เรื่องเล่าจาก “จิตวิวัฒน์” (ตอนที่ 1)


คนส่วนใหญ่พร้อมจะพูดตลอดเวลาแต่ไม่มีเวลาที่พร้อมจะฟัง หรือสนใจวาระของคนอื่นและให้พื้นที่กับคนอื่นเลย และเมื่อเราตั้งใจฟังอย่างแท้จริง ผู้พูดจะรับรู้ได้ถึงความปรารถนาดีในการฟังของเรา และพร้อมที่จะเล่าเรื่องราวต่าง ๆ มากมายให้กับผู้ที่พร้อมจะฟังได้ทุกเมื่อ

       เมื่อปลายเดือนมกราคม ที่ผ่านมาบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์ ส่วนหนึ่งได้มีโอกาสไปเข้ารับการอบรม และเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากรและองค์กรแบบจิตวิวัฒน์ เมื่อพูดถึง จิตวิวัฒน์ หลายท่านอาจเคยรู้จักกันมาบ้าง แต่บางท่านอาจจะไม่เคยได้ยิน ได้ฟัง หรือรู้จักมากก่อนเลย เหมือนกับพวกเราส่วนใหญ่ที่ได้ไปร่วมเรียนรู้ในครั้งนี้ที่แทบจะไม่รู้จักเลยว่าเป็นยังไง การจัดอบรมครั้งนี้จัดขึ้นที่ จังหวัดเชียงราย นำทีมโดย ผศ.นพ.ศิริเกษม  ศิริลักษณ์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนาและบริหาร, ผศ.นพ.เทิดศักดิ์  ผลจันทร์ รองคณบดีฝ่ายแพทยศาสตร์ศึกษา และบุคลากรในหน่วยงานต่างๆ  อีกประมาณ 24  ชีวิต ซึ่งการไปอบรมในครั้งนี้คณะแพทยศาสตร์มุ่งหวังจะพัฒนาบุคลากรและองค์กร ให้ดำเนินงานได้สอดคล้องกับเป้าหมายของ คณะแพทยศาสตร์ ที่ต้องการผลิตบัณฑิตแพทย์ และดูแลคนไข้ที่มุ่งเน้นของหัวใจความเป็นมนุษย์ (Humanized  Health Care) รวมทั้งให้บุคลากรทำงานกันอย่างมีความสุข

ณ ช่วงเวลาที่พวกเราไปถึงอากาศที่เชียงรายกำลังเย็นสบายค่อนและข้างหนาว ในตอนเช้า ๆ ยังมีหมอกบาง ๆ ให้เห็นในตัวเมืองเชียงรายเอง สำหรับกำหนดการอบรมของพวกเราเป็นการอบรมที่ใช้ระยะเวลาถึง 4 วัน คือตั้งแต่วันที่ 22-25 มกราคม ส่วนทีมวิทยากรที่มาให้ความรู้กับพวกเรานั้นมาจากสถาบันขวัญเมือง จังหวัดเชียงราย หรือที่สถาบันขวัญเมืองเรียกว่าทีมวิทยากรเหล่านี้ว่า กระบวนกร นำทีมโดย  อ.วิศิษฐ์  วังวิญญู และทีมงาน (อ.มนตรี,  อ.ประสาท, อ.สมชาย อ.ผึ้ง และ อ.ดิน) สำหรับท่าน อ.วิศิษฐ์ เป็นที่รู้จักกันดีในปัจจุบันว่าเป็นผู้ที่นำเรื่องสุนทรียสนทนา หรือ ไดอะล็อค (Dialoque) มาใช้ จนได้รับความนิยมกันอย่างกว้างขวางในองค์กรต่าง ๆ  ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเป็นนักเขียน และผู้แปลหนังสือ เช่น มนฑลแห่งพลัง สุนทรียสนทนา ดวงตะวัน ดวงใจฉัน  ฯลฯ  วันนี้พวกเราได้มาเจอตัวจริง เสียงจริงแล้ว

การอบรมครั้งนี้สำหรับพวกเราที่ได้ไปเข้าร่วมโครงการนับเป็นสิ่งที่แปลกใหม่อย่างมาก ตั้งแต่ห้องประชุมที่ปูด้วยผ้าสีขาวสะอาดตาทั้งห้อง พร้อมกับหมอนอิงและเบาะรองนั่ง เป็นการอบรมที่ให้เรานั่งกับพื้น และยังบอกให้เรานั่ง หรือนอนท่าไหนก็ได้ที่เรารู้สึกสบายจะเหยียดแข้งเหยียดขาก็ได้ แถมหลังอาหารกลางวันยังได้นอนหลับพักผ่อนทำ Body scan  เติมพลังก่อนที่จะกลับมาเรียนรู้ร่วมกันในช่วงบ่าย ตลอดระยะเวลา 4 วัน เป็นการเรียนรู้ที่ไม่ต้องจดอะไรทั้งนั้นแต่ให้เราใช้ความรู้สึกสัมผัส โดยให้เราได้ลองปฏิบัติ เรียนรู้ถึงความมหัศจรรย์ของสมองคนเรา ให้เราได้ใคร่ครวญและอยู่กับตัวเอง ฝึกให้เรารู้จักการฟังให้เป็น ฟังอย่างลุ่มลึก แม้บางคนอาจจะรู้สึกว่าปัจจุบันนี้เราก็ฟังเป็นอยู่แล้ว ไม่เห็นต้องมาเรียนเลย กิจกรรมที่เราทำทั้ง 4 วันนั้นมีหลากหลายด้วยกัน แต่ที่จะเล่าให้ฟังในตอนนี้จะเป็น 2  กิจกรรม  ด้วยกัน คือ กิจกรรมเกี่ยวกับการฟัง และการดูแลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคนที่อยู่ร่วมกัน

โดยเริ่มจากกิจกรรมเกี่ยวกับการฟัง กระบวนกรให้พวกเราจับคู่และเปลี่ยนกันเล่าถึงประสบการณ์ในวัยเด็กกับคู่ของเรา ให้เราจินตนาการย้อนกลับไปเป็นสิบ ๆ ปี เล่าให้เหมือนกับว่าเราได้ย้อนกลับไปอยู่ในเหตุการณ์ และช่วงเวลานั้นจริง ๆ  ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับหลายคนจะด้วยเหตุผลเพราะสิ่งแวดล้อม หน้าที่การงาน หรือเหตุผลใด ๆ ก็ตาม ทำให้หลายคนจินตนาการได้อย่างติด ๆ ขัด รู้สึกอึดอัดในช่วงแรกแต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดี  ในกิจกรรมนี้ กระบวนกรจะให้เราฟังเรื่องเล่าของเพื่อนอย่างไม่ตัดสินว่าถูกหรือผิด ห้อยแขวนไว้ในเรื่องที่เราไม่เห็นด้วยหรือสงสัย และสะท้อนกลับให้เพื่อนฟัง ถึงสิ่งที่เราได้รับฟังจากเพื่อน ผลจากกิจกรรมนี้มันทำให้เราเห็นพลังอย่างมากของการฟัง บางคนถึงกับน้ำตาไหลออกมา จะสังเกตได้ว่าปัจจุบันนี้คนเรามักจะพูดมากกว่าฟัง คนส่วนใหญ่พร้อมจะพูดตลอดเวลาแต่ไม่มีเวลาที่พร้อมจะฟัง หรือสนใจวาระของคนอื่นและให้พื้นที่กับคนอื่นเลย  และเมื่อเราตั้งใจฟังอย่างแท้จริง ผู้พูดจะรับรู้ได้ถึงความปรารถนาดีในการฟังของเรา และพร้อมที่จะเล่าเรื่องราวต่าง ๆ มากมายให้กับผู้ที่พร้อมจะฟังได้ทุกเมื่อ

 

(อ่านต่อคราวหน้าค่ะ)

 

หมายเลขบันทึก: 172043เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2008 11:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สนใจมากๆครับ จะติดตามอ่านในตอนต่อไปครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท