ระบบการสื่อสารฉุกเฉินสำหรับพิบัติภัย


ระบบการสื่อสารฉุกเฉินสำหรับพิบัติภัย

Photo from International Federation of Red Cross and Red Crescent Societiesเหตุการณ์พายุไซโคลนนาร์กีส ที่เกิดขึ้นในประเทศพม่า ซึ่งคาดว่าอาจจะมียอดผู้เสียชีวิตถึง 100,000 คน และมีผู้ที่ทุกข์ทรมานจากพายุครั้งนี้นับล้าน ปัจจัยสำคัญของการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติในระยะนี้ล้วนเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุจากสภาวะโลกร้อน ดังนั้นเหตุการณ์พายุที่มีความรุนแรงพัดเข้าไปสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ที่พายุพัดผ่าน สามารถที่จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากกว่าในอดีต

นับตั้งแต่เหตุการณ์คลื่นยักย์สึนามิพัดถล่มพื้นที่ชายฝั่งรอบมหาสมุทรอินเดียปลายปี 2547 ทำให้หลายหน่วยงานได้พัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยเหลือประชาชนในระหว่างเกิดภัยพิบัติขึ้น เพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ต่างๆ เรื่องการสื่อสารระหว่างภัยพิบัติเป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกพัฒนาขึ้น เพราะเมื่อเกิดภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายรุนแรง ระบบการสื่อสารในพื้นที่จะถูกตัดขาด เนื่องจากไม่มีกระแสไฟฟ้า หรือ อุปกรณ์เครือข่ายเสียหาย อาทิ เสาสัญญาณต่างๆ ถูกทำลายซึ่งการสื่อสารนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญในอันดับต้นๆ ที่จะช่วยให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างทันท่วงที โดยระบบการสื่อสารจะช่วยให้ข้อมูลในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ และเป็นเครื่องมือในการประสานงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือ หรือกระทั่ง ญาติ พี่ น้อง เพื่อนฝูง ของผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ประสบภัย ต้องการติดต่อเพื่อถามข่าวคราวกัน

รถสื่อสา่รฉุกเฉินเพื่อสังคมไทยการเข้าไปติดตั้งระบบการสื่อสารฉุกเฉิน จึงมีความจำเป็น หลังเหตุการณ์สึนามิ หน่วยงานด้านโทรคมนาคมต่าง ๆ ประเทศไทย ได้เข้าไปในพื้นที่ประสบภัยเกือบจะทันทีหลังเหตุการณ์เกิดขึ้น และได้ติดตั้งระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมทั้งโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต รวมทั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ฉุกเฉิน ซึ่งทำให้หน่วยงานที่เข้าไปช่วยเหลือทำงานได้อย่างรวดเร็วขึ้น รวมทั้งมีบริการให้โทรศัพท์ฟรีให้กับประชาชนในพื้นที่ประสบภัยด้วย ภายหลังเนคเทคได้พัฒนาเป็นรถสื่อสารฉุกเฉินที่สามารถแล่นเข้าไปในพื้นที่เกิดภัยพิบัติและติดตั้งระบบสื่อสารเพื่อให้บริการโทรศัพท์ และ อินเทอร์เน็ตในพื้นที่ได้ทันที

ต้องใช้รถขนจานดาวเทียมเข้าไปในพื้นที่ทุกครั้งเลยหรือ?? คำตอบก็คือ ไม่จำเป็น เพราะอุปกรณ์สื่อสารผ่านดาวเทียมไม่ได้ใหญ่โต หรือ ต้องใช้จานดาวเทียมใบใหญ่อีกต่อไปแล้ว Inmarsat BGAN Satellite ได้พัฒนาอุปกรณ์เชื่อมต่อโทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม ที่มีน้ำหนักเพียง 1.25 กิโลกรัม และเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วยความเร็ว 384 Kbps เรียกได้ว่าเป็นระบบบรอดแบนด์เลยที่เดียว อุปกรณ์ที่ว่านี้มีขนาด 200 X 140 มิลลิเมตร สามารถเชื่อมต่อ อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์พร้อมกันได้รวมทั้งมีฟังชั่นการใช้งานบลูทูธ เพื่อเชื่อมต่อหูฟังโทรศัพท์ หรือ เครื่อง โน๊ตบุ๊ตได้ โดยมีราคาประกาศขายทางเว็บไซต์ประมาณ 44,000 บาท ทั้งนี้ไม่รวมค่าใช้สัญญาณดาวเทียมหรือค่า Air time

Telecoms Sans Frontieres (TSF) ซึ่งเป็นหน่วยงานไม่แสวงกำไรของฝรั่งเศส ที่มีภารกิจในการติดตั้งระบบการสื่อสารในพื้นที่ ๆ ประสบภิบัติภัย และเป็นหน่วยงานหนึ่งที่นำระบบการสื่อสารเข้าไปในพื้นที่สึนามิ ได้จัดเตรียมชุดการสื่อสารฉุกเฉินพร้อมที่จะเข้าไปในพื้นที่ประสบภัยพายุไซโคลนนาร์กีส โดยอุปกรณ์สื่อสารดังกล่าว เป็นอุปกรณ์ที่องค์กรสาธารณะประโยชน์อื่น ๆ สามารถที่จะมีระบบนี้ใช้งานได้ ซึ่งระบบที่ว่านี้ประกอบด้วย

  • ระบบเชื่อมต่อดาวเทียมBGan (ข้อมูลและเสียง : 496kbps) เป็นระบบเชื่อมต่อหลัก

  • ระบบเชื่อมต่อดาวเทียมGan M4 (ข้อมูลและเสียง : 64kbps) เป็นระบบสำรอง

  • จานดาวเทียม VSAT สำหรับการใช้งานระยะยาว

  • โทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านดาวเทียม 2 เครื่อง

  • โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ GSM พร้อมซิมการ์ดที่ใช้งานในประเทศนั้นๆ ในกรณีที่เครือข่าย GSM สามารถใช้งานได้

  • เราเตอร์และอุปกรณ์เครือข่ายคอมพิวเตอร์ไร้สาย เพื่อการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

  • อุปกรณ์ขยายสัญญาณเครือข่ายคอมพิวเตอร์ไร้สาย
  • เครื่องคอมพิวเตอร์ ปริ้นเตอร์ และแสกนเนอร์

  • อุปกรณ์ GPS

  • แบตเตอรี่ และ ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังแสงอาทิตย์

จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันไม่ว่าจุดใดของโลกก็สามารถสื่อสารกันได้โดยใช้เทคโนโลยีดาวเทียม จึงไม่สงสัยเลยว่าเหตุใดผู้สื่อข่าวต่างประเทศจึงสามารุส่งภาพและข้อมูลออกมาได้ ถึงแม้ระบบการสื่อสารในประเทศนั้นถูกตัดขาด

แต่กระทั้งขณะนี้ไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์หล่านี้สามารถเข้าไปช่วยประชาชน ที่ประสบภัยในพม่าได้หรือยังเพราะพวกเขารอวีซ่าเข้าพม่าอยู่ที่สำนักงานในกรุงเทพ ซึ่งขณะนี้ปัญหาที่เป็นที่ทุกข์ใจอย่างมากของชาวพม่าที่อาศัย หรือ ทำงานอยู่ในประเทศต่างๆ คือพวกเขาไม่สามารถติดต่อกับ ญาติ พี่ น้องที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยได้ ซึ่งต่างก็ภาวนาว่าญาติ พี่ น้องของเขาจะปลอดภัย

คงไม่มีใครปารถณาให้ระบบเหล่านี้ได้ใช้งานบ่อย ๆ เพราะนั้นหมายความว่าเรามีภัยพิบัติเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่หากภัยพิบัตินั้นเกิดขึ้นแล้วก็จำเป็นที่ คนและเทคโนโลยีต้องเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยโดยเร็วที่สุดเพราะเร็วขึ้นเพียงหนึ่งนาทีก็อาจหมายถึงการช่วยชีวิตคนได้หลายคน

ไกลก้อง ไวทยการ
http://www.ict.or.th

ข้อมูลบางส่วนจาก http://news.bbc.co.uk/2/hi/technology/7393026.stm
เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง http://www.tsfi.org

ที่มา:http://www.ict.or.th

หมายเลขบันทึก: 181927เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2008 15:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณนะค่ะที่นำเรื่องราวดี ๆ มาร่วมแบ่งปัน แต่เอ!!เรื่องของภัยธรรมชาติก็ว่ายากนะค่ะเพราะบางครั้งเราไม่สามาถป้องกันได้เลยค่ะ

เห็นด้วยครับ ว่าภัยธรรมชาตินั้นป้องกันยากขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือการช่วยเหลือที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท