ก.พ.ผุด 7 อรหันต์ยื่นมือป้อง 'ขรก.' โดน 'รมต.' แกล้ง


"ก.พ." เตรียมตั้ง 7 กรรมการพิทักษ์คุณธรรม เพื่อปกป้องข้าราชการที่ถูกกระทำหรือกลั่นแกล้งจากปลัดกระทรวง-รัฐมนตรี-นายกรัฐมนตรี เปรียบเป็นศาลปกครองชั้นต้น  ทำหน้าที่วินิจจัยเรื่องราวร้องทุกข์-อุทธรณ์

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้ออกหนังสือชี้แจงถึงร่าง     พระราชกฤษฎีกากำหนดการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอย่างอื่น หรือดำรงตำแหน่งหรือประกอบการใด ๆ หรือเป็นกรรมการในหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน  อันขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ ก.พ.ค. พ.ศ....  ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ. ได้ชี้แจงว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของการบริหารทรัพยากรบุคคล ที่แยกบทบาท ภารกิจ หน้าที่ โดยเฉพาะงานวินัย อุทธรณ์ และร้องทุกข์ ออกจากกันโดยเด็ดขาด โดยเสนอให้มี        การจัดตั้งคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ขึ้นเพื่อทำหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ พิจารณาคำร้องทุกข์และ คำร้องเรียน  โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้มีการสรรหาแต่งตั้ง ก.พ.ค. ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (26 มกราคม 2551)  ซึ่งขณะนี้ สำนักงาน ก.พ.กำลังเร่งดำเนินการ โดยคาดว่า           จะแต่งตั้งแล้วเสร็จราว 25 กรกฎาคม 2551

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่มาของ ก.พ.ค. มาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการชุดพิเศษคัดเลือก ก.พ.ค.      ที่ประกอบด้วย ประธานศาลปกครอง  รองประธานศาลฎีกา  กรรมการ ก.พ.  ผู้ทรงคุณวุฒิ  และเลขาธิการ ก.พ. เป็นเครื่องรับรองในความเป็นกลางตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นของการดำเนินงาน

คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบด้วย กรรมการ 7 คน ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายด้าน ๆ โดยมีคุณวุฒิและคุณสมบัติที่เหมาะสมตามที่กำหนดไว้ เช่น ต้องเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า 45 ปี  เป็นหรือเคยเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน  รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง  โดยไม่ต้องมีลักษณะต้องห้ามต่าง ๆ   เช่น ต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่เป็นข้าราชการ ไม่เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจหรือประกอบใด ๆ อันขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่  "ก.พ.ค.จึงเสมือนศาลปกครองชั้นต้น ในสถานภาพการทำงานลักษณะองค์กรกึ่งตุลาการ มีองค์คณะวินิจฉัยที่ต้องทำงานเต็มเวลา โดยสามารถดำรงตำแหน่งได้ 6 ปี และอยู่ได้เพียงวาระเดียว  ส่วนบทบาทขององค์คณะวินิจฉัยจะเป็นประการใดนั้น ก็เป็นกรณีที่อยู่ในอำนาจของ ก.พ.ค.ที่แต่งตั้งองค์คณะวินิจฉัยขึ้น  เพื่อให้ทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยเรื่องอุทธรณ์ ร้องทุกข์ และร้องเรียนที่อยู่ในอำนาจของ ก.พ.ค. ให้เกิดความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพแบบมืออาชีพ โดยมีหลายองค์คณะตามแต่ปริมาณงานและเหตุผลความจำเป็น" หนังสือชี้แจงของสำนักงาน ก.พ.ระบุ

สำหรับขั้นตอนการร้องทุกข์ ให้ดำเนินการร้องต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป เว้นแต่เรื่องที่เกิดจากปลัดกระทรวง รัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี ให้ร้องต่อ ก.พ.ค. ทั้งนี้ หากมติของ ก.พ.ค.มีประการใด ให้ส่วนราชการดำเนินการตามนั้น และหากไม่พึงพอใจ สามารถฟ้องศาลปกครองสูงสุดได้

หนังสือของสำนักงาน ก.พ. ยังระบุอีกว่า การปรับเปลี่ยนการบริหารทรัพยากรบุคคลโดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมขึ้นนี้ จึงถือเป็นจุดแข็งของการบริหารทรัพยากรบุคคลแนวใหม่  ที่นอกจากความรวดเร็ว ลดขั้นตอน ยังเป็นการสร้างความสมดุลในการบริหาร เพื่อรับกับการกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรบุคคล และการให้ข้าราชการได้รับการดูแลเพื่อรักษาไว้ซึ่งระบบคุณธรรมที่เป็นหลักสำคัญของการบริหารทรัพยากรบุคคลของราชการ พลเรือนต่อไป อันจะส่งผลให้ข้าราชการเกิดขวัญกำลังใจและปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประชาชนก็จะได้ประโยชน์ในที่สุด

มีรายงานว่า ระหว่างนี้ สำนักงาน ก.พ. ยังได้เตรียมการเรื่องกฎหมาย 13 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ว่าด้วยเรื่องการพิจารณาเรื่องอุทธรณ์ รวมทั้งเตรียมการในส่วนของสถานที่ทำงานของ ก.พ.ค. โดยจะมีทั้งห้องอุทธรณ์ ห้องร้องทุกข์ และส่วนบริการช่วยเหลือต่าง ๆ แก่ข้าราชการ โดยสำนักงานจะตั้งอยู่ที่สำนักงาน ก.พ. ถนนพิษณุโลก ซึ่งใกล้จะแล้วเสร็จในเร็ว ๆ นี้

ไทยโพสต์  27 มี.ค. 51

คำสำคัญ (Tags): #ข้าราชการ
หมายเลขบันทึก: 173357เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2008 11:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท