กรมบัญชีกลางส่งตีความงดจ่ายค่าเล่าเรียนบุตร


อีก 2 วัน รู้ผลข้าราชการเบิกค่าเทอมได้หรือไม่ หลังกฤษฎีกาประชุมเพื่อตีความว่า ร.ร.สามารถเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากผู้ปกครองหรือไม่ ด้าน สพฐ.เตรียมชง ครม.ของบประมาณค่าสาธารณูปโภคให้ ร.ร.เพิ่มเติม หวังช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ปกครอง ชี้ ภาระหนักของร.ร.คือค่าน้ำค่าไฟซึ่งรัฐจัดงบฯให้ไม่พอ ส่งผลให้ร.ร.ต้องรบกวนเงินผู้ปกครอง

เมื่อวันที่ 13 พ.ค. นายมนัส แจ่มเวหา รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลางเปิดเผยว่า  กรณีปัญหาการไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายพิเศษสำหรับค่าเล่าเรียนของบุตรข้าราชการจากต้นสังกัด เกิดจากการยกเลิกประกาศระเบียบการเบิกจ่ายของกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เมื่อครั้งที่นายวิจิตร ศรีสะอ้าน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 28 มกราคม 2551 โดยเห็นตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 49 ที่ระบุว่า รัฐต้องจัดการศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย  ดังนั้น เมื่อประกาศดังกล่าวถูกยกเลิกไป ข้าราชการ จึงไม่สามารถนำใบเสร็จเกี่ยวกับการศึกษาพิเศษ เช่น ค่าจัดการเรียนการสอนพิเศษ มาเบิกกับต้นสังกัดได้ นอกจากนี้ เมื่อประกาศดังกล่าวยกเลิกไป หลายโรงเรียนก็ไม่ได้มีการจัดเก็บค่าบำรุงการศึกษาในรูปแบบดังกล่าว แต่หันไปเรียกเก็บเป็นค่าบริจาคแทน และบางแห่งก็ต้องการให้มีการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงการศึกษาพิเศษที่ผู้ปกครองสามารถเบิกได้เหมือนเดิม เพื่อไม่ให้ผู้ปกครองได้รับความเดือดร้อน ดังนั้น ทางสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ (สพฐ.)
กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า หากจะมีการจัดเก็บค่าเล่าเรียนพิเศษ หรือ ค่าบำรุงการศึกษาอื่น ๆ ของโรงเรียนนั้น ถือว่า เป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ ทางกฤษฎีกายังไม่ได้ตอบข้อหารือ  "หากกฤษฎีกาตอบว่า สามารถทำได้ กรมบัญชีกลางก็ไม่ขัดข้องที่จะมีการเบิกจ่ายตามระเบียบ แต่ขณะนี้กฤษฎีกายังไม่ได้ตอบข้อหารือมา ดังนั้น จึงต้องเป็นไปตามระเบียบเดิม"   เขากล่าวและว่า ในปีงบประมาณรายจ่ายปี 2551 ได้ประมาณการรายจ่ายสำหรับการศึกษาไว้จำนวน 4,712 ล้านบาท และงบประมาณปี 2552 ได้ประมาณการไว้จำนวน 5,125 ล้านบาท ทั้งนี้ ไม่ได้รวมกรณียกเลิกประกาศดังกล่าว ดังนั้น หากกฤษฎีกาบอกว่า สามารถเบิกได้ ก็จะไม่กระทบกับวงเงินงบประมาณที่ปรับเพิ่มขึ้น

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า ในวันสองวันนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จะมีการประชุมเพื่อตีความว่า การอนุญาตให้สถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากผู้ปกครองนั้น ถือว่าขัดกับมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ 2550 หรือไม่ ซึ่งเมื่อกฤษฎีกาตีความมาอย่างไร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็ต้องปฏิบัติตามนั้น อย่างไรก็ตาม การตีความ     ของกฤษฎีกาจะเป็นคำตอบด้วยว่า ข้าราชการจะสามารถเบิกเงินที่ ร.ร.เรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้หรือไม่

คุณหญิงกษมา กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ ประมาณกลางปี 2549 กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังได้มีหนังสือแจ้งเกี่ยวกับประเภทและอัตราเงินบำรุงการศึกษาที่อนุญาตให้ข้าราชการเบิกเงินสวัสดิการการศึกษาของบุตรได้ โดยเงินบำรุงการศึกษาที่ผู้มีสิทธิจะนำมาเบิกต้องเป็นเงินบำรุงตามอัตราที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการ หรือต้นสังกัดร.ร. แต่ต้องไม่เกินอัตราเงินบำรุงการศึกษาที่ระบุไว้ในหนังสือกรมบัญชีกลาง ดังนี้ อนุบาล ไม่เกินปีละ 4,650 บาท ประถมศึกษา 3,200 บาท มัธยมต้นและมัธยมปลาย 3,900 บาท อนุปริญญา 11,000 บาท  ดังนั้น ศธ.      จึงได้ออกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การเก็บเงินบำรุงการศึกษาของสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2549 กำหนดให้สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เก็บเงินบำรุงการศึกษาได้ เพื่อจัดการศึกษาเพิ่มเติมนอกเหนือจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน การจัดประสบการณ์และการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา หรือบริการอื่นเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตและมาตรฐานการศึกษาของนักเรียนให้ได้ตามมาตรฐานสากลได้ตามอัตราที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น และฐานะทางเศรษฐกิจ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาก่อน และจะต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจของนักเรียนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศธ.ในขณะนี้นั้น เห็นว่า ประกาศ ศธ.ว่าด้วยการเก็บเงินบำรุงการศึกษาดังกล่าวที่อนุญาตให้ ร.ร.เก็บค่าเงินบำรุงการศึกษาได้นั้น อาจขัดรัฐธรรมนูญ  จึงลงนามเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 51 ให้ยกเลิกประกาศฉบับนี้ไปก่อน และรอฟังผลการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า สถานศึกษาจะดำเนินการจัดเก็บเงินบำรุงการศึกษาสำหรับการจัดการศึกษาเพิ่มเติมนอกเหนือจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานจะกระทำได้เพียงใด เพราะฉะนั้น ข้าราชการจึงไม่สามารถเบิกเงินบำรุงการศึกษาที่ ร.ร.เรียกเก็บได้ เพราะปัจจุบัน ถือว่า ร.ร.ของ สพฐ.ไม่มีการเก็บเงินบำรุงการศึกษา แต่ถึงอย่างไร ร.ร.ยังสามารถเรียกเก็บเงินจากผู้ปกครองได้โดยอาศัย ประกาศเรื่องการระดมทรัพยากรที่ออกสมัยนายปองพล อดิเรกสาร เป็นรมว.ศธ. ซึ่งอนุญาตให้ ร.ร.สามารถขอระดมทรัพยากรจากผู้ปกครองได้ แต่ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา

และเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครองนักเรียน แต่การระดมเงินในส่วนนี้จะไม่สามารถเบิกคืนจากต้นสังกัดได้ เพราะถือว่า เป็นการบริจาคและเป็นไปโดยความสมัครใจ ในช่วงดังกล่าว กรมบัญชีกลางเองก็มีการเปลี่ยนความคิดด้วย จากเดิมที่ให้ข้าราชการเบิกเงินสวัสดิการการศึกษาได้ ในกรณีที่ ร.ร.ของบุตรมีการเก็บเงินบำรุงการศึกษาสำหรับ     จัดการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา แต่ภายหลังกรมบัญชีกลางมองว่า ข้าราชการน่าจะเบิกเงินสวัสดิการการศึกษาได้เฉพาะกรณีของการจัดการศึกษาตามหลักสูตร และเมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานฟรี 12 ปี เพราะฉะนั้นข้าราชการจึงไม่สามารถเบิกเงินส่วนนี้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา สพฐ.         ได้ทำเรื่องไปยังกรมบัญชีกลาง ขอให้ข้าราชการสามารถเบิกเงินสวัสดิการการศึกษาในกรณีที่ของการระดมทรัพยากรเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา หรือ ขอให้ปรับระบบให้การเบิกเงินสวัสดิการนี้เป็นแบบเหมาจ่าย แต่กรมบัญชีกลางยืนยันว่า จะขอฟังการตีความของกฤษฎีกาและยึดตามนั้น ถ้ากฤษฎีกาตีความว่า ร.ร.สามารถเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ ก็จะหมดปัญหา” คุณหญิงกษมา กล่าว

คุณหญิงกษมา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สพฐ.จำนำเรื่องเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของบประมาณค่าสาธารณูปโภคเพิ่มให้กับสถานศึกษา ที่ผ่านมา สพฐ.มีเงินงบประมาณ 500 ที่จัดสรรให้แต่ละ ร.ร.เป็นค่าน้ำค่าไฟ แต่บาง ร.ร.โดยเฉพาะ ร.ร.ขนาดใหญ่ที่มีอุปกรณ์ คอมพิวเตอร์ บุคลากรและนักเรียนมากนั้น มีรายจ่ายค่าสาธารณูปโภคเกินกว่างบประมาณที่ สพฐ.จัดสรรไปให้ อย่างไรก็ตาม สพฐ.ได้สูตรคำนวณค่าไฟที่เหมาะสมสำหรับหน่วยงานขนาดต่าง ๆ จากกระทรวงพลังงาน และจะใช้สูตรดังกล่าวมาคำนวณหาค่าไฟที่เหมาะสมของสถานศึกษาและสำนักงานในสังกัด พร้อมเปรียบเทียบดูว่า สถานศึกษาแต่ละแห่งใช้ไฟน้อยหรือเกินกว่าเกณฑ์ และหากพบว่า สถานศึกษาได้งบประมาณค่าสาธารณูปโภคต่ำกว่าค่าไฟที่เหมาะสม ก็จะขอครม.ให้เพิ่มงบประมาณค่าสาธารณูปโภคให้ ร.ร. ทั้งนี้ได้ให้         ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ไปสำรวจค่าสาธารณูปโภคในร.ร.แต่ละขนาด โดยเฉพาะร.ร.ขนาดใหญ่           ค่าสาธารณูปโภค เป็นปัญหาที่หนักหนามากของ ร.ร. ขณะเดียวกัน ร.ร.ก็มีปัญหาขาดครูด้วย ร.ร.จึงต้องขอเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากผู้ปกครองนำมาจ่ายค่าสาธารณูปโภคและจ้างครูเพิ่ม อย่างไรก็ตาม เปิดเทอมนี้ ได้มีการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนค่าใช้ข่ายรายหัวให้ ร.ร.และภายในเดือน พ.ค.นี้ จะโอนเงินที่ได้เพิ่ม 70% จากทั้งหมด 1,627 ล้านบาท ขณะเดียวกัน สพฐ.ได้ดำเนินการสอบบรรจุข้าราชการครูใหม่จำนวนเกือน 5 พันอัตราแล้ว คาดว่า ภายในเดือน มิ.ย.นี้ ครูใหม่จะไปถึง ร.ร. ก็จะช่วยลดรายจ่ายของ ร.ร.ไป และหาก ร.ร.ได้งบค่าสาธารณูปโภคเพิ่มจนเพียงพอต่อรายจ่ายจริงแล้ว เชื่อว่า จะทำให้ร.ร.ไปต้องไปเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากผู้ปกครองมาก”

แหล่งข่าวใน ศธ. กล่าวว่า การที่ ศธ.ยกเลิก ศธ.ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การเก็บเงินบำรุงการศึกษา 15 ธ.ค. 2549 เป็นสาเหตุทำให้ข้าราชการที่มีบุตรเรียนอยู่ร.ร.สังกัด สพฐ.ไม่สามารถเบิกค่าเงินสวัสดิการการศึกษาได้ เพราะหนังสือของกระทรวงการคลังกำหนดให้การเบิกเงินบำรุงการศึกษาต้องเป็นไปตามอัตราที่กระทรวง ศึกษาธิการ และส่วนราชการต้นสังกัดร.ร กำหนด เพราะฉะนั้น เมื่อ มีการยกเลิกประกาศ ศธ.ดังกล่าว ก็เท่ากับ  ไม่มีประกาศรองรับในเรื่องนี้ กรมบัญชีกลางถือว่า กระทรวงไม่มีประกาศอนุญาตให้ร.ร.เรียกเงินบำรุงการศึกษา ข้าราชการจึงไม่สามารถเบิกเงินบำรุงการศึกษาได้ อย่างไรก็ตาม หากกฤษฎีกาตีความว่า ร.ร.สามารถเก็บค่าจ่ายเพิ่มเติมจากผู้ปกครองได้ กระทรวงก็สามารถยกร่างประกาศว่าด้วยการเก็บเงินบำรุงการศึกษาชั้นมาใหม่ ก็จะทำให้ปัญหาหมดไป

คม ชัด ลึก  14  มี.ค.  2551

หมายเลขบันทึก: 182210เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2008 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ลูกข้าราชการหากเรียนโรงเรียนรัฐบาลซึ่งปัจจุบันมีโครงการพิเศษต่างๆซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง ตัวเองเป็นอีกคนที่แทบไม่เคยได้ใช้สวัสดิการค่าเล่าเรียนบุตรเลย ลูกเรียนโรงเรียนรัฐบาลตลอด บางคนก็ว่าเงินประกันสุขภาพเด็กที่โรงเรียนจัดเก็บเข้าเงินบำรุงจะสามารถเบิกได้ก็ไม่เห็นได้ส่งใบเสร็จไปบางปีตีกลับทั้งหมดเบิกไม่ได้เลย บางปีได้มาสาม-สี่ร้อยบาท ระเบียบเปลี่ยนแทบทุกปีจนตามไม่ทันก็แล้วแต่การเงินจะกรุณาดูให้คนภายนอกยังเข้าใจว่าเราเป็นข้าราชการเบิกค่าเล่าเรียนลูกได้แต่จริงๆสวัสดิการนี้แทบไม่เหลือแล้วสำหรับข้าราชการ

สวัสดีคะ

- เห็นบอกว่าเรียนปี แต่ต้องจ่ายค่าบำรุงอื่น เช่น ค่าห้องสมุด ค่าคอมพิวเตอร์ และอื่น ๆ อีกสารพัด เห็นแล้วอ่อนใจแทนค่ะ

ข้าราชการชั้นผู้น้อย

ลูกเข้าเรียน ตั้งแต่อนุบาลถึง ป.3 รู้สึกว่าจะเคยเบิกได้ 150 บาท/ปี มาปีที่แล้วดึใจมากที่เบิกได้คนละ 3200 แต่พอมาปีนี้ก็ให้งดซะงั้น ไม่รู้ว่าผู้ใหญ่ เขาเล่นอะไรกัน

เดี๋ยวได้ เดี๋ยวไม่ได้ ดิฉันมีบุตร 2 คน เรียนใน รร.สังกัด สพฐ.ทั้งคู่ ค่าเทอม รวมกันแล้ว ไม่ต่ำกว่า 16,000 บาท เปิดเทอมที ไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท ถ้าเบิกได้บ้างก็ยังดี ถึงจะให้เรียนฟรี แต่ รร.ก็เรียกเก็บค่าอย่างอื่นอยู่ดี ตีความเข้าข้างประชาชนหน่อยเถอะค่ะ

น่าเห็นใจครับ

ชั้นผู้น้อยจริงๆๆๆๆๆ

ถ้าตีความแล้วไม่สามารถเบิกได้ จะมีใครรู้บ้างว่าข้าราชการและลูกจ้างที่เงินเดือนน้อยจะแย่แค่ไหน บอกว่าเรียนฟรี12ปี ก็ไม่เห็นว่ามันจะฟรีตรงไหน ไอ้ที่เรียนฟรีก็อยู้ทุรกันดารเหลือเกินแต่ไอ้ที่อยู่ในเมืองไม่รู้ค่าอะไรต่อมิอะไร พวกผู้ใหญ่เคยเข้าใจบ้างหรือเปล่า ค่าเรียนคอมพิวเตอร์ ก็เป็นเพราะรัฐอยากให้โรงเรียนมี ICT และอีก...... แล้วยังจะมาเก็บอีก จริงอยู่ให้จ่ายโดยความสมัครใจของผู้ปกครองใครก็พูดได้แต่ความเป็นจริงแล้วจะมีผู้ปกครองที่สมัครใจจ่ายอยู่จริงหรือ มีแต่ถ้าไม่จ่ายลูกก็เป็นแกะดำอยู่ในโรงเรียน ไม่อยากบริจาคลูกก็ไม่ได้เข้าเรียน เบื่อพวกผู้ใหญ่ขายฝัน ขายความคิดเพื่อที่จะให้เขาเลือกตัวเองมาเป็นใหญ่แต่ความเป็นจริงแล้ว ทำไม่ได้อย่างที่พูด เบื่อๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท