Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๔๑)_๑


บทสรุปปรากฏการณ์ มหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 2 (1)
(Executive Summary)

         มหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 2 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1-2 ธันวาคม 2548 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ ได้กำหนดประเด็นหลัก (theme) ของการจัดงานว่าเป็น “เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง” ทำให้การออกแบบงานมหกรรมฯครั้งนี้ มีความแตกต่างจากงานสัมมนาวิชาการจัดการความรู้ทั่วไป กล่าวคือ งานได้มุ่งหวังให้เกิดการเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้ปฏิบัติ (interactive learning) จึงมีการแบ่งเนื้อหา (content) ออกเป็นส่วนๆ และผู้ประสงค์เข้าร่วมงานก็จะลงทะเบียนตามเนื้อหาเหล่านั้น เพื่อที่จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับวิทยากรที่ได้มานำเสนอกรณีศึกษาต่างๆ ตามเนื้อหาที่จัดเวทีไว้เป็นห้องอย่างเป็นสัดเป็นส่วน เนื้อหาที่นำเสนอในงามมหกรรมฯ ประกอบไปด้วย
  1. การจัดการความรู้ในภาคประชาสังคม เป็นเวทีบอกเล่าเรื่องราวของเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากการประกอบอาชีพในแนวทางเกษตรเคมี จนเกิดผลกระทบกับตัวเอง ครอบครัว และสังคมมากมาย มาสู่เกษตรอินทรีย์ที่พึ่งพาธรรมชาติอย่างได้ผล
  2. การจัดการความรู้ในภาคราชการ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากองค์กรภาครัฐที่นำกระบวนการจัดการความรู้ไปใช้เพื่อความสำเร็จหรือเพิ่มประสิทธิผลให้กับองค์กร ในขณะเดียวกันก็จะเป็นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรภาครัฐ ทั้งนักปฏิบัติ หรือ  “คุณกิจ” และ ผู้อำนวยการเรียนรู้หรือ “คุณอำนวย” นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงเครื่องมือบางประการที่จะช่วยให้กระบวนการจัดการความรู้เป็นไปอย่างมีทิศทาง ได้แก่ การใช้ตัวชี้วัด
  3. การจัดการความรู้ในภาคเอกชน เป็นการนำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการความรู้ในกลุ่มที่ถือว่าเป็นต้นกำเนิดของการจัดการความรู้ คือภาคธุรกิจเอกชน โดยมีความหลากหลายทั้งวิธีคิด วิธีปฏิบัติ และการประยุกต์ใช้การจัดการความรู้ให้สอดคล้องกลมกลืนไปกับเนื้องาน
  4. ห้องเรียน KM และการจัดการความรู้ในโรงเรียน เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ถือว่ามีความแตกต่างหลากหลายมาก แม้ว่าจะมีกรณีศึกษาเรื่องการจัดกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนเป็นตัวเดินเรื่องก็ตาม หากแต่ผู้เข้าร่วมในเวทีนี้มาจากหลายวิชาชีพ ทำให้การแลกเปลี่ยนในเรื่องกระบวนการ KM นั้นเป็นไปอย่างน่าสนใจ รวมทั้งมีการเสริมความรู้เรื่องแหล่งเรียนรู้ใน Internet ได้แก่สารานุกรม Wikipedia ให้แก่ผู้เข้าร่วมงานอีกด้วย
  5. คลินิคให้คำปรึกษา ถือเป็นสีสันของงานมหกรรมที่ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์ได้อย่างดี โดยจัดให้มีผู้รู้หรือผู้มีประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆ มาทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้สนใจ งานมหกรรมฯ นี้มีการให้คำปรึกษาใน 3 หัวข้อ คือ KM Thesis เป็นการให้คำปรึกษาเพื่อการทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการจัดการความรู้ Weblog เป็นการให้คำปรึกษาประกอบการสาธิตการใช้งานจริงของ Blog และ Faci Service เป็นการแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจในบทบาทของ “คุณอำนวย” (knowledge facilitator)

         นอกจากเนื้อหาหลักทั้ง 5 ประเด็นแล้ว ยังมีการนำเสนอเรื่องราวของการจัดการความรู้จากหน่วยงาน/กลุ่ม/องค์กร ต่างๆ ในรูปแบบของการจัดนิทรรศการอีกถึง 30 บูธ ที่สำคัญ ผู้เข้าร่วมงานจะได้ฟังการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การจัดการความรู้: กระบวนการปลดปล่อยมนุษย์ สู่ศักยภาพ เสรีภาพและความสุข” โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ ประเวศ วะสี ที่จะทำให้ผู้ร่วมงานได้เข้าใจได้ถึงพลานุภาพของการจัดการความรู้ที่จะปลดปล่อยมนุษย์จากพันธนาการทั้งปวงที่คุมขังมนุษย์ไว้ รวมทั้งยังได้เห็นความก้าวหน้าของการทำงานส่งเสริมการจัดการความรู้ของ สคส. ผ่านวิดีทัศน์เรื่อง “คุณค่าและมูลค่าแห่งปัญญาปฏิบัติ”


สรุปความรู้จากวิดีทัศน์เรื่อง “คุณค่าและมูลค่าแห่งปัญญาปฏิบัติ”

         วิดีทัศน์ได้เสนอเรื่องราวของการจัดการความรู้ในลักษณะของกรณีศึกษา 2 กรณี ที่สะท้อนหลักการทำงานของ สคส. โดยทั้ง 2 กรณีนั้นเน้นหลักการจัดการความรู้ที่เชื่อว่าความรู้เกิดจากผู้ปฏิบัติ ได้ลงมือทำจริง เกิดผลจริง และนำไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อขยายผล ยกระดับความรู้ขึ้นไป ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับแนวทางของ สคส. นอกจากนี้กรณีศึกษาทั้งสองกรณียังเป็นกลุ่ม/องค์กร ที่ให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในองค์กรมาอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่กรณีที่ 1 เป็นการจัดการความรู้โดยภาคประชาชน ที่มุ่งเน้นแก้ป้ญหาความทุกข์ในการดำเนินชีวิต และการประกอบสัมมนาชีพ กรณีที่ 2 เป็นการจัดการความรู้ในองค์กรที่เป็นทางการ คือ โรงพยาบาล ที่มุ่งเน้นการบรรลุเป้าหมายขององค์กร คือ การทำให้ผู้รับบริการ (คนไข้) ได้บริการที่ดีที่สุดและมีความพึงพอใจ

กรณีที่ 1 บทเรียนการจัดการความรู้ที่พิจิตร

         จุดเริ่มต้นของการทำงานพัฒนาโดยภาคประชาชนของจังหวัดพิจิตรนั้นเกี่ยวข้องกับ ประเด็นปัญหาพื้นฐานของชาวบ้าน คือ หนี้สินและปัญหาสุขภาพ (มีสารพิษตกค้าง) โดยมีบทเรียนว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิมๆ นั้นไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้จริง จำเป็นต้องค้นหาวิธีใหม่ ซึ่งเชื่อว่า คนต้องเปลี่ยนวิธีคิด (กระบวนทัศน์) จากวิธีคิดแบบเดิมไปสู่วิธีคิดแบบใหม่ที่จะนำไปสู่การปลดปล่อยทุกข์ทั้งเรื่องหนี้สินและสุขภาพ โดยผ่านเครื่องมือที่สำคัญคือ โรงเรียน วปอ. (วิทยากรการเปลี่ยนแปลงสู่การพึ่งตนเองและการพึ่งพากันเอง) ที่นำเอาปราชญ์ชาวบ้านมาถ่ายทอดความคิด ให้เห็นตัวแบบ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนวิธีคิด และมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากมายตามมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ปัญหาดังกล่าวคลี่คลายไปในทางดีขึ้น และเริ่มนำเอาแนวทางการจัดการความรู้ที่ สคส. แนะนำให้มาต่อยอดการทำงาน ทำให้กระบวนการทำงานเป็นระบบ เห็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ทำให้เห็นกลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญหรือที่เรียกว่าเป็น ชุมชนนักปฏิบัติ (community of practice: CoPs) และเริ่มยกระดับการทำงานความรู้จากเครือข่ายในแนวนอนคือชาวบ้านด้วยกัน มาเป็นเครือข่ายในแนวตั้ง โดยเริ่มมีภาครัฐ ภาคการเมืองเข้ามาร่วมทำงาน ผลักดันให้เกิดเป็นนโยบายสาธารณะเพื่อท้องถิ่น

กรณีที่ 2 บทเรียนการจัดการความรู้ที่โรงพยาบาลบ้านตาก

         โรงพยาบาลบ้านตากสามารถดำเงินงานขององค์กรที่มีความซับซ้อน มีหลายบทบาทหน้าที่ที่สัมพันธ์กัน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายหลักเพียงข้อเดียวคือการจัดบริการสุขภาพที่ดีที่สุดแก่ชุมชน ได้อย่างผสมกลมกลืน การจัดการความรู้ในโรงพยาบาลแห่งนี้ถูกผนวกเป็นเนื้อเดียวกับระบบงานของโรงพยาบาล โดยมีจุดเน้นที่เชื่อในการเรียนรู้จากการปฏิบัติ อาทิ เช่น การพัฒนาซอฟท์แวร์ระบบปฏิบัติการของโรงพยาบาล (hospital OS) โดยบุคลากรของโรงพยาบาลเอง ให้สามารถใช้งานได้จริง มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหมู่ผู้ปฏิบัติ มีการจดบันทึกและพัฒนาศักยภาพของ “คุณอำนวย” ขึ้นมา กระบวนการดังกล่าวทำให้การดำเนินงานมีความเป็นพลวัต คือ มีการทดลองปฏิบัติจริงและปรับใช้จนมีประสิทธิภาพสูง หรือการนำเอาพยาบาลที่มีทักษะสูง มาถ่ายทอดความรู้ฝังลึก (tacit knowledge) แก่รุ่นน้อง ช่วยพัฒนาศักยภาพของคนทำงานควบคู่ไปกับการเผยแพร่ขุมความรู้ (knowledge diffusion) เมื่อพัฒนาไประยะหนึ่งก็เกิดเป็นชุมชนนักปฏิบัติ (community of practice: CoPs) ที่สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามกลุ่ม ข้ามหน่วยงานทำให้เกิดการยกระดับการเรียนรู้ให้สูงขึ้น
         บทสรุปของการจัดการความรู้ในทั้งสองกรณีศึกษา ทำให้เห็นว่าแม้จะต่างเรื่อง ต่างสภาพการทำงาน การจัดการความรู้เริ่มจากการตั้งโจทย์หรือเป้าหมายของตนเองให้ชัดเจนว่าปัญหาคืออะไร และแสวงหาความรู้ในตัวคน คือ เชื่อมันว่ามีคนในชุมชนหรือในองค์กร ที่มีความสามารถจัดการเรื่องนี้ได้ หรือที่เรียกว่ามีความรู้ฝังลึก และเมื่อคนเหล่านี้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันความรู้ นำไปสู่การปฏิบัติ เรียนรู้ปรับเปลี่ยน จนเกิดเป็นขุมความรู้นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเป็นเช่นนี้อย่างเป็นพลวัตไม่รู้จบ

สรุปความรู้จากการปาฐกถาพิเศษ “การจัดการความรู้ กระบวนการปลดปล่อยมนุษย์สู่ศักยภาพ เสรีภาพและความสุข” โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี

         ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้เริ่มต้นชี้ให้เห็นว่า สมมุติฐานที่ว่าเมื่อมนุษย์มีสมองที่ประเสริฐที่สุด มีความสามารถในการเรียนรู้อย่างไม่มีขีดจำกัด สามารถพัฒนาไปสู่บุคคลและสังคมที่ดีได้นั้นดูจะไม่เป็นจริงในสภาพของสังคมที่มีโครงสร้างที่ซับซ้อนที่ดูเหมือนกักขังมนุษย์อยู่  เปรียบเหมือน “คุกที่มองไม่เห็น” หรือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง มีผลให้คนสิ้นหวังและไม่อยากเรียนรู้ นำไปสู่ปัญหาสังคมหลายประการในทุกระดับ อาจารย์จึงมีความเชื่อว่าการจัดการความรู้ซึ่งเป็นกระบวนการทางปัญญานั้นจะช่วยทำให้หลุดไปจากการคุมขังนั้นได้ โดยเสนอให้ใช้หลักคุณธรรม 8 ประการของการจัดการความรู้ ได้แก่
1. ศีลธรรมพื้นฐาน คือ เคารพความรู้ในตัวคน คนทุกคนเป็นคนมีศักดิ์ศรี มีเกียรติ โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อย คนยากคนจน
2. การไม่ใช้อำนาจ  เพราะการใช้อำนาจจะไปบดบังกระบวนการทางธรรมชาติ  แต่การจัดการความรู้จะไปส่งเสริมกระบวนการทางธรรมชาติ  ให้มีการเรียนรู้มีการแลกเปลี่ยน มีการงอกงามไปตามธรรมชาติ
3. การฟังอย่างลึก (deep listening) จะทำให้รู้ความรู้ภายในตัวคนได้ การฟังอย่างลึกนั้นเป็นการเคารพคนนั้น เมื่อเราได้รับฟังอะไรมา แล้วนำมาพิจารณาอย่างเงียบๆ มีสติ เมื่อมีสติก็จะเกิดปัญญา คิดเชื่อมโยง ทั้งอดีต ปัจจุบัน  ทำให้เห็นอนาคต
4. วิธีการทางบวก คือไม่มุ่งเน้นแต่การแก้ทุกข์เพียงอย่างเดียว อะไรที่ทำดี ที่จะทำให้เกิดพลังเพิ่มขึ้นก็ถือว่าใช้ได้
5. เจริญธรรม 4 ประการที่เกื้อหนุนในการเรียนรู้ร่วมกัน ได้แก่ ความเอื้ออาทรต่อกัน มีความเปิดเผย มีความจริงใจ ความไว้วางใจกัน
6. การปฎิบัติ เป็นหัวใจของการจัดการความรู้
7. ถักทอไปสู่โครงสร้างใหม่ขององค์กรและสังคม โดยเปลี่ยนจากโครงสร้างทางดิ่งแบบใช้อำนาจ แบบตัวใครตัวมันไม่เกี่ยวข้องกัน ทอดทิ้งกัน มาทำให้เกิดการสร้างเครือข่าย ระหว่างคนกับคน คนกับกลุ่ม  กลุ่มกับกลุ่มทุกองค์กรในสังคม
8. การเจริญสติ คือการรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ทั้งในการฟังผู้อื่น เพื่อจะให้ความรู้ในตัวออกมา  และการเจริญสติไปด้วยในการทำงาน  จนเกิดเป็นการเจริญสติของกลุ่ม (collective mindfulness)
ท้ายที่สุดศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสีได้เสนอแนวคิดที่เชื่อมโยงคุณธรรมทั้ง 8 ประการ กับการพัฒนาทั้ง 4 ด้าน (กาย จิต สังคม และปัญญา) เข้าด้วยกันและเน้นให้พัฒนาทั้ง 4 อย่างบูรณาการ โดย เรื่องกายหรือเรื่องวัตถุ เน้นในเรื่องสุขภาพ  เรื่องทักษะ เรื่องความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม เรื่องจิต  เน้นการเคารพคนอื่น มีความเมตตากรุณา มีความมั่นใจ มีสติ เรื่องสังคม  เน้นศีลธรรมพื้นฐาน การร่วมคิดร่วมทำ การปรับโครงสร้างสังคมจากแนวดิ่งสู่เครือข่ายไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ  และปัญญา เน้นการนึกถึงผู้อื่น การเข้าถึงธรรมชาติโดยไม่ใช้อำนาจ  ใช้การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 18160เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2006 13:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท