เขาคุยอะไรกันในการประชุมทางวิชาการ (๓) : รามเกียรติ์ในวิถีชีวิตของคนไทย


ทุกอณูของชีวิตย่อมมีเรื่องราวรามเกียรติ์แทรกเข้ามาทั้งสิ้น

เขาคุยอะไรกันในการประชุมทางวิชาการ  (๓)

 : รามเกียรติ์ในวิถีชีวิตของคนไทย

อยู่คู่กาลกับโลก    :   การศึกษาวรรณคดี วรรณกรรม และสื่อร่วมสมัย

(มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ๒๐-๒๑ มีนาคม ๒๕๕๑)

 

 

           การบรรยายเรื่องต่อไปเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้ฟังดูคุ้นเคยเป็นอย่างมาก นั่นคือ เรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งผู้บรรยายได้นำเสนออิทธิพลของเรื่องรามเกียรติ์ที่มีต่อวิถีชีวิตคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและจะยังคงมีต่อไปถึงอนาคต แม้เวลาจะจำกัดและเรื่องราวนำเสนอยังมีอีกมาก แต่ก็ทำให้มองเห็นภาพรวมได้ว่า รามเกียรติ์นั้นเป็นวรรณคดียิ่งใหญ่อีกเรื่องหนึ่งของไทยที่คนรุ่นใหม่ไม่อาจมองข้ามไปได้

 

 

รามเกียรติ์ในวิถีชีวิตของคนไทย

บรรยายโดย ผศ.ดร.เสาวณิต  วิงวอน  คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

              รามเกียรติ์  คือวรรณกรรมไทยที่มาจากรามายณะ ของอินเดีย  เป็นวรรณกรรมสรรเสริญเกียรติของพระรามที่เป็นองค์อวตารของพระนารายณ์ มหาเทพสำคัญของศาสนาฮินดู  พระราม มีคุณธรรมสำคัญคือ ความสัตย์ ที่คนทั่วโลกถือเป็นเรื่องสำคัญและให้การยอมรับ และมีการแต่งเป็นภาษาต่างๆ มากมายเช่น ภาษาฮินดี ภาษาอังกฤษ ภาษาลาว ภาษาชวา ภาษาเขมร เป็นต้น 

 

             รามเกียรติ์ในไทยมีการแต่งมาเกือบทุกรัชกาลทั้งฉบับหลวงคือพระราชนิพนธ์และฉบับราษฎร์คือแต่งขึ้นใช้อ่านและแสดงในรูปแบบต่างๆ แม้ในสมัยรัชกาลปัจจุบันก็มีการแต่งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรูปแบบต่างๆ   รูปแบบที่นำเรื่องรามเกียรติ์มาแสดงหรือจัดแสดง    ได้แก่    หนังใหญ่   โขน  หุ่นหลวง  หุ่นกระบอก  ภาพจิตรกรรม (ภาพวาด)  ประติมากรรม (ปั้น  แกะสลัก)   การจารึกพระนามในพระปรมาภิไธยของกษัตริย์ (สมเด็จพระรามาธิบดี...)  รูปในตราประจำตำแหน่ง (ตราหนุมานแผลงฤทธิ์)   การเรียกท่ามวย ไทย (หนุมานถวายแหวน พระรามเดินดง พระรามเหยียบลงกา)  ชื่อพรรณไม้ (กระเช้าสีดา สมอพิเภก ว่านหนุมานยกทัพ   หนุมานประสานกาย)

  

                       ภาพที่สะท้อนความเชื่อของคนไทย  เช่น  ปรากฏชื่อเมืองที่ปรากฏในจารึกหลักที่ ๑๑ พ.ศ.๑๘๘๗ มีชื่อเมืองว่า อโยธยาศรีรามเทพนคร     เศียรธรรมิกราช   ชื่อวัดพระราม  บึงพระราม    ในเพลงยาวเรื่องตีเมืองพม่ามีปรากฏชื่อ บริเวณอื้ออลด้วยชลธี ประดุจเกาะอสุรีลงกา     รามเกียรติ์ยังเกี่ยวข้องกับการเฉลิมฉลองของพระมหากษัตริย์   ตัวละครเป็นสัญลักษณ์หรือใช้ในความเปรียบ เช่น  ธงราชกระบี่ยุทธน้อย  ตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติ   ใช้เป็นสำนวนไทย   รูปฤาษีต่างๆ ที่ปรากฏ   ความเชื่อทางโหราศาสตร์  เช่นในตำราพยากรณ์     การแทงศาสตรา(วิธีเสี่ยงทาย)    รูปตัวละครในไพ่ทาโร่   นอกจากนี้ยังมีรามเกียรติ์ในฉบับท้องถิ่นตามวัดวาอารามต่างๆ เป็นต้น  

 

                       แม้ว่ารามเกียรติ์จะมาจากอินเดีย แต่คนไทยก็นำมาดัดแปลงให้เข้ากับวิถีชีวิตของคนไทยและอยู่ในความเชื่อของคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตามคำพรที่ว่า   ตราบใดที่ภูเขาและแม่น้ำทั้งหลายยังมีอยู่บนพื้นปฐพี ตราบนั้นเรื่องของพระรามก็จะยังคงอยู่ในโลกต่อไป

 

 

                      บทสรุปความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ ตอกย้ำความยิ่งใหญ่ของรามเกียรติ์ของไทย ที่ได้สะท้อนภาพอิทธิพลความเชื่อของคนไทยแบบวิถีคนไทยตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย  คำสอนสั่ง คติธรรม ความเชื่อทุกๆ ด้าน  ทุกอณูของชีวิตย่อมมีเรื่องราวรามเกียรติ์แทรกเข้ามาทั้งสิ้น

  

                     สมัยผมยังรุ่นกระทงชอบร้องเพลงอ้อนสาวว่า  ถ้าฉันมีสิบหน้าดังทศกัณฐ์  สิบหน้านั้นฉันจะหันมายิ้มให้เธอ สิบลิ้น สิบปาก อยากบอกคำพร่ำเพ้อ ว่ารักเธอ รักเธอ เป็นเสียงเดียว  และที่สำคัญผมมักอ่านโคลงของพระมหานาคเพื่อชมสาวว่า

 

          สามเล่มราเมศไท้                       สังหรณ์

    แม่ก็ทรงสามศร                               เปรียบท้าว

    ท่านผลาญอสุรมรณ์                          ลาญชีพ

    เจ้าก็ผลาญชายอคร้าว                       มอดม้วยดูเสมอ

 

 แม้กระนั้นผมก็ยังชวนสาวไปชมโขนเรื่องรามเกียรติ์ ดูจะเชยไปสำหรับเด็กสมัยนี้ แต่เชื่อเถิดว่า สมัยนั้นสาวเจ้าเป็นปลื้มกับผมมาก เพราะเธอตื่นตาตื่นใจไปกับโขนกรมศิลป์ที่ผมตัดใจลงทุนเอาค่าขนมก้อนใหญ่ไปซื้อตั๋วเข้าชมที่โรงละครแห่งชาติ  น่าเสียดายที่ตอนนี้การแสดงโขนที่ยิ่งใหญ่ห่างหายไป ไม่ค่อยเฟื่องฟูเหมือนเมื่อก่อน  ผมได้แต่หวังว่ารามเกียรติ์จะยังไม่สิ้นมนต์ขลังไปจากจิตวิญญาณของคนไทยในอนาคตอันใกล้นี้ครับ

               

หมายเลขบันทึก: 173376เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2008 12:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีคะ อาจารย์กรเพชร

ดิฉันเองมีความคิดอยากจะไปชมโขนสักครั้ง ยังไม่เคยดูการแสดงโขนเลยคะ คิดว่าถ้ามีโอกาสดีๆ คงไม่พลาดแน่คะ อยากจะเห็นการแสดงจริงๆ แบบติดขอบเวทีคะ

ชอบกลอนมากค่ะอยากให้เอามาลงอีกค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท