เริ่มคิดตลาดนัดความรู้การจัดการเรียนการสอนทางคลินิก


กิจกรรมแบบนี้จะทำให้เกิดเครือข่ายระหว่างสถาบันขึ้นได้

ระหว่างวันที่ ๒๙-๓๐ เมษายน ๒๕๕๑ ดิฉันได้เข้าประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการพัฒนากรอบมาตรฐานคุณวุฒิอุดมศึกษาแห่งชาติ สาขาพยาบาลศาสตร์ ณ โรงแรมเลอคาซา บางแสน จังหวัดชลบุรี การประชุมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการจัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์และข้อกำหนดจำเพาะของหลักสูตร” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.)

ผู้รับผิดชอบโครงการดังกล่าวคือ รศ.ดร.ดรุณี รุจกรกานต์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในฐานะประธานที่ประชุมคณบดีและหัวหน้าสถาบันการศึกษาของรัฐสาขาพยาบาลศาสตร์ (ทคพย.) และมีคณะกรรมการพัฒนากรอบมาตรฐานคุณวุฒิอุดมศึกษา สาขาพยาบาลศาสตร์ ๑ ชุด

การประชุมวันแรกมีการแบ่งกลุ่มย่อย ๓ กลุ่ม ช่วยกันทำงานเพื่อจัดทำผลลัพธ์การเรียนรู้ของบัณฑิตพยาบาล ข้อกำหนดจำเพาะของหลักสูตร ข้อกำหนดจำเพาะของรายวิชา และข้อกำหนดจำเพาะของประสบการณ์ภาคปฏิบัติ ดิฉันเข้าประชุมได้เป็นช่วงๆ เพราะต้องแว๊บไปสอบวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของนิสิตคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา (อ่านที่นี่)

หลังอาหารเย็นเรามีกำหนดการทำงานกลุ่มเพื่อทำข้อกำหนดจำเพาะของรายวิชา ทางโรงแรมจัดเตรียมให้พวกเรารับรับประทานอาหารที่ริมสระน้ำ แต่ฟ้าไม่เป็นใจ ยังไม่ทันได้รับประทานอาหารฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก กว่าจะจัดที่รับประทานอาหารใหม่ได้ก็ต้องรอกันอยู่นานทีเดียว

ดิฉันและกลุ่มรวม ๖ คน เช่น ผศ.ดร.ภาวนา กีรติยุตวงศ์ ม.บูรพา ผศ.ดร. ธีรนุช ห้านิรัติศัย ม.ธรรมศาสตร์ ผศ.พัชรินทร์ ขวัญชัย จาก มศว........................รับผิดชอบทำข้อกำหนดจำเพาะของรายวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เรารวมตัวทำงานกันที่ห้องพักของดิฉัน ซึ่งเป็นห้องใหญ่ มีโต๊ะและเก้าอี้เพียงพอ

ทำงานกันไปตามโจทย์ที่กำหนดให้ จนถึงเรื่องของกลยุทธ์การสอน วิธีประเมินผลการเรียนรู้ เราอยากคิดอะไรใหม่ๆ ที่ทำให้ทั้งอาจารย์และนักศึกษามีความสุข อาจารย์ในกลุ่มก็พากันเล่าเรื่องออกมาว่าสถาบันของตนมีวิธีการเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้อย่างไรบ้าง เช่น “เตรียมน้องขึ้นคลินิก” โดยรุ่นพี่มาเล่าประสบการณ์ให้น้องฟัง ส่งนักศึกษาที่ยังไม่ได้ขึ้นฝึกปฏิบัติงานให้ไปเห็นสภาพของคลินิก  ที่ ม.บูรพา ช่วง summer มีนิสิตอาสาดูแลผู้ป่วย ม.ขอนแก่น มีกิจกรรมจิตอาสาพานักศึกษาไปดูแล hygiene care ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ทาง มศว.พานักศึกษาไปดูแลเด็กที่บางละมุง ฯลฯ

ฟังแล้วก็เกิดประกายความคิดว่าเราน่าจะจัดตลาดนัดความรู้ได้นะ ผศ.พัชรินทร์ ขวัญชัย สนใจเพราะที่คณะพยายามจัดกิจกรรมให้อาจารย์จากภาควิชาต่างๆ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันและบันทึกเอาไว้ แต่ยังไม่ได้ผลดีเท่าไหร่ เมื่อถึงเวลาที่ต้องมาพบกันบางคนจะบ่นว่า “อีกแล้วหรือ”

เมื่อดิฉันเล่าเรื่องการจัดตลาดนัดความรู้ อาจารย์ในกลุ่ม รวมทั้ง รศ.รุจิเรศ ธนูรักษ์ ซึ่งมานอนสังเกตการณ์ทำงานอยู่ใกล้ๆ สนใจมากเพราะมองเห็นว่ากิจกรรมแบบนี้จะทำให้เกิดเครือข่ายระหว่างสถาบันขึ้นได้

ประเมินจากสีหน้าและแววตาของอาจารย์ทั้งหลายแล้ว การจัดตลาดนัดความรู้เรื่องการจัดการเรียนการสอนทางคลินิกน่าจะเป็นไปได้จริง ยิ่งเมื่อมาอภิปรายงานที่ทำในที่ประชุมใหญ่ยังได้รู้เพิ่มมาอีกว่า การประเมินผลภาคปฏิบัติทำได้หลายแบบ เช่น การประเมินพัฒนาการของการเรียนรู้ เป็นกำลังใจให้นักศึกษาที่ไม่เก่งแต่มีความก้าวหน้า มีการ weight น้ำหนักข้อที่ประเมินไม่เท่ากัน อย่าไปหนักในเรื่อง procedures อย่างเดียว ฯลฯ

ใครมี best practice เรื่องนี้เตรียมตัวไว้แต่เนิ่นๆ นะคะ

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 181570เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2008 14:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาอ่านค่ะ

เป็นคนชลบุรี ไปเรียนสงขลา

เคยไปมวล.ชมชอบสถานที่ อาคารเรียน และ พื้นที่ที่กว้างใหญ่ร่มรื่น

จะแวะมาอีกค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท