วิถีแห่งปราชญ์ : ๒.เป็นพระต้องมีปฏิสันถาร


 ๑.  เป็นพระต้องมีปฏิสันถาร

      ท่านเจ้าคุณฯ เคยเล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า  ท่านมีธรรมชาติเป็นคนเก็บตัว  ไม่ชอบออกงาน  ไม่ชอบพิธีการทางสังคม  ชอบศึกษาค้นคว้างานด้านวิชาการ  และงานที่คิดจะทำก็มากมาย  เวลาทำงาน  มีความสุขและมีสมาธิดี  ตามปกติไม่อยากพบปะพูดคุยกับใคร  ยิ่งในวัยหนุ่ม  ท่านจะพูดน้อยมาก  น้อยกว่าเมื่อมีอายุมากขึ้น

     แต่หลังจากท่านเขียนหนังสือ พุทธธรรม ฉบับขยายความ จบ  และหนังสือได้เผยแพร่ออกไปเป็นที่รู้จักและยอมรับกันในสังคม  เริ่มมีแขกมาพบท่านที่กุฏิมากขึ้นทุกที  เมื่อมีแขกมาหา  ท่านจะต้อนรับแขกอย่างดี  ด้วยอัธยาศัยอันงามประกอบด้วยเมตตากรุณา  ใครมีปัญหาอะไรมาถาม  ท่านก็จะตอบอย่างละเอียดลออทุกแง่ทุกมุม  จนทุกคนหมดสงสัยกันเลยทีเดียว  บรรดาแขกที่มาพบท่านจะรู้สึกสบายใจจนลืมเวลา  มานั่งกันนานๆ  บางทีอยู่กันถึง ๕-๖ ชั่วโมง  กว่าจะกลับกันดึกๆ ดื่นๆ ถึงห้าทุ่ม สองยามก็มี

     พอแขกกลับไปแล้ว  ถ้าเป็นช่วงที่กำลังอาพาธ  ท่านจะลงนอนเพื่อพักร่างกาย  ถ้าร่างกายพอไปได้  ท่านก็จะหยิบงานออกมาทำต่อ  กว่าจะได้จำวัดพักผ่อน  เวลาก็ล่วงเลยเข้าสู่วันใหม่  ถ้าวันไหนมีงานเร่ง  บางทีอยู่ถึงเช้า

     ศิษย์คนหนึ่งทนเห็นสภาพนี้มาได้ระยะหนึ่ง  รู้สึกหงุดหงิดเพราะสงสารท่าน  เกรงว่าถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้เรื่อยไป  สักวันท่านคงจะทรุดแน่  เพราะใช้ร่างกายหักโหมจนเกินไป

    วันหนึ่ง  เขาได้ถามท่านว่า “ทำไมท่านเจ้าคุณฯ ไม่บอกพวกแขกว่า ท่านมีงานเร่งรออยู่ หรือท่านกำลังอาพาธ  ให้เขากลับไปก่อน แล้วค่อยมาใหม่ในโอกาสหน้า”

     ท่านเจ้าคุณฯ ตอบด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนว่า “ทำอย่างนั้นไม่ได้  เป็นพระต้องมีปฏิสันถาร”.

 

หมายเหตุ

ปฏิสันถาร คือ การต้อนรับ การรับรอง การทักทายปราศัย  ในที่นี้ท่านหมายถึง ปฏิสันถารคารวตา  

ความเคารพในปฏิสันถาร ข้อ ๖ ในคารวตา ๖ คือ  ความเคารพ การถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะพึงใส่ใจ  และปฏิบัติด้วยความเอื้อเฟื้อ  หรือโดยความหนักแน่นจริงจัง  การมองเห็นคุณค่าและความสำคัญแล้วปฏิบัติต่อบุคคลหรือสิ่งนั้นโดยถูกต้องจริงใจ ได้แก่

๑.    สัตถุคารวตา  ความเคารพในพระศาสดา บางแห่งใช้ว่า พุทธคารวตา (ความเคารพในพระพุทธเจ้า)

๒.    ธัมมคารวตา  ความเคารพในธรรม

๓.    สังฆารวตา  ความเคารพในสงฆ์

๔.   สิกขาคารวตา  ความเคารพในการศึกษา

๕.   อัปปมาทคารวตา  ความเคารพในความไม่ประมาท

๖.    ปฏิสันถารคารวตา  ความเคารพในปฏิสันถาร

ธรรมทั้ง ๖ อย่างนี้  ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแห่งภิกษุ

 

จากหนังสือ วิถีแห่งปราชญ์

ปฏิปทา จริยาวัตร ของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

 

 

หมายเลขบันทึก: 185031เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2008 00:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 11:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท