรรคพรรคแนวร่วมภูฏาน (DPT) ยื่นเอกสารแสดงความจำนงลงสมัครรับเลือกตั้ง รายชื่อผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค และรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณ ตลอดจนนโยบายของพรรค  ในวันที่ 22 มกราคม 2551  จากนั้น ในระหว่างวันที่ 31 มกราคม 2551 ถึง 7 กุมภาพันธ์ 2551 พรรคการเมืองทั้งสองพรรคต้องส่งเอกสารเกี่ยวกับผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งทั้ง 47 เขตเลือกตั้ง โดยเมื่อทางคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับรองสถานะของผู้สมัครแล้ว  ผู้สมัครทั้งหลายก็สามารถรณรงค์หาเสียงได้นับตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2551 ถึง เวลา 9 นาฬิกาของวันที่ 22 มีนาคม 2551 

           

และเมื่อถึงวันที่  24 มีนาคม 2551 การเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติหรือสภาล่างของราชอาณาจักรนี้ก็ได้เริ่มขึ้น โดยเปิดให้ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งคือ มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์แล้วในวันที่ 1 มกราคม 2551 ได้ลงคะแนนตั้งแต่เวลา 9 นาฬิกา ถึง 17 นาฬิกา และนับคะแนนเมื่อสิ้นสุดการเลือกตั้งในวันนั้น 

           

รุ่งอรุณแห่งประชาธิปไตยในภูฏานได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 มีนาคม 2551 โดยทางคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ โดยพรรค Bhutan Peace and Prosperity Party (DPT – Druk Phuensum)ซึ่งมีนายจิกมี  ทินเลย์ อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัยเป็นหัวหน้าพรรคได้ชนะการเลือกตั้ง โดยครองที่นั่งของสมัชชาแห่งชาติไปถึง 45 จาก 47 ที่นั่ง และพรรค People’s Democracy Party (PDP) ซึ่งมีนายซานเก เงดับ พระราชปิตุลา(ลุง)ของสมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก เป็นหัวหน้าพรรค  ได้ครองเพียง 2 ที่นั่งเท่านั้น โดยการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิ 253,012 คน คิดเป็นร้อยละ 79.4 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด  ซึ่งถือว่าประชาชนภูฏานให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งในครั้งนี้พอสมควร  อย่างไรก็ดีมีข้อควรพิจารณาว่า เมื่อมีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวครองเสียงข้างมากอย่างท่วมท้นเช่นนี้ จะมีผลอย่างไรต่อพัฒนาการทางการเมืองภูฏานในระบอบประชาธิปไตยแบบมีรัฐสภา 

 

โดยในวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 ที่ผ่านมา สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก  เสด็จไปในการพระราชพิธีเปิดประชุมรัฐสภา (First Session of The Paliament) อันถือเป็นการสิ้นสุดการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างเป็นทางการของราชอาณาจักรภูฏาน 

 

 

 

 

 

 

ความส่งท้าย

 

หลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ  เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2551 ได้ผ่านพ้นไป  ราชอาณาจักรภูฏานก็กลายเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญที่ส่งผลให้มีรัฐสภาแบบสองสภา (Bicameral Parliament) คือ สมัชชาแห่งชาติ (Tsogdu – Natioal Assembly)และ สภาแห่งชาติ (National Council) ร่วมกันทำหน้าที่องค์กรนิติบัญญัติ

 

และในท้ายที่สุด ราชอาณาจักรภูฏานก็กลายเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่มีอายุน้อยที่สุดของโลกก็ว่าได้  การขยับตัวครั้งสำคัญของมังกรน้อยแห่งเทือกเขาหิมาลัยนี้ทำให้โลกหันมาสนใจว่า  การก้าวเข้าสู่ระบอบการปกครองใหม่ของภูฏานจะดำเนินไปในทิศทางใด   ราชอาณาจักรแห่งนี้จะต้องเผชิญกับปัญหาทางการเมืองที่ประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายในโลกได้พบเจอหรือไม่  ก็เป็นสิ่งที่น่าศึกษาและเรียนรู้กันต่อไป

 

 

**********

 

 

 

 

 

 

 

บรรณานุกรม

 

กองเอเชียใต้ กรมเอเชียใต้ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ . ข้อมูลราชอาณาจักรภูฏาน .  (1 พฤษภาคม 2551) .  เข้าถึงได้จาก http://www.mfa.go.th/web/479.php?id=299

 

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM) . ข่าวความเสี่ยงประเทศภูฏาน (1 พฤษภาคม 2551) . เข้าถึงได้จาก  http://www.exim.go.th/info/risk_main.asp?country=Bhutan

 

Bhutan general election 2008 . (May 12th ,2008) . Available URL : en.wikipedia.org/wiki/Bhutanese_general_election,_2008 .

 

 

Bhutan information (May 10th ,2008) . Available URL:

http://www.worldinformation.com/worldroot/start.asp?content=world&continent=Asia&country=975

 

Bhutan News Online . Political System of Bhutan . (May 10th ,2008) . Available URL : http://www.bhutannewsonline.com/political_system.html

 

Bhutan Observer . First Session of The Parliament . (May 12th ,2008) . Available URL : www.bhutanobserver.bt/2008/bhutan-news/04/first-session-of-the-parliament.html .

 

Federal Research Division Library of Congress By Andrea Matles Savanda, Bhutan Country Studies,:1993.(May 10th ,2008) . Available URL : http://memory.loc.gov/frd/cs/bttoc.html

 

National Council of Bhutan . (May 10th ,2008) .  Available URL : http://en.wikipedia.org/wiki/National_Council_of_Bhutan

 

The Draft Constitution of the Kingdom of Bhutan ( includes the Preamble Articles and the Glossary). (May 10th , 2008)  . Available URL : http://www.constitution.bt/draft_constitution_3rd_en.pdf

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ภูฏาน
หมายเลขบันทึก: 187680เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2008 14:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เก็บข้อมูลแน่นปึ๊ก ขนาดนี้จะทำอะไรหรือคะ สนใจภูฏาณเพราะสนใจ เจ้าขายนะค่ะ ตอนนี้เป็นพระราชาธิบดีแล้ว ไม่เคยเห็นอีกเลย

ดีครับ

ตามมาอ่านด้วยความสนใจ

ขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตามครับ บทความทั้งหมดที่ผมนำมาลง "หน้าต่างโลก" นี้ มาจากคอลัมน์ "หน้าต่างโลก The Knowledge Window" วารสารวิชาการ "จุลนิติ" ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ที่ผมเป็นผู้รวบรวมข้อมูลและเรียบเรียงเองครับ วารสารนี้เป็นวารสารวิชาการด้านกฎหมายและการเมือง เพื่อเผยแพร่ให้แก่ สส สว ข้าราชการรัฐสภา และผู้สนใจทั่วไป ข้อมูลจึงค่อนข้างละเอียดครับ

เรียนคุณปณิธัศร์ครับ

ขอบคุณเช่นกันครับที่นำเรื่องดีๆ มาเผยแพร่ใน G2K

คนไทยจำเป็นต้องเปิดหน้าต่างโลกนี้ให้มากขึ้นครับ

เพราะโลกทั้งใบนี้เป้นหนึ่งเดียว เป็นตลาดความรู้ ตลาดการค้าและอะไรอีกมาก

ที่คนไทยสามารถได้รับประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมกันและเท่าเทียมกับคนชาติอื่นๆ

ถือว่าช่วยกันส่งเสริมความรอบรู้ให้คนไทยนะครับ

ด้วยความปรารถนาดี

เรียนท่านพลเดช

แต่เดิมนั้นผมตั้งใจว่าจะนำผลงานที่ทำในหน้าที่ราชการมาลงเพื่อเป็นประโยชน์สองต่อทั้งในหน้าที่และเพื่อเผยแพร่ใน G2K ข้อมูลอื่นนอกเหนือจากที่นำมาจากผลงานในหน้าที่นั้น ผมจะพยายามค้นคว้าเพิ่มเติมถ้าพอแบ่งเวลาจากงานประจำได้ครับ ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับทุกคน

เนื้อหา สุดยอด ค่าาาาาาาาาา

เป็นอีกที่ที่อยากไป... จึงทำให้มีความสนใจเป็นพิเศษ ขอบคุณที่ช่วยแบ่งปันนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท