ราตรี เป็นคำสันกฤต ส่วนบาลีว่า รัตติิ ... เมื่อกลายพันธุ์มาเป็นคำไทย จะเห็นแต่เพียงคำว่า ราตรี ส่วน รัตติ ไม่มักจะเห็น แต่ที่เห็นอยู่บ้างก็เป็นคำสมาสว่า รัตติกาล ....ซึ่ง ราตรี หรือ รัตติกาล พวกเราก็เข้าใจกันว่าหมายถึง กลางคืน
แต่เมื่อจะวิเคราะห์ตามรากศัพท์เดิม ท่านก็ให้ไว้หลายนัย เช่น
- อพฺยาปารํ ราติ คณหาตีติ รตฺติ
- เวลาใดย่อมถึอเอา คือย่อมยึดถือ ซึ่งความไม่เบียดเบียน ดังนั้น เวลานั้น ชื่อว่าราตรี (ถือเอาซึ่งความไม่เบียดเบียน)
ตามนัยนี้ ท่านว่ามาจาก รา รากศัพท์ ในความหมายว่า ถือเอา ... ลง ติ ปัจจัย (รา + ติ = รัตติ) แปลว่า ถือเอาซึ่งความไม่เบียดเบียน ... หมายความว่า โดยปกตินั้น ในเวลากลางคืน คนทั่วไปต่างก็พักผ่อน ไม่ได้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ส่วนที่เบียดเบียนบ้างก็เป็นเพียงส่วนน้อยนิดซึ่งจัดเป็นไม่ปกติ...
- รญฺชนฺติ เอตฺถาติ รตฺติ
- เหล่าชนผู้มีราคะทั้งหลาย ย่อมกำหนัด ในเวลานี้ ดังนั้น เวลานี้ ชื่อว่าราตรี (เป็นที่กำหนัดของเหล่าชนผู้มีราคะ)
ตามนัยนี้ ท่านว่ามาจาก รญฺช รากศัพท์ ในความหมายว่า กำหนัด ... ลง ติ ปัจจัย (รญฺช + ติ = รัตติ) แปลว่า เป็นที่กำหนัดของเหล่าชนผู้มีราคะ ... หมายความว่า ในเวลากลางคืน เหล่าชนที่ยังมีราคะก็จะเกิดความรู้สึกกำหนัดขึ้นมาเป็นปกติ...
- รา สทฺโท ติยติ ตตฺถาติ
รตฺติ
- เสียง คือศัพท์ ย่อมขาดหายไป ในเวลานั้น ดังนั้น เวลานั้น ชื่อว่าราตรี (เป็นที่ขาดหายไปแห่งเสียง)
ตามนัยนี้ ท่านว่ามาจากคำว่า รา แปลว่า เสียง ... ผสมกับ ติ รากศัพท์ ในความหมายว่า ขาดหายไป (รา + ติ = รัตติ) แปลว่า เป็นที่ขาดหายไปแห่งเสียง ... หมายความว่า ในเวลากลางคืน เสียงคนคุยสนทนากัน หรือเสียงอึกทึกคึกโครมอื่นๆ ย่อมขาดหาย คือเงียบสงบลง ไม่เหมือนกลางวันที่จะได้ยินเสียงเหล่านี้เป็นปกติ...
- รา ธนํ ติยติ เอตฺถาติ รตฺติ
- ทรัพย์ คือธนะ ย่อมสูญหาย ในเวลานี้ ดังนั้น เวลานี้ ชื่อว่าราตรี (เป็นที่สูญหายแห่งทรัพย์)
ตามนัยนี้ ท่านว่ามาจากคำว่า รา แปลว่า ทรัพย์ ... ผสมกับ ติ รากศัพท์ ในความหมายว่า สูญหาย (รา + ติ = รัตติ) แปลว่า เป็นที่สูญหายแห่งทรัพย์ ... หมายความว่า ในเวลากลางคืน พวกโจรมักถือโอกาสขโมย จี้ ปล้นแล้วอาศัยความืดหลบหนีไป หรือเพราะความมืดทำให้เรามีโอกาสที่จะทำสิ่งของตกหล่นสูญหายได้ง่ายๆ และเพราะความมืดทำให้โอกาสในการหาทรัพย์สิ่งของที่ต้องการพบก็น้อยลง....
.............
สรุบว่า ราตรี หรือ รัตติกาล อาจแปลตามบทวิเคราะห์ได้ดังนี้
- ยึดถือซึ่งความไม่เบียดเบียน
- เป็นที่กำหนัดของเหล่าชนผู้ยังมีราคะ
- เป็นที่ขาดหายไปแห่งเสียง
- เป็นที่สูญหายแห่งทรัพย์
นัยเหล่านี้ ผู้เขียนค้นมาจากคัมภีร์อภิธานวรรณนา ซึ่งโบราณาจารย์รวบรวมไว้...
แต่ เมื่อพิจารณาความเป็นอยู่และเป็นไปในปัจจุบันนี้ การแบ่งแยกกิจกรรมระหว่างกลางวัน (ทิน) กับกลางคืน (ราตรี) ไม่ชัดเจนดังเช่นโบราณสมัย ดังนั้น จึงอาจไม่ถูกต้องตามบทวิเคราะห์เหล่านี้ เช่น ในบางท้องที่ กลางคืนเสียงอาจอึกทึกคึกโครม แต่กลางวันอาจเงียบเหมือนเป่าสากก็ได้.... เป็นต้น