เมื่อฟังข่าวพายุไซโคลนในพม่า และข่าวแผ่นดินไหวในจีน จะมีสองคำที่ได้ยินบ่อยๆ ก็คือ วิบัติภัย และ ภัยพิบัติ ซึ่งทั้งสองคำนี้ น่าจะมีความหมายทำนองเดียวกันในภาษาไทย และลองเปิดพจนานุกรมดู คำทั้งสองนี้ น่าจะมาจากภาษาอังกฤษว่า disaster , calamity หรือ catastrophe
- วิบัติ + ภัย = วิบัติภัย
- ภัย + วิบัติ = ภัยพิบัติ (แปลง ว.แหวน เป็น พ.พาน)
คำว่า วิบัติ เขียนตามบาลีเดิมได้ว่า วิปัตติ ซึ่งแยกศัพท์ออกไปได้ว่า วิ + ปท + ติ ... วิ เป็นอุปสัค บ่งชี้ความหมายว่า วิเศษ, แจ้ง, ต่าง (แต่ในที่นี้ ถือเอาเฉพาะความหมายว่า ต่าง).. ปท เป็นรากศัพท์ ใช้ในความหมายว่า ไป,ถึง ... ส่วน ติ เป็นปัจจัยเพื่อปรุงศัพท์ให้เป็นคำนามเท่านั้น ไม่ได้บ่งชี้ความหมาย... ดังนั้น ความหมายของคำนี้จึงต้องผสมระหว่างความหมายว่า ต่าง (วิ) กับ ไป หรือ ถึง (ปท)
ต่าง + ไป ... ต่างจากการไป ก็คือไม่สามารถไปได้ ต้องหยุดอยู่ที่เดิม นั่นคือ ไม่เจริญ
ต่าง + ถึง ... ต่างจากการถึง ก็คือถอยหลังกลับมา เพราะจะถึงได้ก็ต้องไปข้างหน้า และเมื่อแตกต่างจากการไปข้างหน้า ก็คือการถอยหลังกลับมานั่นเอง
วิบัติ ซึ่งอาจแปลตามอุปสัคและรากศัพท์ตรงตัวว่า ต่างไป หรือ ต่างถึง ข้างต้นนั้น... เราจะรู้สึกว่าไม่ได้ความหมายตามสำนวนไทย ดังนั้น โบราณาจารย์ของไทยจึงเลือกใช้คำว่า เสื่อม มาใช้แทนคำว่า ต่างไป ต่างถึง หรือไม่ก็ใช้ทับศัพท์ว่า วิบัติ
........
ส่วนคำว่า ภัย มาจากรากศัพท์ว่า ภี แปลงสระอี เป็น ย.ยักษ์ จึงกลายเป็น ภยะ หรือ ภัย แปลว่า กลัว ... เมื่อถือเอาตามนัยนี้ ก็จะได้ว่า
- วิบัติภัย = เสื่อม + กลัว ( วิบัติ + ภัย)
- ภัยพิบัติ = กลัว + เสื่อม (ภัย + วิบัติ)
คำทั้งสองนี้ ถ้าตามนัยบาลีก็แปลเหมือนกัน เพียงแต่การเชื่อมศัพท์ที่เรียกว่าสมาสเท่านั้นที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจแปลโดยใจความได้ว่า...
- ความเสื่อมอันน่ากลัว
- สิ่งน่ากลัวอันเกิดจากความเสื่อม
- ฯลฯ
อนึ่ง บางครั้ง อาจมีการเติมคำว่า มหา ซึ่งแปลว่า ใหญ่ หรือ มาก นำหน้า กลายเป็น มหาวิบัติภัย และ มหาภัยพิบัติ .... ก็อาจแปลได้ว่า ความเสื่อมอันน่ากลัวมาก หรือ สิ่งน่ากลัวอันเกิดจากความเสื่อมใหญ่่
............
เฉพาะคำสอนทางพระพุทธศาสนา มีตำนานเรื่องความเสื่อมของโลกไว้บ้างเหมือนกัน ดังคาถาตอนหนึ่งว่า...
- สตฺตสตฺตคฺคินา วารา อฎฺฐเม อฎฺฐโมทกา
- จตุสฎฺฐิ ยทา ปุณณา เอโก วายุวโร สิยา
- โลกพินาศด้วยไฟ ๗ ครั้ง แล้วในครั้งที่แปดพินาศด้วยน้ำหนึ่งครั้ง
- เมื่อครบหกสิบสี่ครั้ง (แปดรอบ) ก็จะพินาศด้วยลมหนึ่งครั้ง
ส่วนสาเหตุแห่งความเสื่อมของโลกนั้น ท่านว่าเพราะคนเสื่อมจากศีลธรรมนั่นเอง ผู้สนใจลองหาอ่านจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค จักวาฬทีปนี โลกทีปกสาร โลกบัญญัติ หรือไตรภูมิพระร่วง เป็นต้น
เมื่อพิจารณาในยุคปัจจุบัน ภัยพิบัติหรือวิบัติภัยเกิดขึ้นถี่เหลือเกิน อาจเป็นตัวบ่งชี้ว่าคนเสื่อมจากศีลธรรมได้เหมือนกัน