การประกาศผลสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย


คนเก่ง คนดี

     เป็นประจำทุกปีที่เหมือนจะเป็นประเพณีไปเสียแล้วสำหรับ การประกาศว่าใครสามารถสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ได้เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ และก็มักจะหนีไม่พ้น สองสถาบันหลักที่ผลัดกันครองความเป็นเจ้าของ เด็กเก่ง ของประเทศ ก็น่าชื่นชม ที่อย่างน้อยยังมีเด็กเก่งที่ยังเสียสละตัวเองมาเรียนในคณะที่ยากแสนยาก ต้องอุทิศตัว  และการอุทิศตัวเองนี้ ยังต้องคงอยู่ตลอดชีวิต ตราบใดที่ยังทำเวชปฏิบัติอยู่  แต่ว่าในสถานการณ์จริง ๆ แล้ว ตอนนี้คณะสายการแพทย์ และคณะที่เป็นที่หมายปองของนักเรียนสายวิทย์ เริ่ม ตกกระป๋อง ไปเสียแล้ว เพราะเด็กมัธยมสมัยนี้เขา เก่งเลือกได้ และรู้ด้วยว่าจะ เลือก อะไร

เราลองมาดู สิบอันดับสาขาสุดฮิต ประจำปี 2551 โดยมีที่มาจาก สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (www.mua.go.th) [อ้างอิงจากคอลัมน์ (I See T) คุณจักรกฤษณ์ สิริริน เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่  16 ฉบับที่ 828 วันที่ 11 เมษายน 2551 หน้า 60-61]  ว่าเด็ก ๆ มัธยม ยุค สวยเลือกได้ หล่อเลือกได้ เค้าเลือกวิถีชีวิตในอนาคตของพวกเขาอย่างไร

1.       หลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต ภาควิชาภูมิศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

2.       คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ

3.       คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม. มหิดล

4.       สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

5.       สาขาวิชาการท่องเที่ยว ภาควิชามนุษยสัมพันธ์ คณะมนุษยศาสตร์ ม. เชียงใหม่

6.       คณะวิทยาศาสตร์ ม. ศิลปากร

7.       คณะวิศวกรรมศาสตร์ กลุ่มวิศวกรรมไฟฟ้า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

8.       คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม. เกษตรศาสตร์

9.       สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ ม. มหิดล

10.    คณะเศรษฐศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์

 

     สำหรับบทวิเคราะห์ที่ลึกซึ้ง ลุ่มลึกกว่านี้ ก็เชิญอ่านได้จาก อ้างอิงข้างบนนะครับ   อีกประเด็นที่ต่อเนื่องกันคือ การเปลี่ยนเส้นทางเดินชีวิตของนักศึกษา นิสิตที่สามารถสอบผ่านเข้าไปได้แล้ว โดยเฉพาะ การลาออกของนิสิต นักศึกษาแพทย์ ผมอ้างข้อมูลจาก  เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่  16 ฉบับที่ 828 วันที่ 11 เมษายน 2551 หน้า 70-71 คอลัมน์โค้งสุดท้ายปฏิรูปการศึกษา โดย กมลทิพย์ ใบเงิน  เรื่องวิกฤตินักเรียนแพทย์ พบว่าในปีการศึกษา 2550 มีนิสิต นักศึกษา ในสาขาทันตแพทยศาสตร์ แพทยศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ อยู่จำนวนทั้งหมด 1,604,778 คน ลาออกกลางคันทั้งหมด 22,647 คน โดยปีที่ 1 มีจำนวนคนลาออกมากที่สุด 6,014 คน รองลงมาคือ ปีที่ 2  4,623 คน  ซึ่งก็น่าเสียดายอยู่ถ้า คนจำนวนสองหมื่นกว่าคนนี้สามารถสำเร็จออกไปเป็นบัณฑิตแพทย์ หรือ บัณฑิตสายการแพทย์สาขาอื่น ๆ ได้   บทวิเคราะห์ที่มีแง่มุมต่างจากผมสามารถอ่านได้จากอ้างอิงนะครับ แต่โดยส่วนตัวผมแล้ว ปัญหาการฟ้องร้องแพทย์ ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่กลัวกัน คือคนที่ไม่ได้เผชิญปัญหานี้โดยตรงอาจจะนึกไม่ออก แต่คนที่อยู่ในสายวิทยาศาสตร์การแพทย์จะทราบดี ในด้านสิทธิผู้ป่วย สิทธิการรับรู้ข่าวสารต่าง ๆ บวกกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย ผู้คนสมัยนี้ ก่อนจะมาหาแพทย์ เขามีข้อมูลอยู่ในมือมาแล้ว เขาเพียงมาหา คนที่มีอำนาจตามกฎหมาย ในการทำการรักษาเขาเท่านั้น มาจ่ายยา มารักษา มาเขียนใบสั่งยาให้ได้ บางคนก็ถึงกับขนาดว่า ดูว่าแพทย์รักษาตรงตามสิ่งที่เขาอ่านมาหรือไม่  แพทย์ถึงต้องทำการรักษาอย่างเต็มที่ บางครั้งก็เกิด over treatment, over investigation ทั้งนี้เพื่อปกป้องตัวแพทย์เองจากข้อกล่าวหา ความกดดันพวกนี้ไม่ได้มีประเดี๋ยวประด๋าว มันมีกันตลอดเวลา นี่ยังไม่นับเรื่องความเสี่ยงส่วนตัว เช่น การติดเชื้อโรคจากผู้ป่วย ฯลฯ   ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับ สาขาอาชีพอื่น ๆ แล้ว แพทย์ก็ยังเป็นผู้ที่เรียนหนัก ทุ่มเทหนักตลอดเวลา  เรียนนาน ใช้ทรัพยากรมาก บางคนก็อาจจะรู้สึกว่า ทำไมชั้นต้องมาเหนื่อยแบบนี้ ค่าตอบแทนก็ไม่ได้แตกต่างกัน เผลอ ๆ จะน้อยกว่าด้วยซ้ำ ชั้นกำลังทำอะไรอยู่เนี่ย มาอยู่ตรงนี้เพื่ออะไร ??  สิ่งนี้ผู้เขียนยังประสบมากับตนเอง เพื่อนร่วมรุ่นของผู้เขียนที่เรียนด้วยกันมา เอ็นทรานซ์เข้าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ระยะเวลาเรียน 4 ปี ก็สามารถจบและออกมาทำงานได้เงินเดือนที่มากกว่าผู้เขียน ซึ่งตอนนั้นยังต้องเรียนไปอีก 1 ปี แถมต้องออกไปฝึกงานอีกต่างหาก แต่เราก็ไม่ได้นึกอะไร เพราะรู้มาตั้งแต่แรกแล้วว่า มันจะต้องเหนื่อยและลำบากแบบนี้ ผู้เขียนเลือกเอ็นทรานซ์ในคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เป็นอันดับหนึ่งเอง ดังนั้นจึงตีโพย ตีพายไม่ได้ว่า ลำบาก เราเลือกเอง อย่าโทษใคร

    การลาออกของนักเรียนแพทย์อาจจะรวมถึงความไม่สามารถปรับตัวของคนเรียนได้ สังคมคาดหมายและคาดหวังว่าคนที่มาเรียนแพทย์ หรือสายวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะต้องเป็นคนเก่ง และ คนดี  คนดีในที่นี้ ก็คือ คนที่มีมนุษยธรรม มีจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ เข้าถึง และเข้าอกเข้าใจ ในความทุกข์ ความทรมานของคนอื่น มีภาระใจมากเพียงพอที่จะช่วยเหลือมนุษย์  แต่คนก็คือคนอยู่วันยังค่ำ ที่ไม่สามารถตอบสนอง หรือ เป็น อย่างที่สังคมคาดหวังให้เป็นได้   และคนที่สอบคัดเลือกผ่านเข้ามาเรียนในคณะสายการแพทย์ได้ จะเป็นผู้ที่มีสติปัญญาเลิศ ซึ่งก็ต้องยอมรับความจริงอีกว่า โดยทั่วไป (ขอย้ำว่าทั่วไป, ส่วนใหญ่)  คนพวกนี้เป็น เด็กหน้าห้อง ที่ไม่สุงสิงกับใคร เรียนหนังสืออย่างเดียว และอาจถึงขั้น แล้งน้ำใจ  ดังนั้นเมื่อความฉลาดของตัวเองพาตัวเองมาถึงจุด ๆ หนึ่ง แต่จุด ๆ นั้นคาดหวังให้มีความเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ เข้าใจ เข้าถึงจิตใจคน คนพวกนี้อาจจะค้นพบตัวเองว่าไปไม่ได้ ไม่สามารถไปถึงจุดที่คาดหวังได้ จึงอึดอัดและทำไม่ได้       เรื่องพวกนี้จึงเป็นการพิสูจน์ว่า ความดี ไม่ได้มาพร้อมกับความเก่ง จริง ๆ แล้วเราน่าจะได้มีการทำการศึกษาวิจัย ติดตาม อย่างเป็นระบบ ถึงจำนวน หรือร้อยละของบรรดานักเรียนที่สอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ หรือคณะสายการแพทย์อื่น ๆ ว่า คนเหล่านี้ เมื่อสอบผ่านเข้าไปเรียนแล้ว ผลการเรียนเป็นอย่างไร สำเร็จการศึกษาออกไปแล้วยังทำเวชปฏิบัติอยู่หรือไม่ และเป็นอย่างไร หรือไม่ได้ทำเวชปฏิบัติแล้ว  ไปอยู่ที่ไหนกันบ้าง สมกับที่สอบเข้ามาด้วยคะแนนที่สูงลิ่วหรือไม่ ?  หรือทำ retrospective study ก็ได้ สำหรับแพทย์ที่ได้รับรางวัลดีเด่น เช่น แพทย์ชนบทดีเด่น ว่าเขาเหล่านั้นเป็นอดีตนักเรียนที่สอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ด้วยคะแนนที่สูงสุดเป็นจำนวน สัดส่วนเท่าไร ก็คงจะดีไม่น้อย อย่างน้อยเราจะได้ตอบคำถาม หรือมีองค์ความรู้ใหม่ เพิ่มขึ้นว่า มี association กันหรือไม่ระหว่างคะแนนสอบเข้ากับผลสัมฤทธิ์ หรือ performance ภายหลังสำเร็จการศึกษา และเพื่อที่สังคมไทยจะได้ไม่หลงเห่อกับคนเก่ง ที่อาจจะไม่ได้เป็นคนดี ... !!

 

       

หมายเลขบันทึก: 176678เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2008 23:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 11:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • สวัสดีค่ะ...
  • ขอบคุณ...คุณ..
  • P

    เภสัชกร ธนกร ศิริสมุทร สำหรับการลปรร.ค่ะ

     

  • ได้ดู 10 อันดับสาขายอดฮิตแล้ว...แนวคิดของนักเรียนเปลี่ยนไปจากเดิม...จากรุ่นของหนูมากพอสมควรค่ะ....
  • อืมมม....ดูแล้วน่าคิดอยู่เหมือนกันนะคะประเด็นนี้..."คนเก่งเลือกได้"...เค้าเปลี่ยนมุมมองความคิดโดยมาจากปัจจัยใด...น่าวิเคราะห์มากเลยค่ะ...และที่คุณ ธนกร ได้วิเคราะห์นั้น..ก็น่าจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง...
  • คนเก่ง...อย่างเดียวไม่พอ...ต้องเป็นคนดีด้วย..จึงจะเป็นที่น่ายกย่องอย่างแท้จริง....
  • ขอบคุณสำหรับพื้นที่ที่ให้หนูได้ร่วม ลปรร.ด้วยคนค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท