ครม.อุ้ม "ข้าราชการชั้นผู้น้อย" อนุมัติเพิ่มเงินค่าครองชีพ 6%


ครม.ไฟเขียวขยายเพดานเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวข้าราชการ-ลูกจ้างประจำเฉลี่ย 6% ไม่เกิน 8.2 พันบาท และขั้นสูงไม่เกิน 1.17 หมื่นบาท ชี้มีผู้ได้รับอานิสงส์ 3 แสนคน "สุรพงษ์" ระบุเลือกปรับเพิ่มค่าครองชีพแทนการ    ขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา "เงินเฟ้อ" เร่งตัว ด้านแบงก์ชาติเกาะติดเงินเฟ้อใกล้ชิด  เตรียมนำเข้าพิจารณาที่ประชุมกนง. 21 พ.ค.นี้

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (13 พ.ค.) มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือการครองชีพข้าราชการระดับต้น โดยปรับเพิ่มเพดานเงินเดือนข้าราชการที่ได้รับค่าครองชีพชั่วคราว เพิ่มขึ้นจากอัตราขั้นต่ำ 7.7 พันบาท เป็นไม่เกิน 8.2 พันบาท และขั้นสูงจากอัตรา 1.1 หมื่นบาท เป็นไม่เกิน 1.17 หมื่นบาท โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2551 เป็นต้นไป  "ครม.เห็นชอบ        ให้เพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวให้กับข้าราชการระดับซี 5 ลงมาหรือข้าราชการชั้นผู้น้อย เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น โดยผู้ที่ได้เงินเดือนรวมกับค่าครองชีพชั่วคราวเดิม กำหนดไว้ในอัตราไม่เกิน 7.7 พันบาท จะให้เพิ่มเป็นไม่เกิน 8.2 พันบาท ส่วนผู้ที่ได้รับเงินเดือนรวมกับค่าครองชีพชั่วคราวเดิมที่กำหนดไว้ในอัตราไม่เกิน 1.1 หมื่นบาท จะให้เพิ่มเป็นไม่เกิน 1.17 หมื่นบาท" น.พ.สุรพงษ์ ระบุ

นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวทำให้ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการครู ทหาร ตำรวจ และลูกจ้างประจำ ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 6% หรือ 500 บาทต่อเดือน จากปัจจุบันที่ค่าครองชีพของข้าราชการเพิ่มขึ้นประมาณ 5-600 บาทต่อเดือน ขณะที่ทั้งปีคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 5-5.5% โดยจะใช้งบตั้งแต่เดือนพ.ค.-ก.ย.2551 เป็นเงิน 340 ล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2552 จะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 813 ล้านบาท  นอกจากนี้ ในส่วนของลูกจ้างชั่วคราวนั้น จะให้หน่วยงานที่มีการจ้างลูกจ้างชั่วคราวเป็นผู้พิจารณาปรับเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวตามงบประมาณที่มีอยู่และตามความเหมาะสม

นพ.สุรพงษ์ ย้ำว่า การที่รัฐบาลเลือกปรับเพิ่มเพดานค่าครองชีพ ให้ข้าราชการระดับต้นเท่านั้น เพื่อช่วยเหลือข้าราชการระดับล่างให้มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงตัวเองและครอบครัว และไม่ต้องการทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น พร้อมระบุว่า รัฐบาลยังมีแนวคิดที่จะปรับเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบอยู่ แต่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษา เพราะ ต้องพิจารณาความสมดุลของรายได้รัฐว่าจะเพียงพอหรือไม่ รวมถึงผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้น

นางสาวศุภรัตน์ นาคบุญนำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ปัจจุบันข้าราชการซี 5 ลงมาหรือเทียบเท่า ที่มีอัตราเงินเดือนไม่ถึง 1.1 หมื่นบาท จะได้รับค่าช่วยเหลือการครองชีพในอัตรา 1 พันบาท โดย      เมื่อนำเงินช่วยเหลือการครองชีพรวมกับเงินเดือนแล้วต้องมีรายได้รวมไม่เกิน 1.1 หมื่นบาท และหากข้าราชการได้รับเงินช่วยเหลือการครองชีพในอัตรา 1 พันบาท และรวมกับเงินเดือนแล้วไม่ถึง 7.7 พันบาท ก็ให้เพิ่มเป็น 7.7 พันบาท อย่างไรก็ตามจากภาวะค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเห็นได้จากดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 4 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นในอัตรา 3.8% ทำให้ข้าราชการระดับต้นได้รับผลกระทบและมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ดังนั้น       ที่ประชุม ครม.จึงมีมติเห็นชอบให้ขยายเพดานเงินเดือนจากที่กำหนดไว้ไม่เกิน 7.7 พันบาท เป็นไม่เกิน 8.2 พันบาท และขยายเพดานเงินเดือนขั้นสูงจากที่กำหนดไว้ไม่เกิน 1.1 หมื่นบาท เป็นไม่เกิน 1.17 หมื่นบาท พร้อมกันนั้น      ที่ประชุม ครม.มอบหมายให้กระทรวงการคลังแก้ไขระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าครองชีพชั่วคราวของข้าราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการตามแนวทางที่ครม.มีมติให้ความเห็นชอบ รวมทั้งให้ปรับเงินช่วยเหลือการครองชีพของเจ้าหน้าที่รัฐอื่นที่ได้รับเงินในลักษณะเดียวกันให้สอดคล้องกับการเพิ่มค่าครองชีพของข้าราชการดังกล่าว

นางสาวศุภรัตน์ ระบุว่า ข้าราชการและลูกจ้างประจำที่ได้รับผลประโยชน์จากการปรับเพิ่มเงินช่วยเหลือการครองชีพข้าราชการมีจำนวน 3.01 แสนคน ได้แก่ ข้าราชการพลเรือนสามัญ จำนวน 8.47 หมื่นคน บุคลากรทางการศึกษา จำนวน 707 คน ครู จำนวน 2.99 หมื่นคน ทหาร จำนวน 6.49 หมื่นคน ตำรวจ จำนวน 6.1 หมื่นคน ลูกจ้างประจำจำนวน 5.98 หมื่นคน

นายมนัส แจ่มเวหา รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ค่าครองชีพของข้าราชการขั้นต้นที่ปรับเพิ่มขึ้นตามมติ ครม.วานนี้จะเริ่มเบิกจ่ายได้จริงประมาณเดือน ก.ค.นี้ เนื่องจากยังมีขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบราชการ กล่าวคือ เมื่อ ครม.เห็นชอบแล้ว กรมบัญชีกลางจะต้องทำการร่างระเบียบเพื่อนำเสนอ ครม.เห็นชอบอีกครั้ง จากนั้นจะมีการตรวจร่างโดยกรรมการตรวจร่างและนำเสนอกลับไปที่ครม.และส่งกลับมาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อลงในราชกิจจานุเบกษา  ขั้นตอนดังกล่าวน่าจะใช้เวลา 2 เดือน กว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้จริง โดยคาดว่าในเดือนก.ค.จะสามารถเบิกจ่ายได้ แต่ข้าราชการก็จะได้เงินตกเบิกตามระยะเวลาที่มีผลบังคับใช้

นายมนัส กล่าวอีกว่า กรณีปัญหาการไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายพิเศษสำหรับค่าเล่าเรียนของบุตรข้าราชการจากต้นสังกัด เกิดจากการยกเลิกประกาศระเบียบการเบิกจ่ายของกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เมื่อครั้งที่นายวิจิตร ศรีสอ้าน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 28 ม.ค.2551 โดยเห็นตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 49 ที่ระบุว่า รัฐต้องจัดการศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย  ขณะนี้สำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า หากจะมีการจัดเก็บค่าเล่าเรียนพิเศษ หรือ ค่าบำรุงการศึกษาอื่น ๆ ของโรงเรียนนั้น ถือว่าเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งขณะนี้กฤษฎีกายังไม่ได้ตอบข้อหารือ  "หากกฤษฎีกาตอบว่า สามารถทำได้ กรมบัญชีกลางก็ไม่ขัดข้อง ที่จะมีการเบิกจ่ายตามระเบียบ แต่ขณะนี้กฤษฎีกายังไม่ได้ตอบข้อหารือมา ดังนั้น จึงต้องเป็นไปตามระเบียบเดิม" ทั้งนี้ในปีงบประมาณรายจ่ายปี 2551 ได้ประมาณการรายจ่ายสำหรับการศึกษาไว้จำนวน 4,712 ล้านบาท และ งบประมาณปี 2552 ได้ประมาณการไว้จำนวน 5,125 ล้านบาท

ดร.ธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แม้ว่าเศรษฐกิจจะยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ต่อเนื่องแต่อัตราเงินเฟ้อกลับปรับเพิ่มสูงขึ้น เห็นได้จากเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดในเดือนเม.ย.ที่ขยายตัวถึง 6.2% และเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว 2.1% จากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและอาหาร ทำให้ ธปท.ต้องติดตามดูการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งถัดไปในวันที่ 21 พ.ค.นี้ ธปท.ก็จะนำข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดพิจารณานโยบายการเงินที่เหมาะสม  "ความเสี่ยงต่อการขยายตัวเศรษฐกิจและเงินเฟ้อทำให้ปี 2551 เป็นปีที่ท้าทาย แต่เชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถรับปัญหาต่าง ๆ เพราะยังมีช่องทางในการดำเนินนโยบายและเศรษฐกิจก็ยังมีความยืดหยุ่น" ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว 

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความยืดหยุ่นพอที่จะรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปีนี้ แต่ในระยะปานกลางและระยะยาว ดร.ธาริษา ระบุว่ารัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ  

ดร.ธาริษา ยังกล่าวถึงระดับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า เป็นผลมาจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นว่ามีการเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินแต่อย่างใด "การอ่อนค่าลงน่าจะเป็นลักษณะช่วงสั้น ๆ เป็นเพราะมุมมองของต่างชาติมองว่าค่าเงินดอลลาร์ผันผวนซึ่งแบงก์ชาติก็ดูแลอยู่ เราดูให้เป็นไปตามตลาดซึ่งเป็นนโยบายที่มีมาก่อนหน้านี้แล้วว่าจะดูไม่ให้ค่าเงินเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป ไม่ให้ผันผวน แต่จริง ๆ ตอนนี้       ก็ยังไม่เห็นว่ามีความผันผวน" ดร.ธาริษากล่าว

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภายใต้ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกหลายอย่างทั้งปัญหาซับไพร์มและวิกฤติอาหาร เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังมีสถานะที่ดีและน่าลงทุนกว่าหลายประเทศ โดยเหตุผลที่เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยในไตรมาสแรกการดัชนีบริโภคขยายตัวได้ถึง 7% การลงทุนขยายตัวได้ 5% และการส่งออกก็ยังขยายตัวได้ดีถึง 20.8% ทำให้คาดว่าจีดีพีปีนี้น่าจะขยายตัวได้ตามที่คาดการณ์ที่ 4.5 - 5% ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมของไทยก็มีความน่าสนใจที่จะลงทุน เพราะมีอุตสาหกรรมพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เช่น ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโทรคมนาคม และธุรกิจเอกชนหลายแห่งก็ได้รับการพิจารณาส่งเสริม การลงทุน ทั้งปิโตรเคมี รถยนต์ และพลังงานทางเลือก ประกอบกับบรรยากาศการลงทุนที่ดีของไทย เช่น กฎเกณฑ์ การลงทุนต่าง ๆ ที่ก็เอื้อต่อการลงทุน

กรุงเทพธุรกิจ  ไทยรัฐ  สยามรัฐ  บ้านเมือง  ข่าวสด แนวหน้า

 ไทยโพสต์  โพสต์ทูเดย์  คม ชัด ลึก  ข่าวหุ้น  The Nation  Bangkok Post  14  มี.ค.  51

หมายเลขบันทึก: 182211เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2008 11:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ต้องชอแสดงความยินดีกับผู้น้อยทุกท่านด้วยครับ ใช้ความพอเพียง เพียงพอ และ พอดี ตามแนวพระราชดำริ ด้วยครับ

ได้รับเงินเดือนเพิ่มเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง สำหรับลูกจ้างที่มีลูก 2คนและกำลังเรียนปริญญาตรีทั้งคู่เงินเดือน 1 หมื่นกว่าบาท กู้เงินเรียนก็ไม่เคยได้ เลยต้องเป็นหนี้นอกระบบไม่มีใครเห็นใจ ครั้งนี้ได้เงินช่วยชีวิตเพิ่มอีกหน่อยก็น่ายินดีเป็นยิ่งนัก  ขอบคุณค่ะ

เงินเดือนรวมกับค่าครองชีพที่จะได้เพิ่ม รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 11,700 บ. มั้งครับ พอมั๊ย

ไม่ยุติธรรมสำหรับลูกจ้างชั่วคราว

เศรษฐกิจไม่ดีก็เกิดกับคนทุกระดับ

แล้วลูกจ้างชั่วคราวกับครอบครัวไม่ต้องกินข้าวหรือยังไง

พนักงานของบริษัท - ค่าจ้างขั้นต่ำก็พิจารณาขึ้นให้แล้ว

ข้าราชการ + ลูกจ้างประจำ - เพิ่มค่าครองชีพ 6 %

ลูกจ้างชั่วคราว - ..............

ระดับล่างเหมือนกัน

ถามหน่อยคับ ตั้งแต่ซี 5 ลงมา ได้ทุกคนใช่ไหมคับ

ถ้าเงินเดือนยังได้ไม่เกิน 11700 ได้แน่นอน

แล้วลูกจ้างชั่วคราวไม่กินไม่ใช้หรือไง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท