รังสีเทคนิคกับสังคมไทยปลอดบุหรี่


วิชาชีพรังสีเทคนิคจะมีบทบาทอย่างไรที่ทำให้สังคมไทยปลอดบุหรี่

สถาบันผู้ผลิตรังสีเทคนิคตระหนักพิษภัยบุหรี่

     วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๑ เวลา ๑๕.๐๐-๑๗.๓๐ น. ก่อนที่การประชุมวิชาการรังสีเทคนิคประจำปีครั้งที่ ๑๖ ที่ชลจันทร์ พัทยา รีสอร์ท จะเริ่มขึ้น ได้มีการประชุมร่วม ๗ สถาบันผู้ผลิตนักรังสีเทคนิค ได้แก่ มหิดล เชียงใหม่ นเรศวร ขอนแก่น สงขลา รามคำแหง และจุฬาฯ แต่คราวนี้ขาดผู้แทนจากจุฬาฯ การประชุมนี้ สมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทยได้เอื้อเฟื้อสถานที่ประชุมให้ทุกปี โดยทางสมาคมเล็งเห็นว่า ไหนๆ คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆซึ่งเป็นผู้สร้างนักรังสีเทคนิค ก็เสียเงินลงทะเบียน ค่าเดินทาง และค่าที่พัก มาประชุมวิชาการกันอยู่แล้ว ก็น่าจะได้หาโอกาสให้คณาจารย์จากสถาบันผู้ผลิตมีเวทีที่จะมานั่งพูดคุยกัน ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเรียนการสอนรังสีเทคนิค การวิจัยสาขารังสีเทคนิคและที่เกี่ยวข้อง และเรื่องอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวิชาชีพรังสีเทคนิค ตรงนี้นายสละ อุบลฉาย นายกสมาคมรังสีเทคนิคฯ ได้สละเวลาเข้าร่วมประชุมด้วยจนจบ กล่าวว่า ยินดีให้การสนับสนุนกิจกรรมนี้อย่างเต็มที่

     สำหรับการประชุมมีเนื้อหาสาระต่อเนื่องจากการประชุม RT Consortium ครั้งที่ ๒ ที่ภาควิชารังสีเทคนิค คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก เมื่อ ๑๗-๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑ สถาบันทุกแห่งที่เข้าร่วมประชุมคราวนี้ ได้รายงานความก้าวหน้าถึงสิ่งที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุม RT Consortium ครั้งที่ ๒ ในเรื่องต่อไปนี้

     Image evaluation : กำหนดมาตรฐานของ evaluation criteria ของภาพเอกซเรย์ที่ได้ โดย มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยนเรศวร
     Dosimetry : ตีความคำว่า การคำนวณปริมาณรังสีพื้นฐานว่าครอบคลุมแค่ไหน โดย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
     จำแนก General กับ Special techniques : การถ่ายภาพรังสีทั่วไปและการถ่ายภาพผู้ป่วยฉุกเฉิน กับการตรวจพิเศษที่ซับซ้อนที่ใช้สารทึบรังสีด้วยเครื่องส่องตรวจทางรังสี โดย มหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
     Comprehensive examination : รูปแบบและสาระของการสอบรวบยอด โดย มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยนเรศวร
     Definition : นิยามศัพท์ ทางเทคนิคที่เป็นสากลของรังสีเทคนิค มีคำอะไรบ้าง โดย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยรามคำแหง

   อีกเรื่องหนึ่ง รองศาสตราจารย์มานัส มงคลสุข ซึ่งสมาคมรังสีเทคนิคฯมอบหมายให้ เป็นคณะกรรมการที่ประชุมเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ร่วมกับอาจารย์อำไพ อุไรเวโรจนากร โดยมีศาสตราจารย์แพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ เป็นประธานเครือข่าย ได้เสนอให้ที่ประชุมสถาบันฯ พิจารณาถึงบทบาทของวิชาชีพรังสีเทคนิค ที่มีต่อพิษภัยของบุหรี่ ว่าวิชาชีพรังสีเทคนิคควรมีบทบาทอะไรบ้าง เพราะเราก็เป็นเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพด้วย ได้แก่ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทันคแพทย์ กายภาพบำบัด สาธารณสุข เทคนิคการแพทย์ รังสีเทคนิค จิตวิทยา แพทย์แผนไทย เวชนิทัศน์ ฯลฯ ที่ประชุมเห็นว่า เราควรมีบทบาทในหลายๆด้าน ได้แก่

     ด้านการศึกษา ควรมีการเปิดวิชาเลือกให้นักศึกษาเล็งเห็นพิษภัยของบุหรี่ รณรงค์ให้สถานศึกษาแต่ละแห่งเป็นแหล่งปลอดบุหรี่
     ด้านการบริการ ควรรณรงค์ให้นักรังสีเทคนิคหรือนักรังสีการแพทย์ ให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและญาติ ให้ตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ สำหรับการประชุม 16th TSRT ก็ได้มีการแสดงโปสเตอร์และแจกเอกสารพิษภัยของบุหรี่ ให้กับผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการด้วย
     บรรยายทางวิชาการ/ประชุมทางวิชาการ ควรมีการจัดหัวข้อการบรรยายพิษภัยบุหรี่ ในการประชุมวิชาการของสมาคมรังสีเทคนิคฯคราวต่อไป อาจจะมีการจัดหัวข้อเหล่านี้สอดแทรกเข้าไป
     ด้านวิจัย ควรมีการวิจัยที่มีความเชื่อมโยงกับพิษภัยบุหรี่ เช่น ขณะนี้สมาคมรังสีเทคนิคฯโดยคุณสุรวุฒิ บุญประกอบ ได้ร่างโครงการ การศึกษาความผิดปกติของภาพถ่ายรังสีทรวงอกในกลุ่มผู้สูบบุหรี่ เป็นต้น และคุณสุรวุติ ได้นำร่างโครงการดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมสถาบันฯ เพื่อให้ช่วยวิจารณ์ปรับแต่งให้มีความเหมาะสมมากขึ้น

 

คำสำคัญ (Tags): #ประกายรังสี
หมายเลขบันทึก: 175938เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2008 23:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท