สัมภาษณ์ : กาย-ใจ - ชวนคิดเรื่องไอน์สไตน์


 


บทสัมภาษณ์ ชวนคิดเรื่องไอน์สไตน์ ต่อไปนี้

เกิดจากการที่ในปัจจุบันมีการนำวิทยาศาสตร์ไปเทียบเคียงกับศาสนา

(โดยมักจะมี ไอน์สไตน์ (Einstein) เป็นสัญลักษณ์แทนวิทยาศาสตร์ยุคใหม่)

อย่างไรก็ดี เนื่องจากประเด็น วิทยาศาสตร์ vs ศาสนา นี้มีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนมาก

จึงทำให้บ่อยครั้งที่เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

โดยเฉพาะแนวคิดและทฤษฎีต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกบิดเบือนไป บ้างก็แนบเนียนบ้าง บ้างก็เห็นความผิดเพี้ยนได้ชัดเจน

 

ผมจึงได้แสดงความคิดเห็นผ่าน นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน 2551 ในเซ็คชั่น กายใจ

ดังที่ปรากฏในบันทึกชุดนี้

 

สำหรับรายละเอียดอื่นๆ ที่อ้างถึง และที่หลายท่านอาจจะยังสงสัยนั้น

ผมจะหาโอกาสนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้ง GotoKnow ในโอกาสต่อไปครับ


 

ที่มา : นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน 2551 เซ็คชั่น กายใจ

URL : http://www.bangkokbiznews.com/bodyheart

URL : http://bangkokbiznews.com/bodyheart/20080404/news.php?news=column_26260947.php



บัญชา ธนบุญสมบัติ ชวนคิดเรื่อง ไอน์สไตน์

เรื่อง : เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ
ภาพ : ธัชดล ปัญญาพานิชกุล

การนำทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์มาเทียบเคียงกับศาสนา บางเรื่องราวมีการนำมาใช้ถูกต้องหรือไม่ เรื่องนี้น่าไตร่ตรอง
นี่เป็นอีกมุมมองความคิดของนักวิทยาศาสตร์ที่เขียนเรื่องแนววิทยาศาสตร์และอารยธรรม



ถ้าจะคุยเรื่องวิทยาศาสตร์หลากมุมมองเพื่อเชื่อมโยงในหลายๆ เรื่องทั้งเรื่องศาสนา หรือเรื่องใดก็ตาม
ก็ต้องเข้าใจหลักการให้ถูกต้อง และมีคำถามมากมายชวนให้เราคิดอย่างมีเหตุและผล
ไม่เช่นนั้นแนวทางวิทยาศาสตร์อาจเป็นได้แค่การรับใช้การตลาด หรือนำไปใช้สู่ความเชื่อบางอย่าง โดยมิได้ไตร่ตรอง

แม้นักเขียนบางคนจะบอกว่า ธรรมะพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ แต่นักวิชาการบางคนกลับบอกว่า ให้ยั้งคิดสักนิด
ถ้าจะสื่อสารเรื่องแบบนี้ต้องเข้าใจวิทยาศาสตร์ให้แตกฉานและรู้จริง ไม่เช่นนั้นอาจไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาเชิงปัญญาอย่างแท้จริง


เรื่องนี้จึงต้องไปถามผู้รู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้วิเคราะห์วิจารณ์...

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิชาการจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
เป็นคนหนึ่งที่สนใจศึกษาเรื่องวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง และพยายามโยงกับศาสตร์หลายๆ เรื่อง
เขามีผลงานหนังสือแนววิทยาศาสตร์ ทั้งแนวลึกและแนวเข้าใจง่ายๆ ไม่ซับซ้อนจนเกินไป
และพยายามทำความเข้าใจกับสังคมในมิติอื่นๆ ด้วย
และต่อไปนี้คือ แง่คิดเพื่อสร้างความเข้าใจในบางเรื่องระหว่างวิทยาศาสตร์และศาสนา
เพื่อให้เกิดวิวาทะทางปัญญา และนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น



+การนำแนวคิดวิทยาศาสตร์มาอธิบายศาสนา หรือเรื่องทางจิตวิญญาณ อาจารย์มีความคิดเห็นเรื่องนี้อย่างไรคะ

ทั้งสองเรื่องคือ วิทยาศาสตร์และศาสนา ต่างก็มีความละเอียดอ่อนและลึกซึ้งทั้งคู่
ถ้าจะนำมาเปรียบเทียบกัน ก็ต้องเข้าใจทั้งสองเรื่องนี้อย่างถูกต้อง

อย่างหนังสือเรื่อง ‘พุทธศาสนา ในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์’ ของท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) ซึ่งสมณศักดิ์ในขณะเขียนหนังสือคือ พระเทพเวที ก็เป็นหนังสือที่เขียนได้อย่างมีเหตุมีผล มีข้อมูลถูกต้อง นำเสนอข้อเท็จจริงอย่างเป็นกลางและรอบด้าน เพราะท่านมีความเป็นปราชญ์ เป็นนักวิชาการ และยังมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่น่านำไปคิดต่ออีก


  

หนังสือลักษณะนี้ผมอ่านแล้ว ก็เกิดศรัทธาครับ


อย่างไรก็ดี ถ้าเข้าใจวิทยาศาสตร์หรือศาสนาด้านใดด้านหนึ่งคลาดเคลื่อนไปมาก ก็ย่อมจะทำให้การเปรียบเทียบเกิดปัญหาความผิดเพี้ยนได้ ซึ่งหากผู้รู้มาพบเข้า ก็จะทำให้ความน่าเชื่อถือในการนำเสนอลดลงไป ถ้าผิดมาก ความน่าเชื่อถือก็ลดลงไปมากด้วย

ตัวอย่างที่เห็นกันในขณะนี้ก็คือ "ข้าพเจ้า (หมายถึง ผู้ที่นำวิทยาศาสตร์มาเทียบกับศาสนา โดยที่พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์อาจจะยังไม่แข็งแรงพอ) เป็นคนที่ใฝ่รู้ จึงได้พยายามศึกษาวิทยาศาสตร์จากแหล่งข้อมูลต่างๆ พออ่านไปถึงระดับหนึ่ง ก็เกิดความเข้าใจ สามารถเชื่อมโยงกับความเชื่อทางศาสนาและจิตวิญาณได้อย่างมีเหตุมีผล"

ผมมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการศึกษาวิทยาศาสตร์ หรือเรื่องใดๆ ก็ตาม โดยการอ่านอย่างนี้ครับ

คือหนังสือหรือแหล่งข้อมูลมีหลายระดับ ถ้าเป็นพวกมืออาชีพ คือ คนที่ร่ำเรียนมาทางนี้โดยตรง ก็จะอ่านจากตำราหรือบทความวิชาการลึกๆ ซึ่งเข้าใจได้ยาก เพราะเอกสารพวกนี้จะเขียนอย่างแม่นยำและรัดกุม เช่น มีสูตร มีสมการ มีผลการทดลองยุบยั่บ



        

ตัวอย่างหนังสือแนว Popular Science ชั้นดี (อ่านสนุก & ข้อมูลถูกต้อง) ในความคิดเห็นของผม


 
แต่สำหรับคนทั่วไป ก็จะอ่านจากหนังสือแนววิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า Popular Science ซึ่งผู้เขียนจะพยายามสื่อสารเรื่องออกไปในวงกว้าง โดยนำเสนอและใช้ศัพท์แสงต่างๆ ให้ง่ายขึ้น ไม่ค่อยมีสูตรสมการที่แม่นยำ เรียกว่าการทำให้เรื่องง่าย (simplification) หนังสือแนวนี้หากเขียนได้ดี ก็จะเป็นประโยชน์ต่อคนที่สนใจอย่างยิ่ง

แต่ในข้อดีของหนังสือที่อ่านได้ง่ายนี้ก็มีจุดเสี่ยงแฝงอยู่ นั่นก็คือ บางครั้งผู้เขียนทำให้เรื่องง่ายเกินไป (oversimplification) ทำให้ผู้รับสารคิดว่าเข้าใจ แต่จริงๆ แล้วเป็นความเข้าใจอย่างหยาบมากๆ เท่านั้น หรือถ้าลงลึกไปในรายละเอียดแล้ว ข้อสรุปที่คิดว่าใช้ได้ อาจจะใช้ไม่ได้ เนื่องจากอยู่นอกเงื่อนไขที่กำหนด

ผลก็คือ มีการนำข้อมูลหรือข้อสรุปบางอย่างไปสนับสนุนความเชื่อโดยละเลยเงื่อนไขที่ใช้ได้ ส่วนข้อมูลที่ขัดแย้งอาจจะละเลยไม่กล่าวถึง

อย่างนี้ถ้าเรารู้เท่าทัน ก็จะทำให้เสียศรัทธาได้ แต่ถ้าไม่รู้เท่าทัน ก็อาจจะเชื่อ ไม่เชื่อ หรือเฉยๆ

พุทธศาสนาก็เน้นเรื่องสัมมาทิฐินะครับ

* โปรดติดตามตอนต่อไป


 

* ต่อจากตอนที่แล้ว : "พุทธศาสนาก็เน้นเรื่องสัมมาทิฐินะครับ..."


+มีนักเขียนจำนวนมากนำแนวคิด และทฤษฎีของคนดังอย่างไอน์สไตน์ มาเทียบเคียงในหลายๆ เรื่อง ทั้งเรื่องการศึกษาสมองและศาสนา อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไร

ไอน์สไตน์ไม่ใช่แค่โลโก้ทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ดูเหมือนเป็นโลโก้ความฉลาดของมนุษย์ในแง่สติปัญญาทางโลกอีกด้วย



จริงๆ แล้วคนทั่วไปคงไม่รู้ว่า ไอน์สไตน์ฉลาดยังไง ทำไมถึงยกย่องกันนัก ถ้าพูดแบบคร่าวๆ ก็คือ ในเรื่องทฤษฎีทางฟิสิกส์ที่เขาคิดขึ้นมีความลึกซึ้ง เพราะสามารถเปลี่ยนวิธีคิดของเพื่อนนักวิทยาศาสตร์ร่วมสมัย แล้วต่อมาผลการทำนายจากทฤษฎี ก็ได้รับการทดสอบว่าถูกต้องภายใต้กรอบเงื่อนไขของทฤษฎี แม้เดี๋ยวนี้ก็ยังมีการทดสอบทฤษฎีบางแง่มุมอยู่

+อธิบายความฉลาดของไอน์สไตน์เพิ่มเติมได้ไหมคะ

ผมขอใช้การเปรียบเทียบนะ คือ สมัยหนึ่งมีคนเชื่อว่าโลกแบน แต่ก็มีบางคนสังเกตว่า ดวงดาวบนท้องฟ้า ดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ต่างก็กลม แล้วทำไมโลกต้องแบน เมื่อราวสองพันปีก่อน มีนักปราชญ์กรีกคนหนึ่งชื่อ เอราทอสเทนีส เป็นบรรณารักษ์ของห้องสมุดแห่งเมืองอะเล็กซานเดรีย



คนนี้รอบรู้สารพัดทั้งประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์ ปรัชญา ฯลฯ เขาศึกษามาก ใช้ความคิดมาก แต่ที่สำคัญด้วยก็คือ ช่างสังเกต เขาพบว่า ในวันที่ 21 มิถุนายนของทุกปี เวลาเที่ยง หากมองลงไปในบ่อน้ำของเมืองไซอีน จะเห็นภาพดวงอาทิตย์อยู่ก้นบ่อพอดี หมายความว่า ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับผิวโลกที่นี่ แต่วันและเวลาเดียวกันนี้ ที่เมืองอะเล็กซานเดรีย ถ้าเอาไม้ไปปักตั้งฉากกับพื้น จะพบว่าไม้ยังมีเงาอยู่

แบบนี้เป็นไปได้ 2 อย่างครับ

อย่างแรกคือ ถ้าโลกแบน ก็แสดงว่าดวงอาทิตย์อยู่ใกล้โลกมาก


 

แต่อย่างที่สองคือ ถ้าพื้นผิวโลกโค้ง คือ โลกกลม ก็เป็นไปได้เช่นกัน และด้วยการจัดการเพิ่มเติมอีกนิด เขาก็สามารถประมาณขนาดของโลกได้ ไอน์สไตน์ก็คล้ายๆ กับเอราทอสเทนีสนี่แหละ คือ เข้าใจได้ลึกกว่าคนทั่วไป มีมุมมองที่แตกต่าง แต่ได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้องในเวลาต่อมา

+การนำทฤษฎีสัมพันธภาพมาใช้ ต้องทำความเข้าใจอย่างไรคะ

ถ้าจะนำมาใช้ ต้องเข้าใจเงื่อนไขการใช้งานจริงๆ อย่างเช่นเรื่องเวลาตามทฤษฎีสัมพัทธภาพที่มักจะอ้างถึงบ่อยๆ นั่นแหละ ยกตัวอย่างนะ อย่างทฤษฎีสัมพัทธภาพบอกว่า ตอนที่คุณกับผมนั่งอยู่ด้วยกันนี่ เวลาของเราผ่านไปด้วยอัตราเดียวกัน แต่ถ้าผมเดินทางไปกับจรวดอัตราเร็วสูง แล้วคุณยังอยู่ที่เดิม สิ่งที่เกิดขึ้นจะน่าสนใจ นั่นคือ คุณจะสังเกตเห็นว่าเวลาของผมเดินช้าลง คือ ผมแก่ช้าลง ในขณะที่เวลาของคุณยังคงเป็นปกติ

แต่จุดน่าสนใจอยู่ตรงนี้ คือ ผมซึ่งอยู่ในจรวด ผมจะบอกว่าเวลาของผมเป็นปกติดี แต่คุณต่างหากที่เคลื่อนที่ห่างจากผมไปด้วยอัตราเร็วสูง นั่นคือ เวลาของคุณเดินช้ากว่าเวลาของผม คุณแก่ช้ากว่า นี่คือ สัมพัทธภาพ (relativity) ไง คือ แต่ละคนมีกรอบอ้างอิงเรื่องเวลาของตนเอง ฟังแล้วแปลก และอาจจะน่าตื่นเต้นสำหรับหลายๆ คน


ภาพแสดงแนวคิดเรื่อง สัมพัทธภาพ (relativity) และความไม่แปรเปลี่ยน (invariance)

  

ซ้าย : คนที่อยู่บนถนนจะสังเกตเห็นรถจักรยานและคนขี่ที่เคลื่อนที่ผ่านไปหดสั้นลงในทิศทางการเคลื่อนที่
ขวา : แต่ในมุมมองของคนขี่จักรยาน เขาและจักรยานยังเป็นปกติดี (ไม่มีอะไรหด!) แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเขาต่างหาที่หดสั้นลง

แต่ทุกๆ คนจะบอกว่าแสงมีอัตราเร็วเท่ากันทั้งหมด และกฎทางฟิสิกส์มีรูปแบบเดียวกัน (นี่คือ ความไม่แปรเปลี่ยน)




แต่นี่ไม่ใช่จุดสำคัญที่สุดของทฤษฎีสัมพัทธภาพ!

เพราะว่าตามทฤษฎีนี้ แม้เราสองคน หรือใครๆ ก็ตามจะวัดเวลาที่ผ่านไปได้ต่างกัน แต่จะมีหลายสิ่งหลายอย่างเหมือนกัน เช่น ทุกคนวัดอัตราเร็วของแสงได้เท่ากัน ทุกคนใช้กฎทางฟิสิกส์ในรูปแบบเดียวกัน และปริมาณบางอย่างนั้น ไม่ว่าใครไปวัด ก็จะได้เท่าๆ กัน นี่คือ ความไม่แปรเปลี่ยน หรือ อินแวเรียนซ์ (invariance) ซึ่งเป็นอีกแง่มุมหนึ่งของทฤษฎีสัมพัทธภาพที่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง

อย่างไรก็ดี ผมเขียนอธิบายเรื่องนี้ไว้แล้วนะในหนังสือเล่มหนึ่ง หากมีใครสนใจฟิสิกส์ของไอน์สไตน์ และอยากนำไปเทียบเคียงกับศาสนา หรือเรื่องทางจิตวิญญาณ ก็คงต้องไม่ลืมที่จะนำเรื่องความไม่แปรเปลี่ยนนี้ไปใช้ด้วย

แต่ก็อย่างที่ว่าไว้แต่ต้น ต้องเข้าใจให้ดีก่อนนะ ลองปรึกษานักฟิสิกส์ที่เขารู้เรื่องนี้ก็ได้ครับ ไม่งั้นเดี๋ยวผิดเพี้ยนอีก ชื่อทฤษฎีสัมพัทธภาพมันลวงตาน่ะครับ คือมันชวนให้เข้าใจไปว่าทุกสิ่งเป็นสัมพัทธ (relative) คือ แล้วแต่ว่าใครมอง ซึ่งไม่ใช่ เพราะบางอย่างเป็นสัมพัทธ์ บางอย่างเป็นความไม่แปรเปลี่ยน

+แนวคิดบางอย่างของไอน์สไตน์ทำความเข้าใจได้ยาก

ที่ว่าเข้าใจยาก เพราะมันขัดกับสามัญสำนึกของคนทั่วไป อย่างคุณเห็นผมแก่ช้ากว่าคุณ ถ้ามองแบบใช้สามัญสำนึกธรรมดา ผมก็ควรจะต้องเห็นคุณแก่เร็วกว่าผมใช่ไหม แต่ไม่ใช่ครับ ต่างคนต่างบอกว่าตนเองเป็นปกติ คนอื่นเปลี่ยน

+คิดว่า ไอน์สไตน์กับพระพุทธเจ้าเกี่ยวข้องกันไหม

ในทางพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงค้นหาและค้นพบความจริงของชีวิต และค้นพบหนทางดับทุกข์ หัวใจอยู่ตรงนั้น

ส่วนในทางวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าไอน์สไตน์หรือนักวิทยาศาสตร์คนไหน ก็พยายามหาความจริงของธรรมชาติในสาขาที่ตนเองสนใจว่า มีหลักการหรือกฎเกณฑ์อย่างไร ธรรมชาติทำงานอย่างไรครับ บางเรื่องก็อาจจะไปคาบเกี่ยวกับศาสนา เช่น การศึกษาเรื่องจิต แต่มักจะมองคนละมุม

+ในความเห็นของอาจารย์ คิดว่าไอน์สไตน์นั่งสมาธิหรือไม่

ดูตามประวัติน่าจะไม่ ‘นั่งสมาธิ’ ในแง่ที่ว่าฝึกน่ะครับ แต่ไอน์สไตน์มีสมาธิสูงมากในตอนที่ครุ่นคิดในเรื่องต่างๆ ลองไปดูประวัติตอนที่เขาค้นพบหลักแห่งความสมมูล ซึ่งเป็นรากฐานของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปก็ได้ครับ 



 

การ์ตูนแสดงชั่วเวลาขณะที่ไอน์สไตน์ค้นพบ หลักแห่งความสมมูล (Principle of Equivalence)
ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานที่นำไปสู่การพัฒนาทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป (General Relativity)
อันเป็นผลงานที่สำคัญที่สุดในชีวิตของไอน์สไตน์

* โปรดติดตามตอนต่อไป


ต่อจากตอนที่แล้ว : ".แต่ไอน์สไตน์มีสมาธิสูงมากในตอนที่ครุ่นคิดในเรื่องต่างๆ ลองไปดูประวัติตอนที่เขาค้นพบหลักแห่งความสมมูล ซึ่งเป็นรากฐานของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปก็ได้ครับ .."


+ถ้าจะทำความเข้าใจทฤษฎีสัมพัทธภาพ ต้องอ่านแนวคิดของไอน์สไตน์ให้แตก อาจารย์ศึกษาเรื่องนี้แค่ไหน

ผมเรียนฟิสิกส์ครับ คือ เป็นวิชาที่ต้องเรียนอยู่แล้ว ส่วนเมื่อ 3 ปีก่อน ก็เคยเขียนหนังสือไว้ 2 เล่ม เล่มหนึ่งลงลึกพอสมควร เอาแบบแม่นยำ และใช้คณิตศาสตร์ระดับมัธยมปลาย ส่วนอีกเล่มหนึ่งเขียนแบบง่ายหน่อย ร่วมกับอาจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล และอาจารย์ ดร.สุทัศน์ ยกส้าน

 

+ อาจารย์เป็นนักวิทยาศาสตร์ ก็เลยไม่เชื่อเรื่องศาสนา

ถ้าใครได้อ่านข้อเขียนผมช่วงหลังๆ ในเสาร์สวัสดี กรุงเทพธุรกิจ ก็จะรู้ว่า ผมสนใจอารยธรรม โดยเฉพาะทางศาสนา เช่น ฮินดู เชน และโซโรอัสเตอร์

พุทธศาสนาเกิดท่ามกลางวัฒนธรรมพราหมณ์ แต่เป็นพราหมณ์ที่กำลังอยู่ในขาลง มีสำนักคิดต่างๆ มากมาย ลองไปศึกษาดูนะครับ ตอนหลังพราหมณ์ถึงต้องปรับตัวเพื่อสู้กับพุทธและเชน โดยมีวัด เลิกบูชายัญ กลายเป็นฮินดู

ผมคิดว่า เราน่าจะเรียนรู้ศาสนาได้ดีขึ้น หากเข้าใจบริบทของสังคมในขณะหนึ่งๆ ด้วย ไม่ต่างจากการดูคนคนหนึ่งหรือคนกลุ่มหนึ่ง เราคิดว่าดูแบบตรงๆ มิติเดียวไม่ได้หรอกครับ

เช่น เราพูดได้ไหมว่า คนที่อยู่ในป่า ล่าสัตว์เพื่อเป็นอาหารเท่าที่จำเป็นในการดำรงชีวิตนั้นเขาทำ "ผิดศีลธรรม" หรือในทางกลับกัน เรามั่นใจได้ไหมว่า การที่เราไปชี้กุ้งปลาเป็นๆ ในตลาด เพื่อให้แม่ค้าฆ่าแทนให้นั้น เราไม่ได้ทำ "ผิดศีลธรรม" 

นอกจากนี้พุทธศาสนายังมีหลายนิกาย ลองไปดูแนวคิดของมหายาน วัชรยาน หรือมนตรยาน ดูสิครับ เราที่นับถือพุทธเถรวาทอาจจะได้มุมมองที่น่าแปลกใจทีเดียว

+ถ้ามีคนแย้งว่า อาจารย์ศึกษาเรื่องแนวคิดศาสนามากมาย แต่ไม่ได้ปฏิบัติ อาจไม่เข้าใจบางอย่าง จะอธิบายอย่างไรคะ

ท่านพุทธทาสบอกว่า การทำงานคือการปฏิบัติธรรมนะครับ

ที่สำคัญ คือ เรื่องที่คุยกันวันนี้ ผมไม่ได้โจมตีเรื่องศาสนาเลย แต่ประเด็นของผมคือ การนำเอาวิทยาศาสตร์มาเทียบเคียง ไม่ว่าสนับสนุนหรือหักล้างความเชื่อทางศาสนา ถ้าทำได้อย่างถูกต้องถูกหลักวิชาการ ก็จะเกิดความรู้ใหม่ๆ ที่งดงามและทรงพลัง และจะทำให้เกิดศรัทธาต่อทั้งวิทยาศาสตร์และศาสนา เป็นศรัทธาที่รองรับด้วยปัญญา

แต่ถ้านำสิ่งที่ไม่ถูกต้องไปใช้ ก็จะก่อให้เกิดข้อผิดพลาด

ผมยึดหลักกาลามสูตรของพระพุทธองค์นะครับ โดยข้อที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็คือ อย่าด่วนเชื่อเพราะเข้ากับความเห็นของตน ที่บางทีฝรั่งเรียกว่า confirmation bias นั่นเอง

+นักฟิสิกส์อย่างอาจารย์เชื่อสิ่งที่มองไม่เห็นไหม

การเห็นมี 2 อย่างหลักๆ นะครับ คือ มีอะไรบางอย่างที่เป็นตัวตนทางกายภาพจริงๆ ซึ่งทุกคนที่มีสายตาปกติจะมองเห็นเหมือนๆ กัน

ส่วนอีกอย่างหนึ่งคือ การที่สมองสร้างภาพนั้นให้เราเห็น เช่น ภาพในความฝัน ภาพหลอนจากการใช้ยาหรือสารเคมีบางอย่าง

ถ้าตอบแบบนักฟิสิกส์ ก็อาจจะแถมด้วยว่า เราก็มองไม่เห็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ไม่ใช่แสง แต่เรามีหลักฐานว่ามันน่าจะมีอยู่จริง และเรานำมันมาใช้งานได้ด้วย เช่น คลื่นวิทยุ คลื่นไมโครเวฟ รังสีเอ็กซ์ เป็นต้น

+มีคนบอกว่า จิตเป็นพลังงานอย่างหนึ่ง อาจารย์คิดว่าเป็นเช่นนั้นไหม

ถ้าเป็นคำพูดทั่วๆ ไปให้ฟังง่ายๆ ก็พอเข้าใจได้

แต่ในทางวิทยาศาสตร์นี่ จิตไม่ใช่พลังงานนะครับ จิตเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากการผุดบังเกิด เป็นสิ่งที่ผุดขึ้นมาจากปฏิกิริยาทางกายภาพ อย่างความเจ็บ ความป่วย การสัมผัสรับรู้รส ก็เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากการผุดบังเกิด [หมายเหตุ : การผุดบังเกิด (emergence) เป็นแนวคิดสำคัญในวิทยาศาสตร์ใหม่แขนงหนึ่งที่มีชื่อว่า ศาสตร์แห่งความซับซ้อน (Science of Complexity)]

+เรื่องการกลับชาติมาเกิด อาจารย์มีความเชื่อเรื่องนี้อย่างไรคะ

เรื่องนี้น่าสนใจ ถ้ามองย้อนเวลากลับไป ก็มาจากศาสนาฮินดู ทางคริสต์ก็ไม่มีเรื่องนี้นะครับ

 

ท่านพุทธทาสตีความคำว่า ‘เกิด’ อีกแบบคือ จิตเกิดดับตลอดเวลา เกิด นี่คือ การเกิดของตัวกู แต่ในสังคมไทย เราพูดเรื่องวิญญาณออกจากร่างไปอยู่อีกที่หนึ่ง ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากฮินดู

นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมอยากย้อนกลับไปดูว่า แนวคิดแบบไหนที่พุทธศาสนารับเข้ามา แล้วมีการตีความใหม่ หรือแนวคิดไหนที่พุทธแตกต่างจากลัทธิความเชื่ออื่นอย่างเด่นชัด

ลองเอาเรื่องนี้ไปคิดเล่นๆ นะครับ ท่านมหาวีระ ซึ่งเป็นศาสดาของศาสนาเชน เมื่อท่านบรรลุไกวัล ทางเชนก็ถือว่าท่านเป็นสัพพัญญู เมื่อตอนดับขันธ์ เราก็ใช้ว่าท่านปรินิพพานเช่นกัน การใช้คำเหล่านี้มาจากผู้รู้ทางศาสนาที่เป็นราชบัณฑิตครับ

  


ขอส่งท้ายว่า ผมมีความเชื่อว่าท่านผู้รู้แต่ละท่าน ที่พยายามเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์เข้ากับศาสนานั้น
แต่ละท่านเป็นผู้มีเมตตาธรรมและสติปัญญาสูงทั้งสิ้น


ดังนั้น หากเราต้องการที่จะทำให้คนไทยได้เรียนรู้
ค่อยๆ ปรับแก้ไขในประเด็นที่ยังคลาดเคลื่อน เน้นแก่นแท้ และมีตัวอย่างที่แม่นยำชัดเจน
จนเกิดสัมมาทิฐิ คือ ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง
ก็จะทำให้เกิดความสุขและภูมิปัญญา ทั้งในระดับปัจเจกและระดับสังคมของเราครับ


หมายเลขบันทึก: 186448เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2008 23:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท