ความรุนแรงในโรงเรียนที่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการสมองและพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน


เด็กถูกละเลยเพียงหนึ่งคนก็สามารถสร้างความรุนแรงต่อสังคมได้อย่างมหาศาล แนวทางป้องกันแบบยั่งยืนจึงควรฝึกทักษะแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี จับถูกอย่าจับผิด คิดบวกอย่าคิดลบ หาด้านดีให้เจอ เพราะเด็กทุกคนมีด้านดีทั้งนั้นขอเพียงโอกาส และจังหวะ

เมื่อวันอังคารถึงวันพฤหัสบดีที่ 8 10 เมษายน 2551 ลงไปทำงานที่หาดใหญ่ในฐานะผู้ประเมินผลภายในของโครงการส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครอง สุขภาพและสิทธิมนุษยชน ด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ภายใต้การสนับสนุนจาก สสส.

โครงการที่ไปประเมินเป็นโครงการนำร่องโรงเรียนปลอดความรุนแรง รับผิดชอบโดย ทญ.เมธินี คุปพิทยานันท์ (หมอเม) คุณขวัญชาติ ดาสา (คุณต้อย) ประสานงานในพื้นที่ภาคใต้โดย คุณพรรณิภา โสตถิพันธุ์ หรือแม่หนูแห่งสงขลาฟลอรัม โครงการนี้ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ 3 สงขลาคัดเลือกโรงเรียนที่มีความพร้อมทั้งด้านผู้บริหาร ครู และชุมชน ที่มีความเห็นเดียวกันว่าไม่อยากให้มีความรุนแรงในโรงเรียน จึงคัดเลือกโรงเรียนบ้านตะเคียนเภา เป็นโรงเรียนนำร่อง กิจกรรมที่ดำเนินการเป็นการนำคุณครูทั้งโรงเรียน (24 คน) มาเข้าอบรมสัมนา กับวิทยากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญให้มีทักษะด้านการป้องกันความรุนแรงในโรงเรียน และทักษะการแก้ปัญหาเชิงบวกให้กับนักเรียน วิทยากรคือ ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ อาจารย์นงเยาว์ แข่งเพ็ญแข ผู้ทรงคุณวุฒิของกระทรวงศึกษาธิการ

ในกิจกรรมนี้ ต้องขอชมวิทยากรว่ามืออาชีพมาก ๆ ที่ทำให้คุณครูทุกคนไม่มีหนีการประชุม แม้ผู้บริหารก็เข้าร่วมทุกกิจกรรม น่าชื่นชมในพลังสามัคคีนี้เป็นอย่างยิ่ง อันที่จริงต้องชมคณะทำงานทั้งคุณหมอเม คุณต้อย และแม่หนูที่ประสานพลังหาวิทยากรมืออาชีพ และหาพื้นที่โรงเรียนที่มีความพร้อมและเป็นพหุวัฒนธรรม (ครู นักเรียน และชุมชน เป็นไทยพุทธ และมุสลิม)

อาจารย์สมบัติได้ให้ทุกคนในที่ประชุมดูหนังฝรั่งเศส ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรุนแรงในโรงเรียน โดยมีเด็กเกเร ในห้องเรียน มีทั้งดื้อ ไม่เชื่อฟังครู และทะเลาะวิวาท ตั้งตัวเป็นมาเฟีย ซึ่งจริง ๆแล้วมีในทุกประเทศ ทุกโรงเรียน ทุกระดับชั้นการเรียน แต่ครูจะมีวิธีแก้ไข 2 แบบ คือ ครูที่ปรามเด็กด้วยวิธี แรงมา แรงกลับ และครูที่ใช้ สันติวิธี

ในหนังเรื่องนี้ให้คติที่ดีมากว่า วิธี แรงมาแรงกลับ นั้นไม่ได้เป็นวิธีการแก้ปัญหาเลย กลับเป็นการสร้างปัญหาใหม่ เกิดปมในใจของเด็ก ว่าสักวันจะมาแก้แค้นโรงเรียน (ในหนังเรื่องนี้เด็กเพียงคนเดียว ที่ครูอาจคาดไม่ถึงกลับมาแก้แค้นโดยการเผาโรงเรียน!!)

เด็กเกเรหลายคนถูกแก้ไขโดยดึงจุดเด่นของเขาออกมา โดยครูค่อยๆ ซื้อใจเด็กมองด้านบวกกับเด็ก ถามไถ่ทุกข์สุข เป็นทั้งครู และผู้ปกครองแม้ว่าจะมีหน้าที่เป็นครูฝ่ายปกครองก็ตาม (ส่วนใหญ่จะดุมาก ๆ ) เมื่อเกิดการทะเลาะวิวาทให้เด็กที่เป็นคนกระทำไปดูแลเยียวยาผู้ถูกกระทำจนหายจากการบาดเจ็บ เพื่อเขาจะเกิดการสำนึก และไถ่โทษการกระทำและก่อให้ผู้ถูกกระทำค่อย ๆ คลายความโกรธแค้น เลิกทะเลาะวิวาทต่อกัน กลับมาเป็นเพื่อนกัน สามัคคีกันต่อไป

ในฐานะที่เป็นนักประสาทวิทยาศาสตร์ ขอกล่าวถึงผลกระทบของความรุนแรงในโรงเรียนต่อพัฒนาการสมองและพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน จากทฤษฎีด้านพัฒนาการสมองพบว่าเด็กและเยาวชนจะมีพฤติกรรมที่ต้องการพื้นที่การแสดงออกอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงในระบบชีววิทยาของสมองที่มีความเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ของระบบลิมบิก ซึ่งเกี่ยวกับอารมณ์ ความรู้สึก และสัญชาติญาณ  ระบบนี้จะเชื่อมโยงกับระบบความจำและการเรียนรู้ด้วย ผู้ปกครองควรระมัดระวังวงจรนี้อย่างมาก เมื่อเด็กถูกกระทำพฤติกรรมจะถูกเก็บเป็นความจำสั้น และถ้าเรียนรู้การแก้ปัญหาไม่ว่าจะแบบ แรงมาแรงกลับ หรือแบบ สันติวิธี จะย้ำวงจรนี้ และเมื่อมีเหตุการณ์ซ้ำอีกและแก้ปัญหาแบบเดิมแบบนี้จะสร้างวงจรถาวรในฮิปโปแคมปัส ซึ่งเป็นบริเวณของสมองที่ประมวลความจำและการเรียนรู้ของมนุษย์ไว้อย่างถาวร ตรงนี้น่าเป็นกังวลอย่างยิ่ง ในปัจจุบันเราพบว่าผู้ใหญ่หลายคนไม่มีทักษะในการแก้ปัญหาเลย มักจะเกรี้ยวกราดก่อน ใช้อารมณ์ในการตัดสินก่อน ครูจะตีเด็กก่อนทันทีที่เด็กทะเลาะกันและตีทั้งสองคนเลย เด็กจะจำและเลียนแบบวิธีการแก้ปัญหา เมื่อมีลูกและลูกร้องโยเยก็แก้ปัญหาด้วยการเฆี่ยน ตี และอ้างว่า รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี  เด็กที่ถูกกระทำจากที่บ้าน เมื่อมาโรงเรียนโดนครูดุว่า ไม่มีเยื่อใย ไม่สนว่าเด็กควรได้รับสิทธิคุ้มครองอย่างไร เด็กจะไม่มีสมาธิในการเรียนเลย ทำให้ไม่เกิดการพัฒนาทางสติปัญญา มี IQอ่อนด้อยกว่าเด็กที่ไม่ถูกกระทำ และจะอยู่ด้วยความหวาดระแวง รักใครไม่เป็น ไม่เข้าใจและใส่ใจกับชีวิต และอนาคตข้างหน้า ขอเพียงอยู่เอาตัวรอดไปวัน ๆ ให้ปลอดภัย ไม่ใช้สมองส่วนคิดวิเคราะห์ วางแผน ใช้เพียงระบบสัญชาติญาณเท่านั้นและทุกวัน กลายเป็นวงจรที่เข้มแข็งมาก เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่จึงคิดวิเคราะห์ไม่เป็น โดนขับรถปาดหน้าก็ต้องไปเอาคืนจนต้องตายกันไปข้างหนึ่ง มีภรรยา หรือลูกจะทะเลาะวิวาท และทุบตีเป็นประจำ ชีวิตไม่ประสบความสำเร็จสมองส่วนหน้าไม่ค่อยได้ใช้งานโครงข่ายใยประสาทจะพรุนนิ่งตัวเองสลายไป และเมื่อเลยอายุ 25 ปี ไปแล้วก็ไม่สามารถเกิดวงจรเชื่อมโยงในด้านคุณธรรม จริยธรรม คิด วิเคราะห์ วางแผนอะไรได้เลย จำทำอะไรก็มีแต่ข้ออ้าง ข้อแก้ตัวชุ่ย ๆ เสมอว่า ลืมไป!!” ทั้ง ๆ ที่ใคร ๆ เขาก็ไม่ ลืม กันนะ !!

ผู้ดูแลเด็กทุกคนขอจำไว้ว่าการปล่อยปละละเลยเป็นสิ่งที่เด็กไม่ปรารถนาเลย (จากงานวิจัยของดิฉันทำเรื่องความรุนแรงต่อเด็กในครอบครัว) เด็กหลายคนบอกว่าถูกดุว่า หรือตีดีกว่าถูกทอดทิ้ง! เมื่อเราให้ชีวิตเขาเกิดมาแล้ว ลูกก็คือตัวเรากับแฟนเราคนละครึ่ง ชี้ตรงไหนก็คือเรากับแฟนทั้งเนื้อทั้งตัวลูกนั่นแหละค่ะ ตีเขาก็เหมือนกับตีตัวเอง โถ!ลูกตัวเล็กนิดเดียวใช้กำลังกับลูกจะไปสู้ได้อย่างไร(กระดูกคนละเบอร์กันเลย!) ใครที่ตีลูกลองมองย้อนไปว่าความผิดเขาสมควรถูกตีหรือว่าพ่อ แม่ ครูระงับอารมณ์โกรธไม่อยู่ต่างหาก หลายกรณีเป็นอย่างหลัง ใครที่คิดทอดทิ้งลูก ปล่อยปละละเลยลูก ลองนึกดูสิว่าถ้าเราตัวเท่าลูกนี้และถูกกระทำบ้างจะเอาตัวรอดได้ไหม เจ็บไหม ตอนเราเด็ก ๆ ก็อยากเป็นที่รักของทุกคน อยากฉลาด อยากเก่ง ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากโดนดุ ลูกก็เหมือนกันไม่อยากโดนทั้งที่บ้านและโรงเรียน พ่อ แม่ ครู อยากให้ลูก และลูกศิษย์เป็นคนดีของสังคม และเป็นคนเก่งของสังคมต้องไม่สร้างความรุนแรงทั้งที่บ้านและโรงเรียน ฝึกทักษะแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี จับถูกอย่าจับผิด คิดบวกอย่าคิดลบ หาด้านดีให้เจอ เพราะทุกคนมีด้านดีทั้งนั้นขอเพียงโอกาส และจังหวะ

ทุกคนมี 24 ชั่วโมงต่อหนึ่งวันเหมือนกัน รวยแค่ไหนก็ไม่สามารถซื้อเพิ่มได้แม้วินาทีเดียว ลองดูว่า เด็กนอน 8 ชั่วโมง อยู่โรงเรียน ประมาณ 8 -10 ชั่วโมง ที่เหลืออีก 6 8 ชั่วโมงทำกิจกรรมต่าง ๆที่บ้านและนอกบ้าน การนอนเป็นการจัดเรียงการรับรู้ของแต่ละวันมาเข้าแฟ้มในสมองถ้าเป็นเรื่องใหม่รอการย้ำเป็นความจำถาวร ถ้าไม่ย้ำจะเป็นความจำสั้นและหายไป หมายความว่าถ้ากลับมาจากโรงเรียนไม่ทบทวนในสิ่งที่เรียนมาก็จะไม่เกิดวงจรความจำถาวร เพียงอ่านหนังสือหนึ่งวันก่อนสอบอาจได้ผลน้อยมากเมื่อเทียบกับการทบทวนสม่ำเสมอ และก่อนสอบด้วย ดังนั้นเด็กที่มีแต่การถูกกระทำที่โรงเรียน ถูกกระทำจากเพื่อนด้วยกัน ถูกครูตี กลับมาบ้านถูกพ่อเมาเหล้าดุว่า แม่บ่น พี่น้องทะเลาะกัน สิ่งที่เก็บไว้ในสมองจึงมีแต่เรื่องความรุนแรงอย่างสม่ำเสมอ ไม่เกิดวงจรของการเจริญปัญญาเลย ขอให้พ่อ แม่ ครู ผู้ปกครองช่วยกันจัดกิจกรรมทั้งที่โรงเรียน ที่บ้านเพื่อเจริญปัญญา และคุ้มค่าใน 24 ชั่วโมง หรืออย่างน้อยหนึ่งในสาม คือ 8 ชั่วโมง ให้กับเด็ก เพื่อเขาจะเติบโตเป็นผู้เจริญปัญญา และพลังแห่งแผ่นดินต่อไป

เด็กถูกละเลยเพียงหนึ่งคนก็สามารถสร้างความรุนแรงต่อสังคมได้อย่างมหาศาล



ความเห็น (2)

เยี่ยมมากครับ อ่านแล้วคงได้นำไปใช้กับตัวเองบ้าง

ขอบคุณครับ

เมื่อก่อนไม่เคยเห็นความสำคัญของเรื่องนี้เลยค่ะ แต่ได้พอมีโอกาสรู้ถึงเรื่องเกี่ยวกับความรุนแรงในโรงเรียนที่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการสมองและพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนนั้น ทำให้ทราบทันทีว่าเรื่องนี้สำคัญจริงๆ ดีใจมากๆค่ะ ที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับอาจารย์เหม่ง...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท