รัฐธรรมนูญ 2550 ต้นเหตุแห่งวิกฤติของอำนาจทั้งสาม


บทความนี้ ตีพิมพ์ครั้งแรกที่"มติชนรายวัน" เมื่อ24 ส.ค.2550 ซึ่งกระผมได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญ 2550 ในประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะที่มาของ สว. และสัดส่วนของ สว.จังหวัดละ 1 คน น่าสนใจยิ่ง เช่น กรุงเทพฯ มีประชากรนับ 10 ล้าน ส่วน จ.ระนองมีประชากรเพียงหลักแสน แต่เลือก สว.ได้ 1 คน เท่ากัน เอะ..หรือคนกรุงเทพฯคุณภาพต่ำลงทุกวัน น่าอิจฉาคน จ.ระนอง เสียจริงๆ (นอกจากอยู่ใกล้พม่าแล้ว ยังมีสิทธิ์ส่งตัวแทนไปเป็น สว.ได้เท่าคนกรุงเทพฯ)

รัฐธรรมนูญ 2550 ต้นเหตุแห่งวิกฤติของอำนาจทั้งสาม

 

          ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านการลงประชามติไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ส่วนคะแนนเสียงรับร่างฯ จะผ่านไปแบบหวุดหวิด มิใช่เป็นประเด็นที่จะถกถียงกันอีกต่อไป  เพราะถึงอย่างไร สังคมไทยก็ต้อนรับ และยินดีปรีดากับฝ่ายชนะเสมอครับ

          มีนักวิชาการ  ตลอดจนผู้สันทัดจัดเจนในเรื่องรัฐธรรมนูญ ออกมาท้วงติงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในหลายประเด็น  โดยเฉพาะเป็นห่วงกันว่า  จะทำให้ได้รัฐบาลผสมที่อ่อนแอจนเกินไป นายกรัฐมนตรีอาจต้องพะวงอยู่กับการบริหารอำนาจ จนไม่มีเวลาบริหารประเทศ ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ มีกลุ่ม มีก๊วน ทางการเมือง ซึ่งมักคำนึงถึงปริมาณของผู้แทนราษฎร โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ แต่จำนวนผู้แทนฯ กลับมีประสิทธิภาพในการต่อรอง เพื่อแลกเปลี่ยนอำนาจและผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน

             ในที่สุด ประเทศชาติจะกลับไปสู่วังวน และบรรยากาศทางการเมืองแบบเดิมๆ กล่าวคือ เหมือนก่อนมีรัฐธรรมนูญ 2540

              กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 คงเห็นว่า รัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นเหตุ ที่ทำให้อดีตนายกทักษิณฯ มีอำนาจมากเกินไป เมื่อบริหารประเทศก็ไม่ฟังเสียงใคร และมีแนวโน้มไปในทางออกนโยบายที่เอื้ออาทรให้กลุ่มของตน ทั้งประโยชน์ในทางการเมือง และผลประโยชน์เรื่องเงินๆทองๆ หรือที่เรียกกันว่า ผลประโยชน์ทับซ้อน หรือ ทุตจริตเชิงนโยบาย

                   เมื่อเป็นเช่นนั้น กรรมาธิการยกร่างฯ ก็คิดต่อไปว่า ต้องทำให้รัฐบาล ภายใต้กติกาใหม่ เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจน้อยๆเข้าไว้   โดยหวังว่ารัฐบาลที่มีอำนาจไม่มากนักนั้น จะบริหารประเทศโดยรอบคอบ ฟังเสียงชาวบ้านและฝ่ายค้านบ้าง  ทั้งนี้กรรมาธิการยกร่างฯ ลืมคิดไปว่า รัฐบาลที่อ่อนแอ มักเกรงใจกลุ่ม ก๊วนการเมือง มากกว่าเกรงใจชาวบ้านอยู่ดี

                  รัฐบาลหลายพรรค หลายก๊วน ตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จะมีบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันดื้อๆ อย่าได้หวังว่าจะมีการออกนโยบายใหม่ๆมาเอื้ออาทรให้ผู้ใดเลย  เพราะวันๆเอาแต่ระวังขาเก้าอี้ของตนก็แทบจะไม่มีเวลา  และบางที นายกรัฐมนตรี จำต้องเกรงใจรัฐมนตรีช่วย ก็อาจจะเป็นไปได้

                  เพราะการมีผู้แทนในสังกัด 10 คน ขึ้นไป นอกจากจะต่อรองเอาตำแหน่งได้แล้ว  อาจเป็นเรื่องที่ทำให้รัฐบาลล้มไปหรือไม่ก็ได้  รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆจึงหากินกับของง่ายๆ(กินหัวคิว) ภายในกระทรวงตนเอง  กระทรวงใครกระทรวงมัน  ห้ามก้าวก่ายข้ามกระทรวง

                   หากบ้านเมืองของเราโชคดี ได้รัฐบาลที่ดี มีคุณธรรม รัฐมนตรีทุกคนใจซื่อมือสะอาด อย่าหวังไปเลยว่าจะบริหารประเทศได้  เพราะรัฐบาลเช่นนี้มักไม่กล้าตัดใจใดๆ เพราะนโยบายดีๆมักไปกระทบผลประโยชน์ต่อกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ และกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆก็มีตัวแทนในพรรคการเมืองและนั่งอยู่ในสภาทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล และที่แน่นอน ต้องเกรงใจวุฒิสมาชิกที่นั่งอยู่ในสภาสูง  ซึ่งค่อนครึ่งมาจากการสรรหา และเชื่อว่าลูกชาวบ้าน แม้จะมีความรู้และเป็นคนดีขนาดไหน ยากที่กรรมการสรรหาจะเอาไปใช้งาน

                 รัฐบาลที่อ่อนแอ ไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำนโยบายใดๆ  บ้านเมืองภายใต้รัฐบาลเช่นนี้ ต้องพ่ายแพ้ในการแข่งขันบนเวทีโลก 

                  ประเทศที่มี หัวหน้ารัฐบาล   แต่ทำงานเสมือน ปลัดประเทศ บรรยากาศเช่นนี้ อาจจะมีให้เห็นในอนาคต

                 และหากเกิดวิกฤติทางการเมือง เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงของรัฐมนตรี  หรือไม่ก็เกิดการหักหลังกันเองในพรรคร่วมรัฐบาล หรือกลุ่มก๊วนต่างๆ   ทำให้เกิดการยุบสภาถี่จนเกินไป การบริหารบ้านเมืองไม่ต่อเนื่อง นักการเมืองก็สาละวนอยู่กับการหาเสียง มากกว่าการทำงานด้านสภา

                  ที่สำคัญ เมื่อนักการเมืองทะเลาะกันมากๆ ทำให้ประชาชนเบื่อหน่าย จะมีพระเอกขี่ม้าขาว(ความจริงม้าเหล็กสีเขียว) ออกมายึดอำนาจ  ฉีกรัฐธรรมนูญ ตั้งกรรมการชำระความชั่วร้ายต่างๆของกลุ่มอำนาจเก่า และร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อรอการเลือกตั้งครั้งใหม่

                 ในทางรัฐศาสตร์เรียกว่าเป็น วงจรอุบาทว์ แต่สำหรับนักนิติศาสตร์ไทยหลายท่านเรียกว่า ฤดูกาลอันอุดมสมบูรณ์ ได้มาถึงแล้ว   

                 กล่าวคือ ได้มีโอกาสเป็นสมาชิกผู้ทรงเกียรติ โดยไม่ต้องไปหาเสียงกับประชาชน แต่ผู้ยึดอำนาจแต่งตั้งให้ฟรีๆ  นอกจากจะได้แสดงความสามารถผ่านสื่อทีวีเช้าเย็นแล้ว  แถมยังได้เงินเดือนนับแสนอีกด้วย

                   รัฐธรรมนูญ 2550 นอกจากได้รัฐบาลที่อ่อนแอแล้ว เราจะได้ฝ่ายนิติบัญญัติที่อ่อนแรงอีกด้วย  กล่าวคือวุฒิสภามีอำนาจเหลือล้น แต่ค่อนครึ่ง(74คน)ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่มาจากกรรมการสรรหา ซึ่งเป็นคนเพียงไม่กี่คน 

                   แต่สำหรับคนกรุงเทพฯนับสิบล้านคน มีสิทธิเลือกวุฒิสมาชิกได้ 1 คนเท่านั้น  น่าสงสารคนกรุงเทพฯมาก  แต่ก็น่าอิจฉาคนจังหวัดระนองเช่นกัน  ประชากรแค่หลักแสน มีสิทธิเลือกวุฒิสมาชิกได้เท่ากับคนกรุงเทพฯ

                  วุฒิสภาตามร่างรัฐธรรมนูญ 2550  ก็มาจากความล้มเหลวของ  สว.ตามรัฐธรรมนูญ 2540 กรรมาธิการยกร่างฯเห็นว่า สว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่อาจทำหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุลนักการเมืองได้  เพราะมาจากที่เดียวกัน   เลยเอาระบบผสมระหว่างระบบเลือกตั้ง และระบบสรรหา เผอิญตัวเลขประชาชนกรุงเทพฯ กับจังหวัดระนอง ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น ทำให้ได้ สว.คุณภาพหนึ่งเดียวของกรุงเทพฯ  ต้องอ่อนแรง  เพราะคนกรุงเทพฯนับหลายล้านคน  มีแรงสู้คนระนองหลักแสนไม่ได้

                       และที่สำคัญ กรรมการสรรหาฯ เพียงไม่กี่คน เป็นประชาชนชั้นหนึ่งของประเทศ ที่มีอำนาจทำคลอด สว.ได้ถึง 74 คน

                       ประเด็นเรื่อง สว. เราพอจะสรุปได้ไหมว่า  คนไทยหลายสิบล้านคน  เป็นคนจน โง่ แถมไม่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์พอที่เลือกตัวแทนของตนไปเป็นสว.ได้เต็มสภา จึงให้เลือกเอามาครึ่งเดียวก็พอ (76 จังหวัด 76 คน)

                       กรรมาธิการยกร่างฯ อาจเห็นว่า สภาผู้แทน 480 คน ก็เป็นพวกไม่น่าเชื่อถือ เป็นสภาขี้เกียจ พวกสันหลังยาว ไม่ยอมเสนอกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน  อย่ากระนั้นเลย ให้ศาลเป็นผู้เสนอกฎหมายได้ด้วย  ประเด็นนี้กรรมาธิการยกร่างฯ อาจจะคิดว่าศาลรู้กฎหมายดีกว่าองค์กรอื่นๆก็ได้ แต่ไม่ได้คิดออกแบบให้ศาลมีระยะห่างกับการเมืองให้มากที่สุด เพราะไม่ว่าใครก็ตาม เมื่อเข้าใกล้การเมือง มักเป็นที่ครหาไม่ใช่หรือ?

                     อำนาจตุลาการ โดยเฉพาะศาลยุติธรรม(ไม่เกี่ยวกับศาลอื่นๆ) เป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนมานานนับร้อยปี เราควรทะนุบำรุง และสงวนเอาไว้ให้เป็นหลักแห่งความยุติธรรมของบ้านเมือง  แต่กรรมาธิการยกร่างฯ กำลังออกแบบรัฐธรรมนูญเอาศาลยุติธรรมไปสุ่มเสี่ยงกับความน่าเชื่อถือของประชาชน

                      อย่าลืมว่า การที่ศาลยุติธรรม  รักษาความน่าเชื่อถือมายาวนานเช่นนั้น  ประเด็นใหญ่อยู่ที่ศาลยุติธรรมไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการบ้านเมืองไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ไม่เคยเข้าไปยุ่มย่ามในรัฐวิสาหกิจ และองค์กรอิสระใดๆมาก่อนเลย  ทำให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซง และทำลายความน่าเชื่อถือของศาลยุติธรรมได้ยาก

                      เพราะศาลใช้กฎหมาย และวางตนน่าเชื่อถือมาโดยตลอด ไม่ข้องแวะกับลาภยศใดๆ  ไม่เคยมุ่งหวังที่จะเข้าไปมีอำนาจในองค์กรใดๆอีกต่อไป เพราะการเป็นศาลยุติธรรมก็สูงส่งในชีวิตพอที่จะไม่แสวงหาอำนาจในองค์กรอื่นใดอีกต่อไปแล้ว

                        นับแต่นี้ไป ศาลยุติธรรม ถูกบังคับโดยรัฐธรรมนูญให้ทำหน้าที่อื่นๆที่ศาลในอดีตไม่เคยทำมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นกรรมการสรรหาฯ และฝ่ายการเมืองแสดงท่าทีว่า จะพึงพิงความรู้ความสามารถ และความซื่อสัตย์ สุจริตของศาล ให้เข้าไปช่วยทำหน้าที่ในองค์กรอื่นๆในอัตราที่สูงมากขึ้น 

                         ตัวอย่างหนึ่งของการออกแบบให้ประธานศาลฎีกา และผู้พิพากษาในศาลฎีกาเข้าไปเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งการตัดสินคดี แม้จะเป็นการใช้อำนาจทางตุลาการแท้ๆ แต่การทำหน้าที่ตุลาการรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคการเมืองที่ผ่านมา  เป็นเรื่องที่ใกล้ชิดกับผลประโยชน์ทางการเมือง  

                          แม้ท่านตุลาการที่มาจากศาลฎีกาเหล่านั้น จะได้ทำหน้าที่ไปตามอำนาจหน้าที่ โดยซื่อสัตย์ สุจริต และยุติธรรมดีแล้ว แต่พิษร้ายของการเมือง ก็ย่อมกัดกร่อนทำลายท่านได้อย่างเลือดเย็น

                           รัฐธรรมนูญฯ จึงควรวางศาลยุติธรรม ให้ห่างจากการเมืองให้มากที่สุด.

 

ธัญศักดิ์  ณ นคร

[email protected]

(ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ มติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม 2550)

หมายเลขบันทึก: 181055เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2008 14:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 16:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับพี่ธัญศักดิ์

ผมกลับมารอบสอง ที่จริงสนใจบทความนี้มากครับ อยากแลกเปลี่ยนมุมมองดูน่ะครับ

เรื่องการล้มเหลวของการเมืองการปกครองของประเทศไทย หากมองเป็นเรื่องของวิวัฒนาการพัฒนาก็น่าจะได้นะครับ เราไม่ได้ล้มเหลวเสียทีเดียว แต่อย่างน้อยก็ได้ช่วยกับขบคิดปัญหาที่เกิดขึ้นได้เพิ่มขึ้น ก็เมื่อเราเห็นว่ารัฐบาลอ่อนแอ ก็เลยเพิ่มความมีเสถียรภาพเข้าไป เพิ่มไปก็กลายเป็นมากเกิน เพราะเป็นการเปิดช่องให้พวกแกมโกงหาทางส่งเงินหรือส่งคนเข้าไปยึดกุมอำนาจ หรือองค์กรได้อีก

ทีนี้เราก็ถอยออกมา ยอมว่าให้อ่อนแอลงบ้างก็น่าจะดีกว่าแข็งแกร่งเกินไปแต่สุ่มเสี่ยงกับการขัดแย้งของอำนาจ ( แต่ประเด็นใหญ่ ๆ อาจจะอยู่ที่บุคคลที่คิดครองอำนาจโดยไม่ลืมหูลืมตามากกว่า อันนี้จึงต้องยอมรับว่ากฏหมายมีช่องเปิดให้คนที่คิดเช่นนั้นทำได้ )

เรื่องการเมืองที่ล้มลุกคลุกคลาน กลับไปกับมาแบบนี้ที่จริงผมว่า เป็นเรื่องของประชาชนและพรรคการเมืองเป็นหลักใหญ่ ประชาชนและพรรคการเมืองจะปรับตัวไปเรื่อย ๆ ขึ้นอยู่กับ ความรู้ของประชาชน เป็นสำคัญนะครับผมว่า ส่วนพรรคการเมืองนั้นเป็นเรื่องว่าต้องหาแง่มุมที่สร้างสรรค์ทั้งในทางความมั่งคั่งของประชาชนและการพัฒนาความรู้ความคิดรวมถึงการแสดงถึงการธำรงรักษาความเป็นประเทศไทยให้โดดเด่นเป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชนให้ได้ ไม่ใช่เอาเงินซื้อคน

ส่วนเรื่องการแบ่งแยกอำนาจทั้งสามให้ชัดเจนนั้น ตามหลักการของอำนาจอธิปไตยในระบบประชาธิปไตยก็น่าจะต้องเป็นงั้น แต่ก็อย่างที่ทราบ ๆ กันว่า อำนาจของประเทศไทยนั้นบิด ๆ เบี้ยว ๆ อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอำนาจบริหารกับ อำนาจนิติบัญญัติ แต่งวดนี้ดึงเอาอำนาจตุลาการ เข้ามาบิดเบี้ยวไปด้วย อันนี้หากมองในแง่มุมของนักกฎหมายและการยุติธรรมแล้ว ผมว่าก็น่าห่วงนะครับ แต่ว่าที่จริง ศาลก็พึ่งดีดตัวออกมาจากกระทรวงยุติธรรมได้ไม่นานนัก ใช่มั้ยครับ ดังนั้น เมืองไทยเราเคยประสบกับปัญหาการปิดเบี้ยวของอำนาจมาจนหมดแล้ว

ผมมองภาพรวม ๆ ว่า ในความเป็นประเทศไทยทุกวันนี้ ความเหลื่อมล้ำของผู้คนในทางความรู้ความเข้าใจเรื่องการเมืองการปกครองมีความต่างมากเกินไปนะครับ ทำให้ผู้รับผิดชอบการออกแบบกฎหมาย หรือการบริหารจัดการ ต้องขบคิดอยู่มาก บางทีความเหมาะสม อาจไม่ใช่ความถูกต้องนัก เพราะความถูกต้องในหลักการก็ไม่ได้ทำให้ประโยชน์ของประชาชน ( ผู้ถูกปกครอง )ถูกปกป้องดูแลอย่างเต็มที่นัก จึงต้องมองมาที่การจัดการกับเหล่านักปกครอง ที่แย่งอำนาจกันอยู่มากกว่า ว่า อย่าได้มุ่งแต่จะยื้อแย่งกันนัก หรือไอ้ที่แย่ง ๆ กันอยู่ก็ให้มีความลำบากมากขึ้นหน่อย

ผมเชื่อว่าความยุติธรรมของศาสไทยที่ดำรงอยู่มานานจะไม่ถูกสั่นคลอนง่าย ๆ หรอกครับ และขณะนี้ก็เป็นที่ยอมรับกันว่า อำนาจศาล ( ตุลาการ )นั้นเป็นสิ่งสูงสุดและเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อาจจะเป็นหนทางเดียวที่จะน้อมนำอำนาจต่าง ๆ เข้าสู่ความถูกต้องเข้าใจกันได้

อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงแก้ไขยังคงมีอยู่นิรันด์ และอำนาจทั้งสาม ก็ไม่ควรเกี่ยวข้องกันในทางเอื้อประโยชน์ต่อกัน หลักการนี้ก็คงอยู่เช่นกันครับ

ขอบคุณครับพี่

ขอบคุณที่เข้ามาแสดงความคิดเห็น เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่สังคมมีผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน เช่นคุณสุมิตรชัย ผมเห็นด้วยกับความเห็นของคุณ เพราะเป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่เราไม่อาจปฎิเสธความจริงไปได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท