058 สรุปผล....ปรากฏการณ์บุญ ของ Gotoknow อาสาสมัครคนแรกที่กุสินาราคลินิก


เมื่อได้ฟังเสียงภาษาไทย ใจของผู้เขียนก็เปลี่ยนไป มันอบอุ่น เหมือนพบคนที่รู้จัก คนที่น่าจะพูดกันรู้เรื่อง

  เป็นปกติของคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่จะต้องมีสภาวะจิตตก หรือจิตยกระดับกันบ้าง ผู้เขียนเองก็อยู่ทั้งสองสภาวะนั้น สัปดาห์ที่สองในการทำงาน ที่จริงน่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะคำศัพท์ที่ได้จดมาจากพระอาจารย์ ก็มากอยู่ แต่นึกโมโหตัวเอง พอถึงเวลา เข้าไปทักใครในคลินิก ผู้เขียนก็มีอาการนึกไม่ออกว่าควรจะพูดว่าอย่างไร มันลืมไปหมด

  ความรู้สึกท้อแท้ เริ่มเข้ามาตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่ทราบ รู้สึกว่าการต้องอยู่กับคนแปลกหน้า แปลกสถานที่ ต้องใช้กำลังใจสูงมาก นึกถึงงานที่อยากมาทำ ผู้เขียนคงทำไม่ได้ดีนักหรอก ก็แค่จะพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานยังยากขนาดนี้

 แต่ผู้เขียนก็มีสปิริต เข้าไปช่วยคุณหมอตรวจคนไข้เหมือนเดิม แต่กลายเป็นคนพูดน้อยลงไปทุกที เวลาวัดความดัน คุณหมอจะถามค่าที่วัดได้ ก็จะใช้มือแทนคำพูด เช่น ๑๒๐ ก็ใช้มือทำเป็นเลขหนึ่งชูนิ้วชี้ แล้วก็สอง ส่วนเลขศูนย์ก็ใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือจรดกัน

  ใจมันเบื่อๆ อึดอัด และไม่อยากพูด แต่ก็ยิ้มแย้มเหมือนเดิม

ชะรอยคุณหมอจะสังเกตอาการ ที่แย่ลงของผู้เขียน ดังนั้นพอว่างจากตรวจคนไข้ คุณหมอจึงหยิบบันทึก เป็นกระดาษปึกเล็กๆออกมา ในนั้น เป็นการเขียนภาษาอังกฤษทับศัพท์ภาษาไทย แล้วเขาก็เริ่มนำมาสนทนากับผู้เขียนใหม่

เช่น YINDEE TEE DAI POOB คือยินดีที่ได้พบ  และขยายเป็นภาษาอังกฤษอีกว่า very nice to see you และอีกหลายประโยค

เมื่อได้ฟังเสียงภาษาไทย ใจของผู้เขียนก็เปลี่ยนไป มันอบอุ่น เหมือนพบคนที่รู้จัก คนที่น่าจะพูดกันรู้เรื่อง ซึ่งที่จริงแล้ว คุณหมอก็ไม่ได้เข้าใจความหมายทุกประโยคเช่นกัน มาทราบภายหลังว่า มีคนไทยช่วยเขียนประโยคที่น่าจะได้ใช้ เวลาพบคนไทยเอาไว้ให้

  ก็ตามธรรมชาติ เมื่อหลุดจากความเบื่อ ก็กลายเป็นรู้สึกสนุกขึ้นมา ผู้เขียนทดสอบความจำคุณหมอ โดยปิดไม่ให้ดูกระดาษ แล้วให้เขาจำประโยคให้ได้ วันละ ๕ ประโยค พอเช้า ผู้เขียนก็จะทักเขาเป็นภาษาฮินดี เขาก็จะทักเป็นภาษาไทย

  สถานการณืดีขึ้นทันทีวันต่อๆมา เมื่อมาถึงคลินิก ผู้เขียน ก็จะไปยืนต่อหน้าเจ้าหน้าที่ แล้วก็พูดประโยคที่เตรียมมา ทุกวัน ได้รับความร่วมมือ ทักทายกันใหญ่ รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง แต่ก็เริ่มมีความสุขขึ้น

  การเข้ามาช่วยงานในคลินิก และได้ทำงานตามที่ตั้งใจ ก็เริ่มสัมฤทธิ์ผล ผู้เขียนทำตัวเหมือนดูแลคนไข้ที่สถานีอนามัยตนเอง ยิ้มแย้ม เชื้อเชิญ และเมื่อคุณหมอสั่งให้ตรวจอะไร ก็ทำด้วยความเต็มใจ เมื่อไม่แน่ใจ ก็มีการช่วยกันตรวจซ้ำ และช่วยดูระบบร่างกายอื่นๆให้ด้วย เช่นเป็นไข้มา ถ้ามีผื่นคัน ฯลฯ ก็จะช่วยดูให้ คนไข้ที่เป็นผู้หญิง ก็ดูจะพอใจ ไม่เขินอาย เวลาหมอตรวจร่างกาย

  กว่าจะผ่านพ้นสภาวะกดดันมาได้ ผู้เขียนยอมรับว่า การให้กำลังใจตนเองสำคัญ อย่ายอมแพ้ หยุดเพื่อตั้งหลัก แต่ไม่ถอย การไปสร้างบารมีครั้งนี้ เป็นฉากการผจญภัยสำหรับผู้เขียนด้วย ต้องต่อสู้กับตนเองตลอดเวลา ไม่สามารถบอกใครได้

 ที่ต้องบันทึกละเอียด เพราะต้องการให้เห็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้น การจัดการ และให้เห็นถึงสิ่งที่เป็นอุปสรรคและการแก้ปัญหา เมื่อต้องตกอยูในสภาวะ ที่หลายคนก็อาจมีโอกาสเผชิญ แต่วิธีการนั้น ก็แค่พอเป็นประสบการณ์เรียนรู้ อาจใช้ไม่ได้ทั้งหมดที่กล่าวมา

    สัปดาห์ที่สอง สัปดาห์แห่งความเข้าใจ เรียนรู้ที่จะสานฝันของตัวเองให้สำเร็จ เรียนรู้ที่จะจัดการความท้อแท้ ขณะจิตตก จนได้รับความเข้มแข็งกลับมา

เมื่อจิตแจ่มใส ความคิดดีๆก็กลับคืนมา

หมายเลขบันทึก: 184582เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2008 16:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ

อ่านแล้วดูสนุกดีนะคะ

อยากไปเป็นอาสาสมัครบ้างแล้วซี

สวัสดีค่ะ

ป้าแดงพูดจริงใช่ไหม ไปเถอะค่ะ จะได้ช่วยกันยืนยันสิ่งที่ได้พบเห็น ให้พี่น้องเราทราบกัน ป้าแดงไปได้สักกี่เดือนล่ะคะ จะได้แจ้งทางวัดให้ค่ะ ดีจังเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท