สวัสดิการ


สวัสดิการแบบไทบ้าน

"การพัฒนาระบบสวัสดิการชาวบ้าน"

               ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในเรื่องการจัดสวัสดิการสังคมร่วมกับหน่วยงานองค์กรภาครัฐและชุมชน จึงอยากจะนำเสนอชุดข้อมูลเรื่องสัวสดิการแบบชาวบ้านให้ผู้สนใจอ่าน

               ระบบสวัสดิการที่ผ่านมาของสังคมไทย  "ในอดีตได้รับสวัสดิการจากธรรมชาติ ผู้คนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน"  จนกระทั่งปัจจุบันรัฐได้มีการจัดสวัสดิการให้กับประชาชนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นสวัสดิการในลักษณะที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องใช้งบประมาณจำนวนมากแต่ให้บริการไม่ทั่วถึง ไม่ครอบคลุมความจำเป็นพื้นฐานของชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย  ทำให้หลายชุมชนได้มีความพยายามในการจัดสวัสดิการตนเองขึ้น แต่ยังอยู่ในลักษณะต่างคนต่างทำ  ไม่เชื่อมโยงและขาดการสนับสนุนอย่างเป็นระบบ จากเหตุผลดังกล่าวทำให้เครือข่ายองค์กรชุมชนตระหนักร่วมกันในการฟื้นฟูระบบสวัสดิการให้สามารถเป็นหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิตบนพื้นฐานการพึ่งตนเอง การช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างคนในชุมชนตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย เป็นการจัดสวัสดิการโดยชาวบ้าน เพื่อชาวบ้าน เป็นการให้อย่างมีคุณค่าและรับอย่างมีศักดิ์ศรี เคารพซึ่งกันและกัน มีกระบวนการที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ใช้หลักศาสนาและการมีส่วนร่วม

                   ในประเด็นดังกล่าวนี้ชี้ให้เห็นว่ารระบบสวัสดิการจากภาครัฐนั้นไร้ประสิทธิภาพทั้งในแง่ "การเปิดโอกาสให้คนเข้าถึง ปริมาณสวัสดิการที่มีให้ และคุณภาพของสวัสดิการที่จัดให้" ทำให้ชุมชนต้องลงมือและดูแลกันเอง ซึงมองในแง่ของการพัฒนาชุมชนแล้วจะเป็นแนวทางที่นำไปสู่ความยั่งยืนได้

                ระบบสวัสดิการแบบชาวบ้านมุ่งเน้นไปที่หลักการสำคัญ 3 ประการคือ

1.       เป็นระบบสวัสดิการที่ยั่งยืน คิดและดำเนินการโดยชุมชนเพื่อชุมชนสามารถดูแลทุกคน ทุกเพศทุกวัยในชุมชนได้อย่างทั่วถึง

2.       เป็นระบบสวัสดิการที่ดูแลชาวชุมชนได้อย่างครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนตาย

3.       เป็นระบบสวัสดิการที่นำไปสู่ความมั่นคงในชีวิต  โดยมีฐานคิดว่า  สวัสดิการคือความมั่นคงในชีวิต

ดังนั้นสวัสดิการ จึงไม่ได้หมายความ เฉพาะเงินเท่านั้นที่จะนำมาซึ่งความมั่นคง แต่จะรวมไปถึงการบูรณาการสวัสดิการหลากหลายเข้าด้วยกันเช่น ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ภูมิปัญญา และความสัมพันธ์ที่ดีของคนในชุมชน นำมาซึ่งความเอื้ออาทรต่อกัน เป็นสวัสดิการทางสังคมที่ทุกคนมีให้แก่กัน  การร่วมกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นเช่น ป่าชุมชน กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำ ชายฝั่ง นำมาซึ่งแหล่งอาหารและสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นสวัสดิการธรรมชาติเพื่อให้คนและธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างพึ่งพาอาศัยกัน การปรับวิธีคิดการทำเกษตรกรรมไปสู่เกษตรกรรมยั่งยืน ความเป็นอยู่ที่พอเพียง เป็นแหล่งอาหารที่ยั่งยืน ฟื้นธรรมชาติกลับคืนมา ตลอดจนการนำภูมิปัญญาและทรัพยากรท้องถิ่นผลิตเป็นสินค้าแทนการซื้อจากภายนอก

 

(Holistic approch or Synergistic approach)  = การรวบรวมผนึกกำลังจากฐานทรัพยากรที่มีอยู่ในระบบเล็ก ๆ ของเรา มาสร้างความเข้มแข็ง มั่นคง ให้ทุกคนมีที่อยู่ที่ยืน อย่างมีศักดิ์ศรี และโอบอุ้มคุ้มครองกัน อันนี้จะช่วยให้สังคมเราอยู่รอด ทั้งนี้เราไม่สามารถกระทำการใด ๆ ที่เปลี่ยนระบบสังคมใหญ่หรือตัวโครงสร้างได้ ก็ต้องเริ่มที่สังคมเล็ก ๆ ก่อน

โครงสร้างระบบสวัสดิการชาวบ้านแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ

1.  ระบบสวัสดิการชาวบ้านระดับตำบล (บริหารกองทุนและจัดสวัสดิการให้กับสมาชิก)

มีแนวทางการดำเนินงานอย่างน้อย 8 ขั้นตอน 

1.1    จุดประกายความคิด-ทำความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมาย

1.2    ค้นหาศักยภาพและทุนในท้องถิ่น

1.3    ขยายแกนนำให้ครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติการ

1.4    ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในท้องถิ่น

1.5    การตั้งกองทุนสวัสดิการชาวบ้าน

1.6    การบริหารกองทุน

1.7    การติดตามประเมินผล

1.8    การขยายผล

2.       ระบบสวัสดิการชาวบ้านระดับจังหวัด (กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนระบบสวัสดิการในจังหวัด ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆในจังหวัด เชื่อมโยงกองทุนสวัสดิการในจังหวัด)

3.       ระบบสวัสดิการชาวบ้านระดับประเทศ (พัฒนากองทุนสวัสดิการชาวบ้าน กำหนดเป้าหมายและทิศทางสวัสดิการชาวบ้านระดับประเทศ สนับสนุนด้านข้อมูล การเรียนรู้ ประสานงานกับเครือข่ายต่างๆ พัฒนาสู่ระดับนโยบาย)

การดำเนินงานสวัสดิการชาวบ้านที่ผ่านมาได้ข้อสรุปดังนี้

1.       เป็นระบบสวัสดิการที่เกิดจากการร่วมคิดร่วมทำ  ร่วมรับผลประโยชน์โดยชาวชุมชน

เน้นการสร้างความเข้มแข็งของระบบ การจัดการบริหารที่ยืดหยุ่น คล่องตัว ตรวจสอบได้ โดยอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นเป็นหลักเพื่อให้สามารถดูแลประชาชนในท้องถิ่นทุกเพศทุกวัยทุกประเภทได้อย่างครบวงจรตั้งแต่เกิดจนตาย

2.       ระบบสวัสดิการชาวบ้านไม่ได้คิดเพียงการสร้างกองทุนที่จำเพาะเพียงตัวเงินเท่านั้น

แต่ยังได้บูรณาการทุนทุกประเภทที่มีอยู่ในท้องถิ่นเข้าด้วยกัน  ทั้งทุนทรัพยากรและทุนทางสังคม เพื่อก่อให้เกิดระบบสวัสดิการที่เข้มแข็ง เอื้อให้คนในชุมชนมีความมั่นคงและอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทรทั้งคนต่อคนและคนกับธรรมชาติ

3.       ระบบสวัสดิการชาวบ้านมีความจำเป็นที่จะต้องสัมพันธ์เชื่อมโยงกันในทุกระดับตำบล

จังหวัด และระดับประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างระบบท้องถิ่นที่เข้มแข็งโดยมีกลไกระดับจังหวัดและระดับประเทศทำหน้าที่เชื่อมโยงสนับสนุนอย่างสอดคล้องต้องกัน

4.       ระบบสวัสดิการชาวบ้านจะมีความหลากหลายในการบริหารจัดการขึ้นอยู่กับเงื่อนไข

เหตุผล ความจำเป็นในแต่ละท้องถิ่น ตลอดจนมีเทคนิคและการเริ่มต้นที่ไม่เหมือนกันตามศักยภาพของตนเอง

5.       ระบบสวัสดิการชาวบ้านสามารถเชื่อมประสานหน่วยงานต่างๆในท้องถิ่นให้มาทำงาน

ร่วมกันได้อย่างกว้างขวางเช่นกองทุนระดับตำบล มีการประสานกับ อบต.ระดับจังหวัดมีการเชื่อมโยงกับพมจ.และพัฒนาการจังหวัดเป็นต้น ทำให้หน่วยงานเหล่านี้มีความเข้าใจทิศทางของระบบสวัสดิการชาวบ้านได้ดียิ่งขึ้น นำไปสู่ความร่วมมืออันดีต่อกันเกิดขึ้นทั่วประเทศ

                6. เกิดกองทุนสวัสดิการระดับตำบล 400 กองทุน(เกิดการเรียนรู้ระบบสวัสดิการเพิ่มขึ้น 600 ตำบล ในปี 2549) เกิดกลไกสวัสดิการระดับจังหวัดจำนวน 20 จังหวัด มีเงินกองทุนที่เกิดจากที่ชาวบ้านและหน่วยงานต่างๆสมทบประมาณ 250 ล้านบาท มีสมาชิกประมาณ 180,000 ราย มีสมาชิกได้รับสวัสดิการกองทุนในรูปแบบต่างๆแล้วประมาณ 36,000 ราย

เป้าหมายการขับเคลื่อนระบบสวัสดิการชาวบ้านในอนาคต

1.       เป้าหมายเชิงปริมาณ เพื่อให้สวัสดิการชาวบ้านจะมีการขยายกลุ่มกองทุนให้ครบทุกตำบลภายใน 5 ปี

2.       เป้าหมายเชิงคุณภาพ โดยมีแนวทางการดำเนินงานดังนี้

-          พัฒนาระบบกองทุน ขยายฐานสมาชิกไม่ต่ำกว่าร้อยละ60ของประชากรในตำบล

-          สนับสนุนการเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆที่เข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่ม

-          สนับสนุนให้กลไกกลางและกลไกระดับจังหวัดให้เข้มแข็งเพื่อหนุนเสริมระบบสวัสดิการในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

-          การดำเนินงานให้เกิดการยอมรับในระดับนโยบาย

3.       การพัฒนาไปสู่ระดับนโยบายสวัสดิการของรัฐ

-          เสนอให้รัฐบาลนำแนวคิดทิศทางเรื่อง ระบบสวัสดิการชาวบ้าน  เป็นนโยบาย

สวัสดิการของรัฐ เพื่อสนับสนุนให้องค์กรชุมชนทั่วประเทศได้ดำเนินระบบสวัสดิการโดยชุมชนเองเป็นการสนับสนุนให้ชุมชนเข้มแข็งและพึ่งตัวเองได้อย่างยั่งยืน ครอบคลุมทุกเพศทุกวัย และเป็นการประหยัดงบประมาณของรัฐได้เป็นอย่างมาก

-          เสนอให้มีการตั้ง คณะกรรมการพัฒนาสวัสดิการชุมชนระดับชาติ  ซึ่งมีผู้แทน

ภาครัฐผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนชุมชนไม่น้อยกว่า 60%เป็นคณะกรรมการโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นรองประธานและหน่วยงานของภาครัฐที่ภาคชุมชนให้ความเชื่อถือทำหน้าที่เลขานุการ โดยให้คณะกรรมการพัฒนาสวัสดิการชุมชนระดับชาติ มีหน้าที่ในการกำหนดแนวคิด ทิศทาง เป้าหมาย ของระบบสวัสดิการระดับฐานราก ตลอดจนกำหนดกฎเกณฑ์ให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาหนุนเสริมระบบสวัสดิการชาวบ้านในทุกระดับ

 

 

หมายเลขบันทึก: 175428เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2008 11:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 14:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ดีใจที่อาจารย์เข้ามาเขียนความคิดในblog ถือเป็นการรับฟังความคิดเห็นและขยายผลงานวิจัยให้กว้างขวางขึ้น ผมคิดว่านอกจากขอบเขตตำบล จังหวัด ประเทศไทยแล้ว น่าจะลองล้วงลึกสวัสดิการระดับหมู่บ้านว่ามันเป็นอย่างไร? ตอนไปขอนแก่นบ้านพ่อวิฑูรย์ ผมนั่งคุยกับกรรมการสอบถามเรื่องกลุ่มในหมู่บ้าน ซึ่งผมเห็นว่าเป็นการรวมตัวกันจัดสวัสดิการพบว่ามีกลุ่มออมบุญข้าว กลุ่มอาชีพ กลุ่มสัจจะซึ่งน่าสนใจมาก ผมเคยอ่านหนังสือบ้านกับเมืองของอ.ฉัตรทิพย์ คิดว่าขอบเขตหมู่บ้านคือขนาดความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งของคนในชุมชน และอาจจะเป็นขนาดที่น่าสนใจที่สุดในความสามารถและพลังที่ชาวบ้านมีอยู่ ขอบเขตตำบล จังหวัดมาจากการแบ่งการปกครองของรัฐไทย
อ.ตุ้มเสนอให้เจาะลึกการจัดสวัสดิการในหมู่บ้านโดยการสำรวจข้อมูลเชิงลึก คงได้แลกเปลี่ยนกันต่อไปครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์หมู

ดีใจเช่นกันค่ะ ที่อาจารย์หมูแบ่งเวลาที่มีเหลือน้อยนิดมาเปิด blog ส่งข่าวเล่าเรื่องให้พวกเราได้รับรู้กันนะคะ สัญญาว่าจะเป็น "แฟนคลับ" ติดตามอ่าน blog ของอาจารย์หมูให้ได้ทุกตอนค่ะ

จากการเกาะติดสถานการณ์ กลไกระบบของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในภาพรวมและระดับจังหวัด ตลอดจนความรู้ที่พวกเราได้จากการลงพื้นที่ ตามงานของอปท.ของภาคประชาสังคม และภาคชุมชน คิดว่าตอนนี้ทีมกลางคือพี่ตุ้มและอ.ภีม ได้ข้อสรุปร่วมกันถึงรูปแบบและกลไกการจัดสวัสดิการที่น่าจะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนได้มากขึ้นกว่าระบบที่เป็นอยู่ค่ะ ซึ่งอย่างที่อ.ภีมให้ข้อมูล หน่วยจัดการระดับหมู่บ้านน่าจะเป็นหน่วยที่พวกเราน่าจะทำวิจัยเชิงปฏิบัติการดูกันค่ะ ซึ่งคงต้องปรึกษาในรายละเอียดกับพวกเราทีมวิจัยพื้นที่ทั้ง 4 พื้นที่นำร่องค่ะ พี่ตุ้มกำลังเรียบเรียงความคิดและหาเวลาเขียนเล่าให้พวกเราฟังนะคะ รออ่านหน่อยนะคะ

ทีมขอนแก่นมีเวทีวันไหน ส่งข่าวผ่าน blog ด้วยนะคะ

พัชณี พนิตอังกูร พอช

เข้ามาติดตามอ่านตามคำแนะนำของอ.ภีมที่อุตส่าห์ผากใว้ใน mail ได้เห็นความก้าวหน้าของทีมงานวิจัยแล้วขอเอาใจช่วยค่ะ จะติดตามผลงานในตอนต่อไปนะคะ

ธีรพงษ์ วิชญเนตินัย

ได้เคยติดตามงาน อ.ท้งหลายมาบ้างแต่น้อยมาก ผมอยากเห็นงานวิจัยของ อ.ท้งหลาย ช่วยชี้แนะด้วยครับ โดยความเชื่อของผมเองคิดว่าการจัดสวัสดิการระดับหมู่บ้าน ชุมชน นั้นทำได้ดี แต่เป็นองค์กรที่เล็ก ฐานกลุ่มเล็ก การจัดสวัสดิการจึงมีขีดจำกัด ควรจะมีการเชืองโยงกัน จากระดับหมู่บ้านสู่ตำบลสู่จังหวัด มีเงื่อนไขท่เป็นภาคี เกื้อหนุนกัน จะยิ่งดีขึ้นและน่าจะดีทีสุดด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท