โครงการยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข 2551 อยู่ในขั้นตอนการติดตามประเมินผล


วันที่ 21 เมษายน 2551 ได้เข้าร่วมประชุม การประชุมคณะทำงานติดตามและประเมินผลแผนงาน/โครงการตามยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข จังหวัดนครศรีธรรมราช ครั้งที่ 1/2551  ณ ห้องประชุมศรีปราชญ์ ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช ตนเองเข้าร่วมประชุมแทนคุณภีม  มีผู้เข้าร่วมการประชุม ประมาณ 30 ท่าน ทั้งหมดมาจากคณะทำงานที่เพิ่งแต่งตั้งขึ้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2551  อันได้แก่

1)ที่ปรึกษาคณะทำงาน 3 ท่าน  2)คณะทำงานกำกับดูแล มีรองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานคณะทำงาน มีคณะทำงานรวม 12 ท่าน  3)คณะทำงานปฏิบัติงานโซนพื้นที่  แบ่งเป็น 5 โซน มีคณะทำงานโซนละ 8 ท่าน ยกเว้นโซนที่ 5 มีคณะทำงาน 7 ท่าน คณะทำงานของทุกโซนมาจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ สนง.เกษตรจังหวัด  สนง.พัฒนาชุมชนจังหวัด  สนง.จังหวัด  สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด  สนง.สาธารณสุขจังหวัด  สนง.ประมงจังหวัด  และภาคประชาชน  โดยคณะทำงานทั้งหมดมีหน้าที่จัดทำแผนการติดตาม/ประเมินผล  ออกตรวจติดตาม/ประเมินผลด้านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในชุมชน  ด้านกระบวนการดำเนินงาน  ด้านผลสำเร็จของโครงการ  ให้หัวหน้าโซนสรุปผลการตรวจติดตามรายงานต่อ กบจ.นศ.  จัดทำรายงานผลการตรวจติดตาม ประเมินคุณภาพ พร้อมข้อเสนอแนะเสนอต่อ กบจ.นศ.เพื่อกำหนดแนวทางและปรับปรุงในปีต่อไป

 

ความเคลื่อนไหวของโครงการฯจ.นครศรีฯตอนนี้อนุมัติโครงการภายใต้กรอบแผนงานยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข 5 แผนงาน

1)สร้างการเรียนรู้และความสามารถในการจัดการของชุมชน  จำนวน71 โครงการ งบประมาณ 6.8 ล้านบาท

2)กำหนดตำแหน่งการพัฒนาอาชีพของชุมชนภายใต้ระบบและกลไกการตลาด จำนวน 791 โครงการ งบประมาณ 119.5 ล้านบาท

3)พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน  จำนวน 46 โครงการ งบประมาณ 6.3 ล้านบาท

4)สนับสนุนชุมชนให้มีบทบาทรองรับความอ่อนแอของระบบครอบครัวไทย จำนวน 10 โครงการ  งบประมาณ 2 ล้านบาท

5)ดูแลความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน จำนวน 72 โครงการ งบประมาณ 15.4 ล้านบาท

รวมจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติทั้งสิ้น 990 โครงการ งบประมาณ 150.2 ล้านบาท

วันนี้จึงนัดคณะทำงานติดตามและประเมินผลแผนงาน/โครงการตามยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข จังหวัดนครศรีธรรมราช  ประชุมวางแผนการติดตามโดยมีสำนักงานจังหวัดเป็นผู้ส่งเรื่องขึ้นมา  แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึง

1)ตัวชี้วัดระดับความสำเร็จของการบริหารจัดการและติดตามประเมินผลแผนงาน/โครงการตามยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด กำหนดเกณฑ์การให้คะแนน 5 ระดับ พิจารณาจากความก้าวหน้าของขั้นตอนการดำเนินงานตามเป้าหมายแต่ละระดับ

2)แผนการตรวจติดตามและประเมินผลแผนงาน/โครงการตามยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช  ประจำปีงบประมาณ 2551 กำหนดให้คณะทำงานปฏิบัติการโซนพื้นที่ลงเก็บข้อมูลด้วยแบบสัมภาษณ์จำนวน 2 ชุด  โดยสุ่มตรวจโครงการร้อยละ 50 ของโครงการที่อนุมัติทั้งหมด  เป็นจำนวน 557 โครงการ  ครอบคลุมทุกตำบลและทั้ง 5 แผนงาน

                แบบสัมภาษณ์ 2 ชุด ได้แก่ ชุดที่ 1 แบบสำรวจความพึงพอใจและความคิดเห็นของประชาชนโครงการยุทธศาสตร์ประชาชนอยู่ดีมีสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ชุดที่ 2 แบบรายงานการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานโครงการยุทธศาสตร์ประชาชนอยู่ดีมีสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช

                                กำหนดออกติดตามประเมินผล 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เดือนพฤษภาคม  ครั้งที่ 2 เดือนสิงหาคม 2551  การออกติดตามผลครั้งที่ 1 ให้ใช้เฉพาะแบบสัมภาษณ์ชุดที่ 1 เนื่องจากโครงการเพิ่งได้รับการอนุมัติ  คาดว่ายังไม่เห็นผลการดำเนินโครงการจึงยังไม่ต้องใช้แบบสัมภาษณ์ชุดที่ 2   สำหรับการออกติดตามผลครั้งที่ 2 ใช้แบบสัมภาษณ์ทั้ง 2 ชุด

 

ความคิดเห็นของที่ประชุม

1.       อยากให้ตัวแทนของอำเภอเข้าร่วมรับฟังด้วยจะทำให้สามารถต่อกับโครงการ SML ได้

2.     หลังเสร็จการประชุมให้แบ่งกลุ่มตามโซนเพื่อวางแผนการเก็บข้อมูลและกำหนดงบประมาณการบริหาร  และกำหนดวันในการนำเสนองบประมาณของแต่ละโซนต่อไป

หมายเลขบันทึก: 178658เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2008 14:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 00:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

สวัสดีค่ะน้องรัช

เข้ามาคุยด้วยตามประสา "ขาประจำ" ค่ะ

ติดตามงานของนครศรีธรรมราชด้วยความสนใจ (เพราะเป็นจังหวัดทีน่าอยู่และมีอะไรน่าสนใจในหลายๆมิติ ..จึงได้เลือกจังหวัดนี้เป็นจังหวัดแรกที่ส่งนักศึกษามาอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่เมื่อปี 3-4 ปีที่แล้วค่ะ)

สนใจแนวทางการพัฒนาจังหวัดด้วยค่ะ แต่ที่สงสัยคือ "ส่วนท้องถิ่น" ได้เข้ามามีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหนคะ เพราะดูเหมือนจะเป็นส่วนภูมิภาคแล้วข้ามไปภาคประชาชนเลย (อาจเป็นเพราะโครงการถูกออกแบบมาอย่างนี้ตั้งแต่นโยบายระดับบนในกรุงเทพฯ)

ได้ลองศึกษาแนวทางการพัฒนาจังหวัดของญี่ปุ่น ซึ่งมีส่วนคล้ายไทยในปัจจุบันทั้งเรื่องขบวนสวัสดิการชุมชน หรือ แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) ยังเห็นประเด็นว่า การจัดสวัสดิการชุมชน (ในความหมายกว้างที่ครอบคลุม 7 มิติ) นั้น ถึงที่สุดแล้ว ชุมชนกับส่วนท้องถิ่น จะเป็นหัวเรือใหญ่หรือเป็นฐานสำคัญของขบวนสวัสดิการชุมชนเพราะขบวนนี้ต้องการการดูแลที่ทั่วถึง.. การกระจายอำนาจจึงสำคัญ ส่วนภูมิภาคอาจหนุนเสริมเพียงงบประมาณบางส่วน

หากจังหวัดช่วยส่งเสริมให้ "ส่วนท้องถิ่น" ให้ได้มีส่วนร่วม ได้ร่วมเรียนรู้เพื่อมีโอกาสพัฒนาศักยภาพ ก็น่าจะดีกับอนาคตค่ะ

อีกครั้งค่ะ ที่ต้องบอกว่า "เป็นมุมมองของคนนอก" ที่รักเมืองนครฯค่ะ

ขอบคุณพี่รัชที่นำเอามาแบ่งปันนะคะ จะคอยติดตามความเคลื่อนไหวงานพัฒนาเมืองนครจากพี่รัชนี ละกันนะคะ

หวังไว้มากเลยคะ ว่ายุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข2551 จะเกิดผลสัมฤทธิ์มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา เพราะเรามีเวลาเตรียมตัวมากกว่าเดิม และก็มีประสบการณ์มาแล้ว อีกอย่างคือเราได้มีโอกาสพูดคุยระดมสมองหาแนวทางพัฒนากันอยู่ตลอด ก็น่าจะนำไปสู่เป้าหมาย "สังคมอยู่เย็นเป็นสุข อย่างยั่งยืน" ได้ในเร็ววันนะคะ เป็นกำลังใจให้คนทำงานทุกๆท่านค่ะ จากใจลูกหลานชาวเมืองคอนค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท