การประยุกต์ขั้นตอนการสอนดนตรีของโคดายใช้จริงที่โรงเรียน


การสอนของโคดาย 5 ขั้น

วิธีการสอนดนตรีของโคดาย

ธวัชชัย นาควงษ์ (2547 : 2-3)   กล่าวถึงวิธีการสอนดนตรีของโคดายว่า  มีขั้นตอนการสอนที่สำคัญอยู่  5  ขั้นตอน  ดังนี้

1.       ขั้นเตรียมการ(Preparation)

ขั้นนี้ผู้สอนควรสอนเพลงให้นักเรียนเรียนรู้ไว้จำนวนหนึ่งโดยสอนให้นักเรียนสามารถ ขับร้องได้ถูกต้องตามจังหวะ ทำนอง  จนขึ้นใจเพื่อจะนำไปใช้ในการวิเคราะห์ตัวโน้ตด้วยตนเองในขั้นที่ 2  ต่อไป

                การประยุกต์ใช้ในขั้นที่ 1 (นุรักษ์  สิงห์ศิลป์ : ครูชำนาญการพิเศษสาขาดนตรีสากล โรงเรียนบ้านศาลา  อำเภอปรางค์กู่  จังหวัดศรีสะเกษ  มือถือ 089-7174088 ,  087-2485992   E-MAIL :  [email protected])

                ผมได้ทำการวิจัยเรื่อง  การพัฒนาการร้องเพลงและร้องโน้ตสากลโดยใช้วิธีสอนตามแนวคิดของโคดายกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1  โรงเรียนบ้านศาลา  อำเภอปรางค์กู่  จังหวัดศรีสะเกษ  ปีการศึกษา  2550   โดยคัดเลือกเพลงมาทดลองใช้  20  เพลง  โดยเริ่มจากการนำเพลงง่าย ๆ  มาให้นักเรียนได้เรียนรู้ก่อน  แล้วเพิ่มเพลงที่มีระดับเสียง(PITCH)มากขึ้นตามลำดับ  ได้แก่      

     1)  เพลงตึ๊ดชึ่ง (C-D-E-G)   

     2)  เพลงดอกบัว (C-E-G- A)   

     3)  เพลงเจ้าป่า (A1-C-D-E)  

     4)  เพลงแจวเรือ (A1-C-D-E-G)    

     5)  เพลงกรุ๊กกรู (C-D-E-F-G) 

     6)  เพลงเจ้าวัวกระทิง (C-D-E-G-C1)

     7)   เพลงพบกันใหม่ (F-G-A-Bb-C1)   

     8)  เพลงช้าง  (C-D-F-G-A-C1)  

     9)  เพลงนาฬิกา  (A1-C-D-E-F-G-B-C1)  

     10)  เพลงสระภาษาอังกฤษ (C-D-E-F-G-A-C1)   

     11)  เพลงจากโมสาร์ท  (C-D-E-F-G-A-B-C1)    

     12)  เพลงลอยกระทง (E- F- G- A- B- C1- D1 – E1)   

     13)  เพลงสระไอไม้มลาย (C – D- E- F- G - A- B - C1)    

     14)  เพลงกบ (G1-A1-C-D-E-G-A)   

     15)  เพลงร้องรำทำเพลง (C-F-G-A-Bb-C1-D1)   

     16)  เพลงรถไฟ (C – D – E – G – A - C1)   

     17)  เพลงสรรเสริญพระบารมี (F – G -  A – Bb –C1 -D1 -F1 -G1 )   

     18)  เพลง que sera sera(B1-C-D- E- F- G-A-B- C1-D1)   

     19)  เพลง  turkey in the straw (B1-D- E- G-A-B- D1-E1)

    20)  เพลงชาติไทย (G1-C-D -E-F-G-A-B-C1-D1-E1

2.       ขั้นวิเคราะห์(Make  conscious)

ในขั้นนี้ครูสอนให้นักเรียนรู้จักวิธีการวิเคราะห์ตัวโน้ต  จังหวะและทำนองจากเพลงที่นักเรียนศึกษาและฝึกขับร้องได้คล่องแคล่วที่สุด  โดยครูคอยช่วยเหลือหาช่องทางที่จะทำให้นักเรียนค้นพบความรู้ได้ด้วยตนเองมากที่สุด  ขั้นนี้จะรวมจุดเด่นของการสอนตามแบบโคดายจุดแรกคือ  มีขั้นตอนการสอนที่จัดไว้เป็นหมวดหมู่  และมีการวางแผนว่าจะทำให้นักเรียนค้นพบความรู้ได้ด้วยตนเอง ได้อย่างไร

การประยุกต์ใช้ในขั้นที่ 2

เมื่อนักเรียนได้เรียนรู้เพลงที่ 1 เพลงตึ๊ดชึ่ง (C-D-E-G)  นักเรียนจะได้เรียนรู้และฝึกขับร้องเพลง ดังนี้

2.1)  ได้ฝึกออกเสียง C(โด)-D(เร)-E(มี)-G(โซ)  จนคล่อง

2.2)  ได้ฝึกร้องทำนองและตบมือตามจังหวะตก/ยก   เพลงตึ๊ดชึ่ง  ซึ่งประกอบด้วยทำนองทั้งหมด  3  ลักษณะ คือ 

         2.2.1  ตัวเขบ็ต  1  ชั้น + ตัวเขบ็ต  1  ชั้น +  ตัวดำ    ได้แก่เนื้อร้อง  "นี่แม่นหัว"  /  "นี่แม่นไหล่"  /  "ชึ่งตึ๊ดชึ่ง"

         2.2.2  ตัวเขบ็ต  1  ชั้น ประจุด+ ตัวเขบ็ต  1  ชั้น +ตัวเขบ็ต  1  ชั้น ประจุด+ ตัวเขบ็ต  1  ชั้น ได้แก่เนื้อร้อง  "ยื่นออกไปเรียก"  /   "อันแบนแบนเรียก"  /  "เอาไว้โยกตึ๊ด" 

        2.2.3   ตัวเขบ็ต  1  ชั้น ประจุด+ ตัวเขบ็ต  2  ชั้น +  ตัวดำ  ได้แก่เนื้อร้อง  "ว่าสะโพก"

        2.2.4   ตัวดำ + ตัวดำ  ได้แก่เนื้อร้อง  "สองแขน"

2.3)   เมื่อนักเรียนฝึกทักษะการร้องเนื้อร้อง  ร้องทาที(การออกเสียงตามแนวคิดของโคดาย) และร้องโน้ตสากลได้คล่องแล้ว  (หมายถึง  สามารถร้องได้ถูกต้องทั้งจังหวะ(BEAT)   ทำนอง(MELODY)  และระดับเสียง(PITCH)  )แสดงว่า      นักเรียนเข้าใจลักษณะการร้องตามโน้ตจังหวะทำนองต่าง ๆ ทั้ง  4  แบบได้แล้ว เมื่อนักเรียนพบโน้ตทำนอง  โน้ตระดับเสียง (โน้ตเสียง  C  D  E  G)  ลักษณะเช่นนี้   แล้วสามารถร้องได้ถูกต้อง  แสดงว่า  นักเรียนสามารถวิเคราะห์จังหวะ  ทำนอง  และโน้ตที่เคยเรียนมาได้

2.4)   ดังนั้นเมื่อครูแจกโน้ตเพลงที่ 2 เพลง ดอกบัว(C  E  G  A) นักเรียนก็จะสามารถร้องโน้ต C  E   G  ได้ เพราะเคยเรียนมาแล้วในเพลงตึ๊ดชึ่ง(C  D  E  G) ครูสอนเพิ่มเติมเรื่อง  การร้องเสียงโน้ตสากลอีกเพียง 1 ตัวคือ เสียงลา(A)เท่านั้นเอง

2.5)  เมื่อนักเรียนสามารถขับร้องเพลงตึ๊ดชึ่ง  และเพลงดอกบัวได้  นักเรียนจะสามารถร้องและอ่านโน้ต  ได้ถึง  5  เสียง  ได้แก่   C(โด)  D(เร)  E(มี)  G(ฟา)  A(โซ)

3.       ขั้นเสริมความรู้(Reinforcement)

หลังจากนักเรียนได้ค้นพบความรู้เรื่องโน้ตจังหวะ หรือทำนองจากเพลงที่ตนเองวิเคราะห์แล้ว  นักเรียนก็จะสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปวิเคราะห์เพลงอื่น ๆ  ที่มีโน้ตเหล่านี้ประกอบอยู่ในบทเพลงนั้น ๆ  นักเรียนจะเกิดความมั่นใจเพิ่มเติมอีกไปเรื่อย ๆ  ครูช่วยเสริมแรงให้นักเรียนมาก ๆ เพื่อจะทำให้ครูแน่ใจว่านักเรียนมีความรู้แล้วจริง ๆ

4.       ขั้นประเมินผล(Evaluation)

ขั้นนี้ครูหาเพลงใหม่ที่นักเรียนไม่เคยรู้จักมาก่อนแต่มีโน้ตที่นักเรียนเคยรู้จักหรือเรียนรู้มาแล้วประกอบอยู่ด้วย  เป็นเทคนิคในเรียนรู้เพลงใหม่หรือเกมใหม่นั่นเองหรือครูอาจใช้แบบฝึกหัดที่สร้างขึ้นในลักษณะของการอ่านโน้ตแรกเห็น(Sight  Reading)มาทดสอบนักเรียนก็ได้หรือครูแต่งวลีเพลงสั้น ๆ  ด้วยสัญญาณมือให้นักเรียนดูแล้วนักเรียนร้องออกมาเป็นเสียง

5.       ขั้นสังเคราะห์ (Creative)

ในขั้นนี้ครูอาจให้นักเรียนแต่งเพลงง่าย ๆ  โดยใช้ความรู้โน้ตที่เขามีหรือเรียนมาแล้วจากขั้นที่ 1-4  เช่น  หลังจากนักเรียนได้ร้องโน้ตหรือวลีเพลงตามสัญญาณมือ ของครูจากขั้นการประเมินผลแล้ว  ครูให้นักเรียนอาสาสมัครออกมาแต่งวลีเพลงให้เพื่อนในชั้นร้องตามในลักษณะคล้ายกับที่ครูทำ  และเมื่อนักเรียนมีความรู้ตัวโน้ตต่าง ๆ มากขึ้นอาจให้นักเรียนแต่งเพลงสั้น ๆ  เป็นการบ้าน

                ครูผู้สอนดนตรีสากลทุกๆ ท่าน  ควรจะศึกษาและนำไปประยุกต์ใช้วิธีการสอนของโคดาย  ไปใช้กับนักเรียนของตนเองเป็นอย่างยิ่ง  เพื่อช่วยกันพัฒนาเด็กไทย(เด็กในความรับผิดชอบของท่าน)ให้มีความรู้ความเข้าใจและมีทักษะทางดนตรีที่ถูกต้องตามหลักวิชาการยิ่งๆ  ขึ้นไป  ผมเชื่อว่า   บุญกุศลมีจริง    ถ้าท่านทำจริง  ให้เด็กด้วยความจริงใจไม่แอบแฝง  ไม่มีกั๊กไว้สอนพิเศษ   เด็กเก่งแน่นอน   

                เอกสารอ้างอิง

                ธวัชชัย  นาควงษ์.  เพลงแบบโคดาย.  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2547.

 

หมายเลขบันทึก: 176097เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2008 17:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณสำหรับข้อคิดและกำลังใจดีดีนะคะ

เด็กๆที่ค่าย ตอนนี้กำลังเรียนเป่า ฮาร์โมนิก้า กันอยู่

เห็นเด็กๆเป่าแล้วเลยอยากลองเป่าดูบ้าง แต่ลองแล้ว ไม่ไหวเลยค่ะ

สงสัยอยู่เหมือนกันว่า ฮาร์โมนิก้านี้ เป่ายากมากไหมคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท