ความรุนแรงต่อเด็กในโรงเรียน


สังเกตเห็นพฤติกรรมลูกที่เปลี่ยนไป เช่น เศร้าซึม ไม่ค่อยพูดจา หรือร่าเริงเหมือนปกติ ไม่อยากไปโรงเรียน มีความหวาดระแวง และบางคนก้าวร้าวขึ้น และเมื่อค้นหาสาเหตุ จะพบว่า เด็กบางคนถูกเพื่อนรังแก บางคนถูกครูดุ ตี หรือว่ากล่าวรุนแรง ซึ่งหลายคนรู้อยู่แล้วว่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงในโรงเรียน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้  มีการกล่าวถึงการศึกษานอกระบบ และ การศึกษาตามอัธยาศัยกันมาก จนกระทั่งมีการบรรจุไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พศ.2542 ซึ่งเน้นไปที่การจัดการศึกษาตามความสนใจ  เพื่อให้เด็กได้พัฒนาศักยภาพตามความสนใจได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้เกิดจากการยอมรับว่า  การศึกษาในระบบ หรือการศึกษาในโรงเรียน  ไม่สามารถทำให้เด็กได้ศึกษาในสิ่งที่สนใจได้อย่างเต็มที่  และโรงเรียนยังเป็นสถานที่ซึ่งมีรูปแบบความรุนแรงหลายรูปแบบ  ที่บั่นทอนความสามารถของเด็กๆ ได้

หากเรามีโอกาสได้ติดตามพัฒนาการของรูปแบบการศึกษาในแบบต่างๆ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการศึกษาทางเลือก สำหรับเด็กๆ  ไม่ว่าจะเป็น  การศึกษาแบบ Home school  การศึกษาแบบวอลดอร์ฟ  การศึกษาแบบซัมเมอร์ฮิล  และบางโรงเรียนที่สามารถจัดการศึกษาโดยผสมผสานแนวคิดต่างๆ เข้าด้วยกันได้  โดยมุ่งไปที่ประโยชน์ของนักเรียนเป็นสำคัญ   เราจะพบว่า พ่อแม่  ผู้ปกครอง หรือคนที่สนใจแนวทางการศึกษาเหล่านี้  นอกจากต้องการให้เด็กๆ ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่แล้ว  หลายคนให้ลูกออกจากระบบโรงเรียน  หรือย้ายโรงเรียน  เพราะปัญหาความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ในโรงเรียน
พ่อ แม่ ผู้ปกครองหลายคน เปิดเผยว่า  สังเกตเห็นพฤติกรรมลูกที่เปลี่ยนไป  เช่น เศร้าซึม  ไม่ค่อยพูดจา หรือร่าเริงเหมือนปกติ   ไม่อยากไปโรงเรียน  มีความหวาดระแวง  และบางคนก้าวร้าวขึ้น  และเมื่อค้นหาสาเหตุ  จะพบว่า  เด็กบางคนถูกเพื่อนรังแก  บางคนถูกครูดุ  ตี  หรือว่ากล่าวรุนแรง  ซึ่งหลายคนรู้อยู่แล้วว่า  สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงในโรงเรียน

หากแต่มีพ่อ แม่ ผู้ปกครอง อีกมากมาย  ที่ไม่อาจแก้ปัญหา ด้วยการจัดการศึกษาให้ลูกเองได้  หรือให้ลูกย้ายไปเรียนในโรงเรียนที่ตนเองมั่นใจได้  และจำยอมต้องรับกับสภาพปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน ที่เด็กๆ อาจต้องเจออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

แม้การยอมรับว่ามีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจริงในรั้วโรงเรียน  จะไม่ใช่หนทางในการแก้ปัญหาโดยตรง  แต่หากสังคมยอมรับ  และมองเห็นว่าปัญหาเหล่านี้ควรได้รับการแก้ไขโดยเร็ว  และสังคมเปิดรับความจริงว่า  โรงเรียน  เป็นสถานที่ที่จะบ่มเพาะความรุนแรงขึ้นมาได้  ทั้งในฐานะของคนที่กระทำการรุนแรง  และคนที่ต้องรับผลกระทบจากการรุนแรง  อีกทั้งยังส่งผลต่อไปเมื่อเขาเหล่านั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่อยู่ในสังคม 

แน่นอนว่า  เมื่อเราเพาะเมล็ดพันธุ์แบบไหน  เราก็จะได้ต้นไม้ที่เติบใหญ่ออกมาแบบนั้น 

เราหล่อหลอมเด็กๆ ของเราเช่นไร  เขาก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ในสังคมแบบนั้นด้วย

หากเราต้องการเห็นสังคมที่ดี  มีคุณธรรม จริยธรรม  มีความยุติธรรม และไม่ใช้ความรุนแรง หรือก่อความวุ่นวายในสังคม  เราก็ควรจะร่วมกันสร้างสรรค์พื้นที่ที่เรียกว่า “โรงเรียน”  ให้เป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การพัฒนาศักยภาพ  และการเรียนรู้  เป็นพื้นที่ที่มีบรรยากาศของการช่วยเหลือ แบ่งปัน  และเป็นพื้นที่ที่ปราศจากความรุนแรง  ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดๆ ก็ตาม   

 

(บทบรรณาธิการ จดหมายข่าวโลกใบเยาว์ ฉบับที่ 4  "โลกของความรุนแรงต่อเด็กในโรงเรียน")

 

หมายเลขบันทึก: 178197เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2008 18:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

"เมื่อโรงเรียนทำหน้าที่ บ่มเพาะความรุนแรง" ... น่าคิดจัง :)

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ

* การศึกษาทางเลือก โฮมสคูล กลายเป็นเรื่องน่าสนใจ

* เมื่อเราให้เด็ก มีอิสระ เป็นศูนย์กลาง แห่งการเรียนรู้

* ทำอย่างไร ผู้ปกครอง ครู สามารถเข้าถึง เข้าใจเด็ก นักเรียนได้อย่างแท้จริง

* ผู้บริหารฯ คณะกรรมโรงเรียน ชุมชน มีบทบาทอย่างไร

* เพื่อนๆ นักเรียน ทั้งนอก ในระบบ สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ไหม

* ความรุนแรงจะลดลงได้หรือไม่ เพียงใด ... น่าคิด ๆ นะคะ

ขอบคุณบทความดีๆ ขออนุญาติเข้าบล็อกนะคะ ยินดีที่ได้แลกเปลี่ยนและ

มีความสุขนะคะ

ยิ่งรุนแรง เด็กก้อยิ่งต่อต้านนะครับบ

ขอบคุณน้องปิยะนาถที่นำเสนอเรื่องนี้ จริง ๆ แล้วทุกทฤษฎีของด้านการศึกษาไม่ว่าจะเป็นวอลดอร์ฟ มอนเตสเซอรี่ ไฮสโคป วัตถุประสงค์หลักต้องการบ่มเพาะพฤติกรรมแห่งการเรียนรู้ รับรู้ตามพัฒนาการตามวัย แต่ระบบการศึกษาเมื่อเอามาใช้แล้วกลับสนใจเฉพาะผลสัมฤทธิ์ ละเลยเรื่องการบ่มเพาะพฤติกรรมการเรียนรู้อย่างยั่งยืน กลายเป็นส่งเสริมการแข่งขัน บ่มเพาะความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และไปสู่ความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ การปล่อยปละละเลยเป็นความรุนแรงที่มาเป็นอันดับหนึ่งใน "กำลังนี้!!!"เอาไว้เรามาช่วยกันคิด ทำ เรื่องโรงเรียนปลอดความรุนแรงต่อไปนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท