เหตุเกิดที่หมู่บ้าน


เพราพสิ่งที่หมู่บ้านหนองกลางดงเปลี่ยนจากหมู่บ้านล้าหลังมาเป็นหมู่บ้านที่มีระดับการพัฒนาในระดับต้น ๆ ของเมืองไทย อยู่ที่ปัจััยหลักคือ "ผู้นำ" ที่เก่ง กล้า ฉลาด ซื่อสัตย์ มีคุณธรรม ของผู้ใหญ่บ้านที่ชื่อ โชคชัย ลิ้มประดิษฐ์

วันแรงงานปีนี้ ผมหนีออกจากที่ทำงาน นั่งรถไปถึงอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปร่วมกับทีมของ สสส. ที่ไปดูงานที่หมู่บ้านหนองกลางดง ตำบลศิลาชัย มีผู้ใหญ่หลายคนที่ไปด้วย เช่น อ.ประเวศ วะสี อ.วิจารณ์ พานิช อ.สุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ อ.อำพล จินดาวัฒนะ อ.ศุภกร บัวสาย และอีกหลาย ๆ ท่าน

เรื่องที่ดูก็เป็นเรื่อง "แผนชุมชน" กับเรื่อง "สภาผู้นำชุมชน" ในระดับหมู่บ้าน ต้องบอกว่า ทึ่งจริง ๆ ครับกับสิ่งที่ได้เห็นได้ฟัง

หมู่บ้านแห่งนี้ มีผู้ใหญ่บ้านชื่อว่า ผู้ใหญ่โชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ เป็น ผญบ.มา ๑๒ ปี อดีตเคยเป็นนักเลงหัวไม้ ชาวบ้านต่างวิตกว่าเอานักเลงมาเป็นผู้นำ แต่ปัจจุบันรวมตัวกันคัดค้านที่ ผญ.โชคชัย จะลาออกจากผู้ใหญ่บ้าน
เรื่องแรกที่ ผญ.โชคชัย หยิบมาทำคือเรื่อง "แผนชุมชน" โดยเริ่มต้นด้วยเรื่อง "ข้อมูลจริง" จึงได้ตั้งทีมทำแบบสอบถาม เพราะแบบที่ราชการและองค์กรภายนอกใช้มันใช้ไม่ได้กับคนในหมู่บ้าน) ใช้คนในหมู่บ้านเก็บกันเอง (เพราะเกรงว่าจะได้ข้อมูลที่ไม่เป็นจริง) เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว ก็วานนักพัฒนาชุมชนในหมู่บ้าน ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลให้ง่ายต่อความเข้าใจ เรียกประชุมชาวบ้าน ช่วยกันลำดับความสำคัญของปัญหา ว่าจะแก้ปัญหาเรื่องใดก่อน และจัดทำเป็นแผนชาวบ้าน 
ในการปฏิบัติตามแผนก็หยิบเรื่องที่มีความสำคัญขึ้นมาช่วยกันวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา (ใช้ข้อมูลจริงจากแบบสอบถาม) แล้วหาทางแก้ร่วมกัน แล้วนำไปแก้ไขปัญหาตามแผน
เรื่องที่สองที่ ผญ.โชคชัย ทำคือเรื่อง "สภาผู้นำชุมชน" หรือ ผญ.โชคชัย เรียก "สภา ๕๙" ก็เล่าให้เห็นที่มาว่า เห็นกรรมการหมู่บ้านที่ผ่านมาแล้ว ไม่เกิดผล เพราะส่วนใหญ่ ผญบ. จะแต่งตั้งจากคนคุ้นเคยเป็น จึงมีช่วยกันวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า ในหมู่บ้านมีการรวมกลุ่มกันถึง ๑๔ กลุ่ม เช่น กลุ่มเยวชน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มทำนา กลุ่มออมทรัพย์  เป็นต้น จึงให้แต่ละกลุ่มคัดเลือกคนเก่งคนดีกันเอง กลุ่มละ ๔ คน ได้คนมา ๕๖ คน รวมกับ สส.อบต. ของหมู่บ้าน ๒ คน รวมกับ ผญบ. อีก ๑ คน รวมเป็น ๕๙ คน (ตามชื่อสภา) ทำให้แต่ละกลุ่มรับรู้ปัญหาของแต่ละกลุ่ม นำมาเสนอในการประชุมสภา ซึ่งจัดขึ้นทุกเดือน (จัดมา ๑๒ ปี ไม่มีขาด) ก่อนที่จะมีการประชุมชาวบ้านในภาคบ่ายเพื่อให้ชาวบ้านเรื่องที่ผ่านการพิจารณาของสภาอีกครั้งหนึ่ง ในการประชุมแต่ละครั้งจะกระจายเสียไปทั่วทั่งหมู่บ้านด้วยลำโพง ๗๔ จุด ทำให้ผู้ไม่ได้เข้าประชุมรับรู้เรื่องราวในห้องประชุม
หลักที่ ผญ.โชคชัย ยึดมาโดยตลอดก็คือ หลักอปริหานิยธรรม ของพุทธศาสนานั่นเอง
ผมอยากจะบอกว่า ที่ผมเล่าเป็นเพียงเสี้ยวเล็ก ๆ แต่บทสรุปที่ผมได้ก็คือ การพัฒนาชุมชนนั้นอยู่ที่ความเป็น "ภาวะผู้นำ" ของผู้นำของชุมชนนั้้นจริง ๆ เพราะสิ่งที่หมู่บ้านหนองกลางดงเปลี่ยนจากหมู่บ้านที่ล้าหลังกลับมาเป็นหมู่บ้านที่มีระดับการพัฒนาในระดับต้น ๆ ของเมืองไทย อยู่ที่ปัจจัยหลักคือ "ผู้นำ" ที่เก่ง กล้า ฉลาด ซื่อสัตย์ มีคุณธรรม ของผู้ใหญ่บ้านที่ชื่อ โชคชัย ลิ้มประดิษฐ์
 
ที่หน้าที่ทำการสภาของหมู่บ้านจะมีป้ายลงนัด พบว่าทุกวันจะมีผู้มาขอดูงานที่นี้ ผญบ.โชคชัย บอกว่า ที่ผ่านมามีนับพันคณะ กว่า ๒ แสนคน รวมทั้งยังเดินทางไปเป็นวิทยากรอีกไม่ต่ำกว่า ๕ ร้อยเวที
วันนี้ผมกลับบ้านด้วยความสุขจริง ๆ คิดต่อไปว่าถ้าผู้นำระดับประเทศเป็นแบบนี้บ้าง อะไรจะเกิดขึ้น แบบ "เหตุเกิดที่หมู่บ้าน" ข้างต้น
หมายเลขบันทึก: 180249เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2008 16:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 22:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • หากเราสังเกตุให้ดีก็น่าคิดนะคะ ว่า ชุมชนที่เข้มแข็ง มักเกิดจากการยอมรับผู้นำ และข้อมูลจริง ที่เกิดขึ้น
  • ขอชื่นชมด้วยคนนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท