ผี(ขบวนการ)นักศึกษา


จาก “ศนท.” สู่ “สนนท.” ฤาจะกลายเป็นแค่ “ผี(ขบวนการ)นักศึกษา”

จาก ศนท. สู่  สนนท. ฤาจะกลายเป็นแค่ ผี(ขบวนการ)นักศึกษา

ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย  ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย แต่สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว....เพียงหวังจะเฟื่องฟุ้ง ฤาจึงมุ่งมาศึกษา เพียงเพื่อปริญญา เอาตัวรอดเท่านั้นฤา...แท้ควรสหายคิด จงตั้งจิตมั่นยึดถือ รับใช้ประชาคือ ปลายทางเรา...ที่เล่าเรียน ........ท่ามกลางกาลเวลาที่ผ่านไปบทกลอนของ คุณวิทยากร  เชียงกูร  ดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนไม่แน่ใจเลยว่าจะยังสามารถปลุกจิตวิญญาณที่หลับใหลของผู้ใฝ่เรียน ใฝ่หาความรู้ที่จะมุ่งสู่คำว่า บัณฑิต หรือ ผู้รู้ ได้มากน้อยเพียงใด เมื่อมองผ่านขบวนการนักศึกษาก้าวเดินไปในทิศทางของโลกกระแสทุนนิยมอย่างไม่รู้เท่าทัน....เราไม่ได้โทษนักศึกษา.....แต่สังคมทำให้ขบวนการนักศึกษาอ่อนแอ อ่อนล้า เพื่อการแทรกแซงควบคุม พื้นที่ทางความคิด

พลังฝ่ายซ้ายที่ยืนข้างประชาชนเมื่อ 37 ปีก่อน (พ.ศ. 2513) ถูกกล่าวขวัญถึงอย่างเป็นธรรมและเป็นรูปธรรม ในนาม ศูนย์กลางนิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ ศนท. ที่มีการรวมตัวก่อตั้งขึ้น แต่ก็ต้องจบบทบาทอย่างไม่สงบด้วย ขบวนการขวาพิฆาตซ้าย เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 ทั้งด้วยวิธีการเอาอาจารย์ เจ้าหน้า ไปอบรมความมั่นคง (กร.รมน.) ที่เมื่อผ่านร้อนผ่านฝนสู่ ปี 2527 ที่ สสนท.(สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย) ถูกก่อร่างสร้างขึ้น  สนนท.ยุคก่อนพฤษภาทมิฬ เองก็ยังถูกครอบงำและชี้นำ โดยกลุ่มนักวิชาการบ้านพิษณุโลกเพื่อเป็นฐานให้กับหัวหน้าพรรคชาติไทย และปัจจุบันใครกล้าบอกได้ว่า ประชาธิปัตย์ หรือ พลังประชาชน ไม่ได้แทรกกระบวนการนักศึกษา ตอกย้ำความมั่นใจได้ว่า คำว่า แห่งประเทศไทย ใน สนนท. ไม่มีความชอบธรรมที่จะใช้เนื่องจากการขาดกลไกการประสานงานมหาวิทยาลัยระดับภูมิภาค ทั้ง มช.,มข, และอีกหลายสถาบัน ยิ่งการยกระดับวิทยาลัยครูเป็นสถาบันราชภัฎด้วยแล้ว สนนท. จากส่วนกลางที่ผูกขาดเฉพาะ จุฬาฯ,ธรรมศาสตร์,มหิดลมาเนิ่นนาน แทบจะมองไม่เห็นหัวเพื่อนพ้อง ทั้งราชภัฎ ราชมงคล และมหาวิทยาลัยเอกชนเกิดใหม่ ความคิดสถาบันตนอยู่เหนือสถาบันใด ๆ ยังอยู่และฝังลึก นี่เป็นการสร้างภาพหลอกตัวเอง หลอกสังคมหรือเปล่า ?..แต่ไม่โทษนักศึกษา เพราะผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง มันต้องการให้เป็นไปเช่นนั้น หรือแม้แต่ในภูมิภาคเอง ยังมองฝ่ายตนว่าเป็นพลังบริสุทธิ์ กว่าเพื่อนมหาวิทยาลัยอื่น อันนี้ไกลไป ใกล้เข้ามาอีก กลุ่ม พรรคในมหาวิทยาลัยก็ยังดูแคลนพลังของกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่เรา...แยกเขาแยกเรา ใส่ร้ายป้ายสี เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น ...นี่เป็นสัจธรรมของสังคม  

ปัจจุบันภาพการเมืองทั้งภายในภายนอกมหาวิทยาลัย น่าเบื่อ น้ำเน่า ตัวใครตัวมัน มองการเมืองเป็นเรื่องผลประโยชน์ นักศึกษาส่วนใหญ่เลยไม่สนใจ รีบเรียน ๆ ให้จบ ๆ เก็บหน่วยกิตให้เยอะ ๆ  เพื่อจะได้รีบไปรับเงินเดือน 6 7 พัน (ที่พอจะยาไส้หรือเปล่าไม่รู้) ไม่ใส่ใจความทุกข์ยากประชาชน การเมืองภายในก็รุมเร้า พอออกมาแสดงความคิดความเห็นหนีไม่พ้นตกเป็นเป้าของสังคมทั้งสื่อมวลชน หรือนักวิชาการ(จอมปลอม) อีกว่า ม๊อบรับจ้าง หรือรับเงินสนับสนุนจากฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ออกมาประท้วง เช่นนี้ถือว่าเป็นกระบวนการ มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ ไม่เว้นแม่แต่นักการเมืองที่ทำตัวเป็น เหลือบแผ่นดิน ยังมองนักศึกษาเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพราะความเป็นนักการเมืองปลิ้นปล้อน ที่ชินกับการเรียกร้องผลประโยชน์จากชาวบ้าน ไม่เคยเป็นผู้ให้อย่างแท้จริง เคยแต่หยิบยื่นเศษเงินและสิ่งของแลกกับการหวังคะแนนเสียงคืนมา หรือในมหาวิทยาลัยเรื่องการบรรลุนิติภาวะทางความคิดไม่เพียงพอของนักศึกษาเอง ก็ส่งผลให้ นักศึกษาให้ร้ายกันเอง ทะเลาะกันเอง จนแตกความสามัคคี เงินถูกใช้เป็นเครื่องมือหลักในการทำกิจกรรม การสร้างฐานอำนาจ ในสโมสร องค์การนักศึกษา กลุ่ม ซุ้ม ชมรม ของนักศึกษาก็ยังมีการทุจริต คอรัปชั่น อาจารย์ในมหาวิทยาลัยก็แบ่งกันเป็นฝักเป็นฝ่าย ซึ่งปัญหาของความอ่อนล้าทางขบวนการนักศึกษา สรุปได้ดังนี้

1.   ปัจจัยภายใน นักศึกษาไม่มีความสนใจที่จะเรียนรู้เรื่องสังคม การศึกษาแนวคิดทางการเมือง การรวมกลุ่มหละหลวม รุ่นพี่ก็สืบทอดแนวคิดที่ผิด ถ่ายทอดให้รุ่นน้องตามความคิดของตน มากกว่าแนวทางที่ควรจะเป็น รุ่นแล้ว รุ่นเล่า การคอรัปชั่นในกลุ่มที่ดิสเครดิตกันเอง การไม่ทำงานเป็นทีม อยากเด่น อยากดัง พลังที่มีอยู่น้อยอยู่แล้วในกลุ่ม ก็ยิ่งลดลงไป ทุน ก็ต้องหา  คน ก็ต้องสร้าง และไหนจะภาระการเรียนที่ครอบครัวคาดหวัง บางรายต้องทำงานหาค่าหน่วยกิจเองอีก

2.   ปัจจัยภายนอก ที่รุมเร้า ภาวะกดดันจากครอบครัวต้องรีบเรียนให้จบ แรงหนุนจากกิจกรรมที่ดึงนักศึกษาออกระบบหลากหลายตามความสนใจตามกลุ่ม ตามชมรม ที่รวมกลุ่มเล่นสนุกไปวัน ๆ ระบบการเมืองมาบีบและใช้ผลประโยชน์หลอกล่ออธิการที่ต้องพึ่งเงินในระบบ  อธิการก็มาบีบอาจารย์ อาจารย์มาบีบนักศึกษาต่อ หรืออาจารย์(หลาย ๆ คน) เองที่เล่นการเมือง เอาแต่แย่งกันเป็นใหญ่  ก็ยังใช้ฐานนักศึกษาเป็นขุมกำลัง....หรือว่าไม่จริง ?  แม้จะใช้วิธีการที่นิ่มนวล แต่ก็สร้างภาวะกดดันหรือชี้นำพลังทางความคิดนักศึกษากลุ่มใหญ่ได้ดีพอสมควร การสร้างวาทกรรมของผู้มีอำนาจรุมเข้ามาเหมือนฝนห่าใหญ่ ที่มองว่า การคัดค้านทางการเมืองคือ พวกหัวรุนแรง หรือแม่แต่สื่อ สังคมที่ชักลาก หลอกล่อ นักศึกษาสู่ความสะดวกสบายในโลกไร้พรมแดน ทั้งโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ (ที่ลำพังเงินเดือนที่เรียนจบไม่สามารถซื้อได้) อินเตอร์เนต การสวมสายเดี่ยว เอวลอย เดินเฉิดฉายในศูนย์การค้า หรือกรีดกรายยักย้ายสะโพกในผับ ในเธค ยามค่ำคืน หรือการจับคู่อยู่กินกัน เบื่อก็เลิก ตามหอพัก (ถึงแม้เป็นสิทธิแต่ควรมองสังคมรอบข้างบ้างนะน้อง)

 

แล้วทิศทางของขบวนการการนักศึกษาจะเป็นไปอย่างไรกันนะ?

หมายเลขบันทึก: 172901เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2008 12:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขออนุญาตนำบทความไปรวม ขอบคุณมากครับ

                                                                    รวมตะกอน

ด้วยความยินดีครับ ขอบคุณครับ

ขออนุญาตินำบทความไปใช้ประกอบการทำวิจัยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท