ไอน์สไตน์ : การนำวิทยาศาสตร์ไปเทียบเคียงกับศาสนา (ตอนจบ)




ต่อจากตอนที่แล้ว : "แต่ไอน์สไตน์มีสมาธิสูงมากในตอนที่ครุ่นคิดในเรื่องต่างๆ ลองไปดูประวัติตอนที่เขาค้นพบหลักแห่งความสมมูล ซึ่งเป็นรากฐานของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปก็ได้ครับ .."


 
+ถ้าจะทำความเข้าใจทฤษฎีสัมพัทธภาพ ต้องอ่านแนวคิดของไอน์สไตน์ให้แตก อาจารย์ศึกษาเรื่องนี้แค่ไหน

ผมเรียนฟิสิกส์ครับ คือ เป็นวิชาที่ต้องเรียนอยู่แล้ว ส่วนเมื่อ 3 ปีก่อน ก็เคยเขียนหนังสือไว้ 2 เล่ม เล่มหนึ่งลงลึกพอสมควร เอาแบบแม่นยำ และใช้คณิตศาสตร์ระดับมัธยมปลาย ส่วนอีกเล่มหนึ่งเขียนแบบง่ายหน่อย ร่วมกับอาจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล และอาจารย์ ดร.สุทัศน์ ยกส้าน

 

+ อาจารย์เป็นนักวิทยาศาสตร์ ก็เลยไม่เชื่อเรื่องศาสนา

ถ้าใครได้อ่านข้อเขียนผมช่วงหลังๆ ในเสาร์สวัสดี กรุงเทพธุรกิจ ก็จะรู้ว่า ผมสนใจอารยธรรม โดยเฉพาะทางศาสนา เช่น ฮินดู เชน และโซโรอัสเตอร์

พุทธศาสนาเกิดท่ามกลางวัฒนธรรมพราหมณ์ แต่เป็นพราหมณ์ที่กำลังอยู่ในขาลง มีสำนักคิดต่างๆ มากมาย ลองไปศึกษาดูนะครับ ตอนหลังพราหมณ์ถึงต้องปรับตัวเพื่อสู้กับพุทธและเชน โดยมีวัด เลิกบูชายัญ กลายเป็นฮินดู

ผมคิดว่า เราน่าจะเรียนรู้ศาสนาได้ดีขึ้น หากเข้าใจบริบทของสังคมในขณะหนึ่งๆ ด้วย ไม่ต่างจากการดูคนคนหนึ่งหรือคนกลุ่มหนึ่ง เราคิดว่าดูแบบตรงๆ มิติเดียวไม่ได้หรอกครับ

เช่น เราพูดได้อย่างเต็มปากไหมว่า คนที่อาศัยอยู่ในป่า ล่าสัตว์เพื่อเป็นอาหารเท่าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตนั้นเขา "ทำผิดศีลธรรม" หรือในทางกลับกัน เรามั่นใจได้ไหมว่า การที่เราไปชี้กุ้งปลาเป็นๆ ในตลาด เพื่อให้แม่ค้าฆ่าให้เรานำไปประกอบอาหารนั้น เรา "ไม่ได้ทำผิดศีลธรรม" 

นอกจากนี้พุทธศาสนายังมีหลายนิกาย ลองไปดูแนวคิดของมหายาน วัชรยาน หรือมนตรยาน ดูสิครับ  พวกเราที่นับถือพุทธแบบเถรวาทอาจจะได้มุมมองที่น่าแปลกใจทีเดียว

+ถ้ามีคนแย้งว่า อาจารย์ศึกษาเรื่องแนวคิดศาสนามากมาย แต่ไม่ได้ปฏิบัติ อาจไม่เข้าใจบางอย่าง จะอธิบายอย่างไรคะ

ท่านพุทธทาสบอกว่า การทำงานคือการปฏิบัติธรรมนะครับ

ที่สำคัญ คือ เรื่องที่คุยกันวันนี้ ผมไม่ได้โจมตีเรื่องศาสนาเลย แต่ประเด็นของผมคือ การนำเอาวิทยาศาสตร์มาเทียบเคียง ไม่ว่าสนับสนุนหรือหักล้างความเชื่อทางศาสนา ถ้าทำได้อย่างถูกต้องถูกหลักวิชาการ ก็จะเกิดความรู้ใหม่ๆ ที่งดงามและทรงพลัง และจะทำให้เกิดศรัทธาต่อทั้งวิทยาศาสตร์และศาสนา เป็นศรัทธาที่รองรับด้วยปัญญา

แต่ถ้านำสิ่งที่ไม่ถูกต้องไปใช้ ก็จะก่อให้เกิดข้อผิดพลาด

ผมยึดหลักกาลามสูตรของพระพุทธองค์นะครับ โดยข้อที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็คือ อย่าด่วนเชื่อเพราะเข้ากับความเห็นของตน ที่บางทีฝรั่งเรียกว่า confirmation bias นั่นเอง

+นักฟิสิกส์อย่างอาจารย์เชื่อสิ่งที่มองไม่เห็นไหม

การเห็นมี 2 อย่างหลักๆ นะครับ คือ มีอะไรบางอย่างที่เป็นตัวตนทางกายภาพจริงๆ ซึ่งทุกคนที่มีสายตาปกติจะมองเห็นเหมือนๆ กัน

ส่วนอีกอย่างหนึ่งคือ การที่สมองสร้างภาพนั้นให้เราเห็น เช่น ภาพในความฝัน ภาพหลอนจากการใช้ยาหรือสารเคมีบางอย่าง

ถ้าตอบแบบนักฟิสิกส์ ก็อาจจะแถมด้วยว่า เราก็มองไม่เห็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ไม่ใช่แสง แต่เรามีหลักฐานว่ามันน่าจะมีอยู่จริง และเรานำมันมาใช้งานได้ด้วย เช่น คลื่นวิทยุ คลื่นไมโครเวฟ รังสีเอ็กซ์ เป็นต้น

+มีคนบอกว่า จิตเป็นพลังงานอย่างหนึ่ง อาจารย์คิดว่าเป็นเช่นนั้นไหม

ถ้าเป็นคำพูดทั่วๆ ไปให้ฟังง่ายๆ ก็พอเข้าใจได้

แต่ในทางวิทยาศาสตร์นี่ จิตไม่ใช่พลังงานนะครับ จิตเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากการผุดบังเกิด เป็นสิ่งที่ผุดขึ้นมาจากปฏิกิริยาทางกายภาพ อย่างความเจ็บ ความป่วย การสัมผัสรับรู้รส ก็เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากการผุดบังเกิด [หมายเหตุ : การผุดบังเกิด (emergence) เป็นแนวคิดสำคัญในวิทยาศาสตร์ใหม่แขนงหนึ่งที่มีชื่อว่า ศาสตร์แห่งความซับซ้อน (Science of Complexity)]

+เรื่องการกลับชาติมาเกิด อาจารย์มีความเชื่อเรื่องนี้อย่างไรคะ

เรื่องนี้น่าสนใจ ถ้ามองย้อนเวลากลับไป ก็มาจากศาสนาฮินดู ทางคริสต์ก็ไม่มีเรื่องนี้นะครับ

 

ท่านพุทธทาสตีความคำว่า ‘เกิด’ อีกแบบคือ จิตเกิดดับตลอดเวลา เกิด นี่คือ การเกิดของตัวกู

[ข้อมูลเพิ่มเติม : ในข้อคิดเห็น #8 หลวงพี่พระมหาชัยวุฒิฯ ได้กรุณาชี้แจงมาว่า คำกล่าวของผมคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง โดยหลวงพี่ได้ให้ข้อเท็จจริงเบื้องต้นมาดังนี้ครับ:

         ขอแย้งว่า มิใช่ความเห็นเบื้องต้นของท่านพุทธทาส เพราะประเด็นนี้ มีเรียนมีสอนกันมาในคัมภีร์นานแล้ว... มีศัพท์บาลีว่า่ จิตฺตูปปาโท ซึ่งบางครั้งก็นิยมแปลทับศัพท์เป็นไทยว่า จิตตูปบาท (ความเกิดขึ้นแห่งจิต) ]

แต่ในสังคมไทย เราพูดเรื่องวิญญาณออกจากร่างไปอยู่อีกที่หนึ่ง ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากฮินดู

นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมอยากย้อนกลับไปดูว่า แนวคิดแบบไหนที่พุทธศาสนารับเข้ามา แล้วมีการตีความใหม่ หรือแนวคิดไหนที่พุทธแตกต่างจากลัทธิความเชื่ออื่นอย่างเด่นชัด

ลองเอาเรื่องนี้ไปคิดเล่นๆ นะครับ ท่านมหาวีระ ซึ่งเป็นศาสดาของศาสนาเชน เมื่อท่านบรรลุไกวัล ทางเชนก็ถือว่าท่านเป็นสัพพัญญู เมื่อตอนดับขันธ์ เราก็ใช้ว่าท่านปรินิพพานเช่นกัน การใช้คำเหล่านี้มาจากผู้รู้ทางศาสนาที่เป็นราชบัณฑิตครับ



  

(ซ้าย) มหาวีระขณะบรรลุธรรม เรียกว่า เกวัล หรือไกวัล เป็นสัพพัญญูตามคติของศาสนาเชน
(ขวา) ศาสดามหาวีระขณะแสดงปฐมเทศนา



ขอส่งท้ายว่า ผมมีความเชื่อว่าท่านผู้รู้แต่ละท่าน ที่พยายามเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์เข้ากับศาสนานั้น
แต่ละท่านเป็นผู้มีเมตตาธรรมและสติปัญญาสูงทั้งสิ้น


ดังนั้น หากเราต้องการที่จะทำให้คนไทยได้เรียนรู้
ค่อยๆ ปรับแก้ไขในประเด็นที่ยังคลาดเคลื่อน เน้นแก่นแท้ และมีตัวอย่างที่แม่นยำชัดเจน
จนเกิดสัมมาทิฐิ คือ ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง
ก็จะทำให้เกิดความสุขและภูมิปัญญา ทั้งในระดับปัจเจกและระดับสังคมของเราครับ

 


 


ย้อนกลับไปอ่านตอนที่ 1 หรือ ตอนที่ 2

 

หมายเลขบันทึก: 186480เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2008 10:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

เรียน ทุกท่านครับ

ผมมีไฟล์หนังสือทั้งเล่ม ชื่อ

ไอน์สไตน์ถาม พระพุทธเจ้าตอบ

โดย

ศุภวรรณ พิพัฒพรรณวงศ์ กรีน

หากท่านใดสนใจจะอ่านเมล์มาหาผมนะครับแล้วผมจะส่งไฟล์หนังสือไปให้ครับผม

อ่านบทสัมภาษณ์จบแล้วครับ

จริงๆ ก็ไม่เข้าใจทั้งทฤษฎีสัมพัทธภาพต่างๆ ของไอน์สไตน์

และก็ยังเข้าไม่ถึงหลักธรรมคำสอนของพุทธองค์ด้วยครับ

แต่ก็ไม่ค่อยชอบนักกับการนำพระพุทธเจ้ามาเปรียบเทียบกับไอน์สไตน์ครับ

เพราะเป็นคนละคน และเรื่องที่เผยแผ่/แพร่ ก็คนละเรื่องกันครับ

ถ้าคิดแบบอิงสัมพัทธ์ (เล่นๆ)น่าจะเปรียบระหว่างศาสนาด้วยกันมากกว่าครับ

เพราะพื้นฐานใกล้กัน

แต่การนำไอน์สไตน์มาเปรียบเทียบกับพระพุทธเจ้า คนไทยคงสนใจมากกว่าเพราะ

ดูน่าตื่นเต้น แปลกใหม่ แหวกแนว

พอดีกว่าครับ

^__^

สวัสดีครับ คุณP  หนุ่ย 

  • ขอบคุณมากครับ...เอ้า! ใครสนใจก็ติดต่อไปเล้ย!
  • อย่างไรก็ดี ผมเคยอ่านหนังสือเล่มนี้บ้างแล้ว พบว่าต้องระวังเรื่องความถูกต้องของเนื้อหาให้ดีด้วยครับ

ขอบคุณคุณ the one ครับ ที่แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา

ช่ายครับ อาจารย์บัญชาพูดถูก เพราะเพื่อนผมเองอ่านไม่จบบทที่ 2 ด้วยซ้ำ เอาไปขึ้นหิ้งเลย ครับ

ขอบคุณมากครับ คุณ P หนุ่ย

       ผมก็เกิดอาการคล้ายๆ กันครับ คือ อ่านไปได้สักพัก เจอที่ผิดเต็มไปหมด แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ทัศนคติ ยกย่อวิทยาศาสตร์เล็กน้อยในตอนเริ่มต้น หลังจากนั้นก็ขย่ม แล้วสรุปว่า ศาสนาเหนือกว่า ทุกทีไป

       กรณีไอน์สไตน์นี่โดนพาดพิงบ่อย เพราะเป็นโลโก้ยอดฮิตครับ

  • ขอแย้งโยมอาจารย์นิดหนึ่งจากข้อความว่า...

ท่านพุทธทาสตีความคำว่า ‘เกิด’ อีกแบบคือ จิตเกิดดับตลอดเวลา เกิด นี่คือ การเกิดของตัวกู แต่ในสังคมไทย เราพูดเรื่องวิญญาณออกจากร่างไปอยู่อีกที่หนึ่ง ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากฮินดู...

ขอแย้งว่า มิใช่ความเห็นเบื้องต้นของท่านพุทธทาส เพราะประเด็นนี้ มีเรียนมีสอนกันมาในคัมภีร์นานแล้ว... มีศัพท์บาลีว่า่ จิตฺตูปปาโท ซึ่งบางครั้งก็นิยมแปลทับศัพท์เป็นไทยว่า จิตตูปบาท (ความเกิดขึ้นแห่งจิต)

เจริญพร

กราบนมัสการหลวงพี่ฯ ครับ

        ขอบคุณมากครับ สำหรับข้อเท็จจริงที่ทักท้วงมา ผมขอนำข้อความนี้ไปขยายความไว้ในช่วงที่อ้างถึงนะครับ

        ส่วนคำพูดของผมนั้น ขอทิ้งไว้เป็นกรณีศึกษา เพื่อให้เห็นว่า เดิมทีผมเคยมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปอย่างไร

        ขอบกราบขอบพระคุณอีกครั้งครับ

เรื่องนี้เป็นเรื่องน่าสนใจมาก มีประเด็นให้คบคิดมากมาย ขอชื่มชมคนเขียนละคนวิจารณ์

ทำให้เราเข้าสู่สังคมของการเรียนรู้ครับ ประเด็นของความจริงของไอน์สไตน์อาจรู้เปลี่ยนแปลงได้ถ้ามีใครแสดงให้เห็นว่ามันไม่จริง แต่ความจริงของพระพุทธเจ้ามันคือความจริงที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลง ผู้เขียนสื่อให้เห็นอย่างนี้หรือเป่ลาครับ ผมมีความเชื่ออยุ่อย่างนะหนังสือที่ดีคือหนังสือที่เราสามารถโต้แย้งกับมันได้

สวัสดีครับ คุณ goodboy

        ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยม & แสดงความคิดเห็นครับ

        ในเชิงอุดมคติแล้ว หนังสือทุกเล่มนี่ เราสามารถคิดโต้แย้งกับมันได้เสมอครับ แต่เมื่อโต้แย้งแล้ว จะได้ข้อสรุปอย่างไร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขึ้นกับภูมิรู้ & ภูมิธรรมของแต่ละคน

        แกล้งแหย่ให้คิดเล่นๆ ว่า อย่างเรื่อง "การกลับชาติมาเกิด" นี่ ในศาสนาใหญ่ๆ ของโลกหลายศาสนาเขาถือว่าเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องนะครับ (ที่ทางพุทธเรียกว่า มิจฉาทิฐิ นั่นแหละ)

        ในขณะเดียวกัน ชาวพุทธด้วยกันเอง ก็อาจจะตั้งข้อกังขากับ Judment Day ในบางศาสนาด้วย - ใช่ไหมครับ?

        อย่าว่าอื่นไกลไปเลย แม้แต่พุทธด้วยกันนี่แหละ สำหรับทางมหายานนี่ ถือว่าพระพุทธองค์ยังอยู่นะครับ ในแดนสุขาวดีโน่น ที่ดับไปเป็นเพียงการดับของกายเนื้อเท่านั้น

        เห็นไหมครับว่า แม้แต่ 'นิพพาน' ในพุทธคนละนิกายนี่ยังมีการตีความแตกต่างกันเลย!

        เรื่อง 'ความจริงของพระพุทธเจ้า' นี่น่าสนใจเช่นกันครับ สมมตินะครับว่า มีคนตีความ 'ความจริงของพระพุทธเจ้า' ไปอีกแบบ แล้วปรากฏว่าในยุคสมัยนั้น มีคนเชื่อถือมากมาย....เราจะทำอย่างไร & ที่สำคัญ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรคือ 'ความจริงของพระพุทธเจ้า' ที่ไม่ได้ผ่านการตีความตามนิกาย สำนัก หรืออาจารย์ต่างๆ?

ผมก็ขอขอบคุณทุกคนนะครับ ที่แสดงความคิดเห็นของแต่ละคนออกมา

อย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่ายังมีแนวคิดที่เราคิดไม่ถึงหรือมีความรู้ไม่ถึงอีกมากมาย

ดีแล้วครับที่เห็นต่างกัน ถ้าเห็นเหมือนกันคงแย่ครับ(โลกยังคงแบนอยู่แน่)

แต่มีสุนทรพจน์นึงที่ผมชอบมาก"เรื่องที่คุณไม่รู้ มันไม่ได้สร้างปัญหา แต่เรื่องที่คุณรู้แต่จริงต่างหาก ที่มันสร้างมันปัญหา"

(แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าเรารู้จริงแล้ว???)

สวัสดีครับ

        ไม่แน่ใจเหมือนกันครับสำหรับข้อความนี้

            "เรื่องที่คุณไม่รู้ มันไม่ได้สร้างปัญหา แต่เรื่องที่คุณรู้แต่จริงต่างหาก ที่มันสร้างมันปัญหา"

        แต่ที่ผมเชื่อและเห็นตัวอย่างมาพอสมควรก็คือแบบนี้ครับ

            "เรื่องที่ (ใครก็ตาม) รู้ไม่จริง แต่คิดว่ารู้จริง มักจะสร้างปัญหาเสมอๆ"

       นะครับ...

..พื้นผิวทะเล ยามสงบ ก็ดูสดใสน่าลงไปเล่น..เมื่อได้สำลักน้ำเค็ม ก็อาจฉุนเฉียวบ้าง..มองลงไปในน้ำใส เห็นปลาน้อยน่ารัก..แต่เมื่อสัมผัส แมงกะพรุน โอ้ช่างปวดแสบร้อน..เมื่อดำดิ่งลงสู่พื้นทราย เห็นหมู่ปะการังและสัตว์เล็กๆ สีสดสวย..แต่หากเจอเอาปลาฉลามเข้าเราจะทำงัยดี..นี่ มิพักต้องพูดถึงยามทะเลมีคลื่นใหญ่เยี่ยงสึมามิ..โอ้ย..คิดแล้วไม่อยากไปเที่ยวทะเล เลย..แต่ การเรียนรู้..คืออะไร?..ความเป็นจริง และเหตุผล เป็นเช่นไร?..ชีวิตเล่า คืออะไร?..วิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์เล่า มีประโยชน์ หรือโทษอย่างไรแน่?..ว้า...........คิดแล้วปวดหัว มี...ดีกว่า!!....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท