วิถีแห่งสุขภาพที่ดีของ คุณป้าศรีวรรณ


การแปรงฟัน ที่ทำมาตลอดตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งสมัยโน้น บางคนก็ไม่รู้ และไม่ได้แปรงฟันมาสม่ำเสมอ ฟันก็เสียไปเร็ว ... สำหรับลูกหลาน อยากบอกว่า ควรหัดแปรงฟันตั้งแต่เล็กๆ เพื่อให้เป็นนิสัย เพราะจะทำให้ฟันดี และไม่ปวด ...

 

วิถีสู่ ... สุขภาพช่องปาก ที่ดี ของคุณป้าศรีวรรณ

คุณป้าศรีวรรณ... อาหารดี ... คุณป้ารับประทานอาหารได้ทุกประเภท ทั้งผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ นม ขนมปัง อยากกินอะไรก็กิน บางครั้งลูกๆ 5 คน ก็ซื้อมาให้หลายอย่าง ... แต่ไม่ค่อยชอบอาหารรสหวานมาก เพราะกินหวานมากๆ แล้ว กลัวจะอ้วน ... เคยเห็นคนอื่นอ้วน แล้วลดไม่ค่อยลง เคลื่อนไหวไม่สะดวก แม้จะว่ายังหนุ่มๆ ก็ต้องพยุงกันเดิน ดูสุขภาพไม่ดีเลย

คุณป้าเล่าให้ฟังว่า ไม่ได้กินข้าวเป็นอาหารเช้า มาราว 20 กว่าปีแล้ว เพราะเมื่อลูกไปทำงาน ตอนเช้าเขาดื่มกาแฟ กับกินขนมปังกัน ไม่มีใครกินข้าว คุณป้าก็เลยปรับเปลี่ยนไปดื่มนมแอนลีน 1 แก้ว ทุกเช้าแทน โดยผสมไมโล โอวัลติน ลงไป 2 ช้อน เพื่อเพิ่มรสชาติเล็กน้อย เพราะนมแอนลีนจืดมาก กินพร้อมขนมปังแผ่นจืดๆ หรือมีรสออกหวานเล็กน้อย มื้อกลางวันจะรับประทานข้าวเหนียวเป็นหลัก ส่วนมื้อเย็นจะเป็นข้างกล้อง กับข้าว รับประทานได้ทุกอย่าง ซึ่งบางครั้งลูกหลานทำไว้ให้ หรือหาซื้อกับข้าวสำเร็จ เก็บไว้ในตู้เย็น เมื่อจะรับประทาน จะนำมาอุ่นเอง โดยใช้ไมโครเวฟ หรือบางครั้ง คุณป้าอยากรับประทานอะไร ก็จะลงมือทำเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นข้าวพื้นเมือง เช่น แกงบอน ... พวกผัก ไม่ต้องซื้อ เก็บพืชผักสวนครัวที่ปลูกไว้บริเวณบ้าน มาทำเป็นอาหารได้สบาย ซึ่งคุณป้ารับประทานได้ทั้งผักสด ผัดผัก ผักต้ม ... เมื่อกินข้าวแล้ว ส่วนใหญ่ถ้าอยู่ที่บ้าน คุณป้าจะไม่กินขนม และของหวานจัด จะกินผลไม้พวก ลางสาด ลองกอง มะม่วง ทั้งดิบ-สุก ตาม ... ซึ่งผลไม้บางอย่าง เช่น มะม่วง เก็บจากสวนที่ปลูกไว้ มีลูกให้กินตลอดปี แต่ไม่ชอบผลไม้รสหวานจัด เช่น ลำไย ทั้งๆ ที่ปลูก ยกเว้นว่าบางครั้งไปงานข้างนอกบ้าน ก็อาจจะกินขนมไทยๆ เช่น ลอดช่อง

น้ำดื่ม เมื่อเป็นเด็ก ดื่มน้ำจากบ่อบาดาลมาเป็นเวลา 60 ปี หลังจากนั้น เมื่อมีน้ำประปาเข้าหมู่บ้าน ประมาณปี 2522 ก็ใช้เครื่องกรองน้ำ กรองน้ำประปาดื่มแทน

... ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยง ... เรื่องเคี้ยวหมากไม่มี ... มีแต่ช่วงสาวๆ เคยกินเมี่ยง แต่ตอนนี้เลิกแล้ว คุณป้าบอกว่าบ้านนี้ไม่มีหมาก ไม่มีบุหรี่ไว้ต้อนรับ แบบเมืองเหนือ แต่ถ้าใครแวะมาเยี่ยมเยียน จะมีแต่เลี้ยงข้าว เลี้ยงน้ำ และผลไม้เท่านั้น

... ดูแลเพียงพอ ... พอพูดถึงการทำความสะอาดช่องปาก คุณป้าบอกว่า ทำมาสม่ำเสมอ ทุกวัน ... ตั้งแต่สมัยเด็ก ที่ยังไม่มียาสีฟันอื่น นอกจาก วิเศษนิยม รุ่งอรุณ ที่เป็นผงๆ คุณป้าจะใช้นิ้ว จิ้มยาสีฟันถูในปาก แต่เมื่อวัยรุ่นเริ่มมีแปรงสีฟัน จะแปรงฟันโดยใช้แปรงสีฟัน และยาสีฟัน ซึ่งยาสีฟันที่ใช้ในปัจจุบัน จะชอบยี่ห้อดอกบัวคู่ เนื่องจากไม่หวาน แต่ยังต้องตามด้วยยาสีฟันรุ่งอรุณอยู่เสมอ ทั้งเช้า-เย็น ทุกวัน เพราะรู้สึกทำให้เหงือกกระชับ โดยจะบอกลูกซื้อ บางครั้งลูกก็จะซื้อมาให้เอง ... จนถึงทุกวันนี้ คุณป้ายังคง ... แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง เช้า เมื่อตื่นนอน และหลังรับประทานอาหารเย็น ซึ่งถ้าแปรงฟันแล้ว ใครเอาอะไรมาให้หลังแปรงฟัน จะไม่กิน จะบอกว่าแปรงฟันแล้ว จะไม่กินอะไรอีกจนเข้านอน

สุขใจ สุขกาย ... สุขภาพช่องปากดี ...

... ไม่เหงา ... แม้จะอยู่บ้านลำพัง ช่วงกลางวันที่ลูกหลานออกไปทำงาน คุณป้าจะทำงานบ้านบ้าง ดูแลรดน้ำ เก็บผัก ผลไม้ในสวน ซึ่งอยู่ในบริเวณบ้าน เลี้ยงสุนัข 2 ตัว และไก่แจ้ อ่านหนังสือนิตยสาร หรือหนังสือพิมพ์บ้าง ง่วงก็นอน ... ข่าวประกวด 80 ปี ฟัน 20 ซี่ขึ้นไป ก็เห็นลงในไทยรัฐ หลังจากคุณหมอมาติดต่อให้เข้าประกวดไว้แล้ว ยังคุยกับลูกสาว ว่า ... คงเป็นงานเดียวกัน ...

... ใกล้พระธรรม ... ช่วงเช้า ทุกวันพระ คุณป้าจะเดินไปวัด ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน เพื่อฟังเทศน์ ใส่บาตร ก่อนอาหารเช้าเป็นประจำ

... ดำรงศักดิ์ศรี ... เวลาเพื่อนบ้านมีงาน ขึ้นบ้านใหม่ บ้านศพ คุณป้ามักจะถูกเชิญ ไปเป็นหลัก ช่วยจัดแต่งของ ดอกไม้ จัดกรวยตามประเพณีพื้นบ้านเมืองเหนือ ไปเป็นเกียรติ เพราะรู้ประเพณีเก่าแก่

... สุขภาพกายดี ... ในตอนเย็นวันจันทร์ พุธ ศุกร์ จะไปออกกำลังกาย ที่โบสถ์คริสต์ในชุมชน ซึ่งห่างจากบ้าน 1-2 กิโลเมตร โดยลูกจะไปส่งไว้เวลา 17.30 น. แล้วค่อยมารับกลับเวลา 18.30 น. สัปดาห์ละ 3 วัน ซึ่งหน้าโบสถ์จะมีการฉาย VDO ออกกำลัง โดยกลุ่มชมรมผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ประมาณ 20 คน มารวมกันออกกำลัง ซึ่งหมู่บ้านเคยประชุมกัน และเชิญชวนให้ออกกำลังกาย ซึ่งคุณป้าบอกว่า ... ไม่ใช่เต้นแอโรบิคนะ แต่ทำคล้ายๆ แบบจีน ถึง 80 ยังทำไหว เขาทำอะไรก็ทำอย่างนั้น ... ทำเป็นกิจวัตรมา 1 ปีแล้ว โดยคุณป้าเล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า เป็นสมาชิกที่อายุมากที่สุดในกลุ่ม และเมื่อทำเป็นประจำรู้สึกดี ทำแล้วแข้งขามีแรง กล้ามเนื้อแข็งแรง ... เย็นก่อนมานี่ ก็ไปออกกำลังกายมา

ก่อนหน้าจะไปออกกำลังกาย มีอยู่ครั้งหนึ่ง เคยไปตรวจที่โรงพยาบาล เพราะปวดหลัง ปวดแข้ง ปวดขา หมอบอกว่ากระดูกงอ ต้องผ่าตัด เลยรู้สึกกลัว ไม่เข้าใจว่า อยู่ดีๆ ทำไมต้องผ่า เลยไปหาหมอนวด นวด 4-5 ครั้ง ก็ดีขึ้น พอดีที่หมู่บ้านมีออกกำลัง เลยไป ... ดีจริงๆ อาการเจ็บป่วยหายไป ...

สุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคทางระบบ แต่ไม่ได้ตรวจร่างกายประจำ และไม่เคยนอนโรงพยาบาล

... มีความภูมิใจในตนเอง …
เคยเข้าร่วมการประกวดสุขภาพร่างกายทั่วไป และสุขภาพจิต ที่โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ จัดขึ้น มีผู้สูงอายุจาก 75 ตำบล ในเชียงใหม่เข้าประกวด ได้รับรางวัลชนะเลิศ

... สำหรับเรื่องของช่องปาก ... คุณป้ามีความพึงพอใจกับช่องปากของตนเอง ภูมิใจที่ฟันยังแน่น และอยู่ครบ 28 ซี่ ... เคยเจอบางคน อายุ 50-60 ฟันก็หมดปาก ... คิดว่า ช่องปากดี ... น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับสุขภาพร่างกาย คือ ทำให้ทานข้าวได้ ร่างกายแข็งแรง ...
เมื่อถามว่า คิดว่า ทำไมฟันจึงดีมาจนถึงทุกวันนี้ คุณป้าตอบว่า อย่างหนึ่งคงเป็นเรื่องบุญที่มีมาไม่เท่ากัน ร่วมกับการแปรงฟัน ที่ทำมาตลอดตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งสมัยโน้น บางคนก็ไม่รู้ และไม่ได้แปรงฟันมาสม่ำเสมอ ฟันก็เสียไปเร็ว ... สำหรับลูกหลาน อยากบอกว่า ควรหัดแปรงฟันตั้งแต่เล็กๆ เพื่อให้เป็นนิสัย เพราะจะทำให้ฟันดี และไม่ปวด ...

ตอนนี้คุณป้าอายุ 81 ปีแล้วนะคะ (ยังเอ๊าะๆ) เป็นคนเมืองสารภี จังหวัดเชียงใหม่เจ๊า

 

หมายเลขบันทึก: 18300เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2006 07:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

  คุณหมอคะ

          ได้ทราบว่าสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย  มีนักวิชาการที่ทำงานวิชาการและวิจัยด้านสุขภาพ  การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่บ้าน   นอกจากคุณหมอที่มีผลงานด้านสุขภาพช่องปากแล้ว  นักวิชาการท่านอื่นๆที่ทำด้านสุขภาพทั่วไปมีใครบ้างคะ   เนื่องจากมสช.มีโครงการพัฒนาภาคีเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ   ก็อยากให้นักวิชาการมาช่วยกันสังเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อภาคีในเวทีนักวิชาการก่อน  ไม่ทราบว่าควรจะเชิญใครมาบ้าง  จึงขอความเห็นและข้อมูลมาที่คุณหมอค่ะ  ถ้าจะติดต่อมาทางe-mail ก็จะเป็นพระคุณค่ะ

       พ.ญ.ลัดดา

  คุณหมอคะ

          ได้ทราบว่าสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย  มีนักวิชาการที่ทำงานวิชาการและวิจัยด้านสุขภาพ  การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่บ้าน   นอกจากคุณหมอที่มีผลงานด้านสุขภาพช่องปากแล้ว  นักวิชาการท่านอื่นๆที่ทำด้านสุขภาพทั่วไปมีใครบ้างคะ   เนื่องจากมสช.มีโครงการพัฒนาภาคีเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ   ก็อยากให้นักวิชาการมาช่วยกันสังเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อภาคีในเวทีนักวิชาการก่อน  ไม่ทราบว่าควรจะเชิญใครมาบ้าง  จึงขอความเห็นและข้อมูลมาที่คุณหมอค่ะ  ถ้าจะติดต่อมาทางe-mail ก็จะเป็นพระคุณค่ะ  [email protected]

       พ.ญ.ลัดดา

มี ดร.พวงเพ็ญ ที่สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัยค่ะ ส่งข่าวนี้ให้ ดร.พวงเพ็ญทราบทาง mail แล้วค่ะ ถ้าอย่างไรจะติดต่อกับอาจารย์อีกทีนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท