ปลาบึงแก่นนครตาย....สาเหตุจากอะไรกันแน่


การให้อาการปลาที่มากเกินไป อาจทำให้เกิดการบูมของพืชน้ำ จนแย่งอ๊อกซิเจนไปในที่สุด

          ถ้าใครได้มีโอกาสไปเดินบึงแก่นนครอันกว้างใหญ่ไพศาล และเป็นหนึ่งในแลนมาร์คที่สำคัญของจังหวัดขอนแก่นในเวลานี้ ท่าจะได้กลิ่นเหม็นเน่ารุนแรงโชยมาเป็นก้อน ๆ สำหรับผมแล้วมันเหมือนกับตอนที่มีหมาโดนรถชนตายหน้าบ้านแล้วถูกทิ้งไว้สักสามวันไม่มีผิด

          ต้นเหตุแห่งกลิ่นนั้นไม่ใช่ใครอื่น ก็น้องปลาที่เคยแหวกว่ายธาราอยู่ไหว ๆ พากันล้มตายลงพร้อม ๆ กันโดยมิได้นัดหมายเป็นพัน ๆ ตัว (อันที่จริงจะว่าล้มตายมันก็ไม่ถูก มันไม่ได้ล้มอ่ะนะ มันลอยตายต่ะหาก) ตอนที่มันทยอยพากันตายใหม่ ๆ ก็ยังไม่มีอะไรน่าซีเรียสนัก คนที่ไปวิ่งออกกำลังกาย และที่จูงมือกันเดินชมนกชมไม้กระหนุงกระหนิง ก็ต่างชี้ชวนกันดูน้องปลาที่หงายท้องลอยเท้งเต้ง ว่า เออ…ทำไมช่วงนี้ปลามันตายพร้อม ๆ กันตั้งหลายบึงนะ ทั้งบึงแก่นนคร ทั้งบึงพลาญชัยที่ร้อยเอ็ด หรือว่ามันตายประท้วงที่รัฐบาลไม่ยอมทำงาน เอาแต่จะแก้รัฐธรรมนูญ!!!!

          แต่พอมันตายมาก ๆ เข้าจนทะลุเป้าวันละหลายพันตัว ความซีเรียสจึงเริ่มบังเกิด ร้านอาหารที่ตั้งอยู่รายรอบบึงแก่นนครร่วมห้าสิบร้านต่างกุมขมับ เพราะคงไม่มีใครมานั่งดมกลิ่นปลาเน่าเคล้าเสียงดนตรี ถึงแม้ว่าเราจะชอบกินปลาสลิดที่กลิ่นตุ ๆ ก็ตาม แต่กลิ่นมันก็ไม่ได้เหม็นฉุนราวซากศพแบบนี้

          ถ้าเป็นคนตาย ป่านนี้เราคงได้เห็นหมอพรทิพย์มาชันสูตรพลิกศพร่วมกับตำรวจกองปราบไปแล้ว แต่นี่เป็นแค่น้องปลาธรรมดา ทางการจึงได้ส่งท่านรองนายกเทศบาลมาแก้ไขปัญหา ซึ่งจากการสัมภาษณ์ของเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่นรายหนึ่ง ท่านได้ชี้แจ้งถึงสาเหตุการตายหมู่ครั้งนี้ว่า “ปกติแล้ว บึงแก่นนครจะมีการตายของปลาในลักษณะนี้เป็นประจำทุกปีในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน สาเหตุใหญ่ ๆ นั้นมาจากการที่อากาศที่ผิวหน้าของน้ำ มีความกดเปลี่ยนแปลง ทำให้ออกซิเจนละลายออกจากน้ำระเหยสู่อากาศ ทำให้ปลามีเกล็ดจำพวกปลานิล พลาตะเพียน ที่อาศัยอยู่ในผิวน้ำระดับบน ขาดอ๊อกซิเจนจนตายในที่สุด อีกสาเหตุที่สำคัญได้แก่การให้อาหารปลาที่มากเกินไป ทำให้เหลือปุ๋ยอย่างดีให้กับแพลงตอนพืช แพลงตอนพืชพวกนี้จะเจริญเติบโต และแย่งอ๊อกซิเจนจากน้ำไป……”

          ฟังแล้วก็ชวนให้สะกิดใจสงสัยในความน่าเชื่อถือของเหตุผลที่ท่านรองฯ เสนอมาเป็นอย่างยิ่ง อย่ากระนั้นเลย ไปถามในสุดยอดเวบบอร์ดไทยกันดีกว่า ซึ่งสมาชิกห้องหว้ากอในเฉลิมไทยได้ให้ความกระจ่างไว้อีกนิดหน่อย ดังนี้

          เรื่องแพลงตอนพืชนั้นพอจะฟังขึ้น เพราะปกติ แพลงตอนพวกนี้จะอาศัยแสงแดดในการสังเคราะห์อาหาร แล้วปล่อยผลผลิตเป็นอ๊อกซิเจนออกมา ในตอนกลางคืนก็จะใช้อ๊อกซิเจนที่มีอยู่ในการหายใจ มันก็เลยเกิดภาวะสมดุลขึ้นในบึง แต่ว่าในหน้าฝนที่มักจะมีเมฆครึ้มติดต่อกันหลายวัน ทำให้การผลิตอ๊อกซิเจนนั้นลดน้อยถอยกำลังลงไป เหลือแต่การใช้ที่เพิ่มมากขึ้น ทีนี้เมื่อทั้งปลา ทั้งแพลงตอนพืชแย่งกันสูบอ๊อกซิเจนไปขนาดนั้น….มันจะไหวหรือ ก็ต้องตายตกกันไปข้าง โดยไม่ต้องใช้กำลังตำรวจหรือทหารแต่อย่างใด 
          ส่วนเรื่องความกดอากาศที่ผิวหน้านั้น ออกจะได้รับความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าเป็นไปได้ยาก แต่ก็ไม่มีใครออกมาให้เหตุผลว่าทำไมถึงคิดว่าเป็นไปได้ยาก อาจเป็นเพราะมันเป็นเรื่องยาก ๆ หรือเปล่า
แต่ก็มีบางคนได้เขียนความสัมพันธ์ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

อาหารปลามากเน่า >>ออกซิเจนน้อย >> พืชน้ำตาย >> น้ำเสีย >> ปลาตาย >> พอตายไปตัว >> เน่าน้ำก็เสียเพิ่ม >> ก็ตายเพิ่ม

          ซึ่งจะเห็นว่าการที่อาหารปลาเน่า นั้นก็มาจากการย่อยสลายของแบคทีเรีย ที่ต้องใช้อ๊อกซินเจนไปในกระบวนการนั่นเอง

          วิธีการแก้ไขที่ดีที่สุดที่ข้าพเจ้าพอจะรู้จากการเล่าเรียนมาก็คือ ต้องกำจัดปลาที่ตายออกไปจากบึงก่อน เพราะถ้าปล่อยให้ซากมันลอยอยู่อย่างนั้น ก็ต้องเกิดกระบวนการย่อยสลายโดยแบคทีเรีย อ๊อกซิเจนก็จะลดน้อยลงไปอีก และเมื่อกำจัดซากออกไปแล้ว ต้องหาเครื่องเติมอากาศมาเพิ่มโดยด่วน เพราะเท่าที่เห็นมีกังหันชัยพัฒนาลอยเท้งเต้งอยู่แค่สองเครื่อง แถมยังไม่เปิดอีกต่างหาก

ไม่ใช่มีแต่คนหรอกนะที่จมน้ำตาย ปลาก็ยังไม่เหลือ

หมายเลขบันทึก: 186127เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2008 14:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

วันสิ่งแวดล้อมโลก : 5 มิถุนายน ของทุกปี

3331

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท