รับน้อง: คิดกันแบบตื้นๆ อีกแล้ว


รับน้อง เป็นเวทีการสร้างความสัมพันธ์ การสถาปนาอำนาจ อื่นๆ นอกเหนือจาก อำนาจ ระหว่าง คณะ-นักศึกษา เป็นการทำให้น้องเรียนรู้ตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองทั้งในทางกายภาพ และในเชิงอำนาจ

ฤดูกาลรับน้องมาอีกแล้ว

ปีนี้ได้เห็นการรณรงค์แต่ต้นมือ ให้มีการรับน้องอย่าง "มีวัฒนธรรม"

เท่าที่ดูที่ฟังมา หน่วยงานที่ขานรับนั้นมีการตอบสนองในสองรูปแบบ คือ 1.ออกประกาศห้าม ต่างๆ นานา และ 2. หน่วยงานของมหาวิทยาลัยลงมา"คุม" ทั้งในรูปแบบรับเหมาทำเองหมด และในรูป จัดอาจารย์มาดูแลเป็นพิเศษ

เหตุการณ์การล่วงละเมิดกับน้องใหม่ ในหลายๆ ปีที่ผ่านมา มันทำให้มีความหมายเชิงลบ ผูกติดกับคำว่า "รับน้อง" เพราะมันมักจะไปพ่วงกับ การละเล่นบ้าๆ บอๆ ออกไปในทางลามกอนาจาร, การใช้กำลังความรุนแรง, การมึนเมา และการล่วงละเมิดทางเพศ

ในมุมมองที่ผมได้สัมผัสมา ทั้งจากการถูกรับน้อง, การเป็นรุ่นพี่ที่จัดกิจกรรมรับน้องติดต่อกันหลายปี และการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษากิจกรรมรับน้อง ขอโอกาสแก้ภาพลักษณ์การรับน้องสักหน่อยครับ

การรับน้องนั้นเป็นทั้ง พิธีกรรม, กิจกรรม และกระบวนการครับ สิบกว่าปีก่อน "กระบวนการรับน้อง" ที่เราทำกันนั้น ประกอบด้วยหลายกิจกรรม ในแต่ละกิจกรรมก็มีจุดประสงค์เฉพาะแตกต่างกันไป บางกิจกรรม มีเพื่อสร้างความสัมพันธ์ภายในรุ่นของน้องใหม่, บางกิจกรรมเป็นแค่โอกาสที่จะให้พี่ๆ ที่ไม่ค่อยออกมาแรดนอกห้องเรียนได้มาเจอหน้าน้องบ้าง กินข้าวด้วยกัน เที่ยวสนุกด้วยกัน, บางกิจกรรมเป็นการแนะนำการเรียนการสอนในคณะ ใน version unseen เพราะเราบอกเรื่องที่อาจารย์ไม่ได้บอก, บางกิจกรรม, บางกิจกรรมก็เป็นเรื่องการตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตที่จะดำเนินต่อไปในคณะ และชีวิตที่เหลือบ้าง ฯลฯ

"กระบวนการรับน้อง" นั้นจึงมีทั้ง พิธีกรรม และกิจกรรม แต่ทั้งหมดนั้นมุ่งไปที่จุดประสงค์เฉพาะที่คิดกันขึ้นอย่างเป็นขั้นตอน และระมัดระวัง มีทีมงาน มีคนรับผิดชอบ มีการประชุม มีการเตรียมงาน ผลพลอยได้ของมันคือเป็นเวทีการพัฒนาตัวเอง การทำกิจกรรม สำหรับรุ่นพี่ 

โดยสรุป รับน้อง เป็นเวทีการสร้างความสัมพันธ์ การสถาปนาอำนาจ อื่นๆ นอกเหนือจาก อำนาจ ระหว่าง คณะ-นักศึกษา เป็นการทำให้น้องเรียนรู้ตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองทั้งในทางกายภาพ และในเชิงอำนาจ

และ หัวใจ ของการรับน้องคือ พี่ เป็นคนทำ

เพราะ ความเป็นรุ่นพี่ แทนที่ด้วยอำนาจและความสัมพันธ์อย่างอื่นไม่ได้

ผมเลยมองว่า การตอบสนองของมหาวิทยาลัยต่อการรับน้องทั้งแบบ ห้ามทำ  และแบบ มหาวิทยาลัยรับเหมามาทำเอง นั้น มันไม่ใช่การรับน้องครับ

ท่าทีทั้งสองแบบ ล้วนเป็นการ ริบ และเปลี่ยนอำนาจ จากมือรุ่นพี่ มาอยู่ในมือผู้มีอำนาจแบบสถาวรเจ้าเก่าเจ้าประจำ ก็คือ คณะ และมหาวิทยาลัย ผมมองว่า อะไรที่คณะและมหาวิทยาลัยทำนั้น เป็นอย่างมากเป็นได้แค่เพียง พิธีกรรม มันไม่สามารถพัฒนาไปสู่ กระบวนการ ได้

จริงอยู่ครับ การละเมิด การคุกคามทางเพศ สารเสพติด อบายมุข และกิจกรรมที่เสี่ยงต่อสวัสดิภาพของร่างกาย เป็นสิ่งที่ต้องไม่ให้เกิดขึ้นในกระบวนการรับน้อง เพราะมันผิดทั้งศีลธรรม และกฎหมาย และมันต้องเป็นความรับผิดชอบของคณะและมหาวิทยาลัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากเกิดขึ้น

ทำอย่างไรจึงจะให้พี่มีโอกาสได้ทำงานในแบบที่เขาคิดเอง ได้เรียนรู้เอง และไม่เป็นอันตรายต่อน้อง นี่ต่างหากคือความท้าทาย คณะและมหาวิทยาลัย มีกึ๋นแค่ไหน ที่จะเติมคุณธรรม และความคิด ให้กับอำนาจของรุ่นพี่ แทนที่จะริบอำนาจนั้นมาดื้อๆ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 184845เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2008 21:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะอาจารย์

ที่คณะ วจก. มอ. ประมาณสี่ปีที่ผ่านมานี้ก็ยังมีการรับน้องค่ะ และจัดทำขึ้นโดยรุ่นพี่ค่ะโดยคณะให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง แต่เปลี่ยนรูปแบบการปลูกฝังจิตวิญญาณความเป็น "นักศึกษา" จากการว้ากเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษา รุ่นพี่ อาจารย์ และ มหาวิทยาลัยค่ะ

นำมาฝากเป็นข้อมูลต่อยอดนะค่ะ

ขอบพระคุณ อ.จันทวรรณ ที่กรุณาแวะมาให้ความเห็นครับ

การ "เฝ้าระวัง" แต่ ไม่ "ควบคุม" ของคณะ ต่อรุ่นพี่นี่ละครับ เป็นศิลปะอย่างยิ่ง

ผมปรารถนาให้การรับน้องเป็นเวทีของการเรียนรู้ร่วมกันครับ

นั้นหมายถึง มันผิดพลาดได้ แต่มันต้องผ่านการคิด การกลั่นกรองมาอย่างตั้งใจครับ

ขอบคุณสำหรับอีกหนึ่งมุมมองต่อปรากฏการณ์นี้ครับ

http://gotoknow.org/blog/ed-thailandstyle/178534

ขอบพระคุณ คุณ คน(ทำ)งาน ครับ

"ความสมัครใจ" ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งนะครับ

หากกิจกรรมลามกและทารุณต่างๆ เป็นเสมือนพิธีกรรม ผู้สมัครใจเข้าร่วมพิธีกรรมก็มารับเอา "ความเป็นพวกเดียวกัน"

ในบ้านเมืองเราก็มีพิธีกรรมบ้าๆ บอๆ เยอะแยะมากเลยนะครับ แต่ไม่มีใครบังคับ หรือข่มขู่ให้ไปเข้าพิธีกรรมเหล่านั้น

รับน้องก็เหมือนกันครับ ผมเห็นว่าบทบาทของมหาวิทยาลัยอย่างหนึ่งก็คือต้องทำให้ "การร่วมกิจกรรม ต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท