คนญี่ปุ่น...เขาเลี้ยงลูกกันอย่างไร


ละอายต่อความผิดพลาดและการทำผิดของตน ( felling of shame for moral transgression )

คนญี่ปุ่น...เขาเลี้ยงลูกกันอย่างไร

ประเทศมหัศจรรย์

รู้สึกแปลกใจและทึ่งเหมือนผมไหมครับ เวลาเราพูดถึงประเทศมหัศจรรย์ประเทศหนึ่งซึ่งเป็นประเทศที่แพ้สงครามโลกครั้งที่2 อย่างยับเยิน โดนระเบิดปรมาณูถึง2 ลูก บ้านเมืองและเศรษฐกิจพังพินาศ แต่ปัจจุบันประเทศนี้กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วและเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีรายได้ประชาชาติ ( GDP. ) สูงเป็นอันดับ2 ของโลก เป็นรองแต่เพียงประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

ทราบแล้วใช่ไหมครับว่าประเทศนั้นคือประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง ผมเคยสนใจเก็บข้อมูลเรื่องนี้มานานแล้วครับว่าคนญี่ปุ่นนั้นเขาเลี้ยงลูกอย่างไร หรือเขามีลักษณะพิเศษต่างจากชนชาติอื่นอย่างไร ทำไมใช้เวลาเพียง20-30ปี ฟื้นฟูและพัฒนาประเทศได้รวดเร็วขนาดนี้

ทุกวันนี้เราก็ขับรถญี่ปุ่น เครึ่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อีเลคทรอนิค คอมพิวเตอร์มือถือ กล้องดิจิตอลก็ของญี่ปุ่น ร้านอาหารญี่ปุ่นก็ขายดี ร้านขนมญี่ปุ่นก็ขายดี เด็กๆของเราก็ติดภาพยนตร์หรือการ์ตูนญี่ปุ่นกันงอมแงม

ญี่ปุ่นมีอะไรดี เกี่ยวข้องกับเชื้อชาติ วัฒนธรรม ความเชื่อ การเลี้ยงดู และระเบียบวินัยหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าสนใจ

เหตุผลที่ผมต้องมานำเรื่องนี้มาพูดคุยก็เพราะมีแรงจูงใจครับ

คือเมื่อไม่นานมานี้ผมได้มีโอกาสดูแลเด็กญี่ปุ่นคนหนึ่งที่โรงพยาบาลเอกชน เด็กคนนี้เป็นออทิสติกครับ ค่อนข้างซน อยู่ไม่นิ่ง เขาเดินเข้าไปที่อ่างน้ำล้างมือของห้องตรวจโรค ปิดฝาระบายน้ำ แล้วเปิดน้ำเล่นจนเกือบล้น

พอดีคุณแม่ชาวญี่ปุ่นเหลือบไปเห็นเข้า เธอมีท่าทีตกใจและเกรงใจผมมาก รีบพูดขอโทษ " sorry ...sorry ..sorry"

( นึกภาพท่าทาง เวลาเราเห็นคนญี่ปุ่นขอโทษ ในโทรทัศน์ประกอบไปด้วย ) ลักษณะที่แสดงออกบ่งบอกความเกรงใจเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่งเกินกว่าชนชาติ ( ดูเหมือนโอเวอร์ก็ว่าได้ ) แต่เขาไม่ได้แกล้งทำครับ เพราะตรงกับที่พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่โรงพยาบาลบอกเล่าว่าคนไข้ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่น่ารักคือจะมีระเบียบวินัยดีมาก เวลานัดหมายก็มักมาตรงเวลา ถ้าจะผิดนัด หรือติดธุระก็จะโทรศัพท์มาเลื่อนล่วงหน้าพร้อมกับขอโทษ ( ปกติเจ้าหน้าที่ต้องเป็นฝ่ายโทรศัพท์ไปตาม)

 

วินัยของคนในชาติ

วินัยของคนในชาติสะท้อน ออกมาผ่าน วินัยจราจร ใครเคยไปประเทศญี่ปุ่นคง เห็นความมีวินัยของคนญี่ปุ่นที่เข้าแถวรอ ขึ้นรถไฟใต้ดินตรงเส้น ถ้าเราไปออกนอกแถวที่เข้าคิว ( เป็นเส้นด้านข้าง ไม่ใช่ล้ำเข้าเส้นอันตรายหน้าแถวนะครับ ) เราจะถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาเตือนให้อยู่ตรงแถวทันที ทุกคนเข้าแถวตรงเป๊ะ วินัยจราจรบนถนนดี เยื่ยม ไฟเขียวไฟแดงและทางม้าลายของเขาศักดิ์สิทธิมาก ( เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์) ถ้าใครเคยไป..เวลาจะข้ามทางม้าลาย สี่แยกจะเห็นว่าแค่ไฟ เหลืองเท่านั้น ทุกอย่างสงบนิ่ง คือรถจอดสนิท

ต่างจากบ้านเรา ข้ามทางม้าลาย แท้ๆ รถบางคันวิ่งมาไม่ยั้ง แถมยังเปิดไฟ สูง บีบแตร ไล่ ( ถ้าจะ ข้ามถนน ก็ ต้องวัด ดวง วัดใจคนขับ กันหน่อย)

หรือไฟเหลืองก็ หมายถึงให้เหยียบคันเร่ง รีบไปเพื่อให้พ้นไฟแดง ใครหยุดที่ไฟเหลือง อาจถูกคนที่นั่งข้างๆต่อว่าว่า " หยุดทำไม จะบ้าหรือเปล่า ทำไมไม่รีบไป"

ดังนั้น วินัยของคน ใน ชาติเป็นเรื่องดี แน่ ไม่ต้องสงสัย เพราะทำให้คนเราอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสงบสุข

นอกจากนี้เราคง เคยได้ยินกิตติศัพท์ ของคน ญี่ปุ่นใน เรื่อง การเอาจริงเอาจัง ความรับผิดชอบ และความจงรักภักดี ต่อองค์กรและประเทศชาติสูงมาก

ซึ่งมีส่วนทำให้พัฒนาประเทศได้รวดเร็ว

 

ลักษณะพิเศษของครอบครัวญี่ปุ่น

เราคงเคยได้ยินกันมาแล้วว่าครอบครัวญี่ปุ่นนั้นสามีเป็นใหญ่คล้ายสังคมจีน

ผู้ชายนั้นมักมีภาระงานมาก และคนญี่ปุ่นก็เป็นคนเอาจริงเอาจังกับงานมาก หลังเลิกงานแล้วก็จะต้องออกไปสังสรร กับลูกค้าจนดึกดื่น

ดังนั้น ผู้หญิงจึงมีหน้าที่หลักในการดูแลบ้าน สามีและลูก และเป็นเรื่องแปลกที่ผู้หญิงญี่ปุ่นส่วนใหญ่เองก็ยอมรับสภาพนี้ด้วยความเต็มใจ

เคยดูสารคดี เป็นเรื่องของแม่บ้านชาว ญี่ปุ่น ซึ่งมี การศึกษาสูงเป็นเภสัชกร เธอจะทำงานเพียงแค่ช่วงเวลาบ่าย3-4ชั่วโมงเท่านั้น ที่เหลือเธอเอาเวลามาทำ หน้าที่เป็นแม่บ้านหมดอย่างเต็มใจ และตั้งอกตั้งใจ

 

แผ่นดินไหว พายุไต้ฝุ่น และพ่อ

แผ่นดินไหว พายุไต้ฝุ่น และ พ่อ เป็น3 สิ่งที่เด็กญี่ปุ่นกลัวที่สุด

สุภาษิตโบราณของชาวญี่ปุ่นคงพอจะ สะท้อนหน้าที่สำคัญของพ่อได้

ถึงแม้พ่อจะ ไม่ค่อยมี เวลาให้ลูก

แต่ทำหน้าที่สำคัญในการควบคุมกฎเกณฑ์ระเบียบวินัยของลูก

ซึ่งน่าจะมาจากสภาพ สังคมชาวญี่ปุ่น สมัยโบราณ ที่ผู้ชายเป็นผู้นำของสังคม

พ่อบ้านในฐานะเป็นผู้นำของครอบครัว จึงมีบทบาทอย่างมากในการควบคุม กฏเกณฑ์ ระเบียบวินัยในบ้าน จนทำให้ลูกรู้สึกกลัวในฐานะเป็นภัยอันตรายใกล้ตัวที่สุด( ถ้าทำสิ่งไม่ถูกต้อง )

 

ความแตกต่างของคนญี่ปุ่นจากชนชาติอื่น

มีงานศึกษาวิจัยที่น่าสนใจมากเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสังคมและวัฒนธรรมที่มีต่อพฤติกรรมก้าวร้าวของคน ( Landau , 1984 ) และเกี่ยวข้องกับคนเชื้อชาติญี่ปุ่นที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่

เขาทำการศึกษาความเครียดที่เกิดขึ้น

ในสังคมว่าจะสัมพันธ์กับพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงของคนในสังคมหรือไม่ เขาใช้อัตราของครอบครัวที่มีปัญหาหย่าร้างต่อครอบครัวที่ชีวิตสมรสราบรื่นเป็นตัวบอกถึงความเครียดในสังคม

นั่นหมายความว่ายิ่งใน สังคมของประเทศใดมีอัตราที่ว่านี้สูง สภาพครอบครัวย่อมไม่มั่นคง เมื่อคนใน ครอบครัวมีความเครียดก็มีผลทำให้ความเครียดในสังคมสูงตามไปด้วย

จากการศึกษานี้พบว่าประเทศใดที่มีสภาพสังคมที่มีความตึงเครียดสูงก็จะมีอัตราของอาชญากรรมและการทำร้ายผู้อื่นสูงตามไปด้วย อธิบายให้ง่ายๆก็คือเมื่อคนเราเครียด ความก้าวร้าวรุนแรงก็จะพุ่งไปสู่คนอื่น ( ตัวอย่างเช่นสภาพสังคมของคนอเมริกัน ที่มีอัตราการหย่าร้างสูงก็จะมีความก้าวร้าวรุนแรงในสังคมสูง )

จากทั้งหมด12 ประเทศที่ทำการศึกษาพบว่ากฏเกณฑ์นี้ เป็นกับทุกประเทศ ยกเว้นอยู่ประเทศเดียวที่ไม่เป็นไปตามกฏเกณฑ์นี้ คือประเทศญี่ปุ่น

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนญี่ปุ่นไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย เพียงความตึงเครียดในสังคมกลับไปสัมพันธ์กับอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นแทน พูดง่ายๆ อีกครั้งก็คือเมื่อเกิดความตึงเครียดแล้ว แทนที่ ความก้าวร้าวรุนแรงจะพุ่งออกไปโดยการทำร้ายผู้อื่นกลับพุ่งย้อนกลับเข้าหา ตัวเองโดยการฆ่าตัวตายแทน

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่อัตราการฆ่าตัวตายสูงมากติดอันดับโลก เราคงเคยได้ยิน ข่าวเกี่ยวกับนักเรียนมัธยมปลายของญี่ปุ่นที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้แล้วตัดสินใจฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

เขาอธิบายปรากฎการณ์นี้ว่าเกิดขึ้นเพราะวัฒนธรรมของชนชาติญี่ปุ่นมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีสูงมาก มีความละอายต่อความผิดพลาดและการทำผิดของตน ( felling of shame for moral transgression )

 

ฮาราคีรีและกามิกาเซ่

ลองนึกย้อนถึงประวัติศาสตร์ของชนชาติญี่ปุ่นจะเห็นด้วยกับแนวคิดของงานวิจัยที่ได้กล่าวมาแล้ว นั่นคือเรื่องราวของฮาราคีรีและกามิกาเซ่ ในอดีตเวลาซามูไรซึ่งเป็นนักรบของญี่ปุ่นพ่ายแพ้ต่อศัตรู เขาจะทำพิธีฮาราคีรี โดยการใช้มีดคว้านท้องตัวเองเพื่อฆ่าตัวตาย

เพราะละอายต่อความผิดพลาดของตัวเอง ไม่มีหน้า ไม่มีศักดิ์ศรีพอที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นต่อไป และการทำพิธีนี้ก็จะทำให้ซามูไรได้ตายอย่างสมศักดิ์ศรีและได้รับเกียรติอย่างสูง

การฮาราคีรีนี้ไม่เคยพบในชนชาติอื่น

ในสงครามโลกครั้งที่2 ช่วงที่กองทัพญี่ปุ่นกำลังจะพ่ายแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ทหารญี่ปุ่นใช้ปฏิบัติการ

กามิกาเซ่โดยขับเครึ่องบินรบที่สมรรถนะด้อยกว่าพุ่งเข้าชนข้าศึก สร้างความเสียหายให้กองทัพอเมริกันเป็นอย่างมาก เพราะรู้ว่าถ้ารบกันตัวต่อตัวก็แพ้เครื่องบินรบอเมริกันแน่ กามิกาเซ่แสดงออกถึงความกล้าหาญ รักชาติ และเสียสละของคนญี่ปุ่น แต่อย่างไรก็ตามนั่นก็คือรูปแบบหนึ่งของการฆ่าตัวตาย

 

คติสอนใจในภาพยนตร์ญี่ปุ่น

ใครเคยนั่งดูหนังการ์ตูนกับลูกหรือนึกย้อนไปในวัยเด็ก เด็กผู้ชายทุกวันนี้ดูภาพยนตร์หรือการ์ตูนเรื่องเดียวกับที่คุณพ่อดูเมื่อ20-30 ปีก่อน เช่นอุลตราแมน ไอ้มดแดง หน้ากากเสือ หนังการ์ตูน ญี่ปุ่นมักมีคติธรรม สอนใจ

ให้ต่อสู้อดทน ไม่ย่อท้อ ( ถึงแม้ว่าจะเป็นการต่อสู้กับสัตว์ประหลาด ) เช่นช่วงสุดท้ายของแต่ละตอนก็มักจะมีคำพูด ปลุกใจให้ต่อสู้เช่น "สู้ เขาต่อไปไอ้มดแดง ( เพื่อผดุงคุณธรรม)"

นอกจากนี้มักเน้นการยอมลำบาก เสียสละเพื่อส่วนรวม หรือเพื่อเด็กๆ

บางเรื่องเน้นความมุมานะ พากเพียร พยายามในการฝึกฝนเช่นภาพยนตร์ชุดที่เกี่ยวกับกีฬา เช่นเคนโด ว่ายน้ำ วอลเลย์บอล เราจะเห็นภาพของตัว ละครญี่ปุ่นซึ่งไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค

เหตุผลที่ประเทศญี่ปุ่นสร้างภาพยนตร์แบบนี้ก็เพราะมีอยู่ช่วงหนึ่งซึ่งทางญี่ปุ่นต้องการส่งเสริมให้เยาวชนเล่นกีฬาเพื่อแข่งขันในระดับนานาชาติ ซึ่งญี่ปุ่นก็เคยประสบความสำเร็จจนถึงระดับเจ้าเหรียญทองเป็นมหาอำนาจทางกีฬา เช่นการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์และกีฬาโอลิมปิค

ภาพเหล่านี้สะท้อนวัฒนธรรม และชีวิตของคนญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี และเด็กเองก็ ซึมซับวัฒนธรรมเหล่านี้ผ่านสื่อโทรทัศน์เข้าไปโดยไม่รู้ตัว

 

ที่พูดคุยกันมาทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นญี่ปุ่นแล้วดีไปหมดทุกเรื่อง ดีไปหมดทุกคน

แต่กำลังชักชวน คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกมี หลานหันมาควบคุมและสร้างกฏเกณฑ์ระเบียบวินัยให้ลูก ฝึกให้รู้จักรับผิดชอบ และช่วยเหลือตัวเองตามวัย ตลอดจน มีคุณธรรม รู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม

เพราะเป็นเรื่องสำคัญไม่เพียงต่อตัวการดำรงชีวิต การเรียน การทำงานของลูก หลานเท่านั้นแต่สำคัญไปถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข ตลอดจนถึงการพัฒนาประเทศชาติของเราเลย ทีเดียว

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 183895เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2008 14:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 17:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การปลูกฝังเรื่องระเบียบวินัยเป็นประเด็นหนึ่งที่ทางการศึกษาให้ความสำคัญมาก

เมื่อวานผมเพิ่งได้เหนังสือแปล ชื่อ "การสร้างวินัยเชิงบวก"(positive discipline) ของ ดร.โจน อี. เดอร์แรนท์ กำลังอ่านอยู่

เรื่องการฝึกวินัยให้นักเรียนนั้น น่าจะเป็นเรื่องแรก ๆ ที่ครูต้องปลูกฝัง

ปัจจุบันเน้นแต่ "การสอนเนื้อหา" กันมาก เลยละเลยมิติ "การสอนชีวิต" ผมไม่โทษคุณครูหรอกครับ เพราะผมก็ได้รับการพัฒนาแบบนั้นเหมือนกัน

เห็นด้วยกับครูหนุ่มครับ ที่ว่า่ "การสอนเนื้อหา" กันมาก เลยละเลยมิติ "การสอนชีวิต"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท