หมอบ้านนอกไปนอก(59): เหตุบ้านการณ์เมือง


เราต้องแยกให้ชัดระหว่างหลักการแนวคิดกับรูปแบบวิธีการ เราสามารถใช้หลักการแนวคิดไปประยุกต์ใช้โดยการกำหนดรูปแบบวิธีการได้หลากหลายให้เหมาะสมกับบริบทของเรา จึงจะประสบความสำเร็จได้ดี ไม่ใช่ยึดมั่น (ยึดติด) ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง วิธีการเป็นทางไปสู่ความสำเร็จ ไม่ใช่เป้าหมายในตัวมันเอง

 ย่างเข้าปลายเดือนมีนาคม เมืองไทยอากาศคงร้อนมากขึ้นแต่ที่เบลเยียมในสัปดาห์ที่ 28 นี้ อากาศเริ่มเย็นลงมาอีกแถมด้วยความแปรปรวนของฟ้าฝนที่เอาแน่เอานอนไม่ได้เลย ผมติดตามข่าวความวุ่นวายในกระทรวงสาธารณสุขทางอินเตอร์เน็ต ผลกระทบจากการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ที่เกิดขึ้นหลายประการ สังคมไทยเริ่มไม่ง่ายที่ใครหรือกลุ่มใดจะมาบงการได้ง่ายเพราะเริ่มเป็นสังคมพหุนิยม (Pleuralism) ที่มีกลุ่มผลประโยชน์หลากหลายกลุ่มเข้ามามีบทบาทในสังคมแต่ไม่ใช่ประชานิยม (Populism) คนเรามีความแตกต่างกัน อาจารย์ผจญสอนว่าความแตกต่างที่ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งมี 3 ประการคือรูปร่างหน้าตาคุณลักษณะภายนอก ผลประโยชน์ ความคิด ซึ่งสองประการแรกแก้ไขไม่ยากแต่ด้านความคิดแก้ไขได้ยากมาก ทำยังไงจึงจะไปด้วยกันได้ท่ามกลางความแตกต่าง ระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์กับประชาธิปไตยเป็นตัวอย่างหนึ่งของความแตกต่างกันสุดขั้วทางด้านความคิด ส่งผลให้เกิดสงครามเย็นในโลกเกือบครึ่งศตวรรษ

หลังจากกลับจากเมืองไทยหลังปีใหม่ ผมจะกลับบ้านพักมาทานอาหารกลางวันที่บ้านพักทุกวัน ถือเป็นการเดินออกกำลังกาย ละที่สำคัญได้ต่อสไกป์คุยกับภรรยาและลูกเกือบทุกวันในช่วงพักทานอาหารกลางวัน

วันอาทิตย์ที่ 16 มีนาคม 2551 ตอนเช้าตื่นมาอ่านหนังสือ ตอนเที่ยงไปบ้านประชันธ์ เขากับกั๊ดดัมทำอาหารอินเดียให้ชิมมีผม พี่เกษม กั๊ดจูและโนริ พูดคุยกันจนสี่โมงเย็นจึงแยกย้ายกันกลับ ขากลับจักรยานยางรั่วต้องเดินจูงกลับท่ามกลางฝนตกพรำๆ ถึงบ้านต่อสไกป์คุยภรรยาและลูกๆ

วันจันทร์ที่ 17 มีนาคม 2551 มีเรียนการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder analysis) กับอาจารย์วาลาเรีย 3 คาบ มีทำกิจกรรมกลุ่มวิเคราะห์นโยบาย กลุ่มผมเลือกโครงการ 30 บาทมาวิเคราะห์และผมเป็นคนนำเสนอหน้าชั้น คาบสุดท้ายมีการแนะนำการทำวิทยานิพนธ์

วันอังคารที่ 18 มีนาคม 2551 เรียนกรณีตัวอย่างระบบสุขภาพชิลีกับอาจารย์ปาเป้ ชิลีเป็นประเทศที่มีการพัฒนาด้านสุขภาพค่อนข้างเร็วโดยใช้แนวคิดเสรีนิยมใหม่ (Neoliberal) ปฏิรูประบบสุขภาพโดยใช้กลไกของตลาดทำให้ภาคเอกชนเจริญเติบโตมาทำหน้าที่ให้บริการสุขภาพ มีกองทุนสุขภาพ 2 กองทุนคือFONASA เป็นประกันสังคม (Social insurance) กับ ISAPRE เป็นภาคเอกชน (Private insurers) ให้ประชาชนเลือกลงทะเบียน มีการหักรายได้ 7% เข้ากองทุนแล้วรัฐบาลอุดหนุนอีกส่วนหนึ่ง ของเอกชนมีหลายโปรแกรมให้เลือกถ้ามีเงินก็เลือกได้ ถ้าไม่มีหรือประกันชีวิตไม่รับก็ต้องมาเลือกFONASA แม้ดัชนีด้านสุขภาพจะดีขึ้นแต่ค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพก็สูงมาก ในส่วนกองทุนประกันสังคมแบ่งประชาชนเป็น 4 กลุ่มตามระดับรายได้กลุ่มA ไม่ต้องร่วมจ่ายสมทบและไม่ต้องร่วมจ่ายเมื่อไปใช้บริการ ส่วนกลุ่มB,C,D ต้องหักเงินสมทบและร่วมจ่ายเมื่อไปใช้บริการ

วันพุธที่ 19 มีนาคม 2551 เรียนเกี่ยวกับบทบาทของหน่วยงานต่างๆ (Actors) ที่มีผลต่อนโยบายสุขภาพมีวิทยากรมาจากหน่วยงานภายนอก ได้แก่ไอดี (AEDES) โดยNicolas de Borman เป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านการทำโครงการพัฒนาสุขภาพและการบริหารจัดการโรงพยาบาลอยู่ในเบลเยียมต่อด้วยธนาคารโลก (World bank) โดย Gilles  Dussault เป็นอาจารย์อยู่ที่สถาบันเวชศาสตร์เขตร้อนโปรตุเกสเคยทำงานที่ธนาคารโลกมาเล่าถึงบทบาทและภารกิจของธนาคารโลกที่ตั้งอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ช่วงบ่ายต่อดีฟิด (DFID) โดย Lizzie Smith เป็นองค์การที่ไม่ใช่ภาครัฐบาลอยู่ที่อังกฤษ ในช่วง 4 โมงเย็นมีการอภิปราย (Budget support) กลุ่มโดยมีWorld Bank, DFID, AEDES, CORDAID และJICA โดยโนริเป็นตัวแทน มีการพูดคุยเรื่องการจัดสรรเงินช่วยเหลือแก่ประเทศยากจนที่กำลังเปลี่ยนจากเน้นโครงการ (Aid project) ไปเป็นแบบงบประมาณรวมของประเทศ (Global budget) มีการอภิปรายแสดงความเห็นกันมากพอควร หลายประเทศอยู่ได้ด้วยเงินช่วยเหลือระหว่างประเทศ (Aid dependent) สิ่งที่ผู้ให้ (Donor) และผู้รับ (Recipient) สนใจคือจะให้เงินในรูปแบบใด แต่ไม่ค่อยพูดกันถึงจะใช้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ

วันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม 2551 ช่วงมีบรรยายจากคอร์เดด (CORDAID) โดย Piet Vroeg เป็นเอ็นจีโอที่ทำเรื่องการพัฒนาสุขภาพในประเทศยากจน ตั้งอยู่ที่เนเธอร์แลนด์ ช่วงบ่ายเป็นการนำเสนอและอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องประชาสังคม (Civil Society network) คือ MMI, PHM โดย Bart Criel & Bert De Belder พูดถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ต้องการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในระดับนานาชาติเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาพของตนเอง ของPHMจะเน้นในพื้นที่กว้างกว่าของMMIที่เน้นในพืน้ที่แอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮาร่า

วันศุกร์ที่ 21 มีนาคม2551 เรียนกรณีตัวอย่างระบบสุขภาพของกัมพูชาโดยอีปอร์ นักเรียนปริญญาเอกของสถาบัน ในช่วงสงครามของกัมพูชา ทำให้ระบบบริการสุขภาพของประเทศถูกทำลายไปเกือบหมด หลังสงครามเหลือแพทย์ 40 คนที่มาร่วมกันฟื้นฟูสถาบันต่างๆทางด้านสุขภาพช่วง 20 ปีที่ผ่านมา กัมพูชาเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ต้องพึ่งพิงเงินช่วยเหลือระหว่างประเทศมากในปี 2005 ได้เงินช่วยเหลือ 114.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ 67 % มาจากการจ่ายเงินของประชาชนเอง (Out of pocket: OOP) อีก 22 % จากเงินช่วยเหลือระหว่างประเทศและ 11 % จากเงินงบประมาณของรัฐบาล การต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินเองของประชาชนในการรักษาพยาบาลเป็นสาเหตุสำคัญ (Catatrophic health expenditure) ที่ต้องขายที่ดิน ทรัพย์สินหรือหยิบยืมส่งผลให้เกิดภาวะยากจนจากสุขภาพ (Iatrogenic poverty) ยิ่งตอกย้ำซ้ำเติมให้คนจนยิ่งจนลงมากไปอีก คนไทยเราจึงโชคดีที่มีโครงการที่ช่วยดูแลในเรื่องค่ารักษาพยาบาลตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แพทย์ภาครัฐบาลของกัมพูชาได้เงินเดือนไม่มากประมาณ 40 ยูโรต่อเดือน ทำให้ต้องหารายได้พิเศษจากการทำคลินิกส่วนตัวและมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการดูแลคนไข้ที่แตกต่างกันมากในโรงพยาบาลกับในคลินิกและถือเป็นเรื่องธรรมดาของบ้านเขาเพราะรัฐบาลไม่มีงบประมาณพอที่จะเพิ่มค่าตอบแทนให้

ช่วงบ่ายเป็นการสรุปบทเรียนในรอบสัปดาห์ มีการนำเสนอและอภิปรายในเรื่องต่างๆมากพอควร ส่วนใหญ่ยังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องการให้เงินช่วยเหลือ สักสี่โมงครึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาของเขตฟลานเดอร์มาเยี่ยมชมสถาบันและเข้ามาร่วมฟังการอภิปรายของพวกเรา พร้อมกับร่วมแสดงความคิดเห็น หลายคนจากยูกานดาไม่อยากให้เปลี่ยนเป็นแบบBudget support อยากให้เป็นproject support แบบเดิม เพราะเงินไปถึงพวกเขาที่ทำโครงการดีกว่า เนื่องจากไม่เชื่อใจรัฐบาลและกระทรวงการคลัง ทางรัฐมนตรีตอบตรงใจผมที่ว่าถ้ามองในระยะสั้นดูเหมือนจะมีปัญหาแต่ถ้ามองในระยะยาวจะเป็นผลดีของประเทศเพราะจะเป็นการช่วยพัฒนาระบบงานของประเทศที่รับเงินไปด้วย ไม่ใช่ทำเป็นเรื่องๆแตกเป็นโครงการๆแล้วก็ไม่ยั่งยืนแบบที่เป็นอยู่ ประมาณหกโมงเย็นมีปาร์ตี้เล็กๆเป็นเครื่องดื่มกับของขบเคี้ยวร่วมกับทีมรัฐมนตรี

รัสเซียมีความสัมพันธ์ที่ดีกับไทยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่านในการรักษาเอกราชของชาติท่ามกลางการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกโดยเฉพาะอังกฤษกับฝรั่งเศส การมีสัมพันธไมตรีอันดีกับรัสเซีย จึงเป็นการคานอำนาจสองมหาอำนาจนี้ไปด้วย เคยมีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ถ่ายทำตามบันทึกของแหม่มสาวชาวรัสเซียชื่อแอนนา เลียวโนเวนส์ที่ได้เข้ามาอยู่ในราชสำนักเรื่องแอนนาแอนด์เดอะคิง แต่ไม่ได้ฉายในเมืองไทย เท่าที่ผมทราบรัสเซียเป็นมิตรที่ดีของไทยมาตลอด ไม่เคยมีข่าวเบียดเบียน ข่มขู่ไทยเหมือนสหรัฐอเมริกาที่มักอ้างกันว่าเป็นมหามิตรที่ดี ที่เพิ่งลดระดับความน่าเชื่อถือของไทยไปอยู่ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษและอาจเลยเถิดถึงขั้นตัดสิทธิพิเศษทางการค้าไทยอันเนื่องมาจากผลกระทบจากการบังคับสิทธิบัตรหรือซีแอล (Compulsory licensing) แม้จะอ้างว่าไม่เกี่ยวกันก็ตาม

จากเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศ มี 39 ประเทศที่มีความตกลงยกเว้นการตรวจลงตรา (วีซ่า) สำหรับหนังสือเดินทางทูตและราชการในช่วง 30-90 วัน คือออสเตรีย อาร์เจนตินา แอฟริกาใต้ เบลเยียม บราซิล ภูฏาน ชิลี เช็ก โครเอเชีย เยอรมนี ฮังการี อิสราเอล อิตาลี อินเดีย เนเธอร์แลนด์ เปรู ฟิลิปปินส์ โปแลนด์ โรมาเนีย รัสเซีย สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ สโลวัก ตูนิเชีย ตุรกี จีน มองโกเลีย พม่า เกาหลี ลิกเตนสไตน์ ลักเซมเบิร์ก มาเลเซีย เม็กซิโก เนปาล ลาว เวียดนาม โอมาน ญี่ปุ่นและกัมพูชา

เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (เลนินกราด) เคยเป็นเมืองหลวงของรัศสเซีย 200 กว่าปี โดยพระเจ้าปีเตอร์มหาราช เป็นผู้พบในปี ค.ศ. 1703 และเป็นเมืองหลวงตั้งแต่ 1712-1728 และ 1732-1918 ปัจจุบันเป็นเมืองใหญ่อันดับสี่ของยุโรปรองจากมอสโคว ลอนดอนและปารีส ได้เห็นความเจริญของประเทศที่เคยเป็นมหาอำนาจสองขั้วยุคสงครามเย็นที่ยิ่งใหญ่ แล้วก็ล่มสลาย ความเจริญที่เคยมีจึงดูเสื่อมลงไปมาก อาคารสถานที่ ถนนหนทางทรุดโทรมต้องเร่งบูรณะกันขนานใหญ่ อย่างรถไฟใต้ดินที่มีมากว่า 50 ปีแล้ว มีถึง 11 สายในมอสโคว์ สานกันเป็นเครือข่ายการเดินทางที่ดีมาก ผมคิดว่าสหภาพโซเวียตล่มสลายเพื่อความรุ่งเรืองของรัสเซีย

สหภาพโซเวียตใช้ระบอบคอมมิวนิสต์เป็นวิธีการหรือเครื่องมือ (Means) เพื่อพัฒนาประเทศในช่วงแรกๆอย่างได้ผลดี แต่ต่อมากลับใช้ระบอบคอมมิวนิสต์เป็นเป้าหมาย (Ends) แทนที่จะใช้เป็นเพียงวิธีการไปสู่เป้าหมายเพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน จึงทุ่มเททรัพยากรจำนวนมากเพื่อความคงอยู่ของระบอบคอมมิวนิสต์ที่เป็นเป้าหมาย หลงลืมความทุกข์ยากของประชาชนที่เป็นเป้าหมายแท้จริงไปจึงอยู่ไม่ได้ พอโซเวียตล่มสลาย รัสเซียก็กลับมาใช้ระบบประชาธิปไตยและเริ่มฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

ในขณะที่จีนใช้ระบอบคอมมิวนิสต์เป็นวิธีการเพื่อบรรลุเป้าหมายคือความผาสุกของประชาชน จึงมีการปรับเปลี่ยนวิธีการหรือรูปแบบไปบ้างเพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ไม่ต่อต้านระบบตลาดเสรี แต่เข้าร่วมอย่างเข้าใจและรู้เท่าทัน เป็นไปตามคำพูดของเติ้งเสี่ยวผิงที่ว่า แมวสีขาวหรือสีดำไม่สำคัญ ขอให้จับหนูได้ นั่นคือให้มองที่เป้าหมายมากกว่าวิธีการ บางประเทศปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยใช้ประชาธิปไตยเป็นเป้าหมาย ขอให้มีประชาธิปไตย มีเลือกตั้ง มีรูปแบบของประชาธิปไตยคงอยู่โดยลืมเป้าหมายว่าปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นวิธีการที่นำไปสู่ความผาสุกของคนในประเทศ ลืมไปว่าประชาธิปไตยคือการปกครองของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน มัวแต่เล่นเกมส์การเมือง แย่งอำนาจในรูปแบบที่เหมาเรียกเอาว่าประชาธิปไตย ลืมเป้าหมายคือความผาสุกของประชาชน ระบอบอื่นๆจึงเข้ามาแทรกแซงโดยง่ายด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร สิ่งที่แฝงมากับชื่อประชาธิปไตยจึงเป็นเผด็จการ (Autocracy) ทั้งเผด็จการทหาร เผด็จการรัฐสภา เผด็จการพรรคการเมืองหรือเผด็จการผู้นำพรรคการเมือง เป็นต้น

รัสเซียหลังยุคสหภาพโซเวียต กลับมาหาระบบอบประชาธิปไตย เพราะได้ลิ้มรสของเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ตระหนักแล้วว่าไม่มีอะไรทำให้คนเท่ากันได้จริง ธรรมชาติสร้างคนมาให้ไม่เท่ากัน ไม่สมบูรณ์ในตัวเอง ให้เกิดการแข่งขันกันอย่างเสรีเพื่อได้สิ่งที่ดีขึ้น ให้มีกิเลส จนเกิดการคิดค้นพัฒนาสิ่งต่างๆมารองรับความต้องการมากมายให้สามารถอยู่รอดดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้ แต่ทั้งนี้ก็ให้คนสามารถคิดระบบหรือวิธีการเพื่อควบคุมกันเองไม่ให้แข่งขันกันจนเลยเถิดเกิดผลเสียต่อสังคมได้หากกลไกตลาดล้มเหลวไป (Market failure) หลักการกับวิธีการไม่ใช่สิ่งเดียวกัน หลักการเดียวอาจมีหลายวิธีการหรือวิธีการเดียวอาจมาจากหลายหลักการได้ บางคนเข้าใจผิดคิดว่าที่ยึดมั่นนั้นเป็นหลักการ บางทีเป็นแค่การยึดติดในวิธีการ (รูปแบบ) เท่านั้น อาจพบได้มากในประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ระบอบการปกครองที่ดีที่สุดคือระบอบการปกครองที่นำมาซึ่งความอยู่ดีมีสุขของประชาชนในประเทศ และเชื่อกันว่าในภาพรวมแล้วการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (Democracy) เหมาะสมกับสถานการณ์ในโลกปัจจุบันมากที่สุด ประชาธิปไตยเป็นวิธีการหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่เป้าหมายในตัวมันเอง ในความคิดของผมประชาธิปไตยคือการมีส่วนร่วม (Participation) พร้อมทั้งการตรวจสอบและถ่วงดุล (Check & balance) โดยต้องสร้างสมดุลระหว่างกฎของคนหมู่มากกับฟังเสียงของคนส่วนน้อย (Majority rules & Minority rights) ความเสมอภาคกับความเป็นธรรม (Equality & Equity) เสรีภาพและความเป็นมนุษย์ (Liberty & Humanity) และสิทธิกับหน้าที่ของพลเมือง (Right & Responsibility)

ประชาธิปไตยฝรั่งเกิดจากประชาชนมองเห็นว่าเขาต้องเข้ามามีส่วนร่วม มีสิทธิมีเสียง ในขณะที่ของไทยชาวบ้านยังคงสนใจเรื่องใกล้ตัว ปากท้องมากกว่า ยังไม่มีเวลามาคิดเรื่อง ใครที่ตอบสนองเรื่องปากท้องได้ดี ก็ชนะใจชาวบ้านได้ ประชาธิปไตยไทยเกิดมาจากการชิงสุกก่อนห่าม ท่ามกลางความไม่พร้อม ไม่สุกงอมทางด้านแนวคิดหลักการ ทำให้ก้าวไปได้ช้า มีคำอยู่ 2 คำคือประชาธิปไตย (Democracy) แท้ที่กล่าวไปแล้วกับอีกคำหนึ่งคือประชาธิปไตยเทียม (Anocracy) เป็นการปกครองที่มีการเลือกตั้งทั่วไป แต่สามารถจัดการควบคุมบางอย่างได้ ไม่ได้อิสระแท้จริง พรรคที่ได้เสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาลมีพฤติกรรมไปในทางอำนาจนิยม ขาดความโปร่งใสและตรวจสอบไม่ได้ (Transparency & Accountability) รัฐสภาไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง ถูกควบคุมโดยพรรคเสียงข้างมากและรัฐบาล เข้มงวดและจำกัดในพื้นที่เพื่อการโต้แย้ง โต้เถียงหรือแสดงความเห็นในการบริหารบ้านเมือง นอกจากนี้คนที่มาเล่นการเมืองหรือนักการเมืองก็ต้องเป็นคนที่มีจิตสาธารณะ (ไม่ใช่จิตเอาของสาธารณะ) และจิตใจนักกีฬา เล่นการเมืองตามกฎกติกามารยาท ทำตัวออกห่างลักษณะของAnocracy

พูดถึงเรื่องแนวคิดหลักการและวิธีการแล้ว นึกถึงอีกเรื่องหนึ่งที่กำลังฮิตกันมากในหลายๆประเทศคือเรื่องกระจายอำนาจ (Decentralization) การกระจายอำนาจด้านสุขภาพในต่างประเทศที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศที่ผมได้ทราบจากเพื่อนๆที่มาเรียนด้วยกันพบว่ามีปัญหามากในเรื่องระบบส่งต่อและการบูรณาการการบริการเมื่อสถานีอนามัยไปอยู่กับท้องถิ่น โรงพยาบาลอยู่กับส่วนกลางหรือรัฐ บางประเทศไม่สามารถกำหนดนโยบายด้านสุขภาพในภาพรวมได้ ต่างคนต่างทำกันไป แล้วชาวบ้านก็ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง จึงมีปัญหาคุณภาพในการบริการอย่างมาก ที่ออสเตรเลียเขาไม่แบ่งสถานบริการแต่ละระดับให้ท้องถิ่น เขารวมกันเป็นพวงบริการเป็นเขตแล้วสรรหาผู้บริหารมาบริหารเครือข่ายโดยมีระบบการประเมินผลงานที่ชัดเจน มีสัญญาว่าจ้างที่ชัดเจน

การกระจายอำนาจมี 4 รูปแบบหรือ 4 ระดับตามดีกรีมากน้อยการกระจายอำนาจคือการลดการควบคุม (Deconcentration) เช่น การมอบให้ระดับจังหวัด โรงพยาบาลมีอิสระในการบริหารจัดการมากขึ้นการมอบหมายภารกิจ (Delegation) เช่นการปรับให้เป็นโรงพยาบาลที่บริหารตนเองหรือเป็นองค์การมหาชน การปรับโอนให้ท้องถิ่น (Devilution) เช่นการให้สถานีอนามัยไปอยู่กับท้องถิ่นและการทำให้เป็นภาคเอกชน (Privatization) เช่นการเปลี่ยน ปตท. ไปเป็นบริษัทมหาชน ในการกระจายอำนาจถ้ามองว่าเป็นเครื่องมือหนึ่ง เราก็สามารถเลือกเครื่องมืออื่นมาใช้ได้ถ้าเครื่องมือนี้ไม่เหมาะสมกับบ้านเรา แต่ถ้ามองว่าเป็นเป้าหมายในตัวมันเอง ต้องกระจายอำนาจเพราะเราต้องมีการกระจายอำนาจ มักไม่เกิดประโยชน์แท้จริง

ในความคิดเห็นของผมหัวใจสำคัญที่เราต้องการจากการกระจายอำนาจคือการมีส่วนร่วม (Participation) และการเสริมพลังหรือการให้อำนาจ (Empowerment) แก่ประชาชน หากมีรูปแบบอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมา 4 รูปแบบนี้ แล้วส่งผลดี ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมและมีส่วนในการตัดสินใจในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวเขา บ้านเขาได้จริง ก็น่าเลือกมาใช้ ดังคำพูดที่ว่า แมวจะสีขาวหรือดำไม่สำคัญของให้จับหนูได้

พิเชฐ  บัญญัติ (Phichet Banyati)

Verbond straat 52, 2000 Antwerp, Belgium

21 มีนาคม 2551, 23.15 น. ( 05.15 น.เมืองไทย )

 

หมายเลขบันทึก: 172189เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2008 05:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 12:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

     ตามอ่านมาถึงตรงนี้ ต้องขอบคุณหมอมากครับ ที่ทำให้ได้รับความรู้ดี ๆ เสมอ ๆ อยากแลกเปลี่ยนด้วยครับว่าเห็นด้วยอย่างยิ่งในประเด็นที่หมอบอกว่าหัวใจสำคัญที่เราต้องการจากการกระจายอำนาจคือการมีส่วนร่วม (Participation) และการเสริมพลังหรือการให้อำนาจ (Empowerment) แก่ประชาชน
     และในฐานะข้าราชการที่ต้องกระจายอำนาจลงไปจริง ๆ ต้องทำอยู่สองอย่างก่อนอย่างเร่งด่วนคือ 1.) การไม่ปิดกั้นตัวเองที่จะไปร่วมกับประชาชน หมายถึงอย่ามัวที่จะให้ประชาชนมาร่วมกับเรา และ 2.) ต้องคืนความมั่นใจแก่ประชาชนในการจัดการตัวเอง กลุ่ม หรือองค์กรของเขา หมายถึงอย่าไปขัดขวาง และครอบงำเขาอีก ตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งหนึ่งเราออกกฎหมายเพื่อจัดระเบียบและรับรองการประกอบโรคศิลป์ ยังผลให้หมอพื้นบ้าน ที่ทรงคุณค่าในระบบสุขภาพ กลายเป็นหมอเถื่อนทันทีทั่วประเทศ ถ้วนหน้ากัน
     แลกเปลี่ยนมาเพื่อขอเรียนรู้ต่อไปจากงานของหมอครับ

สวัสดีเจ้าค่ะ คุณน้าหมอ

สบายดีหรือเปล่าเจ้าค่ะ รักษาสุขภาพด้วยนะเจ้าค่ะ น้องจิแวะมาเยี่ยมเจ้าค่ะ คิคิ

เป็นกำลังใจให้เจ้าค่ะ ------> น้องจิ ^_^

สวัสดีครับคุณชายขอบ

ไม่ได้สนทนากันนานมากเลยนะครับ ผมเองก็แทบไม่ได้แวะเข้าไปทักทายเลย ผมเห็นด้วยกับคุณชายขอบครับว่า เราต้องให้โอกาสประชาชนให้มีความมั่นใจที่จะจัดการตัวเอง แต่ทั้งนี้คำว่าประชาชนไม่ใช่การให้อำนาจแก่กลุ่มนักการเมืองเท่านั้น ควรทำในภาคประชาชนด้วยครับ พร้อมๆกับการสรางความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องประชาธิปไตยและใหโอกาสทางการศึกษาที่เหมาะสม ไม่ใช่โอกาสในการได้ปริญญาหรือหนังสือรับรองคุณวุฒิเท่านั้น

สวัสดีน้องจิ

น้าหมอตอบช้าไปหน่อยนะ เพิ่งกลับจากไปเที่ยววันหยุดยาว น้องจิสบายดีนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท