ทันตแพทยศาสตร์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ 3 : คราบจุลินทรีย์กับชีวิตและ “โลก” ของทันตแพทย์


หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของบุคลากรสาธารณสุข คือ การเยียวยาชีวิตมนุษย์ หาใช่การรักษาโรคให้หายเป็นส่วน ๆ เสี้ยว ๆ

ผู้ป่วยชายไทยคู่ ถูกส่งจากแพทย์มาพบทันตแพทย์ เพื่อดูแลปัญหาภายในช่องปาก ผู้ป่วยได้รับอุบัติเหตุรุนแรงทำให้ต้องตัดแขนทิ้งเสมอไหล่ทั้ง 2 ข้าง คนไข้ปฏิเสธโรคประจำตัวอื่นๆ จากการตรวจในช่องปากพบ dental caries ที่ ซี่ 36 (O) 47 (O,B) 26 (OM) 11 (M,D) และมีเหงือกอักเสบระดับปานกลางทั่วไป จากการย้อมคราบจุลินทรีย์ ผู้ป่วยมี Plaque index 97% และมีปัญหาไม่สามารถแปรงฟันได้

จาก รายงานผู้ป่วย ข้างต้น หากเราเป็นทันตแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วยคนนี้ นอกจากที่จะต้องทำการอุดฟันที่ผุอยู่ทั้งหมดและขูดหินปูนให้เรียบร้อยแล้ว การทำให้ผู้ป่วยสามารถทำความสะอาดช่องปากเพื่อควบคุมคราบจุลินทรีย์ให้ได้ก็เป็นอีกภารกิจหนึ่งที่เป็นโจทย์สำคัญเท่าๆกับหรืออาจจะมากกว่าการอุดฟันหรือขูดหินปูน อีกทั้งยังเป็นภารกิจที่ไม่ง่ายนัก แต่ในประเด็นนี้หากเราให้ความใส่ใจในมิติอื่นของชีวิตคนไข้ที่นอกเหนือไปจากภายในช่องปากและตัวคนไข้แล้ว เราก็อาจสามารถไปแสวงหาคนใกล้ตัวของคนไข้ซึ่งอาจจะเป็นภรรยา ลูก หรือญาติที่อยู่ใกล้ชิด ที่จะสามารถช่วยทำหน้าที่ดูแลทำความสะอาดช่องปากของคนไข้ และแนะนำวิธีการดูแลทำความสะอาดช่องปากให้กับคนดูแลนั้น เพื่อให้สามารถไปดูแลคนไข้ได้ต่อไป

การดูแลคนไข้รายนี้ด้วยแนวทางข้างต้น ดูคล้ายจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมและคำนึงถึงมิติทางสังคมของคนไข้ได้ดี เพราะมีการดึงผู้ที่อยู่ใกล้ตัวคนไข้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลช่องปากของคนไข้เพื่อควบคุมคราบจุลินทรีย์อันจะส่งผลให้อนามัยช่องปากของคนไข้ดีขึ้น ซึ่งนับเป็นเป้าหมายสำคัญสูงสุดของทันตแพทย์

คนไข้รายนี้มีตัวตนอยู่จริง เพียงแต่อาจจะไม่เคยมาพบทันตแพทย์ และสภาพในช่องปากข้างต้นนั้นก็เป็นสิ่งที่ผู้เขียนจินตนาการขึ้นบนพื้นฐานของความคิดที่ว่า   หาก  มนัส   มาพบทันตแพทย์  ทันตแพทย์จะเล่าเรื่องของ มนัส ออกมาเป็นรายงานผู้ป่วยอย่างไร ซึ่งก็จินตนาการออกมาได้เป็นเรื่องราวที่เขียนไปข้างต้น ทว่า รายงานผู้ป่วย ที่จินตนาการขึ้นข้างต้นคล้ายจะมีมิติหรือเรื่องราวบางอย่างที่ขาดหายไป ทำให้แนวทางการรักษาที่วางไว้คล้ายจะยังไม่สมบูรณ์เท่าไรนัก แต่จะเป็นอะไรที่ขาดหายหรือไม่สมบูรณ์นั้น ลองกลับมาค้นหาจากเรื่องราวของ มนัส ที่ถูก รายงาน ในอีกรูปแบบหนึ่งกันดู  เรื่องราวนี้ถูกถ่ายทอดโดยพยาบาลคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ดูแลมนัสด้วยการไปเยี่ยมบ้านหลังจากเขาออกจากโรงพยาบาล

 มนัสมีอาชีพรับจ้างทาสีอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ ใหญ่บ้างเล็กบ้าง วันหนึ่งเขาได้ไปรับจ้างทาสีอาคารใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งต้องปีนไปบนหลังคาและใช้ลูกกลิ้งที่ต่อด้ามให้ยาว เพื่อทาสีไปบนอาคารได้สูง ๆ ด้ามที่ใช้ต่อกับลูกกลิ้งนั้นทำจากท่อประปา เมื่อมนัสทาสีได้พักหนึ่ง จังหวะที่เขาหันกลับมาเพื่อจะเอาลูกกลิ้งจุ่มลงในถังสี ด้ามของลูกกลิ้งก็ไปพาดเข้ากับสายไฟฟ้าแรงสูง ด้ามจับเป็นท่อประปาโลหะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจร มนัสถูกไฟช็อตจนหมดสติตกจากหลังคาอาคารแห่งนั้น นอนสลบอยู่ด้านล่าง พอรู้สึกตัวขึ้นอีกครั้งก็พบว่าแขน 2 ข้างของเขาที่ถูกช็อตไฟฟ้านั้นถูกตัดออกเสมอไหล่

จากคนที่เคยต่อสู้เพื่อเลี้ยงครอบครัวด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเองในฐานะหัวหน้าครอบครัว กลายเป็นคนที่ทำอะไรไม่ได้เลย พูดอยู่อย่างเดียวว่าอยากตาย 1    (โกมาตร, 2550)

ความน่าสนใจของเรื่องนี้อยู่ที่ว่า เหตุใดเรื่องราวของคนหนึ่งคนถึงได้ถูกบอกเล่าได้ต่างกันมากมายเพียงนี้

Byron Good  และ Mary-Jo Good 2 นักมานุษยวิทยาการแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ทำการศึกษากระบวน การเรียนรู้ของนักศึกษาแพทย์ของฮาร์วาร์ดและบอกเล่าไว้ว่า ในกระบวนการของการศึกษาในโรงเรียนแพทย์นั้น  นักศึกษาแพทย์จะถูกฝึกให้เรียนรู้และรับเอาวิถีทางที่พวกเขาจะต้องใช้ในการมองโลกในรูปแบบที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงจากการมองโลกของคนปกติ  นอกจากรูปแบบของ การมองแบบหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นแล้ว สถาบันฝึกแพทย์ยังได้สร้างรูปแบบของ    การเขียนและ การพูด ชนิดหนึ่งขึ้นมา  และรูปแบบของ การเขียนและ การพูดนี้เป็นวิธีการสำคัญที่แพทย์ใช้ในการสร้างมนุษย์คนหนึ่งให้กลายเป็น คนไข้ในมุมมองของตน  Good เห็นว่าการ  จดบันทึกประวัติ คนไข้แท้ที่จริงแล้วมิใช่การจดบันทึกข้อเท็จจริงทั้งหมด  หากแต่เป็นการเติมคำใน  ช่องว่างให้เต็มรูปแบบของการบันทึกประวัติที่ถูกกำหนดไว้ก่อนล่วงหน้า    ส่วนการรายงานผู้ป่วย (case presentation) ของนักศึกษาแพทย์นั้น ก็มิใช่การบรรยายไปตามความจริงเชิงประจักษ์ทั้งหมดที่ได้พบ  แต่เป็นการสร้าง ความจริงอีกชนิดหนึ่งขึ้นมาผ่านกระบวนการคัดสรรเอาเพียงข้อมูลบางส่วน  (ที่จะเป็นประโยชน์ในกระบวนการของการวินิจฉัยและการรักษาเท่านั้น) จากความจริงทั้งหมดของมนุษย์ที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า ด้วยการใช้วิถีของ การมอง” “การเขียนและ การพูด” .ในรูปแบบที่เฉพาะจึงทำให้ผู้คนที่กำลังเผชิญหน้ากับความทุกข์ ถูกสร้างใหม่ให้กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า คนไข้ก่อนที่จะถูกแปรเปลี่ยนให้เป็น แฟ้มประวัติและนำไปสู่การเป็น โครงการที่จะต้องทำการรักษาในที่สุด

เมื่อเทียบเคียงกับข้อเสนอของ Good จึงเป็นเรื่องง่ายมากที่เมื่อมนุษย์อย่างมนัสเดินเข้ามาพบทันตแพทย์แล้ว (ไม่ยกเว้นแม้แต่ตัวผู้เขียนเอง) จะถูกวิถีของการมอง การเขียน และการพูด ของทันตแพทย์ ลดทอนกลายเป็นเพียง ผู้ป่วยชายไทยคู่ ชีวิตของมนัสจะถูกตัดตอน คัดสรร และเลือกหยิบเอาบางส่วนเพื่อมาใช้ประกอบการวางแผนการรักษาที่ ดี ตามมาตรฐานของวิชาชีพทันตแพทย์

หากแต่ชีวิตมนุษย์นั้นไม่เคยง่ายและตรงไปตรงมาอย่างที่เรามักจะสำคัญผิด  แผนการรักษาที่เราคิดไว้ว่าจะไปค้นหาคนใกล้ตัวของมนัสเพื่อมาทำหน้าที่ดูแลทำความสะอาดช่องปากนั้น อาจจะเป็นผลดีในการควบคุมคราบจุลินทรีย์ของมนัสให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ แต่หากเรารับรู้เรื่องราวชีวิตของมนัส (ที่ไม่ใช่รายงานผู้ป่วย) และใคร่ครวญดูอีกครั้งคราบจุลินทรีย์ที่ลดลงนั้นอาจจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่เราพึงจะใส่ใจนัก ยิ่งหากการลดลงของคราบจุลินทรีย์นั้นอาจต้องทำให้มนัสตกอยู่ในภาวะพึ่งพึงคนอื่นมากยิ่งขึ้น

เราจะลองกลับไปดูที่เรื่องเล่าของพยาบาลคนนั้นอีกครั้งหนึ่งว่าเธอทำอย่างไรกับชีวิตของคน ๆ หนึ่งที่ล้มพับอยู่ลงตรงหน้า

พยาบาลชุมชนที่ไปติดตามเยี่ยมหลังผ่าตัด เมื่อเห็นหน้าของมนัสก็รู้ทันทีว่าปัญหาที่เธอต้องดูแลนั้นไม่ใช่เรื่องของแผลผ่าตัดที่แขน แต่เป็นปัญหาที่หัวใจของคนๆหนึ่ง ที่ตอนนี้ชีวิตได้ทรุดล้มลง ภาระของเธอคือเรื่องของการที่จะทำอย่างไรให้คนที่สูญสิ้นความหวังได้ลุกขึ้นมาสู้ใหม่อีกครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากกว่าการดูแลแผลผ่าตัดมากนัก ถึงแม้จะไม่ได้เรียนทางด้านการฟื้นฟูอะไรมามากมาย แต่ด้วยจิตใจที่อยากช่วยเหลือและความที่ได้คุยกับคนไข้มาก เธอจึงรู้ว่ามนัสรู้สึกแย่ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย รู้สึกแย่ที่สุดก็ตอนที่อุจาระแล้วต้องให้ภรรยามาล้างก้นให้ ชีวิตที่อยู่ทุกวันนี้อยู่ไปก็มีแต่จะเป็นภาระกับภรรยาเท่านั้น ทำให้คิดฆ่าตัวตายอยู่เสมอ เธอจึงแสวงหาหนทางที่ทำให้มนัสช่วยเหลือตัวเองได้ในเรื่องง่าย ๆ เริ่มจากการเอาแปรงสีฟันไปตอกใส่ประตูวงกบห้องน้ำ เพื่อให้มนัสแปรงฟันเองได้โดยใช้ปากอมแปรงที่ตอกไว้แล้วโยกหัวไปมาเพื่อทำความสะอาดฟัน เมื่อมนัสบอกเธอว่าสิ่งที่เขาไม่ชอบที่สุดคือ การที่ต้องให้ภรรยาล้างก้นให้เมื่อถ่ายอุจาระ เธอจึงช่วยต่อท่อทำเป็นก๊อกน้ำออกมาโดยทำให้ปลายท่อสูงขึ้นมาอยู่ในระดับที่สะดวกในการชำระล้าง และสามารถใช้ขาเหยียบเปิดปิดก๊อกได้ ทำให้เขาล้างชำระด้วยตัวเองได้ 1

แน่นอนว่าการตอกแปรงไปที่วงกบแล้วให้มนัสโยกศีรษะแปรงเองนั้น อาจจะเป็นวิธีที่ลดคราบ  จุลินทรีย์ลงได้ไม่มากนัก เมื่อเทียบกับการมีคนมาช่วยทำความสะอาดให้ อีกทั้งพยาบาลคนนี้ยังไม่ได้พูดถึงการใช้อุปกรณ์เสริมเพื่อช่วยทำความสะอาดคราบจุลินทรีย์บริเวณด้านประชิดของฟัน ทั้งที่จากประวัติผู้ป่วยรายนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุด้านประชิดค่อนข้างสูง แต่ภายใต้การดูแลของพยาบาลคนนี้

ไม่นานนักมนัสก็ค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น แต่ยังอยู่แต่ในบ้านไม่ยอมออกไปไหน  มนัสมีลูกสาวอยู่คนหนึ่งที่เขาตั้งใจทำงานส่งเรียนจนจบมหาวิทยาลัยราชภัฏ วันที่ลูกจบการศึกษา ลูกสาวอยากให้พ่อไปงานรับปริญญา แต่พ่อไม่กล้าไป เขาบอกกับพยาบาลคนนี้ว่ากลัวลูกจะอายเพื่อนที่มีพ่อพิการ กลัวเพื่อน ๆ ของลูกจะดูถูก เธอต้องคุยกับมนัสอยู่นาน หาทางทุกอย่างจนในที่สุดมนัสยอมไปงานรับปริญญาของลูกสาว เมื่อเขากลับมาก็มาขอบคุณพยาบาลคนนี้มากและบอกว่าวันนี้เป็นวันที่เขามีความสุขที่สุด ไม่มีเพื่อน ๆ ของลูกสักคนที่รังเกียจคนพิการอย่างเขา

หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นต้นมา เราก็เห็นมนัสลุกขึ้นได้อีกครั้ง 1

หากกลับไปเทียบเคียงกับแนวคิดของ Good เราอาจกล่าวได้ว่าพยาบาลคนนี้ ถึงแม้จะไม่ได้เรียนทางด้านการฟื้นฟูอะไรมามากมาย  แต่เธอได้ใช้วิธีมองโลกของคนปกติในการมองมนุษย์ ทำความเข้าอกเข้าใจต่อกันและกัน และมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกันในฐานะมนุษย์ต่อมนุษย์  ด้วยจิตใจที่อยากช่วยเหลือและความที่ได้คุยกับคนไข้มาก เธอจึงรู้ว่ามนัสรู้สึกแย่ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย ซึ่งเรื่องราวเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเธอได้ถอดถอนละวางวิถีการมองโลกแบบบุคลากรสาธารณสุขเอาไว้เสียก่อน เช่นเดียวกันหากเราในฐานะทันตแพทย์คนหนึ่งจะเข้าไปสัมผัสกับชีวิตของมนัส โดยมองผ่านฟันผุและคราบจุลินทรีย์ในปากไปให้เห็นความทุกข์ของคน ๆหนึ่งที่ได้สูญเสียคุณค่าของความเป็นมนุษย์ไปได้นั้น เราอาจจะต้องละวางวิธีการมองโลกแบบทันตแพทย์เอาไว้เสียก่อน เพราะหากจะนับว่าหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของเราในฐานะบุคลากรสาธารณสุข คือ การเยียวยาชีวิตมนุษย์ หาใช่การรักษาโรคให้หายเป็นส่วน ๆ เสี้ยว ๆ คราบจุลินทรีย์จะลดลงหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดอีกต่อไป

เอกสารอ้างอิง

1.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ (2550). แพทยศาสตร์ศึกษากับการแพทย์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ ใน วรพงษ์ เวชมาลีนนท์ (บก.) อุดมคตินักศึกษาแพทย์. กรุงเทพ: แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์.

2. Good, Byron J. and Good, Mary-Jo Delvecchio (1993). “Learning Medicine: The Constructing of Medical Knowledge at Harvard Medical School” in Lindenbaum, Shirley and Lock, Magaret (eds.) Knowledge, Power & Practice: The Anthropology of Medicine and Everyday Life. (pp. 81-107). Berkeley, California: University of California Press.

หมายเลขบันทึก: 174955เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2008 14:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 17:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท