หมอบ้านนอกไปนอก(68): เมืองมรดกโลก


เมืองมรดกโลกอย่างสุโขทัยบ้านเกิดผม ที่อยู่ในยุคเจ็ดร้อยปีเช่นกัน คงเหลือแต่ซากแห่งความรุ่งเรืองในอดีตไว้เท่านั้น แต่เรื่องราวความเป็นมาก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ชัดเจนได้ว่าเป็นอย่างไรกันแน่ รวมทั้งเรื่องคนไทยมาจากไหนด้วย

 อากาศที่อุ่นขึ้นจนเกือบร้อนกลับเย็นลงมาอีกจนหนาวอีกครั้งในสัปดาห์ที่ 36 เป็นสัปดาห์ที่ยุ่งและขลุกอยู่กับการอ่านเอกสารและเขียนวิทยานิพนธ์ จากการค้นหาและขอข้อมูลเพื่อประกอบการทำวิทยานิพนธ์ ทำให้รับรู้ได้ว่าระบบราชการจริงๆแล้วไม่รวดเร็วเลย ผ่านหลายขั้นตอน การรอเป็นเครื่องปลอบใจที่ดีและฝึกความใจเย็น แต่ตอนผมอยู่ที่โรงพยาบาลบ้านตาก ผมมั่นใจว่าระบบของเราเร็วกว่าเอกชนซะอีก จดหมายราชการต่างๆต้องนำเสนอผู้อำนวยการและผู้อำนวยการสั่งการหรือลงนามภายใน 1 วันแล้ววันรุ่งขึ้นต้องส่งถึงฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง ถ้าเร่งด่วนให้รายงานผู้ดำเนินงานและผู้อำนวยการทางโทรศัพท์ได้เลย เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีเวลาเพียงพอในการปฏิบัติงาน

วันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม 2551 อยู่บ้านนั่งเขียนวิทยานิพนธ์ ตอนเย็นพาเด็กๆไปสนามเด็กเล่นเพื่อให้เขาได้ออกกำลังกาย เพราะอยู่แต่ในบ้านแคบๆ ไม่ได้ใช้พลังงาน เด็กๆจะซนมาก แคนขิมขลุ่ยก็สนุกกับการวิ่งเล่นในสนามเด็กเล่นจนค่ำกลับมาทานอาหารเย็น แล้วก็ทำวิทยานิพนธ์ต่อ

วันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม 2551 เร่งเขียนร่างวิทยานิพนธ์ร่างแรกให้เสร็จเพราะมีนัดกับอาจารย์ที่ปรึกษาในวันรุ่งขึ้น แนวคิดในการเขียนของผมก็คือการทำให้เสร็จครบทุกส่วนก่อนแล้วค่อยเพิ่มความสมบูรณ์ของเนื้อหาเข้าไปในภายหลัง และเขียนให้เยอะไว้ก่อน จึงค่อยมาขัดเกลาในภายหลัง ตอนเย็นพาเด็กๆไปเล่นที่สนามเด็กเล่นเช่นเคย เด็กๆได้วิ่งเล่น ออกกำลังส่วนผมเองก็ได้พักผ่อนสายตาจากเอกสารตำราและการคร่ำเคร่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ สายตาถูกใช้งานหนักมากในช่วงนี้ ได้พักสายตามาดูลูกๆทั้งสามคนเล่นกันอย่างสนุกสนานท่ามกลางบรรยากาศยามเย็นที่มีสายลมพัดแผ่วเบาลูบไล้ผิวกายอย่างละมุนละไมอย่างมีความสุข การได้เห็นความสุขของลูกๆเป็นการพักผ่อนหย่อนใจที่วิเศษมาก

วันอังคารที่ 13 พฤษภาคม 2551 ตอนเช้ารีบส่งร่างวิทยานิพนธ์ให้อาจารย์ที่ปรึกษาทางอีเมล์เพื่อให้อาจารย์อ่านก่อน แล้วพบกันตอนบ่ายเพื่ออภิปรายให้ข้อเสนอแนะ ปรับทิศทางให้ตรงกับประเด็นที่ต้องการ ผมนำปัญหาเรื้อรังของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตากมาทำวิทยานิพนธ์คือการที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ฝั่งชายแดนหรือฝั่งตะวันตกของจังหวัดต้องการย้ายมาอยู่ฝั่งตะวันออก ทำให้ความตึงเครียดในการทำงานและการขอโยกย้ายมีสูงมากและเป็นมาอย่างนี้ตลอดทุกปี งานวิทยานิพนธ์ของผมใช้การทำวิจัยเชิงคุณภาพโดยการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาประกอบการเขียนวิทยานิพนธ์

อาจารย์บรูโน มาร์แชลเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ที่น่ารักมาก ให้ความสนใจในวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาทั้งรูปแบบ แนวคิด เค้าโครงและรายละเอียดในเนื้อหา โดยให้คำแนะนำในการกำหนดรูปแบบทางวิชาการ มีความใจเย็น มีจิตวิญญาณของความเป็นครูสูงมาก ทำให้นักศึกษาไม่เครียด เวลาไปขอคำปรึกษา ทำให้อยากเข้าไปปรึกษาและได้เรียนรู้เทคนิคการเขียนงานวิชาการไปด้วย เวลาเราขอบคุณที่ช่วยเหลือเรา บรูโนจะบอกเสมอว่าไม่ต้องขอบคุณเพราะอาจารย์ก็ได้ประโยชน์จากการเรียนรู้ในประเด็นที่นักศึกษาเขียนวิทยานิพนธ์ด้วยและเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน หลังจากนั้นไปซื้อตั๋วรถไฟความเร็วสูง (ทาลิส)ที่สถานีรถไฟกลางเพื่อเตรียมพอครอบครัวไปเที่ยวปารีส เป็นช่วงลดราคาของรถไฟพอดี ราคาถูกลงเหลือประมาณ 1 ใน 3 ของราคาปกติ

วันพุธที่ 14 พฤษภาคม 2551 ต้องเข้าไปที่เมืองบรัสเซลส์เพื่อทำวีซ่าเข้าประเทศอังกฤษหรือต้องเรียกว่าสหราชอาณาจักร (The United Kingdom of Great Britain and North Ireland) เพื่อไปทัศนศึกษาระบบสุขภาพของสก๊อตแลนด์ตอนต้นเดือนมิถุนายน นักศึกษาทุกคนต้องไปดำเนินการเรื่องวีซ่าเองทั้งหมด โดยทางสถาบันออกค่าใช้จ่ายให้และมีหนังสือรับรองให้สว่าเป็นนักศึกษาที่ต้องไปศึกษาดูงานเพื่อทำให้การทำวีซ่าง่ายขึ้น การทำวีซ่าอังกฤษไม่ใช่อยู่ๆก็เดินทางไปสถานทูตได้เลย ต้องมีการนัดหมายและกรอกข้อมูลในระบบอินเตอร์เน็ตก่อนพอได้วันเวลานัดหมายแล้วจึงไปตามนัดได้ โดยต้องเข้าไปที่เว็บไซต์ www.visa4uk.fco.gov.uk แล้วกรอกข้อมูลให้เรียบร้อยจำนวน 8 หน้า ตอนกรอกข้อมูลเพื่อความชัวร์ควรบันทึกเป็นระยะๆเพราะอาจมีปัญหาระบบหลุดแล้วต้องมาเริ่มต้นกรอกใหม่ จะเสียเวลามาก พอเราบันทึกแล้วระบบจะส่งหมายเลขไปให้เราทางอีเมล์เพื่อการเข้าไปกรอกในครั้งต่อไปได้ เสร็จแล้วก็กรอกวันนัดที่เราจะไปก็จะได้ใบนัดพร้อมรหัสให้เรา เราต้องพิมพ์เอกสารทั้ง 8 หน้าและใบนัดเอาไปในวันที่ไปสถานทูตด้วย

นั่งรถไฟจากแอนท์เวิปไปถึงบรัสเซลส์ สถานทูตอังกฤษอยู่ที่ถนนเดออาร์รอล ลงรถไฟแล้วต่อรถรางโดยซื้อตั๋ววันลงที่สถานีคุนเวสต์ (เรามารู้ทีหลังว่าลงที่สถานีชูแมนใกล้และเดินง่ายกว่า) แล้วเดินจนถึงสถานทูตไปก่อนนัดเล็กน้อย เข้าให้รอและเรียกเข้าไปทีละคน มีอยู่คนหนึ่งมาผิดวันเขาให้กลับไปเข้าอินเตอร์เน็ตเพื่อนัดวันใหม่ แต่เราไปตรงนัดใช้เวลาไม่นาน รวดเร็วมาก ไม่ยุ่งยาก เอกสารใช้รูปถ่ายขนาดสองนิ้วที่ฉากหลังสีขาว รูปถ่ายที่เตรียมจากเมืองไทยเป็นฉากหลังสีฟ้าใช้ไม่ได้ ต้องถ่ายไปใหม่แพงมาก 4 รูป ห้าร้อยบาท เอกสารอื่นๆใช้ไม่มากเพราะมีเอกสารรับรองจากสถาบันและเรามีบัตรประชาชนชั่วคราวของประเทศในยุโรปอยู่ เสียค่าใช้จ่าย 86 ยูโร จ่ายด้วยบัตรเครดิตได้และกำหนดรับวีซ่า 5 วันทำการโดยเขาต้องส่งไปขออนุมัติที่ปารีส หลังจากนั้นผม พี่ตู่ เกลนด้าก็เดินเที่ยวบรัสเซลส์โดยผ่านไปทางศูนย์ราชการของสหภาพยุโรป สวนสาธารณะกลางเมืองและพิพิธภัณฑ์ทหาร ไปชมอะตอมเมียม ไปลานหน้าศาลาว่าการเมือง และไปถ่ายรูปกับเมนแก็น พิส รูปปั้นหนูน้อยยืนฉี่ที่มีตำนานอันน่าทึ่ง จนประมาณบ่ายสามโมงก็กลับแอนท์เวิป

ถึงแอนท์เวิปแวะไปไชน่าทาวน์ ไปคุยกับน้องบีที่ร้านสวัสดี เจอคนไทยหลายคนได้พูดคุยกัน เจอพี่ปุ๊ที่มาอยู่เบลเยียมสิบกว่าปีแล้วที่เมอร์เซม เจอพี่แดงหรือสุวรรณา อยูที่บรัสเซลส์ มาติดต่อธุรกิจเกี่ยวกับบัตรโทรศัพท์ พี่เขาน่ารัก อัธยาศัยดีมาก ทำให้ได้ทราบว่ามีวัดไทยอยู่ที่บรัสเซลส์ด้วย และพี่เขาต่อโทรศัพท์ให้คุยกับพระที่วัดเพื่อจะได้รูจักท่านไว้ ทำให้ผมมีโอกาสที่จะได้ไปทำบุญที่วัดไทยได้ คุยกันได้สักพักก็นั่งรถรางกลับบ้านพักกลับมาเขียนวิทยานิพนธ์ต่อ

วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม 2551 ช่วงเช้านั่งปรับแก้วิทยานิพนธ์ร่างที่สามตามที่ได้สนทนาและได้รับข้อเสนอแนะจากบรูโนมา ทำให้เห็นภาพของงานวิทยานิพนธ์ที่ทำได้ชัดเจนขึ้น และต้องเพิ่มการเขียนผลการศึกษาในส่วนของการสัมภาษณ์ที่ต้องยกเอาคำพูดบางประโยคของกลุ่มตัวอย่างมาลงไว้เพื่อประกอบหัวข้อที่สรุปไว้ได้ ผมต้องเปลี่ยนจากประโยคภาษาไทยไปเป็นประโยคภาษาอังกฤษ ก็ถือว่ายากเหมือนกันที่ต้องคงความหมายและความรู้สึกของผู้ถูกสัมภาษณ์ที่ตอบมาในแบบสัมภาษณ์ให้ได้ ตอนบ่ายมีการประชุมชี้แจงเกี่ยวกับการเตรียมตัวเพื่อศึกษาดูงานสก๊อตแลนด์ ตอนเย็นพาลูกๆไปสนามเด็กเล่น

ตอนกลางคืนนั่งคร่ำเคร่งกับการเขียนวิทยานิพนธ์ต่อ ช่วงดึกๆเป็นช่วงที่มีอารมณ์ต่อเนื่องในการเขียนวิทยานิพนธ์ดีมาก งานเขียนเป็นสิ่งที่ไม่ได้อาศัยแค่ข้อมูลและทักษะเท่านั้น อารมณ์ร่วม ความรู้สึก ความอยากเขียนและจินตนาการ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญอย่างมาก ความรู้สึกสบายๆ ไม่เครียด ทำให้เขียนได้เร็วมาก ผมคิดและเขียนเป็นภาษาอังกฤษเลยครั้งเดียวเพราะถ้าเขียนเป็นภาษาไทยแล้วมานั่งแปลอีกครั้ง ผมคิดว่ามันยากกว่าเพราะมีอยู่ครั้งหนึ่งตอนตอบข้อสอบใช้วิธีเขียนเป็นภาษาไทยก่อนแล้วมาแปลความ ยากมาก

วันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม 2551 นั่งเขียนวิทยานิพนธ์แล้วรีบส่งให้บรูโนอ่านตอนก่อนเที่ยงเพราะนัดคุยกันอีกครั้งตอนบ่ายสองโมง การติดต่อนัดหมายทำโดยผ่านทางอีเมล์เป็นหลัก มีการปรับแก้งานวิทยานิพนธ์อีกมากพอควร พร้อมกับข้อเสนอแนะที่ดีและเป็นมิตร สมทบด้วยกำลังใจจากอาจารย์อย่างเป็นกันเอง ทำให้บรรยากาศการสนทนาระหว่างครูกับศิษย์ดีมาก ไม่เกร็ง ไม่มีการดุว่าหรือตำหนิกัน แถมอาจารย์ยังช่วยดูรายละเอียดการใช้คำและแกรมมาให้ด้วย แม้จะไม่ละเอียดทุกบรรทัดหรือทุกตัวอักษรก็ตาม แต่นั่นก็หมายความว่านักศึกษาก็ต้องรับผิดชอบตัวเองในการเขียนและตรวจสอบมาแล้วด้วยขึ้นหนึ่งก่อนด้วย ความสุข บรรยากาศที่เป็นมิตรทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีได้ง่าย

เสร็จแล้วไปที่สถานีรถไฟกับพี่ตู่เพื่อใช้บัตรเครดิตซื้อตั๋วรถไฟให้พี่ตู่กับเพื่อนๆอีกสามคนที่วางแผนไปเที่ยวลอนดอนกันโดยทาลิสที่ลดราคาลงมากและเป็นวันสุดท้ายของการลดราคาพอดี ผมต้องการเงินสดจากเพื่อนๆจึงใช้วิธีจ่ายผ่านบัตรเครดิตให้และเกรงว่าเงินสดจะไม่พอใช้จ่ายเพราะจ่ายค่าโรงเรียนลูกเป็นเงินสดทั้งหมด ส่วนผมไม่ได้ซื้อของตัวเองเพราะภรรยาและลูกๆยังไม่สามารถขอวีซ่าเข้าอังกฤษได้ต้องรอจนกว่าจะได้บัตรประชาชนชั่วคราวซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะได้เมื่อไหร่

วันนี้น้องแคนไปเที่ยวสวนสัตว์กับครูและเพื่อนๆที่โรงเรียน ลูกตื่นเต้นมาก เราให้ลูกนำกล้องถ่ายรูปไปด้วย โดยครูพาเดินจากโรงเรียนไปจนถึงสวนสัตว์ กลับมาตอนเย็นมาเล่าให้พ่อแม่กับน้องๆฟังอย่างสนุก ถ่ายรูปกับครูและเพื่อนๆมาให้ดูด้วย เดินจนปวดข้อเท้า ตอนเย็นเลยไปสนามเด็กเล่นกับน้องไม่ได้ ผมกับภรรยาพาขิมกับขลุ่ยไปสนามเด็กเล่น ส่วนแคนอยู่บ้านคนเดียว

วันเสาร์ที่ 17 พฤษภาคม 2551 ผมจองที่นั่งรถบัสที่จัดโดยศูนย์บริการนักศึกษาพาไปเที่ยวเมืองบรูจจ์ เมืองมรดกโลกที่สวยที่สุดในเบลเยียม บรรยากาศไม่ค่อยเป็นใจ ฟ้าครึ้ม เหมือนฝนจะตก อากาศค่อนข้างเย็น เด็กๆตื่นเต้นที่จะได้ไปเที่ยว รถออกตั้งแต่ 8 โมงเช้า ใช้เวลากว่าชั่วโมงไปถึงที่เมืองบรูจจ์ เฮลกาพาเดินตามหาไกด์อยู่รอบหนึ่งพอเริ่มเดินเที่ยวในย่านเมืองเก่าฝนก็เริ่มตกปรอยๆมาเรื่อยๆ ไกด์ก็บรรยายและพาเที่ยวชมตัวเมืองไปท่ามกลางสายฝนโปรยปราย น้องแคนเดินกับลุงตู่ น้องขิมเดินกับพ่อ ส่วนน้องขลุ่ยก็จูงมือไปกับแม่ น้องแคนชอบเดินไปกับพี่ตู่เพราะพี่ตู่มีวิธีการสอนภาษาอังกฤษให้แคนอย่างน่าสนใจ

ไกด์พาเราผ่านทะเลสาบเล็กๆเรียกว่าทะเลสาบแห่งความรัก มีสวนสาธารณะต้นไม้ร่มรื่นรอบทะเลสาบให้คนมานั่งพักผ่อนได้ เป็นเทศสี่ห้าตัวขนเขียวเป็นมันและหงส์ขาวตัวใหญ่เคลื่อนไหวอย่างช้าๆสง่างามอยู่กลางผืนน้ำในทะเลสาบ เดินไปเรื่อยๆท่ามกลางสายฝนพรำเบาๆผ่านโบสถ์ที่สำคัญที่สุดของเมืองชื่อโบสถ์ของคุณผู้หญิงของเรา (Our Lady’s Church) ที่มีสถาปัตยกรรมหลายสมัยจากการปรับปรุงซ่อมแซมตามกาลเวลาที่ผันผ่านมาอย่างยาวนาน มีหอคอยสูงตรงกลางถึง 122 เมตร สูงรองจากโบสถ์ที่แอนท์เวิปเท่านั้น ภายในโบสถ์ค่อนข้างสลัว บรรยากาศเงียบสงบเยือกเย็นจนน้องขลุ่ยรู้สึกกลัว ภายในมีรูปสลักหินอ่อนแม่พระกับพระบุตร ฝีเมือของไมเคิล แองเจโล และหลุมฝังศพของพระนางมารีแห่งเบอร์กันดีตกแต่งด้วยศิลปะโกธิคอย่างงดงาม แต่ด้วยคามมืดทำให้ถ่ายรูปลำบาก เด็กๆสนใจประวัติของพระเยซูมากรบเร้าให้เล่าให้ฟังบ่อยๆ

เดินต่อไปจนถึงจตุรัสเบิร์กเป็นลานหน้าวังเก่าซึ่งเป็นที่ตั้งศาลาว่าการเมืองปัจจุบัน ศาลาว่าการเมืองนี้สร้างอย่างโดดเด่นด้วยศิลปะแบบนีโอโกธิกถือว่าเก่าแก่ที่สุดในเบลเยียมเกือบ 700 ปี ใกล้ๆกันมีวิหารพระโลหิต เป็นสถานที่เก็บกระบอกหินประดับคริสตัลที่เชื่อกันว่าภายในบรรจุหยดพระโลหิตของพระเยซู เดินผ่านไปยังจัตุรัสมาร์กเป็นจัตุรัสกลางเมือง ด้านหน้าอาคารที่ทำการจังหวัด ใช้เป้นที่ตั้งตลาดค้าขายและสถานที่จัดงานต่างๆ รอบๆเป็นอาคารที่สร้างแบบโกธิก มีหอระฆังสูง 88 เมตร ในหอระฆังมีบันได 366 ขั้น ให้ไต่ขึ้นไปชมวิวของเมืองได้ เราไม่ได้ขึ้นไปชมเพราะมีเวลาไม่มากนักเพราะมากันกลุ่มใหญ่ทำให้ต้องรีบไปหลายๆที่ ฝนที่ตกปรอบปรายทำให้การถ่ายรูปไม่สะดวกมากนัก รวมทั้งการเดินเที่ยวด้วย

จนครบรอบก็เที่ยงวันกว่าๆฝนก็ตกหนักมาขึ้น เราต้องหาที่หลบฝนตรงลานตลาดนัดวันเสาร์ของเมืองและรับประทานข้าวมื้อกลางวันกับไก่ทอดที่เตรียมไปด้วยอย่างเอร็ดอร่อย เด็กๆทั้งสามคนเดินเที่ยวไปกับผู้ใหญ่ได้โดยไม่งอแงและเดินได้ระยะทางไกลๆ ผมบอกลูกว่าเด็กฝรั่งเขาดูแลตัวเองตั้งแต่เล็กๆ ฝึกวินัยตั้งแต่เด็กและทำอะไรๆด้วยตัวเอง เวลาไปไหนมาไหนก็ต้องเดินเอง ไม่ให้พ่อแม่อุ้ม

บ่ายสองโมงรถบัสพาเราไปที่ท่าเรือในคลองที่เชื่อมต่อระหว่างบรูจจ์กับเมืองเล็กๆชื่อดัมม์ (Damme) พาล่องเรือไปตามลำคลองประมาณครึ่งชั่วโมง เมืองนี้อยู่ห่างจากบรูจจ์ 5 กิโลเมตร อยู่ห่างจากเมืองนกเก้ที่ผมกับครอบครัวเคยนั่งรถรางเรียบทะเลเมืองสัปดาห์ก่อน 10 กิโลเมตรและห่างจากอูสตินเกริกที่ผมไปปฐมนิเทศเมื่อเดือนแรก 5 กิโลเมตร เป็นเรือที่ไม่กว้างนักแต่ยาวและแข็งแรงปลอดภัย น้องแคนขึ้นไปถ่ายรูปและรับลมบนดาดฟ้ากับพี่ตู่ ส่วนผม ภรรยา ขิมขลุ่ย นั่งอยู่ในห้องโดยสารข้างล่าง สักพักผมพาขลุ่ยไปดูคนขับเรือ เขาใจดีมากให้น้องขลุ่ยไปจับพวงมาลัยขับเรือด้วย น้องขลุ่ยทั้งตื่นเต้นและสนุก

พอถึงเมืองดัมม์ก็ขึ้นจากเรือและเดินเที่ยวเมืองเล็กๆ เงียบๆ ผู้คนไม่พลุกพล่าน มีร้านอาหารหลายร้าน ที่ว่าการเมืองเล็กๆ กังหันลมแบบโบราณโบสถ์และโรงพยาบาลเซนต์จอห์นที่เป็นโรงพยาบาลเก่าก่อนปี ค.ศ. 1249 ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่เราไมได้เข้าไปชม เดินได้สักหนึ่งชั่วโมงก็ขึ้นรถบัสกลับแอนท์เวิปเกือบหกโมงเย็น

บรูจจ์ เป็นเมืองในจังหวัดฟลันเดอร์ตะวันตก บางเอกสารบอกว่าเป็นเมืองหลวงของจังหวัด บางเอกสารบอกว่าออสเตนท์เป็นเมืองหลวง ในท้ายที่สุดผมสรุปได้ว่าบรูจจ์เป็นเมืองหลวงของจังหวัดนี้ ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่สวยที่สุดเมืองนึ่งของยุโรป เคยเป็นเมืองท่าที่สำคัญแต่ต่อมาถูกปิดล้อมจนไม่มีทางออกทะเล จึงสูญเสียความเป็นเมืองท่าให้แอนท์เวิปไป โดยมีเพียงคลองเล็กๆไปสู่เมืองดัมม์เพื่อออกทะเลเท่านั้น บรูจจ์เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์มานาน สามารถคงสภาพบ้านเมืองเมื่อครั้งอดีตไว้ได้จนถึงปัจจุบันเหมือนเมื่อหลายร้อยปีก่อน และได้รับยกย่องเป็นเมืองมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ. 2000 ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวยุโรป เมืองนี้มีประชากรราว 117,224 คน โดยอาศัยในตัวเมืองเก่าราว 20,000 คน

บรรยากาศสงบร่มรื่นของเมืองโบราณ ในลำคลองมีเป็ดเทศลอยตัวเล่นน้ำอยู่ แม้จะถูกทำลายเสียหายไปมากตอนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่ส่วนที่คงอยู่ยังคงสวยงามไม่น้อย การมาเที่ยวเมืองบรูจจ์มาได้ทั้งทางรถบัสและรถไฟ โดยสามารถเที่ยวชมเมืองได้โดยการนั่งรถมินิบัส นั่งเรือชมทิวทัศน์ริมคลองและนั่งรถม้าชมเมืองแบบขุนนางโบราณ เวลาที่ยาวนานผ่านฝนผ่านหนาวมาหลายร้อยปี แต่เขายังคงรักษาสภาพอาคารบ้านเรือนไว้ได้อย่างน่าชื่นชม การได้มาเที่ยวในยุโรปทำให้ได้มีโอกาสไปเที่ยวเมืองที่เป็นมรดกโลกอยู่หลายแห่งที่มีอยู่เกือบทุกประเทศ ทุกอย่างมีการบันทึกความเป็นไปไว้อย่างชัดเจน ทำให้ได้รับรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ในอดีต น่าเสียดายที่ของไทยเรา เราเองทราบประวัติศาสตร์ที่แท้จริงในอดีตเกินกว่าสองร้อยน้อยมากเพราะขาดการบันทึกที่ชัดเจน เมืองมรดกโลกอย่างสุโขทัยบ้านเกิดผม ที่อยู่ในยุคเจ็ดร้อยปีเช่นกัน คงเหลือแต่ซากแห่งความรุ่งเรืองในอดีตไว้เท่านั้น แต่เรื่องราวความเป็นมาก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ชัดเจนได้ว่าเป็นอย่างไรกันแน่ รวมทั้งเรื่องคนไทยมาจากไหนด้วย

พิเชฐ  บัญญัติ(Phichet Banyati)

Verbond straat 52, 2000 Antwerp, Belgium

10 มิถุนายน 2551, 11.35 น. ( 16.35 น.เมืองไทย )

หมายเลขบันทึก: 187340เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2008 17:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 19:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตามมาเที่ยวด้วยคนครับ

สวัสดีครับอาจารย์เจเจ

รูปสวยมากเลยครับ รุ้สึกคุ้นๆเหมือนจะเคยเห็นที่ไหน เป็นวิวที่ไหนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท