หมอบ้านนอกไปนอก(66): บ้านพี่เมืองน้อง


ลักเซมเบิร์กเป็นประเทศเล็กๆที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติมากนักแต่มีรายได้ประชาชาติต่หัวประชากรสูงที่สุดในโลกขณะที่มีดัชนีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สูงอันดับที่สี่ สิ่งที่เขามีคือการพัฒนาคนของเขาให้เป็นสินทรัพย์ทางปัญญาของประเทศ ภายใต้คำขวัญที่รักษาเอกลักษณ์ของเขาที่ว่า“เราต้องการจะยังคงเป็นในสิ่งที่เป็นอยู่” (We want to remain what we are)

อากาศเป็นสัปดาห์ที่ 34 เปลี่ยนจากความหนาวเย็นสู่ความอบอุ่นมากขึ้นในระดับสูงกว่า 15 องศาเซลเซียส พร้อมๆกับการสิ้นสุดการเข้าชั้นเรียนของผม ที่เข้าสู่ช่วงของการเขียนวิทยานิพนธ์และเตรียมตัวสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ในปลายเดือนมิถุนายนที่จะมาถึง ความวิตกกังวลจากการคิดถึงภรรยาและลูกๆจางหายไปแล้ว กับการได้กลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาอีกครั้ง ที่พัก (house) กลับกลายมาเป็นบ้าน (home) ไปทันที “บ้านคือที่รวมของความรักความเข้าใจของคนในครอบครัว” นึกถึงเพลงที่เด็กๆชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยงร้องให้ฟังสมัยไปออกค่ายอาสาพัฒนาตอนเรียนแพทย์ปี 3 ที่บ้านแม่ลายเตียนอาง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ “จะอยู่แดนใด ไม่สุขใจเหมือนบ้านเรา จะสุขจะโศกเศร้า บ้านเรานี้แสนสบาย บ้านเราไม่โตนัก ความรักไม่เสื่อมคลาย ขออยู่และขอตายที่บ้านเกิดเตียนอาง

ต้นไม้หน้าบ้านพักที่ยืนเด่นเหลือแต่ต้นเริ่มผลิใบอ่อนออกมาให้เห็น แต่ช้ากว่าบริเวณอื่นๆที่ออกใบเขียวเต็มต้นไปแล้ว เกลนด้าบอกว่าต้นไม้หน้าบ้านพักผมเป็นโรคขาดสารอาหารเลยออกใบช้ากว่า ต้นไม้รอบๆสนามเด็กเล่นใกล้ถนนเรียมที่ออกดอกสีชมพูสวยสดใสเต็มต้นเมื่อสัปดาห์ก่อน กลับทิ้งดอกสวยอย่างไม่อาวรณ์พร้อมกับออกใบเขียวชอุ่มท้าลมร้อนที่ใกล้จะมาถึง ตอนดอกเต็มต้นเรานั่งใต้ร่มไม้ กลีบดอกไม้สีชมพูค่อยๆร่วงหล่นปลิวไปตามแรงลมดุจดังดอกไม้ที่โปรยปรายลงมาจากฟากฟ้าไกล สดใสเพลินใจเพลินตา เมืองไทยคงร้อนมากอย่างไม่ต้องสงสัย

ปีก่อนเรานัดกันห้าหกครอบครัวในโรงพยาบาลบ้านตากพาเด็กๆไปเที่ยวทะเลที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ล่องเรือไปดำดูปะการังที่เกาะทะลุ เด็กๆสนุกกันมาก ปีนี้ผมพาภรรยาและลูกๆไปเที่ยวรับลมทะเลเช่นกันแต่เป็นชายทะเลเหนือของประเทศเบลเยียม ประเทศเล็กๆที่มีความซับซ้อนทางด้านการเมืองการปกครองที่แบ่งออกเป็น 2 เขตคือเขตฟลานเดอร์กับวัลลูน มีรัฐบาลแยกกันปกครองต่างหากในแต่ละเขตดังที่เคยเขียนเล่าไปแล้ว ทั้งประเทศมี 9 จังหวัด มีอยู่หนึ่งจังหวัดคือบราบังท์ (Brabant) ที่แบ่งออกเป็นส่วนของฟลานเดอร์กับส่วนของวัลลูน แต่มีเมืองหลวงเดียวกันของจังหวัดคือบรัสเซลส์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศและของสหภาพยุโรปด้วย

ทั้ง 9 จังหวัด ในวงเล็บคือเมืองที่เป็นเมืองหลวงของจังหวัดประกอบด้วยบราบังท์ (บรัสเซลส์) ฟลานเดอร์ตะวันตก (ออสเตนด์) ฟลานเดอร์ตะวันออก (เกนท์) แอนท์เวิป (แอนท์เวิป) ลิมเบิร์ก (แฮสเซลท์) ลิเอจ (ลิเอจ) ไฮเนาท์ (มอนส์) นามูร์ (นามูร์) และลักเซมเบิร์ก (อาร์ลอน) โปรดอย่าสับสนระหว่างจังหวัดลักเซมเบิร์กกับประเทศลักเซมเบิร์กซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ติดกันแต่คนละประเทศ

จังหวัดที่เราไปเที่ยวชายทะเลคือฟลานเดอร์ตะวันตก มีเมืองหลวงชื่อออสเตนด์ (Ostend) การเขียนชื่อเมืองนี้อาจแตกต่างไปบ้างเล็กน้อยว่าเขียนเป็นฝรั่งเศส ดัชท์หรืออังกฤษ ที่มีตัวอักษรคล้ายๆกันแต่การออกเสียงต่างกันไปบ้าง จังหวัดนี้มีเมืองที่โดดเด่นเป็นเมืองมรดกโลกที่สวยงามมีความเก่าแก่อยู่คือเมืองบรูจจ์ (Brugge) บางทีก็สับสนว่าเมืองบรูจจ์เป็นเมืองหลวงของจังหวัดเพราะมีชื่อเสียงมากกว่า ก็คงเหมือนๆกับจังหวัดตากที่อำเภอแม่สอด ซึ่งเป็นเมืองชายแดน เขตเศรษฐกิจเป็นที่รู้จักมากกว่าตัวอำเภอเมืองตาก ที่เป็นตัวจังหวัด

ออสเตนด์ เป็นหนึ่งในมืองแฟชั่นชายทะเลของยุโรปมาตั้งแต่ปี คศ.1900 เป็นเมืองท่าชายทะเลที่มีภัตตาคารอาหารทะเลชั้นหนึ่ง พิพิธภัณฑ์และรถรางเลียบชายฝั่งทะเลเชื่อมเมืองต่างๆหลายเมือง ถือเป็น"The Queen of the Belgian sea-side resorts" มีประชากร 68,931 คน

เกนต์ เป็นเมืองที่ใหญ่อันดับ 3 ของเบลเยียม มีประชากรทั้งสิ้น 233,120 คน เป็นเมืองที่มีอาคาสถาปัตยกรรมเก่าแก่มีเสน่ห์งดงามไม่แพ้เมืองบรูจจ์กับแอนท์เวิป ถนนหนทางปูด้วยหินแบบโบราณ ปัจจุบันถือเป็นเมืองมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษามากที่สุดในเบลเยียม เกนต์เป็นเมืองเปิดที่มีคลับบาร์เฉพาะสำหรับชายหญิงที่มีใจรักเพศเดียวกันอยู่หลายแห่งและมีชื่อในการเป็นที่หมายและที่นัดพบของรักร่วมเพศจากทุกมุมโลก ในยุคกลางเกนต์ถือว่ามีความงามรองจากมหานครปารีสแห่งเดียวในยุโรป

อาร์ลอน (Arlon) เป็นเมืองหลวงของจังหวัดลักเซมเบิร์ก ถือเป็นเมืองที่มีความเก่าแก่อีกเมืองหนึ่งของเบลเยียม ที่เคยเป็นศูนยฺกลางการค้าของโรมันเมื่อสองศตวรรษก่อนคริสตกาล เป็นเมืองเล็กๆแต่ก็น่าแวะพักผ่อนเยี่ยมชม เป็นทางผ่านของรถไฟระหว่างประเทศไปเยอรมันและสวิส เป็นเมืองที่มีพิพิธภัณฑ์โบราณคดีที่รวยที่สุดของเบลเยียม มีส่วนของกำแพงเมืองโรมันโบราณและโบสถ์เซนต์โธมัสกับโบสถ์เซนต์มาร์ติน ปัจจุบันมีประชากร 26,367 คน

วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน 2551 ตื่นเช้าสบายๆไม่เร่งรีบ ออกจากบ้านเกือบเจ็ดโมง นั่งรถรางไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟกลาง ค่าโดยสารผู้ใหญ่ไปกลับคนละ 16.60 ยูโร ส่วนเด็กๆขึ้นฟรี ราคาโดยสารรถไฟวันหยุดเสาร์อาทิตย์ถูกลงกว่าวันธรรมดาเกือบครึ่งเพื่อเอื้อให้ผู้คนเดินทางไปพักผ่อนกันได้สะดวก เราซื้อตั๋วรถไฟแอนท์เวิป-ออสเตนท์ และวางแผนจะลงเที่ยวที่เมืองเกนต์อีกเมืองหนึ่งด้วย ถามพนักงานขายตั๋วแล้วบอกว่าแวะไม่ได้ แต่ตอนเดินทางเราพลาดรถไฟไปออสเตนท์ ต้องรออีก 1 ชั่วโมงจึงเลือกขึ้นรถไฟที่ลงที่เมืองเกนต์เพราะเร็วกว่า ทางพนักงานตรวจตั๋วบอกให้เราเปลี่ยนรถไฟที่เกนต์ ซึ่งเรารู้อยู่แล้ว จากเกนต์ต่อไปบรูจจ์แล้วจากบรูจจ์จึงไปถึงออสเตนด์ ถึงสถานีรถไฟออสเตนด์ประมาณ 10 โมงเช้า หลังจากเข้าห้องน้ำที่สถานีรถไฟแล้วก็ออกไปซื้อตั๋วที่นั่งรถบัส รถรางในเมืองและรถรางเลียบชายทะเลได้ในราคา 1.5 ยูโรสำหรับเด็กและ 5 ยูโรสำหรับผู้ใหญ่ สถานีอยู่ติดกับสถานีรถไฟ ผมกับน้องแคนสะพายกระเป๋าสัมภาระกันคนละใบ

สถานีรถไฟออสเตนด์ดูสวยงามโดดเด่น วันนี้แดดจ้า ลมพัดเย็น ไม่หนาวแล้ว เราเดินจากสถานีรถไฟไปตามแผนที่เข้าไปในเขตเมืองเก่า นักท่องเที่ยวคึกคักพอควร ไปจนถึงโบสถ์St Petrus and St Paulus Church เป็นโบสถ์ประจำเมืองที่สวยงาม สูงตระหง่านมองเห็นแต่ไกล เดินต่อไปเรื่อยๆตามถนนที่มีร้านค้าเรียงรายอยู่สองข้างทาง นักท่องเที่ยวเดินไปมากันขวักไขว่เต็มถนน เดินลัดเลาะตามถนนหลบแสงร้อนจ้าของดวงอาทิตย์ไปจนถึงบ่อนคาสิโนขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ริมทะเล เราเดินตรงไปยังชายหาดยาวที่เม็ดทรายละเอียดขาว แต่ไม่ขาวมากเหมือนชายหาดที่เกาะเสม็ดบ้านเรา นักท่องเที่ยวหลากวัยบ้างเดินเล่น บ้างนอนอาบแดดอย่างสบายอารมณ์ หาดทรายกว้าง น้ำทะเลสีครามแต่หาดไม่สวยมากนัก พื้นทรายมีหินและเปลือกหอยเยอะ ฝูงนกนางนวลตัวใหญ่คอยจิกหาปลากินริมน้ำ น้ำดูเป็นโคลนเมื่อมากระทบฝั่ง ไม่มีคนลงเล่นน้ำ บนถนนรอบๆชายหาดมีคนเช่าจักรยานมาขี่เล่นรับลมทะเลกันมาก บรรยากาศคล้ายๆพัทยาของไทย

เที่ยงกว่าๆ เราหยุดพักกินข้าวผัดกระเพราไก่มื้อกลางวันที่เตรียมมาอย่างเอร็ดอร่อยด้วยฝีมือการปรุงของคุณแม่ของลูกๆ แล้วก็เดินเล่นไปตามชายหาดต่อจนไปถึงพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ แต่ไม่ได้เข้าชมเพราะตรงช่วงเขาปิดทำการพอดี น้องแคนกับน้องขิมซื้ออาหารทะเลที่วางขายเดินไปทานไป แล้วก็เดินไปที่สถานีรถรางเพื่อนั่งรถรางเลียบชายฝั่งทะเลที่มี 2 สายคือสายออสเตนด์-เดพาน และออสเตนด์-นกเก้-เฮสท์ เราเลือกสายที่สอง รถรางพาเราผ่านชายฝั่ง ป่าริมทะเล เนินดินสำหรับปีนเล่น บริเวณที่กางเตนท์พักผ่อนไปตามเมืองตากอากาศหลายเมืองเช่น ดาฮาน แบลงเคนเบิร์ก ซีบรูจจ์ แต่ละเมืองก็มีความโดดเด่นของตัวเอง ใช้เวลาไปกลับเกือบชั่วโมงครึ่ง นั่งจนสุดสายแล้วก็นั่งกลับ ขากลับก็นั่งหลับไปบนรถด้วยความอ่อนเพลีย

ขึ้นรถไฟจากออสเตนท์ตอนบ่ายสี่ 47 นาทีไปยังเมืองเกนต์ เมืองหลวงของจังหวัดฟลานเดอร์ตะวันออกต่อเกือบหกโมงเย็นถึงสถานีรถไฟเกนต์เซนต์ปีเตอร์ นั่งรถรางไปบริเวณเมืองเก่า ลงเดินชมเมืองสักพักจนมาถึงริมแม่น้ำ ล่องเรือเที่ยวชมเมือง เนื่องจากเด็กๆเริ่มอ่อนล้าเพราะเดินกันมาเกือบทั้งวัน เรือยนต์ลำเล็กที่นั่งสองแถวกับคนขับเรือสาวชาวเบลเยียมที่ทำหน้าที่ไกด์ด้วย พาเราชมบริเวณเมืองเก่าที่ลัดเลาะเรียงรายไปตามลำน้ำด้วยภาษาอังกฤษและดัชท์ ล่องเรือประมาณ 1 ชั่วโมง ก็เดินพักขาทานขนมแล้วชมเมืองต่อสักพักก็นั่งรถรางกลับสถานีรถไฟกลับแอนท์เวิป ถึงบ้านพักประมาณ 4 ทุ่ม

วันจันทร์ที่ 28 เมษายน 2551 -วันอังคารที่ 29 เมษายน 2551 ไม่ได้ไปเรียน นั่งอ่านงานวิจัยอยู่บ้านเพื่อทบทวนวรรณกรรมในการเขียนวิทยานิพนธ์ ตอนเย็นก็พาเด็กๆไปเล่นที่สนามเด็กเล่น

วันพุธที่ 30 เมษายน 2551 โทรศัพท์กลับเมืองไทยเพื่อติดตามข่าวการคลอดของน้องสะใภ้ ตอนแรกตั้งใจจะคลอดที่บ้านตาก ฝากคุณหมอมิ้นท์ให้ช่วยดูแล แต่การคลอดไม่ก้าวหน้าจึงได้ส่งไปคลอดที่โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้รับการผ่าตัดคลอดโดยคุณหมอชัยกิจ สูติแพทย์ ได้หลานชายคนใหม่ ซึ่งพ่อเขา (น้องชายผม) อยากได้ลูกชายมากเพราะลูกคนโตเป็นลูกสาว

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม 2551 -วันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม 2551 ไม่ได้ไปไหนเช่นเดิม นั่งอ่านเรียบเรียงงานวิจัยอยู่ที่บ้านพัก น้องสะใภ้และหลานแข็งแรงดี พี่ๆน้องๆจากโรงพยาบาลบ้านตากช่วยกันส่งข่าวและช่วยกันดูแลเป็นอย่างดีทั้งพี่ตุ๋ย พี่ตุ๊ก ป้อม เอ๋และอีกหลายๆคนต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ ลุงกับป้า (ผมกับแฟน) ช่วยคิดชื่อหลานส่งไปให้น้องชายกับน้องสะใภ้เขาพิจารณาเกือบ 10 ชื่อ สุดท้ายได้ชื่อวีรพัฒน์ ที่คล้องกับวัชรี ชื่อพี่สาวเขาและตัว พัฒน์ ที่เป็นชื่อหน้าของพ่อกับแม่คือพิชัยกับพิกุลทอง แปลว่าพัฒนาไปในทางที่ดี ส่วนชื่อเล่นคือน้องวี พี่สาวชื่อน้องมิ้น ตอนแรกจะให้ชื่อน้องเม่น แต่ย่าเรียกน้องวี พ่อเขาก็เลยเรียกตามย่าไปเลย

วันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคม 2551 ตื่นหกโมงเช้ารีบเตรียมตัวอย่างฉุกละหุกเนื่องจากนาฬิกาปลุกไม่ยอมทำงาน รีบไปขึ้นรถรางไปที่สถานีรถไฟกลางเพื่อไปเที่ยวประเทศลักเซมเบิร์ก ค่าตั๋วรถไฟผู้ใหญ่ 37.20 ยูโร ส่วนของเด็ก 7 ยูโรแบบไปกลับ คราวนี้ไปกันหลายคนเป็นคณะมีพี่เกษมเป็นไกด์เช่นเคย ริด้า เกลนด้า เฟ็ง ผม ภรรยาและลูกๆ ขึ้นรถไฟไปลงที่สถานีรถไฟเหนือของบรัสเซลส์ นั่งรถไฟต่อตอน 7:42 น.ผ่านเมืองนามูร์ อาร์ลอนไปจนถึงลักเซมเบิร์กซิตี้ ตอน 10:36 น. สถานีรถไฟไม่ใหญ่มากเป็นอาคารแบบโบราณที่ดูทรงคุณค่ามาก แดดแรงจ้า เสื้อผ้าที่ใส่เผื่อกันหนาวทำให้ร้อนขึ้นไปอีกมากจนแคน ขิม ขลุ่ยและคุณแม่ต้องถอดเสื้อหนาวออกใส่กระเป๋า เราคาดการผิดไปมาก อากาศไม่หนาวเลย ก่อนออกเที่ยวได้เข้าไปขอแผนที่จากศูนย์การท่องเที่ยวที่สถานีรถไฟก่อนเพื่อเป็นเพื่อนนำทาง

ออกจากสถานีรถไฟเดินไปตามถนนสายเสรีภาพ ผู้คนคับคั่งพอควร สองข้างทางเป็นอาคารตึกแบบยุโรปที่มีรูปทรงสะดุดตาโดดเด่น เดินไปจนถึงสะพานปงต์อดอล์ฟ ที่ทอดข้ามผ่านหุบแอ่งที่ราบที่เกิดจากการตัดกันของแม่น้ำสองสายคืออัลเซตเตและเปทรุซซี่ จากสะพานมองหุบเหวที่ราบเขียวชอุ่มข้างใต้ที่น่าตื่นตาตื่นใจกับบ้านหินหลังเก่าๆเรียงรายอยู่ ตัดกับสีเขียวของแปลปลูกผักและสวนสาธารณะ ข้ามสะพานไปเดินบริเวณย่านเมืองเก่า ที่มีนักท่องเที่ยวหนาตา ผ่านโรงแรมที่ใช้ตึกเก่าเป็นที่ทำการ ลานอเนกประสงค์ที่คนมารับประทานอาหารและนั่ง อาบแดดกัน ผ่านไปจนถึงวิหารนอตเตอดาม เดินต่อจนเจอสวนสาธารณะขนาดเล็กๆมีที่นั่งพักให้รับประทานอาหารใต้ร่มไม้ได้อย่างเย็นสบาย ใกล้ๆมีห้องน้ำไว้บริการแบบหยอดเหรียญ

หลังอาหารกลางวันเดินเที่ยวต่อผ่านไปในเขตเมืองเก่าผ่านซิตี้พาเลซ ตลาดผลไม้ พระราชวังของแกรนด์ดยุคที่สวยงามแบบเรียบๆเป็นอาคารคอนกรีตสามชั้นหลังไม่ใหญ่โตนัก น้องแคนเข้าไปถ่ายรูปคู่กับทหารที่เฝ้าอยุ่หน้าวัง มีนักท่องเที่ยวไปขอถ่ายรูปด้วยเยอะ สักพักตำรวจได้นำโซ่มากั้นไว้เพราะนักท่องเที่ยวไปรบกวนการยืนเวรยามของทหารมากเกินไป เดินลัดเลาะขึ้นลงไปตามถนนที่ปูลาดด้วยหินจนถึงแนวกำแพงเมืองโบราณที่เป็นที่สูงมองลงไปเห็นทิวทัศน์ด้านตรงข้ามสวยงามเพลินตา ด้านล่างเป็นแม่น้ำฟ้าใสไหลคดเคี้ยวทอดตัวไปมาโอบรอบแนวกำแพงหินผาที่ทำเป็นเชิงเทินเพื่อป้องกันการโจมตีของข้าศึก เป็นป้อมปืน (The bock Casemates) ที่อาศัยความสูงของพื้นธรรมชาติตัดกับแอ่งที่ราบลุ่มน้ำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างน่าตระการตา

ป้อมปืนนี้ มีการขุดเจาะหลุมลงไปในพื้นดินเป็นที่สำหรับหลบภัยข้าศึกศัตรู หรือวางแผนการรบได้ สร้างตั้งแต่ปี ค.ศ. 963 แต่ก็ไม่สามารถป้องกันการรุกรานของพวกเบอร์กันเดี้ยนได้ ในปี ค.ศ. 1443 ได้มีการสร้างขึ้นใหม่โดยการแบ่งออกเป็น 3 วง 24 ป้อมปราการ เครื่องป้องกันที่แข็งแรงอีก 16 จุด และขุดเจาะเป็นแนวหลุมเพลาะยาวติดต่อกันถึง 23 กิโลเมตร ไม่ใช่แค่จุทหารและม้าศึกได้เป็นพันๆ แต่สามารถจุอุปกรณ์ต่างๆไว้ได้มากมาย ต่อมาในปี คศ. 1875 กองทัพได้ถอนออกไปและมีการื้อถอนบางส่วนยังคงเหลือเป็นอุโมงค์ 17 กิโลเมตรในหลายระดับความลึกและได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 1994 ในการชมสถานที่นี้ส่วนที่เป็นป้อม เชิงเทินด้านนอกขึ้นไปชมความงดงามของทิวทัศน์โดยรอบได้ฟรี มีแผนที่อธิบายส่วนต่างๆที่มองเห็นให้ทราบได้ง่าย ส่วนที่เป็นอุโมงค์เสียค่าเข้าชมคนละ 2 ยูโร อากาศในอุโมงค์เย็นสบาย ไม่อึดอัดอบอ้าว

หลังจากนั้นก็เดินลัดเลาะลงไปยังหุบแอ่งแม่น้ำด้านล่าง ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำเล็กๆ เดินชมแนวท่อส่งน้ำโบราณสมัยโรมันที่ปรับปรุงมาเป็นฐานรองทางรถไฟ ผ่านทุ่งหญ้าสวนสาธารณะ เดินขึ้นเนินไปเรื่อยๆจนไปถึงย่านเมืองใหม่ พักแวะซื้อไอศกรีมและน้ำอัดลมดื่มแก้กระหายก่อนที่จะเดินกลับจนถึงสถานีรถไฟและขึ้นรถไฟตอน 17:21 น. สัก 15 นาทีก็ถึงเมืองอาร์ลอน แวะลงเดินเที่ยวที่เมืองอาร์ลอน ห่างจากสถานีรถไฟไม่ไกลก็ถึงโบสถ์เซนต์มาร์ติน แวะนั่งพักคลายเมื่อย เข้าไปชมความงามในโบสถ์พบว่ากำลังมีการทำพิธีมิซซาให้เด็กเกิดใหม่ ต้นไม้ด้านหน้าโบสถ์ออกดอกสีชมพูเต็มต้น เดินเข้าไปชมในเมืองได้สักพัก เมืองค่อนข้างเงียบ ไม่เจอนักท่องเที่ยวเลย และพวกเราก็เริ่มเหนื่อยล้าจากการเดินมาทั้งวัน น่าทึ่งมากที่แคน ขิม ขลุ่ยสามารถเดินเที่ยวกับผู้ใหญ่ได้โดยไม่งอแงให้อุ้มเลย น้องแคนช่วยสะพายเป้กับพ่อคนละใบเพื่อบรรทุกอาหารการกินระหว่างเที่ยว ตอน 19:24 น.ขึ้นรถไฟกลับโดยลงเปลี่ยนรถไฟที่สถานีรถไฟบรัสเซลส์เหนือ เด็กๆหลับบนรถไฟมาตลอด ตอนถึงแอนท์เวิปต้องอุ้มน้องขลุ่ยลงจากรถไฟ กลับมาถึงบ้านพักตอนสี่ทุ่มกว่าๆ

ประเทศลักเซมเบิร์ก เป็นประเทศในกลุ่มเบเนลักซ์ (BENELUX) ชื่อเต็มคือราชรัฐลักเซมเบิร์ก (Grand Duchy of Luxembourg) เป็นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีขนาดเล็กที่สุดในยุโรป ที่ไม่มีทางออกทะล พื้นที่ 2,586 ตารางกิโลเมตร อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปยุโรป มีพรมแดนด้านตะวันออกติดกับประเทศเยอรมนี ด้านใต้ติดกับฝรั่งเศส และด้านตะวันตกติดกับเบลเยียม มีเมืองหลวงชื่อลักเซมเบิร์กซิตี้ มีขนาดเป็นอันดับ 167 ของโลก พื้นที่ทั่วประเทศ 2,586 ตารางกิโลเมตร ทางตะวันตกของประเทศ มีพรมแดนติดกับจังหวัดลักเซมเบิร์กของเบลเยียม ซึ่งมีพื้นที่ใหญ่ (4,443 ตารางกิโลเมตร) เกือบสองเท่าของประเทศลักเซมเบิร์ก ภาษาราชการคือฝรั่งเศส เยอรมันและลักเซมเบิร์ก ทางตอนเหนือของประเทศ เป็นเนินเขาและภูเขาเตี้ย จุดสูงสุดอยู่ที่ Buurgplaatz มีความสูง 559 เมตร พื้นที่อื่น มักจะเป็นเนินเขาเตี้ย เช่นกัน

การปกครองเป็นประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (Grand Duke) คือมีแกรนด์ดยุคอ็องรีที่ 1 มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าบริหาร มีประชากรประมาณ 465,000 คน มีรายได้ประชาชาติต่อหัวประชากร 75,130 ดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก (ปี 2005) สูงกว่าของไทย 6-7 เท่า มีดัชนีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HDI) สูงเป็นอันดับ 4 ของโลกอยู่ที่ 0.957 มีคำขวัญ (motto) ของประเทศว่า “เราต้องการจะยังคงเป็นในสิ่งที่เป็นอยู่” (We want to remain what we are) มีเพลงชาติชื่อบ้านเกิดของเรา (Our homeland)แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 3 อำเภอ (District) คือ Diekirch, Grevenmacher, Luxembourg แบ่งย่อยเป็น12 แคว้น (Canton) และ 116 ชุมชน (Commune) โดย 12 ชุมชนมีสถานะเป็นเมือง (City) รวมทั้งเมืองหลวงลักเซมเบิร์กซิตี้ ที่เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุด การเที่ยวครั้งนี้ทำให้ผมและครอบครัวไปได้ครบกลุ่มเบเนลักซ์ทั้งเบลเยียม เนเธอร์แลนด์และลักเซมเบิร์กที่ถือเป็นบ้านพี่เมืองน้องกัน

พิเชฐ  บัญญัติ(Phichet Banyati)

Verbond straat 52, 2000 Antwerp, Belgium

14 พฤษภาคม 2551, 22.35 น. ( 03.35 น.เมืองไทย )

หมายเลขบันทึก: 182168เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2008 03:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 21:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • อ่านเพลินดีครับคุณหมอ
  • ขอให้เขียนวิทยานิพนธ์ได้อย่างปลอดโปร่งใจนะครับ

เรียนอาจารย์สุพักตร์ที่นับถือ

ขอบคุณมากครับที่แวะมาให้กำลังใจ การเขียนวิทยานิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษนี่เครียดเหมือนกันเพราะไม่ถนัดใช้คำเหมือนภาษาไทยครับ ตอนนี้เพิงทำเสร็จร่างแรกและเสนออาจารย์ที่ปรึกษาพิจารณาให้ข้อแนะนำเพื่อปรับแก้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท