หมาดมยอ
ชัยพฤกษ์ หมาดมยอ กุสุมาพรรณโญ

สถานีรีไซเคิลในไทเป


เนื่องจากมีคนไทยผู้สนใจในกิจการมูลนิธิจำนวนมากเดินทางไปดูงานมูลนิธิในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นรายละเอียดต่าง ๆ ที่มีผู้เดินทางไปดูงานแล้วนำมาเผยแพร่ สามารถหาอ่านได้จาก gotoknow.org ซึ่งมีผู้มา post ไว้เป็นจำนวนมาก รายงานฉบับนี้จะจับประเด็นที่อาจจะเห็นต่างมุม มองต่างมุม ผนวกกับความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ดังนั้นจึงไม่สามารถยึดถือหรืออ้างอิงได้

วันที่ 5 พฤษภาคม 2551

ศึกษาดูงานสถานีรีไซเคิล

                ต้องบอกกันก่อนว่า มูลนิธิมีกิจการด้านต่าง ๆ ที่ต้องดำเนินงานมากมาย หนึ่งในนั้น คือ การรีไซเคิลขยะเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม การรีไซเคิลจะใช้แรงงานคนทั้งหมด เท่าที่เห็นแรงงานก็คือ อาสามสมัครของมูลนิธินั่นเอง ดังนั้นแรงงานเหล่านี้จึงไม่ได้รับค่าจ้างแต่อย่างใด เป็นการทำด้วยจิตอาสาเพื่อมูลนิธิ และเพื่อท่านธรรมาจารย์

                การได้มาซึ่งขยะที่จะต้องรีไซเคิลนั้น รถของมูลนิธิ (ย้ำว่ารถของมูลนิธิ ไม่ใช่ของเทศบาล) จะตระเวนไปเก็บขยะทุกคืนวันพุธราว ๆ ตี2-3 ขยะที่ชาวบ้านมาทิ้งไว้หน้าบ้านหรือริมถนน และต้องการให้มูลนิธิมาเก็บไปจะต้องบรรจุในถุงที่ไม่ปะปนกับของเทศบาล และเทศบาลก็จะไม่มายุ่งกับถุงขยะมูลนิธิด้วย เพราะเทศบาลจะมาเก็บขยะเฉพาะขยะที่ใส่ในถุงที่รัฐบาลทำขายสำหรับบรรจุขยะเท่านั้น ราคาถุงละ 10+ บาท อาสาสมัครหญิง (ที่นี่เรียกว่า ซือเจะ) คนหนึ่งอายุมากแล้ว เป็นทั้งคนเก็บขยะตอนกลางคืน และมาคัดแยกขยะในเวลากลางวันด้วย (ขยันและอึดจริง ๆ) ในไทเปมีจุดรับขยะประมาณ 40+ จุด แต่ถ้าทั้งประเทศไต้หวันมีถึง 4,600 กว่าจุด ซึ่งต้องอาศัยอาสาสมัครถึง 66,000 คน มาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเก็บขยะเหล่านี้

 

                ขยะชนิดแรกที่เห็นกองพะเนินเทินทึกก็คือ กระดาษ กระดาษที่นี่จะใช้ทุกชนิดให้เป็นประโยชน์ในการรีไซเคิล ยกเว้นกระดาษทิชชู่ ทางมูลนิธิอ้างว่า กระดาษทิชชู่ย่อยสลายได้ง่ายจึงไม่จำเป็นต้องคัดแยก...โถ ๆ ...จะย่อยยากย่อยง่าย กระดาษทิชชู่ก็ไม่น่าคัดแยกด้วยแรงงานคนอยู่แล้ว มันน่าจะผิดหลักสุขอนามัยนะ แถมเรื่องกลิ่นอีกต่างหาก

                ประเด็นคือ กระดาษที่นำมาคัดแยกมีราคาต่างกันเวลานำไปใช้ใหม่หรือนำไปรีไซเคิล กระดาษขาวจะราคาสูง กระดาษสีหรือกระดาษที่พิมพ์ด้วยหมึกแล้วจะราคาต่ำกว่า ดังนั้น หน้าที่ของอาสาสมัครคือคัดแยกและตัดแยกกระดาษ ... ไม่ได้พิมพ์ผิด ... ตัดแยกจริง ๆ อาสาสมัครจะมานั่งตัดกระดาษด้วยกรรไกรออกเป็นส่วน ๆ คือ ส่วนที่ขาวสะอาดก็ตัดแยกออกมา ส่วนที่เลอะหมึกหรือพิมพ์แล้วก็อีกกองนึง กระดาษสีอีกกองนึง กระดาษใช้หน้าเดียวก็จะเอามาใช้อีก กระดาษขาวล้วนบางแผ่นมีรอยทากาว อาสาสมัครก็จะตัดเฉพาะส่วนที่มีรอยกาวออกเท่านั้นจริง ๆ กระดาษกองต่าง ๆ ก็จะแยกนำไปขายหารายได้เข้ามูลนิธิ

                ปัจจุบันมีตัวเลขว่า ตลอดชีวิตคนเราใช้ต้นไม้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปคนละ 60 ต้น ทางมูลนิธิหวังว่าการรีไซเคิลกระดาษจะช่วยลดตัวเลขนี้ลง

                จากนั้นไปดูการแยกขยะอย่างอื่น เช่น ม้วนเทปคาสเซ็ต ม้วนเทปวิดีโอ ซึ่งแยกได้เป็นโลหะ (สกรูเล็ก ๆ ที่ยึดตัวกล่องเทป + ชิ้นทองแดงที่ใช้อ่านเทป) พลาสติก (ตัวกล่องเทป) พลาสติกแข็ง (เฟืองที่กรอเทปเป็นพลาสติกสีขาว ราคาสูงกว่า) ซึ่งอาสาสมัครคนที่ทำนี้คล่องมาก ใช้เวลาไม่ถึงนาทีต่อเทปแต่ละม้วน

 

                ขวดน้ำพลาสติกก็แยกฝาออกจากตัวขวด แยกวงพลาสติกตรงคอขวด ที่เหลือก็ส่งไปโรงงานหลอมใหม่ได้ แต่ต้องทุบให้ขวดแบนเพื่อประหยัดเนื้อที่ในการจัดเก็บ พวกเราได้รับเกียรติช่วยกันเหยียบขวดให้แบน (จริง ๆ กระทืบน่ะ) ฉลากที่ติดมากับขวดไม่ต้องเอาออกเพราะโรงงานหลอมจะจัดการเอง ขวดใสสามารถแยกใยแก้วมาทำผ้าห่มได้ 120 ขวดจะได้ผ้าห่ม 1 ผืน ขวดสีเอาไปทำสายยาง ซิป ผมตุ๊กตาบาร์บี้ เชือกฟาง

                เครื่องใช้ไฟฟ้าสามารถแยกได้เป็นหลายอย่าง โลหะ พลาสติด แผงวงจร IC ฯลฯ สามารถคัดแยกโลหะทองคำ ทองแดง เงินออกจากแผงวงจรได้ด้วยนะ แต่ต้องส่งโรงงานแยก ได้ไม่มากแต่ก็มีราคาดีทีเดียว

 

                สิ่งที่ได้จากสถานีนี้คือ พวกเราได้ความรู้เรื่องการแยกขยะ การใช้จิตอาสารับใช้มูลนิธิ อาสาสมัครได้ทำบุญ สะสมบุญ บางคนหายป่วยจากโรคด้วย มีซือเจะเล่าให้ฟังว่า เคยมีคนเป็น stroke มาทำงานแยกขยะ ทำไปทำมาก็หายจาก stroke กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม ในทางการแพทย์ไม่รู้จะบอกว่ายังไง บางทีการนั่งคัดแยกขยะอาจเป็นการทำกายภาพบำบัดไปในตัวก็ได้ อาสาสมัครชาย (เรียกว่า ซือซรง) คนนึงเคยป่วยหนัก ขณะนอนรักษาในโรงพยาบาลฉือจี้ ก็อธิษฐานว่าถ้าหายจากโรคจะขอช่วยงานมูลนิธิไปตลอด ก็หายเป็นปกติดี ตอนนี้ก็มาช่วยคัดแยกขยะ รายได้ที่ได้จากการขายขยะ ไม่มากไม่มายหรอก แค่เอาไปสร้างสถานีโทรทัศน์ได้! 1 ใน 4 ของงบประมาณที่ใช้สร้างสถานีโทรทัศน์ต้าอ้ายมาจากการขายขยะรีไซเคิล

                มีโรงเรียนมาดูงานเรื่องรีไซเคิลขยะนี้เป็นจำนวนมาก ทางมูลนิธิได้ฝากให้ทุกโรงเรียนที่มาดูงานช่วยปลูกฝังจิตสำนึกนี้ให้เด็ก ๆ ไต้หวันด้วย รวมทั้งการแยกขยะเวลาทิ้งในถัง ของเรามีถังแยกไว้ให้ขยะเต็มช้าลงแค่นั้น พอถังนี้เต็มก็ทิ้งถังข้าง ๆ ต่อ ...

                จากนั้นเดินทางไปสถานีโทรทัศน์ต้าอ้าย

 

คำสำคัญ (Tags): #km9กระโดด#ฉือจี้
หมายเลขบันทึก: 183233เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2008 14:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท