เรียนรู้จากการประชุมคณะกรรมการบริหาร พรพ.


เรียนรู้จากการประชุมคณะกรรมการบริหาร พรพ.


          ในการประชุมคณะกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล   เมื่อวันที่ 27 ก.ค.48   ผมได้ประเด็นการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ของงานมาฝากดังต่อไปนี้


1.      สิ่งที่น่าชื่นชม   ในรายงานผลการประเมิน รพ. ที่ผ่านการประเมิน 5 โรงพยาบาล   มีประเด็นที่น่าชื่นชม รพ. ละหลายข้อ   ดังตัวอย่าง
1.1  การวางระบบงาน   รพ. เอกชนแห่งหนึ่งได้รับคำชมว่าทีมนำได้แสดงให้เห็นถึงการนำองค์กรและการบริหารองค์กรที่เข้มแข็ง   มีประสิทธิภาพสูง   เพื่อมุ่งสู่บริการระดับโลก   ทีมนำสามารถกระตุ้นชี้นำและผลักดันให้เกิดการประสานความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพ   ร่วมรับรู้สภาพปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กรอย่างรอบด้าน   ให้การสนับสนุนด้านนโยบาย   ทรัพยากร   และการแก้ไขปัญหาโดยทีมผู้บริหาร   ทำให้เกิดผลลัพธ์การพัฒนาในด้านการบริการผู้ป่วยที่น่าชื่นชม   โดยเฉพาะในด้านความเป็นเลิศด้านการบริการ   การจัดบริการในลักษณะ one stop service ในจุดต่าง ๆ
1.2  จริยธรรม   รพ. เอกชนแห่งหนึ่งได้รับคำชมว่า   ดำเนินการพิทักษ์และคุ้มครองผู้ป่วยกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาจริยธรรม   โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ   และผสมเทียมเด็กในหลอดทดลอง   โดยวางระบบที่รัดกุมบนพื้นฐานของความรู้ทางวิชาการและแนวทางขององค์กรวิชาชีพ   ยึดผลประโยชน์ของผู้รับบริการเป็นหลัก   ควบคู่กับการป้องกันความเสี่ยงต่อองค์กร   มีการติดตามปัญหา/ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด   ด้วยการนำกรณีตัวอย่างความต้องการของผู้ป่วยมาเป็นประเด็นในการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างทีมบริหารกับทีมที่ดูแลรับผิดชอบ
1.3  การบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล   มีความชัดเจนในการส่งเสริมขวัญกำลังใจและความรู้ความสามารถของผู้ปฏิบัติงาน   มีการส่งเสริมให้บุคลากรระดับต่าง ๆ ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง   ทั้งการเรียนรู้จากภายนอกและภายใน   ส่งเสริมให้มีการทดสอบ competency ของบุคลากร   มีการประเมินผลการปฏิบัติงาน (performance appraisal) ที่เน้นการสื่อสารระหว่างผู้ปฏิบัติงานกับหัวหน้างานเพื่อให้เกิดการปรับปรุงตนเองอย่างต่อเนื่อง   มีระบบ productivity management ใช้ในการวางแผนกำลังคนในปัจจุบันและอนาคต   ให้มีบุคลากรที่เหมาะสมต่อภาระงาน
1.4  ผู้บริหาร   ของ รพ.ชุมชนแห่งหนึ่งได้รับความชื่นชมว่ามีความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง   โดยมีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ 7 แผน   ที่เน้นมาตรฐานบริการทางการแพทย์   การตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการ   และการสร้างขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติงาน
1.5  การนำองค์กร   รพ. เอกชนแห่งหนึ่งได้รับความชื่นชมในประเด็น
·       ทีมนำโรงพยาบาล   มีความตั้งใจ   มุ่งมั่นที่จะสร้างวัฒนธรรมคุณภาพให้เกิดขึ้นในองค์กร   มีการสนับสนุนทั้งด้านนโยบาย   ทรัพยากร   การฝึกอบรม   และขวัญกำลังใจแก่บุคลากร   จนเกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้นเป็นลำดับทั้งในด้านพัฒนาการให้บริการและการดูแลรักษา
·       บุคลากรทุกระดับ   ทุกหน่วยงาน   มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพ   มีการทำงานเป็นทีมระหว่างหน่วยงานและวิชาชีพต่าง ๆ โดยยึดผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง   ก่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีในการทำงาน   เกิดผลลัพธ์ของการพัฒนาที่ชัดเจน   ทั้งในหน่วยงานทางคลินิกและหน่วยงานสนับสนุน   ส่งผลให้ผู้รับบริการได้รับการดูแลรักษาสอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพ   มีความปลอดภัย   และมีความพึงพอใจมากยิ่งขึ้น
·       ทีมนำ   แต่ละด้านมีการเรียนรู้และผลักดันการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง   สามารถกระตุ้น  ติดตามและประสานงาน   ส่งผลให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพทั้งในระดับหน่วยงาน   ทีมคร่อมสายงานและทีมนำทางคลินิก
2.      การหมุนความรู้ข้ามแดน
เห็นได้ชัดเจนว่า   โรงพยาบาลที่ผ่านการรับรองคุณภาพ   มีการดำเนินการพัฒนา
คุณภาพในลักษณะ knowledge – based   มีการดำเนินการจัดการความรู้ในลักษณะที่เป็น KM Inside ทุกโรงพยาบาล   ในลักษณะที่เป็นการหมุนความรู้ข้ามแดน  ดังตัวอย่าง
          2.1 การหมุนความรู้ข้ามแดนวิชาชีพ   โดยการจัดทีมสหวิชาชีพ
          2.2 การหมุนความรู้ข้ามแดนระหว่างแพทย์เฉพาะทางกับแพทย์ทั่วไป
          2.3 การหมุนความรู้ข้ามแดนระหว่างแพทย์ประจำกับแพทย์ที่ปรึกษา (part – time)
          2.4 มีการหมุนความรู้ข้ามแดนหน่วยงานแนวตั้ง   โดยกลไกองค์คณะบุคคล   ดังตัวอย่างต่อไปนี้
·       คณะกรรมการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อ
·       ทีมนำทางคลินิก
·       องค์กรแพทย์
·       การจัดระบบ HRD ที่เชื่อมโยงกับผลลัพธ์การดูแลผู้ป่วย
·       มีการคัดเลือกโรคที่มีความสำคัญ   มีความซับซ้อนในการดูแล   หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหามาเป็นจุดเน้นในการพัฒนา   และมีการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและวิชาชีพที่เกี่ยวข้องในรูปแบบต่าง ๆ   ก่อให้เกิดการเรียนรู้และการพัฒนาคุณภาพทางคลินิกร่วมกันชัดเจนมากขึ้น
3.      การใช้ข้อมูล   โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง   มีการใช้ข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจของผู้บริหารระดับสูงอย่างน่าชื่นชม   แต่ยังมีการนำข้อมูลดังกล่าวไปวิเคราะห์และใช้งานในระดับผู้ปฏิบัติน้อยมาก   หากเปิดโอกาสและส่งเสริมให้ทีมปฏิบัติงานได้มีโอกาสเข้าถึงข้อมูล   ทำความเข้าใจ   และใช้ข้อมูลเพื่อการพัฒนางาน   ก็จะเป็นกลไก empowerment ผู้ปฏิบัติงาน   ทำให้องค์กรมีลักษณะการทำงานแบบ knowledge – based เข้มข้นยิ่งขึ้น


วิจารณ์  พานิช
   27 ก.ค.48

หมายเลขบันทึก: 1762เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2005 10:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 14:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท